ถนนท่าดินแดง

ถนนท่าดินแดง
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว0.936 กิโลเมตร (0.582 ไมล์; 3,070 ฟุต)
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศใต้ สามเหลี่ยมลาดหญ้า ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ปลายทางทิศเหนือ แม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
บรรยากาศตลาดในท่าดินแดง
ศาลเจ้าซำไนเก็ง (三奶宮) เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของกลุ่มจีนแคะ ก่อสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2482

ถนนท่าดินแดง (อักษรโรมัน: Thanon Tha Din Daeng) เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร ไม่มีเกาะกลาง เขตถนนกว้าง 22 เมตร ระยะทางยาว 936 เมตร[1] มีจุดเริ่มต้นจากสามเหลี่ยมลาดหญ้าซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนลาดหญ้าและถนนอิสรภาพ มุ่งขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยาและตัดกับถนนสมเด็จเจ้าพระยาที่ทางแยกท่าดินแดง ไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือท่าดินแดง

ถนนท่าดินแดงเป็น "ถนนสายที่ 9" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2473 ได้กำหนดแนวเส้นทางถนนสายที่ 9 ไว้ตั้งแต่ถนนสายที่ 4 (ปัจจุบันคือถนนลาดหญ้า) ผ่านถนนสายที่ 3 (ปัจจุบันคือถนนอิสรภาพ) และถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนสมเด็จเจ้าพระยา) ไปจนถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามท่าเรือราชวงศ์

ทางการเริ่มก่อสร้างถนนสายที่ 9 ในปี พ.ศ. 2474[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนสายต่าง ๆ ในโครงการดังกล่าวถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยใช้เกณฑ์ "มหาชัย" ที่ไทยรบชนะพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับถนนสายที่ 9 ทรงตั้งชื่อว่า ถนนท่าดินแดง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคราวพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยกทัพเข้าตีค่ายทหารพม่าที่บ้านท่าดินแดง แขวงเมืองท่าขนุน ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2329[2][3] ซึ่งก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อถนนตามที่ทรงเสนอ

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
  2. 2.0 2.1 กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 120.
  3. ปัจจุบัน พื้นที่การรบบ้านท่าดินแดงจมอยู่ใต้ทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) ในท้องที่ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี