จูหวน (จู หฺวาน) | |
---|---|
朱桓 | |
ขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 229 – ค.ศ. 238 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
หัวหน้ารัฐบาล | โกะหยง |
เจ้ามณฑลเฉงจิ๋ว (青州牧) (แต่ในนาม) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 229 – ค.ศ. 238 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
หัวหน้ารัฐบาล | โกะหยง |
ขุนพลสำแดงยุทธ์ (奮武將軍 เฟิ่นอู่เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 223 – ค.ศ. 229 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
หัวหน้ารัฐบาล | ซุน เช่า (ถึงปี ค.ศ. 225) โกะหยง (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 225) |
ปลัดรัฐเพ้งเสีย (彭城相 เผิงเฉิงเซียง) (ในนาม) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 223 – ค.ศ. 229 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
หัวหน้ารัฐบาล | ซุน เช่า (ถึงปี ค.ศ. 225) โกะหยง (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 225) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 177[a] นครซูโจว มณฑลเจียงซู |
เสียชีวิต | ค.ศ. 238 (61 ปี)[a] |
บุตร | จูอี้ |
อาชีพ | ขุนพล |
ชื่อรอง | ซิวมู่ (休穆) |
บรรดาศักดิ์ | เจียซิงโหว (嘉興侯) |
จูหวน (ค.ศ. 177–238)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จู หฺวาน (จีน: 朱桓; พินอิน: Zhū Huán) ชื่อรอง ซิวมู่ (จีน: 休穆; พินอิน: Xiūmù) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน แม้ว่าจูหวนเริ่มรับราชการภายใต้ขุนศึกซุนกวน แต่ก็ยังไม่มีบทบาทสำคัญใด ๆ จนกระทั่งหลังยุทธการที่กังเหลงในปี ค.ศ. 209 ตั้งแต่นั้นจูหวนก็ได้รับผิดชอบการป้องกันในท้องถิ่นและปราบปรามกบฏจำนวนหนึ่งเป็นผลสำเร็จ ระหว่างปี ค.ศ. 222 ถึง ค.ศ. 225 เมื่อโจผีจักรพรรดิแห่งวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของง่อก๊กเปิดฉากการบุกง่อก๊กสามทาง ซุนกวนแต่งตั้งให้จูหวนเป็นแม่ทัพในการต้านวุยก๊กที่รุกราน จูหวนเอาชนะโจหยินขุนพลของวุยก๊กได้ในยุทธการที่ยี่สู (ค.ศ. 222–223)
จูหวนเป็นชาวอำเภออู๋ (吳縣 อู๋เซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครซูโจว มณฑลเจียงซู[2] จูหวนมาจากตระกูลจูที่เป็นหนึ่งในสี่ตระกูลที่มีอิทธิพลที่สุดในเมืองง่อกุ๋นในเวลานั้น[b] จูหวนเริ่มรับราชการภายใต้ขุนศึกซุนกวนผู้ปกครองอาณาเขตในภูมิภาคกังตั๋งในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จูหวนมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ (長 จ่าง) ของอำเภออีเหี้ยว (餘姚縣 ยฺหวีเหยาเซี่ยน) ในเวลานั้น
เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในอำเภออีเหี้ยวทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น จูหวนจึงให้เปิดยุ้งฉางของที่ว่าการอำเภอและแจกจ่ายอาหารให้กับราษฎร ขณะเดียวกันก็สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจกจ่ายยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดด้วย[3] เป็นผลให้จูหวนได้รับความเคารพและการยอมรับจากราษฎรในท้องถิ่น ต่อมาซุนกวนแต่งตั้งจูหวนเป็นนายกอง (校尉 เซี่ยวเว่ย์) นำทหาร 2,000 นายไปตามหาผู้คนที่กระจัดพลัดพรายไปก่อนหน้านี้เพื่อหลีกหนีโรคระบาด จูหวนทำภารกิจสำเร็จและสามารถจัดหาใหม่ที่อยู่ให้ราษฎร 10,000 คนในเมืองง่อกุ๋นและห้อยเข (會稽 ไคว่จี) หลังดำเนินการอยู่หลายปี[4]
