ปฏิบัติการฮาร์ดโนส

ปฏิบัติการฮาร์ดโนส
ส่วนหนึ่งของ สงครามกลางเมืองลาวและสงครามเวียดนาม
ชนิดปฏิบัติการจารกรรม
ตำแหน่งประเทศลาว
วางแผนเมื่อมกราคม 2506
โดยไมค์ ดิวเอล
ผู้บังคับบัญชาไมค์ ดิวเอล, จอห์น เอฟ. เคนเนดี, โรเบิร์ต แม็กนามารา, วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์
วัตถุประสงค์รายงานกิจกรรมบนเส้นทางโฮจิมินห์
วันที่สิงหาคม 2506—2515
ผู้ลงมือรัฐบาลสหรัฐ
สำนักข่าวกรองกลาง
MACV-SOG
หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
แอร์อเมริกา
สหรัฐอเมริกา กองทัพอากาศสหรัฐ
รัฐบาลไทย
ตำรวจพลร่ม
ผลลัพธ์ประสบความสำเร็จ ถูกแทนที่ด้วยแผนงาน ฮาร์ก-1

ปฏิบัติการฮาร์ดโนส (อังกฤษ: Operation Hardnose) เป็นปฏิบัติการจารกรรมที่ดำเนินการโดยสำนักข่าวกรองกลางเพื่อติดตามเส้นทางโฮจิมินห์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองลาว ปฏิบัติการนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2506 และไม่นานก็ได้รับความสนใจจาก โรเบิร์ต แม็กนามารา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2506 เขาเรียกร้องให้ขยายขอบเขตปฏิบัติการ ปฏิบัติการฮาร์ดโนสได้รับการขยายสเกลและรายงานเกี่ยวกับเส้นทางโฮจิมินห์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากิจกรรมข่าวกรองของกองทัพสหรัฐจะมุ่งเป้าไปที่เส้นทางการส่งเสบียงของคอมมิวนิสต์ก็ตาม ในความพยายามที่จะปรับเทคโนโลยีให้เหมาะกับการใช้งานของลาวเทิงที่ไม่รู้หนังสือ วิทยุยามฉุกเฉินบางเครื่องของกองทัพอากาศสหรัฐได้รับการดัดแปลงโดยซีไอเอเพื่อให้สายลับของพวกเขาใช้งานได้

ในปี พ.ศ. 2511 ปฏิบัติการฮาร์ดโนสถูกลดบทบาทความสำคัญลงเนื่องจากการใช้ระบบข่าวกรองอื่น ๆ เช่น เซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์บนอากาศและภาคพื้นดิน นอกจากนี้ ด้วยการถือกำเนิดของ ล็อกฮีด เอซี-130 ซึ่งสามารถค้นหาเป้าหมายด้วยตัวเองและโจมตีเป้าหมายได้ ทำให้การตรวจหายานพาหนะของศัตรูของฮาร์ดโนสแทบจะไม่มีประโยชน์ใด ๆ อีกต่อไป หลังจากนั้น ปฏิบัติการฮาร์ดโนสก็ค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลง

ประวัติ

[แก้]

พระราชอาณาจักรลาวได้ก้าวสู่การเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมในลาว ฝรั่งเศสจึงทิ้งประเทศนี้ไว้โดยขาดความเชี่ยวชาญและความเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังไม่สามารถรับมือกับการก่อกบฏของคอมมิวนิสต์ลาวที่ได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงเวลาที่แยกตัวออกจากลาวได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม สหรัฐซึ่งแบกรับภาระในการจัดหาเงินทุนให้กับรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เข้ามาดำเนินการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองลาวตามมาก่อนจะเกิดสงครามเวียดนาม ซึ่งแตกต่างจากสงครามเวียดนาม สงครามลาวต้องดำเนินไปภายใต้สมมติฐานของความลับเนื่องจากมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือ การประชุมเจนีวา (พ.ศ. 2497) ดังนั้น สำนักข่าวกรองกลางจึงเข้ามาสนับสนุนและดำเนินการปราบปรามการก่อกบฏภายในลาว[1]

ปฏิบัติการฮาร์ดโนส

[แก้]

ปฏิบัติการฮาร์ดโนสเป็นปฏิบัติการเฝ้าระวังท้องถนนบนเส้นทางโฮจิมินห์ ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองลาว แนวคิดดั้งเดิมของปฏิบัติการนี้ถูกนำเสนอต่อประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2506[2] ในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2506 ไมค์ ดิวเอล เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ได้ย้ายฐานปฏิบัติการจากจังหวัดนครพนม ประเทศไทย ไปยังปากเซ ประเทศลาว เขาได้รับตัวแทนท้องถิ่นที่มีแววดีจากโครงการปฏิบัติการพินคูชชั่น หลังจากการฝึกขั้นสูงที่จังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย ในฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ. 2506 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังท้องถนนบนเส้นทางโฮจิมินห์ที่ผ่านพื้นที่กองทัพแห่งชาติลาวภาค 4 พวกเขาตั้งฐานที่มั่นใกล้กับห้วยทรายบนที่ราบสูงโบลาเวน ด้วยความช่วยเหลือของชุด ที ของตำรวจพลร่มไทย การปฏิบัติงานของสายลับลาวเทิงประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนภายในเวลาสองเดือน ความพยายามของพวกเขาก็ได้รับการยกย่องจาก โรเบิร์ต แม็กนามารา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2506 แมคนามาราได้เรียกร้องให้มีการขยายโครงการปฏิบัติการฮาร์ดโนส[3][4] หลังจากการเยือนเวียดนามแบบเร่งด่วนระยะเวลาสองวัน[5]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2507 ปฏิบัติการฮาร์ดโนสมีชุดปฏิบัติการจารกรรม 20 ชุด คอยเฝ้าติดตามถนนและพกพาวิทยุในบริเวณใกล้เคียงเมืองสาละวัน และพื้นที่ทางใต้บริเวณชายแดนกัมพูชา เมื่อครบปีปี มีเสียงเรียกร้องให้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการฮาร์ดโนสเพิ่มเติม มีการนำผู้ฝึกสอนตำรวจพลร่มของไทยเข้ามาฝึกสอนเพิ่มเติม[6] ในเดือนกันยายน ผู้เฝ้าระวังถนนในปฏิบัติการฮาร์ดโนสได้รายงานว่ามีทหารกองทัพประชาชนเวียดนาม 5,000 นาย กำลังเคลื่อนตัวไปทางใต้ตามเส้นทางโฮจิมินห์ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งหนึ่งจากจำนวนผู้บุกรุกที่รายงานตลอดปี พ.ศ. 2507 เครือข่ายการขนส่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วรวมถึงถนนสายใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ คือ ทางหลวงหมายเลข 911 จะลดระยะทางระหว่างช่องเขามูเจียและเซโปนลงไปถึงหนึ่งในสาม[7]

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2507 การประชุมประสานงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการประชุมรายเดือนของเอกอัครราชทูตสหรัฐ เจ้าหน้าที่ซีไอเอ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ตัดสินใจว่ากองบัญชาการความช่วยเหลือทางทหารเวียดนาม (MACV) ควรดำเนินการลาดตระเวนของตนเองในดินแดนของปฏิบัติการฮาร์ดโนส เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1965 นายพล วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ ได้มอบหมายให้หน่วย MACV-SOG ดำเนินการข้ามพรมแดนจากเวียดนามใต้เข้าไปในลาว[8] เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2508 นายวิลเลียม เอช. ซัลลิแวน เอกอัครราชทูตประจำลาว ประท้วงโครงการใหม่นี้โดยระบุว่าเป็นการดำเนินการซ้ำของปฏิบัติการไวท์สตาร์ที่ล้มเหลว การบุกรุกภาคพื้นดินในสงครามลาวไม่ได้เป็นเพียงอิทธิพลเดียวในสงครามเวียดนามที่ส่งผลต่อปฏิบัติการของลาวเท่านั้น พื้นที่ปฏิบัติการทางอากาศของปฏิบัติการสตีลไทเกอร์ และปฏิบัติการไทเกอร์ฮาวด์ ถูกแบ่งออกจากพื้นที่ปฏิบัติการบาเรลโรลล์ในลาว และส่งมอบให้กับกองบัญชาการความช่วยเหลือทางทหารเวียดนาม เพื่อดำเนินการจากเวียดนาม นอกจากนี้ MACV-SOG ยังต้องการสนับสนุนพื้นที่ฐานกองโจรทางตะวันออกของที่ราบสูงโบโลเวนส์ระหว่างพื้นที่นั้นกับชายแดนเวียดนาม[9] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2508 MACV-SOG ได้เอาชนะความกังวลของซัลลิแวนเกี่ยวกับความเป็นกลางของลาว และได้ส่งหน่วยลาดตระเวนในปฏิบัติการไชนิงบราสเพื่อสืบหาเส้นทางโฮจิมินห์จากทางเวียดนามใต้[10]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 ไมค์ ดิวเอล ปฏิบัติหน้าที่ในลาวเป็นเวลา 3 ปี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ดิวเอลได้พาผู้ที่มาแทนที่เขาไปทำการบินปฐมนิเทศเพื่อแจกจ่ายเงินเดือนให้กับชุดในสาละวัน หลังจากพวกเขาออกเดินทางจากที่นั่น เครื่องยนต์ซิกอสกี เอช-34 ของแอร์อเมริกาก็หยุดทำงานห่างจากฐานประมาณ 24 กิโลเมตร (15 ไมล์)* ขณะกำลังเดินทาง ร่างของผู้โดยสารเฮลิคอปเตอร์ถูกกู้ขึ้นมาจากอุบัติเหตุโดยกองกำลังอาสาสมัคร Auto Defense Choc เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2508[7]

