ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ถึง 31 มกราคม ค.ศ. 2013 เกิดความขัดแย้งด้านรูปแบบระหว่างผู้แก้ไขในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษตรงส่วนคำว่า "into" ในหัวเรื่อง Star Trek Into Darkness ของบทความวิกิพีเดียประจำปี 2013 นั้นควรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่หรือไม่ มีการเขียนคำมากกว่า 40,000 คำในหน้าอภิปรายของบทความ (หน้าสำหรับให้ผู้แก้ไขอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของบทความ) ก่อนที่จะมีฉันทามติให้ใช้อักษร "I" ตัวพิมพ์ใหญ่
เจ.เจ. แอบรัมส์ ผู้กำกับ วางแผนปล่อยตัวภาพยนตร์ Star Trek Into Darkness ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2013 ชื่อภาพยนตร์ไม่มีทวิภาคหลัง "Star Trek" เช่น Star Trek II: The Wrath of Khan และภาพยนตร์ สตาร์ เทรค อีก 8 เรื่อง ตอนเผยแพร่ในเดือนเมษายน อักษร "I" จะต้องเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ แต่รูปแบบการเขียนของวิกิพีเดียกำหนดว่า คำบุพบทที่มีอักษรน้อยกว่า 5 ตัวไม่สามารถทำให้เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ได้[1]
การอภิปรายอย่างเต็มรูปแบบที่จะตัดสินใจว่าวิกิพีเดียควรใช้อักษร "I" สำหรับคำว่า "into" ในชื่อภาพยนตร์เป็นตัวพิมพ์เล็กหรือตัวพิมพ์ใหญ่เกิดขึ้นที่หน้าอภิปรายของบทความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2013 และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ถึง 31 มกราคม ค.ศ. 2013 ข้อโต้แย้งในการปฏิบัติตามหรือยกเว้นแนวปฏิบัติของวิกิพีเดียมีมากกว่า 40,000 คำ[2]
ประเด็นสำคัญของการอภิปรายคือว่า "Into Darkness" เป็นคำบรรยายของ "Star Trek Into Darkness" หรือไม่ หากไม่มีเครื่องหมายทวิภาค ก็จะไม่ชัดเจน[3] ถ้าเป็นจริงเหมือนกับภาพยนตร์ สตาร์ เทรค เรื่องอื่นที่มีชื่อยาวกว่า 2 คำ ยกเว้นภาค Star Trek Generations ดังนั้น รูปแบบการเขียนของวิกิพีเดียจะแนะนำให้ใช้ "Into" เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เป็นคำแรกในคำบรรยาย ฝั่งตรงข้ามโต้แย้งว่านั่นเป็นการละเมิดนโยบายของวิกิพีเดียในเรื่องการค้นคว้าต้นฉบับที่ถือว่า "Into Darkness" เป็นคำบรรยาย โดย Star Trek Into Darkness อาจมีจุดประสงค์เพื่ออ่านเป็นประโยค และจะสนับสนุนกลยุทธ์การตลาดของสตูดิโอในการอนุญาตให้ตีความ "Into Darkness" เป็นคำบรรยาย ถ้า "Into Darkness" ไม่ใช่คำบรรยาย ทำให้รูปแบบการเขียนของวิกิพีเดียแนะนำว่า "into" ไม่ควรเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ เนื่องจากเป็นคำบุพบทสี่ตัวอักษร นอกจากนี้ ฝ่ายที่ไม่ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ยังโต้แย้งว่าแอบรัมส์เคยกล่าวว่าชื่อภาพยนตร์จะไม่มี "คำบรรยายพร้อมเครื่องหมายทวิภาค"[2]
ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ยังโต้แย้งอีกว่า ทั้งแหล่งข้อมูลทุติยภูมิและปฐมภูมิต่างก็ใช้ "I" ตัวพิมพ์ใหญ่ ผู้แก้ไขวิกิพีเดียที่ไม่ได้ลงทะเบียนคนหนึ่งเขียนด้วยอารมณ์เดือดพล่านว่า "อ่านเว็บไซต์ทางการบ้างเซ่ พวกโง่ขี้อวด" (READ THE GODDAMN OFFICIAL WEBSITE, YOU POMPOUS IDIOTS)[2][a] เพื่อเป็นการประนีประนอม บทนำของบทความจึงถูกเขียนไว้ในตอนแรกว่า "Star Trek into Darkness (โดยปกติเขียนเป็น Star Trek Into Darkness) ..." ก่อนจะมีการตกลงกันให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่สำหรับอักษร "I"[2]
เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2013 เควิน มอร์ริสเขียนในเดอะเดลีย์ดอตว่า "เมื่อพูดถึงการอวดความรู้ระดับโลก มีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่จะท้าทายความสามารถของชาววิกิพีเดียและแฟน ๆ สตาร์ เทรคได้"[2]
ในช่วงที่มีกรณีพิพาท แรนดัลล์ มันโร นักวาดการ์ตูน ได้เขียนและวาดการ์ตูน xkcd เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2013 พร้อมทั้งให้เกียรติและล้อเลียนสงครามการแก้ไข โดยบรรยายถึงผู้แก้ไขที่ยุติสงครามการแก้ไขโดยเขียนหัวข้อใหม่เป็น "~*~StAr TrEk InTo DaRkNeSs~*~"[2][4][5]
หลังการอภิปรายสิ้นสุดไปเดือนเดียว ข้อพิพาทนี้ยังคงมีผลต่อกูเกิล เสิร์ชในหัวข้อ Star Trek Into Darkness—การค้นหาภาพยนตร์นี้จะแสดงชื่อเรื่องเป็นอักษร i ตัวพิมพ์เล็ก แม้ว่าในเวลานั้นข้อโต้แย้งจะมีการตัดสินให้ใช้อักษร I ตัวพิมพ์ใหญ่แล้วก็ตาม มอร์ริสให้ความเห็นว่า เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่กลุ่มผู้แก้ไขวิกิพีเดียกลุ่มเล็ก ๆ อาจมีได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญกว่าการจะเลือกใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่หรือไม่[6]
บทความ "The Source Code of Political Power" ของ Christian Science Monitor ใน ค.ศ. 2016 โดย Simon DeDeo จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ใช้ข้อพิพาทนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าวิกิพีเดียเป็นระบบความคิดที่กำลังพัฒนาและเปรียบเทียบเข้ากับทัลมุด ด้วยเหตุนี้ DeDeo จึงมีความเห็นว่า วิกิพีเดียกำลังมุ่งสู่ความซับซ้อน ความละเอียดอ่อน และระบบราชการที่เพิ่มมากขึ้น[7]