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 200 ถึงราว ค.ศ. 222 จูหวนยังไม่มีบทบาทรับผิดชอบสำคัญใด ๆ ในขณะที่นายทหารคนอื่น ๆ ของซุนกวนมีส่วนร่วมอย่างมากในยุทธการที่รบกับขุนศึกอริ โดยเฉพาะกับโจโฉขุนศึกผู้กุมอำนาจราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นและควบคุมดินแดนทางเหนือของแม่น้ำแยงซี ในช่วงเวลานั้น จูหวนได้ปราบปรามกบฏหลายครั้งในเมืองตันเอี๋ยง (丹楊 ตานหยาง) และกวนหยง (鄱陽 ผัวหยาง) ในขณะที่นายทหารร่วมราชการคนอื่น ๆ กำลังรบอยู่ที่แนวหน้า จากความชอบในการปราบกบฏของจูหวน ซุนกวนจึงมอบบรรดาศักดิ์ให้จูหวนเป็นซินเฉิงถิงโหว (新城亭候) และเลื่อนยศเป็นขุนพลรอง (裨將軍 ผีเจียงจวิน)[5]
ในปี ค.ศ. 222 จูหวนสืบทอดตำแหน่งจิวท่ายในฐานะแม่ทัพพื้นที่ประจำป้อมปราการที่ยี่สู (濡須 หรูซฺวี) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ชายแดนตามแนวแม่น้ำแยงซีระหว่างง่อก๊กและวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ เวลานั้นโจผีจักรพรรดิแห่งวุยก๊กเปิดฉากการบุกง่อก๊กสามทางและมีรับสั่งให้ขุนพลโจหยินนำการโจมตีที่ยี่สู[6]
โจหยินปล่อยข่าวว่าตนจะโจมตีที่เอียนเข (羨溪 เซี่ยนซี) โดยมีจุดประสงค์เพื่อหันเหความสนใจของง่อก๊กออกจากป้อมปราการที่ยี่สู จูหวนหลงกลโจหยินจึงส่งกองกำลังจำนวนมากไปทางตะวันออกเพื่อไปเสริมกำลังที่เอียนเข ขณะเดียวกันโจหยินนำกองกำลังหลายหมื่นนายเข้าโจมตียี่สูซึ่งจูหวนอยู่รักษาป้อมปราการโดยมีกำลังทหารเหลือเพียง 5,000 นาย[7] ทหารง่อก๊กที่ยี่สูต่างหวาดกลัวเพราะกองกำลังของโจจิ๋นมีจำนวนมากกว่า จูหวนจึงบอกกับเหล่าทหารว่า "เมื่อใดที่ทหารสองฝ่ายรบกัน ผลการรบจะถูกกำหนดโดยเจตจำนงแม่ทัพไม่ใช้จำนวนทหาร พวกเจ้าได้ยินชื่อเสียงด้านการรบของโจหยิน เห็นคิดว่าความสามารถของโจหยินจะเทียบกับข้าได้หรือ หลักการทางการทหารว่าทัพฝ่ายบุกควรมีจำนวนสองเท่าของทัพฝ่ายรับเมื่อรบบนที่ราบ เงื่อนไขคือฝ่ายตั้งรับไม่ได้อยู่ในป้อมปราการและขวัญกำลังใจของทั้งสองฝ่ายเท่ากัน บัดนี้โจหยินไม่มีทั้งปัญญาและความกล้า ทหารก็ขี้ขลาดทั้งยังเหนื่อยล้าจากการเดินทางนับพันลี้ ในทางกลับกัน เรายึดป้อมปราการที่มีกำแพงสูงใหญ่ อยู่ทางเหนือของแม่น้ำและทางใต้ของภูเขา สถานการณ์อำนวยให้ฝ่ายเรา เราจะมีชัยต่อข้าศึกที่อ่อนเล้า เราจะชนะร้อยศึกถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ร้อยครั้ง เราต้องไม่กลัวต่อให้โจผีมาที่นี่ด้วยตนเอง แล้วจะมากังวลอะไรกับคนเช่นโจหยินเล่า"[8]
จูหวนจึงสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาซ่อนธงทิวและกลองศึกเพื่อให้โจหยินเข้าใจว่าพวกตนอ่อนแอเพื่อล่อให้โจหยินเข้าโจมตี โจหยินให้เฉา ไท่ (曹泰) บุตรชายนำทัพหลักเข้าไปใกล้ป้อมปราการ และสั่งให้เสียงเตียว (常雕 ฉาง เตียว) และฮองสัง (王雙 หวาง ซฺวาง) เปิดฉากโจมตีจงโจว (中洲; เกาะกลางแม่น้ำ) ที่มีครอบครัวของทหารฝ่ายง่อก๊กอาศัยอยู่ จูหวนจึงส่งเหยียน กุย (嚴圭) ไปยังจงโจวเพื่อซุ่มกำลังที่นั่น ในขณะที่จูหวนนำกำลังที่เหลือไปรบกับเฉา ไท่ เสียงเตียวและฮองสังถูกซุ่มโจมตีและพยายามล่าถอย แต่เรือของทั้งสองถูกทัพง่อก๊กยึดไว้จึงไม่สามารถถอยกลับได้ เสียงเตียวถูกสังหารในที่รบ ส่วนฮองสังถูกจับเป็น ทหารวุยก๊ก 1,000 นายจมน้ำตายขณะพยายามหนี ส่วนที่เหลือก็ถูกจับ ส่วนทางด้านนอกป้อมปราการยี่สู จูหวนรบไล่การโจมตีของเฉา ไท่ และสามารถแทรกซึมเข้าไปในค่ายของข้าศึกในจุดไฟเผาค่าย[9] จากผลงานของจูหวนในการรบ ซุนกวนจึงเลื่อนขั้นให้จูหวนเป็นขุนพลสำแดงยุทธ (奮武將軍 เฟิ่นอู่เจียงจฺวิน) ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "เจียซิงโหว" (嘉興侯) และแต่งตั้งให้เป็นปลัด (相 เซียง) ของเมืองเพ้งเสีย (彭城 เผิงเฉิง) ในนาม[10]
หกปีต่อมา จูหวนเข้าร่วมในยุทธการที่เซ็กเต๋งในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของลกซุน ครั้งหนึ่งจูหวนเสนอกับลกซุนว่าสามารถจะจับตัวโจฮิวขุนพลของข้าศึกได้โดยง่ายด้วยการปิดกั้นเส้นทางถอยของโจฮิวโดยใช้กำลังทหารเพียง 10,000 นายภายใต้การบัญชาของตัวจูหวน แต่ลกซุนปฏิเสธแผนของจูหวนและมอบหมายให้จูหวนนำทหาร 30,000 นายเข้าโจมตีด้านข้างของข้าศึก เมื่อโจฮิวนำทัพ 100,000 นายมาถึงเซ็กเต๋ง จูหวนและจวนจ๋องจึงนำทหารของตนเข้าโจมตีปีกซ้ายและปีกขวาของทัพโจฮิว ในขณะที่ลกซุนเข้าโจมตีเมื่อทัพข้าศึกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ทัพโจฮิวแตกพ่ายกระจัดกระจายและมีทหารเสียชีวิตนับหมื่นนาย[11]
จูหวนต้องการเป็นผู้นำมาโดยตลอดและรู้สึกละอายใจที่ต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการของผู้อื่น ในขณะที่จูหวนเข้าร่วมยุทธการก็ไม่สามารถทำตามใจชอบได้จึงรู้สึกโกรธและขุ่นเคือง แต่จูหวนก็ให้ความสำคัญกับคุณธรรม เมื่อจูหวนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 238 ขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ครอบครัวของจูหวนยากจนมาก ซุนกวนจึงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวของจูหวนเพื่อให้จัดงานศพของจูหวนอย่างสมเกียรติ สาเหตุเหตุที่ครอบครัวจูหวนยากจนเป็นเพราะขณะเมื่อจูหวนยังมีชีวิตอยู่มักจะใช้ทรัพย์สินของตนช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว จึงทำให้ครอบครัวของจูหวนไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินมากนักเมื่อถึงเวลาที่จูหวนเสียชีวิต เมื่อเหล่าทหารใต้บังคับบัญชาของจูหวนรู้ว่าจูหวนป่วยหนัก ต่างรู้สึกกังวลและว้าวุ่นใจ เมื่อจูหวนเสียชีวิต เหล่าทหารและครอบครัวก็โศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของจูหวนอย่างสูง บุตรชายของจูหวนชื่อจูอี้ (朱異) สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาและรับราชการเป็นนายทหารในทัพง่อก๊ก[12]