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2508 ปฏิบัติการฮาร์ดโนสได้ขยายขอบเขตอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ชุดครูฝึกจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษของไทย (RTSF) จำนวน 21 นาย ได้เข้าร่วมกับปฏิบัติการฮาร์ดโนสที่ฐานทัพที่เพิ่งเปิดใหม่ซึ่งอยู่ห่างออกไป 27 กิโลเมตร (17 ไมล์)* ทางตะวันออกเฉียงใต้ของห้วยกง ทางเหนือของที่นั่น ค่ายฝึกไซบีเรียได้ก่อตั้งขึ้นที่ห่างออกไป 26 กิโลเมตร (16 ไมล์)* ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสะหวันนะเขต ซึ่งค่ายนี้ก็ได้รับครูฝึกงานหน่วยรบพิเศษไทย (RTSF) เช่นกัน นอกจากนี้ หน่วยรบพิเศษไทยยังได้จำลองแผนงานฮาร์ดโนสด้วยปฏิบัติการสตาร์ซึ่งดำเนินการเองโดยฝ่ายไทย โดยมีชุดเฝ้าติดตามบนท้องถนนจำนวน 4 ชุด ชุดละ 6 นาย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 เฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-3ซี ของปฏิบัติการโพนีเอกซ์เพรสที่ไม่ติดเครื่องหมายจำนวน 3 ลำ ได้รับการส่งมอบเพื่อแทนที่เครื่องบินของแอร์อเมริกาในการขนส่งทางอากาศของชุดปฏิบัติการฮาร์ดโนสและสตาร์[11] ในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกันนั้น มีชุดปฏิบัติงานถูกจับกุม 4 ชุดในช่วงเวลาสองสัปดาห์ในขณะที่กองทัพประชาชนเวียดนามเริ่มเพิ่มการเฝ้าระวัง[12]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2509 เฮลิคอปเตอร์ของปฏิบัติการโพนีเอกซ์เพรสอีก 11 ลำได้รับมอบหมายให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติภารกิจเฝ้าระวังบนถนนนั้นถูกขัดขวางโดยระดับการศึกษาที่ต่ำของผู้ปฏิบัติงานและอุปสรรคด้านภาษา ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2509 มีชุดปฏิบัติการสตาร์ของไทย 10 ชุดปฏิบัติการ[13] หน่วยทหารไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นพิเศษจำนวน 50 นาย ถูกขนส่งด้วยเฮลิคอปเตอร์เป็นชุดไปยังเส้นทางโฮจิมินห์ หลังจากล้มเหลวเป็นเวลาสามเดือน ชุดเหล่านี้ก็ถูกยุบลง[11]

ชุดวิจัยได้ทดลองใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อติดตามการจราจรบนเส้นทางโฮจิมินห์ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2510 ฝ่ายบริการทางเทคนิคของซีไอเอได้ส่งเซ็นเซอร์ตรวจจับการจราจรแบบแม่เหล็กไปติดตั้งบนเส้นทาง แต่อุปกรณ์ไม่สามารถนับได้อย่างแม่นยำหรือไม่ก็หยุดการนับไปเลย ในที่สุด ซีไอเอได้ดัดแปลงวิทยุยามฉุกเฉินของกองทัพอากาศสหรัฐให้เป็นวิทยุ ฮาร์ก-1 ซึ่งมีรูปภาพของทหารและรถบรรทุกของศัตรูอยู่ข้าง ๆ ปุ่มกด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวังบนท้องถนนซึ่งอ่านหรือเขียนไม่ได้จะกดปุ่มทุกครั้งที่มีการนับทหารหรือรถบรรทุก จากนั้นจึงส่งสัญญาณจากการนับไปยังเครื่องบินที่อยู่เหนือศีรษะด้วยการกดปุ่มอื่น[11]

แผนงาน ฮาร์ก-1

[แก้]

โดยพื้นฐานแล้ว ฮาร์ค-1 ถูกนำเข้ามาแทนที่ปฏิบัติการฮาร์ดโนส ผู้ฝึกใหม่ของซีไอเอถูกส่งต่อไปยังค่ายสำหรับปฏิบัติการฮาร์ดโนสเดิมในช่วงต้นปี พ.ศ. 2510 ผู้ฝึก ฮาร์ก-1 ที่ปรากฏตัวในเดือนกุมภาพันธ์ต้องพบสถานการณ์หน้างานที่ยุ่งยาก เจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติงานในปฏิบัติการสตาร์ของตนเองอย่างเต็มตัว เนื่องจากการละเลยแผนงานการเฝ้าระวังบนถนนของซีไอเอเดิม ชุดหน่วยรบพิเศษของไทยจึงทุ่มเทให้กับการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเฝ้าระวังบนท้องถนนโดยเฉพาะ และได้ขยายสถานที่ฝึกอบรมสำหรับพวกเขา หลังจากสูญเสียนักบินของ บริษัท คอนติเนนตัล แอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ในอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2510 แผนงาน ฮาร์ก-1 ได้ถูกมอบหมายให้แอร์อเมริกาเข้ามารับหน้าที่จัดหาลิงก์วิทยุบนอากาศให้กับฮาร์ก-1[14]

ปัจจุบัน ชุดฮาร์ก-1 ปฏิบัติการในสามพื้นที่ โดยโซนใต้สุดของพื้นที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เซโปน แต่ขยายไปทางใต้จนถึงกัมพูชา ส่วนภาคกลางของชุดฮาร์ก-1 กำหนดเป้าหมายที่บริเวณช่องเขามูเจีย ในปี พ.ศ. 2510 มีชุดปฏิบัติการ 15 ชุดที่นั่น โดยมีสถานีหมุนเวียนสองแห่งอยู่ภายในช่องเขานั้นเอง พื้นที่ปฏิบัติการ ฮาร์ก-1 พืนที่ที่สามคือช่องเขาเนป เมื่อเทียบกับชุดลาดตระเวนของสหรัฐ ลาวมักจะเดินทัพเป็นระยะทางไกลอย่างไม่เป็นที่สังเกตเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการแทนที่จะแทรกซึมด้วยเฮลิคอปเตอร์[12] นอกจากนี้ ลาวไม่ได้จำกัดอยู่แค่การให้บริการเป็นชุดเท่านั้น ในตอนนี้ พวกเขาเริ่มรับช่วงการฝึกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานใหม่ต่อจากทหารไทย[15]

ชุด ฮาร์ก-1 จะฝังตัวอยู่ที่เดิมตราบเท่าที่พวกเขายังไม่ถูกค้นพบและมีเสบียงอยู่ ชุดปฏิบัติการบางส่วนอยู่ที่สถานีเป็นเวลาหลายเดือน นอกเหนือจากการใช้กล้องเป็นครั้งคราวและการทดลองใช้กล้องมองตอนกลางคืนในช่วงสั้น ๆ แล้ว พวกเขาก็มีอุปกรณ์เพียงน้อยนิดแต่เพียงพอ จำนวนการจราจรในปี พ.ศ. 2510แสดงให้เห็นว่ามีรถบรรทุกเพิ่มขึ้น 165% บนเส้นทางเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2509 มีรถยนต์ที่มุ่งหน้าไปทางใต้ประมาณ 4,260 คันและมุ่งหน้าไปทางเหนือ 4,200 คัน ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2510 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2510 เมื่อกลางปี พ.ศ. 2511 แต่ละพื้นที่ของ ฮาร์ก-1 ทั้งสามพื้นที่มีชุดปฏิบัติการประมาณ 25 ชุดในสนาม[16]

