กุ้งเรนโบว์ | |
---|---|
กุ้งเรนโบว์หรือกุ้งก้ามแดงตัวผู้ (♂) | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ไฟลัมย่อย: | Crustacea |
ชั้น: | Malacostraca |
อันดับ: | Decapoda |
วงศ์: | Parastacidae |
สกุล: | Cherax |
สปีชีส์: | C. quadricarinatus |
ชื่อทวินาม | |
Cherax quadricarinatus (Von Martens, 1868) |
กุ้งเรนโบว์ หรือ กุ้งก้ามแดง (อังกฤษ: Australian red claw crayfish, Queensland red claw, Redclaw, Tropical blue crayfish, Freshwater blueclaw crayfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cherax quadricarinatus) เป็นกุ้งน้ำจืดจำพวกเครย์ฟิชชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์เครย์ฟิชออสเตรเลีย (Parastacidae)
กุ้งเรนโบว์มีสีสันค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่สีฟ้า, น้ำเงิน, น้ำเงินอมเขียว, น้ำตาลอมเขียว, สีเขียวหยก, น้ำตาลเข้ม มีลักษณะเด่น คือ มีก้ามที่เรียวยาว ไม่มีหนาม และมีแถบสีแดงที่ก้าม มีความยาวเต็มที่ตั้งแต่ประมาณ 8-12 นิ้ว ไม่นับก้าม โดยขณะที่ยังไม่โตเต็มวัยก้ามจะเป็นสีน้ำเงิน
แพร่กระจายพันธุ์ทางตอนใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ในประเทศออสเตรเลีย โดยจะหลบซ่อนอยู่ตามโขดหิน, ขอนไม้ หรือวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป
เป็นกุ้งที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในการเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์ในการที่ใช้บริโภคเป็นอาหารทั้งในประเทศออสเตรเลีย และประเทศจีน ต่อมาได้มีการเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลาเหมือนปลาสวยงามอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการเพาะขยายพันธุ์จนมีสีสันต่าง ๆ สวยงามกว่าสีดั้งเดิมในธรรมชาติ เช่น สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น ซึ่งในหลายประเทศได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีการรุกรานสิ่งแวดล้อมทางน้ำของประเทศนั้น ๆ ด้วย ในประเทศไทยมีการนำเข้ากุ้งชนิดนี้เข้ามาจากออสเตรเลียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ด้วยการเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยง เมื่อมีขนาดได้ 2 นิ้ว จึงย้ายไปเลี้ยงต่อในนาข้าวที่โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เพื่อนำเข้าส่งขายตามภัตตาคารต่าง ๆ[2]