คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช ฮเรนอฟ | |
---|---|
เกิด | Константин Константинович Хренов 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1894 โบรอฟสค์ จักรวรรดิรัสเซีย |
เสียชีวิต | 12 ตุลาคม ค.ศ. 1984 เคียฟ สหภาพโซเวียต | (90 ปี)
การศึกษา | มหาวิทยาลัยรัฐเทคนิคไฟฟ้าเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก |
อาชีพ | วิศวกร ศาสตราจารย์ |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้คิดค้นการเชื่อมไฮเปอร์บาริก |
รางวัล | เครื่องอิสริยาภรณ์เลนิน เครื่องอิสริยาภรณ์การปฏิวัติตุลาคม รางวัลรัฐสตาลิน รางวัลรัฐสหภาพโซเวียต |
คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช ฮเรนอฟ (รัสเซีย: Константин Константинович Хренов; 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1894 — 12 ตุลาคม ค.ศ. 1984) เป็นวิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวโซเวียต ซึ่งได้คิดค้นการเชื่อมไฮเปอร์บาริกใต้น้ำและการตัดโลหะ ใน ค.ศ. 1932[1][2] ซึ่งวิธีการดังกล่าว ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายในกองทัพเรือโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ฮเรนอฟได้รับรางวัลรัฐสตาลิน ใน ค.ศ. 1946
ฮเรนอฟเกิดใน ค.ศ. 1894 ณ เมืองโบรอฟสค์ ในมณฑลคาลูกา จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนมณฑลมอสโกไปทางใต้ไม่ไกลนัก ค.ศ. 1918 เขาสำเร็จการศึกษาจากคณะไฟฟ้าเคมี มหาวิทยาลัยรัฐเทคนิคไฟฟ้าเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SEU) หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาได้ดำเนินการวิจัยต่อที่มหาวิทยาลัยและทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระหว่าง ค.ศ. 1921 และ 1925 จากนั้น จึงได้ย้ายไปยังมอสโกระหว่าง ค.ศ. 1928 และ 1947 โดยทำการสอนที่สถาบันวิศวกรรมกลไฟฟ้ามอสโก (การขนส่งทางราง) ใน ค.ศ. 1933 เขาได้กลายเป็นศาสตราจารย์ที่นั่น ในเวลาเดียวกัน ระหว่าง ค.ศ. 1931 และ 1947 ฮเรนอฟได้ทำการสอนที่มหาวิทยาลัยรัฐเทคนิคมอสโกบาอูมัน หนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคนิคที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดของรัสเซีย[3][2]
ในคริสต์ทศวรรษ 1940 ฮเรนอฟย้ายไปยังยูเครน ที่ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันเชื่อมไฟฟ้า (ค.ศ. 1945-48 และ ค.ศ. 1963 จนกระทั่งปลดเกษียณ) สถาบันกลศาสตร์งานโครงสร้าง (ค.ศ. 1948-52) สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้า (ค.ศ. 1952-63) และสถาบันโปลีเทคนิคเคียฟ (ค.ศ. 1947-58)[3]
ฮเรนอฟอุทิศชีวิตการทำงานทั้งหมดให้กับการพัฒนาเทคนิคและอุปกรณ์การเชื่อมโลหะ เขาคิดค้นวิธีการเชื่อมไฟฟ้าและการตัดโลหะใต้น้ำ ออกแบบแหล่งพลังงานสำหรับการเชื่อมจุดอาร์ก ฟลักซ์เซรามิก การเคลือบขั้วเชื่อม วิธีการการเชื่อมกดเย็น การเชื่อมแพร่ การตัดพลาสมา และอีกหลายอย่าง[3] ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขา คือ การพัฒนาขั้วเชื่อมสำหรับการเชื่อมโลหะใต้น้ำใน ค.ศ. 1932 การทดสอบที่ประสบความสำเร็จที่ทะเลดำในปีเดียวกันนับเป็นความสำเร็จในทางปฏิบัติครั้งแรกของการเชื่อมโลหะใต้น้ำ[4][5] ในวิธีการดังกล่าว ฟองแก๊สได้เกิดขึ้นเป็นผลมาจากปฏิกิริยาการเชือมโลหะได้ทำให้เกิดการไหลที่คงที่ซึ่งป้องกันจุดอาร์กไม่ได้ถูกน้ำ[6] การเชื่อมโลหะใต้น้ำมีการนำไปใช้อย่างรวดเร็ว และใน ค.ศ. 1936-38 ได้ถูกใช้ในการยกเรือบอริสที่จมในทะเลดำ เช่นเดียวกับการซ่อมสะพานและเรือลำอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[7][8]