จตุสดมภ์

จตุสดมภ์ (เกิดจากคำบาลี "จตุ" หมายถึง สี่ และสันสกฤต สฺตมฺภ หมายถึง หลัก รวมหมายถึง "หลักสี่")[1] เป็นคำที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพใช้เรียกระบบการปกครองส่วนกลางภายในกรุงศรีอยุธยาสมัยอยุธยาตอนต้น[2] โดยมีระบุว่าเป็นแนวคิดที่รับเอามาจากขอม[3] ในขณะที่การปกครองหลังมีการปฏิรูปขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอันเป็นรูปแบบการปกครองที่ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีลักษณะเป็นแบบ "นายกรัฐมนตรี 2 คน" มากกว่า[4]

สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

[แก้]

จตุสดมภ์แบ่งออกเป็น 4 กรม มีหัวหน้าเรียกว่า ขุน ฐานะเทียบเท่าเสนาบดี แบ่งออกเป็น

  1. กรมเวียง ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักรและความทุกข์สุขของราษฎร ปราบปรามโจรผู้ร้าย ตัดสินคดีร้ายแรง
  2. กรมวัง ทำหน้าที่ดูแลพระมหากษัตริย์และกิจการในพระราชสำนัก และพิพากษาคดีให้ราษฎร
  3. กรมคลัง ทำหน้าที่ติดต่อการค้าขายกับต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรและรายได้ของแผ่นดิน
  4. กรมนา ทำหน้าที่ดูแลการทำมาหากิน และการประกอบอาชีพของราษฎรและเก็บรักษาเสบียงอาหารเพื่อใช้ในยามศึกสงคราม

สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

[แก้]

ต่อมาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในปี พ.ศ. 2006 มีการจัดตั้งกรมขึ้นสองกรม ได้แก่ กรมมหาดไทย ซึ่งดูแลกิจการพลเรือน โดยมีสมุหนายกเป็นอัครเสนาบดีดูแล และกรมกลาโหม ซึ่งดูแลกิจการทหาร โดยมีสมุหพระกลาโหมดูแล จตุสดมภ์นั้นให้มาขึ้นกับกรมมหาดไทย แล้วมีการเปลี่ยนชื่อและเพิ่มหน้าที่[5]

  1. กรมเวียง เปลี่ยนชื่อเป็น กรมพระนครบาล มีพระยายมราชเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย รักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร ดับเพลิงในพระนคร และตัดสินคดีความร้ายแรง
  2. กรมวัง เปลี่ยนชื่อเป็น กรมธรรมาธิกรณ์ มีพระยาธรรมาศรีสุริยวงศ์อัครมหาอุดมบรมวงษาธิบดี หรือพระยาธรรมาธิบดีเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ดูแลงานในพระราชสำนัก งานธุรการ ตัดสินคดีความ และแต่งตั้งยกกระบัตรไปดูแลหัวเมืองต่างๆ
  3. กรมคลัง เปลี่ยนชื่อเป็น กรมโกษาธิบดี มีพระยาศรีธรรมราชเดชาชาติอำมาตยานุชาติพิพัทรัตนราชโกษาธิบดี หรือเรียกสั้นว่า พระยาโกษาธิบดี เป็นเสนาบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์ การค้ากับต่างประเทศ บัญชีวัสดุและอาวุธของราชการ พระคลังหลวง การรับรองทูตต่างประเทศ และการตัดสินคดีความของคนต่างชาติ
  4. กรมนา เปลี่ยนชื่อเป็น กรมเกษตราธิการ มีพระยาพลเทพราชเสนาบดีเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ตรวจตราและส่งเสริมการทำนา เก็บข้าวไว้เป็นเสบียงยามสงคราม ตัดสินคดีความเกี่ยวกับที่นา ออกกรรมสิทธิ์ที่นาแก่ราษฎร

นอกจากนี้ ในภายหลังยังเพิ่มกรมให้ขึ้นอยู่กับกรมทั้งสี่นี้ด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คำค้น "จตุสดมภ์"
  2. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 5.
  3. การปกครองตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน เก็บถาวร 2011-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้น 2-5-2554.
  4. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองของไทย:หลายมิติ. หน้า 8.
  5. ลักษณะการปกครองกรุงศรีอยุธยา

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]