การแผลงเป็นไทย เป็นกระบวนการซึ่งประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติกำเนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยถูกผสมกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมไทย หรือกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงยิ่งไปกว่านั้น เข้ากับวัฒนธรรมไทยสยาม การแผลงเป็นไทยเป็นขั้นตอนในการสร้างรัฐชาติไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีความเป็นไทยภาคกลางโดดเด่นจากราชอาณาจักรสยามเดิมที่ยังคงความหลากหลายทางวัฒนธรรมไว้อยู่
การแผลงเป็นไทยเป็นผลกระทบข้างเคียงของนโยบายชาตินิยมที่สอดคล้องกันของรัฐไทยหลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ผู้นำการปฏิวัติ ซึ่งต้องการเห็นประเทศไทยเจริญก้าวหน้า มุ่งเพิ่มอำนาจของชาวไทย ธุรกิจที่กระจายไปเป็นของชนกลุ่มน้อย อย่างเช่น พ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีนดั้งเดิม ถูกขับออกไปจากรัฐ ซึ่งให้สิทธิประโยชน์แก่ชาวไทย[1] เอกลักษณ์ไทยถูกเสริมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคกลางของประเทศได้มีภาวะครอบงำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนภาษากลางยังกลายมาเป็นภาษาของสื่อ ธุรกิจ และการศึกษา ค่านิยมของภาคกลางได้ถูกทำให้เท่ากันกับค่านิยมของทั้งประเทศด้วย วัฒนธรรมไทยกลางที่เป็นวัฒนธรรมแห่งความมั่งคั่งและสถานภาพ ทำให้เป็นที่ดึงดูดอย่างมากต่อผู้ที่อยู่ ณ ชายขอบทางเศรษฐกิจและสังคม
เป้าหมายหลักของการแผลงเป็นไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตามชายขอบของราชอาณาจักร ทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งได้แก่ ชาวลาว, ชาวเวียดนาม, และชาวกัมพูชาในภาคอีสาน ชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือ ชาวมอญและชาวพม่าในภาคตะวันตก ชาวมลายูทางภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีการแผลงเป็นไทยกับประชากรอพยพชาวจีนและชาวอินเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ และเป็นรากฐานของการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน
การแผลงเป็นไทยโดยรัฐบาลสามารถแบ่งออกได้เป็นนโยบายสี่ชุด ได้แก่
รัฐบาลกำหนดนโยบายและการกระทำที่ชัดเจนไปยังกลุ่มที่อยู่บริเวณชายขอบของประเทศ ตัวอย่างเช่น โครงการเร่งการพัฒนาชนบท พ.ศ. 2507 ซึ่งมีการดำเนินงานในภาคอีสาน โดยมีจุดประสงค์ให้เพิ่มความจงรักภักดีกับประเทศไทย
เป็นนโยบายที่มีผลทั่วประเทศ แต่ได้มีผลกระทบต่อพวกที่อยู่บริเวณชายขอบอย่างไม่สมส่วน ตัวอย่างหนึ่งของนโยบายนี้ ได้แก่ การบังคับให้ใช้ภาษาไทยในโรงเรียน ซึ่งมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อชาวไทยกลางที่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่มีผลกระทบต่อผู้พูดภาษาลาวในภาคอีสาน คำเมืองในภาคเหนือ และภาษายะวีในภาคใต้ มาตรการรุนแรงได้ถูกใช้กับชาวไทยเชื้อสายจีน หลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 รัฐบาลต่อต้านคอมมิวนิสต์หลายชุด ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลดจำนวนผู้อพยพชาวจีนอย่างรุนแรงและสั่งห้ามโรงเรียนมัธยมศึกษาภาษาจีนทั้งหมดในประเทศไทย ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เกิดหลังคริสต์ทศวรรษ 1950 มี "โอกาสจำกัดมากที่จะเข้าโรงเรียนภาษาจีน" ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีอันจะกินได้ส่งเสียบุตรไปศึกษาภาษาอังกฤษต่อยังต่างประเทศแทนภาษาจีนด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาคือ ชาวจีนในประเทศไทย "เกือบจะสูญเสียภาษาของบรรพบุรุษอย่างสิ้นเชิง" และค่อย ๆ สูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นจีนของตนไป[2]
เป็นนโยบายซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ประชากรของประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ การนำเสนอพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติ การเคารพธงชาติในโรงเรียน และการออกอากาศเพลงชาติไทยสองครั้งทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกวัน เวลา 8.00 น. และ 18.00 น. การกระตุ้นชาตินิยมไทยนี้มีผลข้างเคียงอย่างชัดเจนซึ่งลดความจงรักภักดีในบางกลุ่ม อย่างเช่น ชาวลาวในภาคอีสาน และชาวมลายูทางใต้
เป็นนโยบายซึ่งอาจมิใช่ชาตินิยมอย่างเด่นชัด แต่กระนั้นก็สามารถสนับสนุนความเป็นชาตินิยมขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มการเข้าเรียนในโรงเรียน ซึ่งเมื่อประกอบกับการบังคับห้ามสอนภาษาชนกลุ่มน้อยในโรงเรียน ทำให้มีผลลดการใช้ภาษาเหล่านั้น และหันมาใช้ภาษาไทยแทน