อย่างไรก็ตาม นักบินของสหรัฐอ้างว่ารถบรรทุก 6,600 คันถูกทำลายตามเส้นทางในช่วงเวลาเดียวกัน ความไม่ตรงกันของจำนวนนี้ ร่วมกับโปรแกรมเฝ้าระวังด้วยเซ็นเซอร์ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2510 ทำให้เกิดข้อสงสัยในความแม่นยำของชุดเฝ้าระวังบนท้องถนน ที่สำคัญกว่านั้น การถือกำเนิดของเครื่องบินติดปืนกล เอซี-130 สเปกเตอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 พร้อมระบบเฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องทั้งหมด ทำให้การสังเกตการณ์ภาคพื้นดินส่วนใหญ่กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยศูนย์ประมวลผลข่าวกรองทางทหารแห่งใหม่ที่เรียกว่า กองกำลังเฉพาะกิจร่วมอัลฟ่า (Task Force Alpha) เปิดทำการที่นครพนมเพื่อรวบรวมข้อมูลจากเส้นทางทั้งหมด ภายในฤดูร้อนปี พ.ศ. 2512 ชุดเฝ้าระวังท้องถนนก็เริ่มมีจำนวนลดน้อยลง[17] มาตรการตอบโต้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของการลาดตระเวนของศัตรูและการใช้สุนัขติดตามต่างก็ส่งผลกระทบเช่นกัน[12] ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความพยายามปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐต่อรถบรรทุกของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเวียดนามก็ถึงขีดจำกัด เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าจำนวนรถบรรทุกที่แท้จริงจะเป็นยอดเท่าไร การโจมตีทางอากาศก็ไม่สามารถที่จะหยุดการแทรกซึมผ่านเส้นทางนั้นได้[17]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 เจ้าหน้าที่ที่เพิ่งมาถึงได้เข้ามาดูแลโครงการเฝ้าระวังทางถนนในพื้นที่กองทัพแห่งชาติลาวภาค 4 ซึ่งไม่เคยหยุดปฏิบัติภารกิจเฝ้าระวังทางถนน จากประสบการณ์ที่สำนักงานใหญ่ของซีไอเอ (รายงานการเฝ้าระวังทางถนนซึ่งหมดประโยชน์แล้วจึงถูกปล่อยปะ) และในช่วงหลายเดือนแรกที่เขาทำงานในประเทศ เขาได้ยุติภารกิจเฝ้าระวังทางถนนลง และใช้ทรัพยากรเฝ้าระวังทางถนนเดิมสำหรับภารกิจรวบรวมข้อมูลข่าวกรองอื่น ๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เหลือของภารกิจ[18]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Conboy, Morrison, pp. 13–24.
  2. Prados 1998, pp. 37–38.
  3. Conboy, Morrison, p. 119.
  4. Prouty, p. 10.
  5. Gibbons, pp. 211–212.
  6. Conboy, Morrison, p. 120.
  7. 7.0 7.1 Conboy, Morrison, p. 142.
  8. Prados 2000, pp. 97–98.
  9. Conboy, Morrison, pp. 142–143.
  10. Prados 2000, pp. 101–102.
  11. 11.0 11.1 11.2 Conboy, Morrison, p. 145.
  12. 12.0 12.1 12.2 Conboy, Morrison, p. 147.
  13. Conboy, Morrison, p. 144.
  14. Conboy, Morrison, pp. 145–146.
  15. Conboy, Morrison, p. 146.
  16. Conboy, Morrison, pp. 147–148.
  17. 17.0 17.1 Conboy, Morrison, p. 148.
  18. Briggs, pp. 14, 47–51.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Anthony, Victor B. and Richard R. Sexton (1993). The War in Northern Laos. Command for Air Force History. OCLC 232549943.
  • Briggs, Thomas Leo (2009). Cash on Delivery: CIA Special Operations During the Secret War in Laos. Rosebank Press, ISBN 978-0-9841059-4-6.
  • Conboy, Kenneth and James Morrison (1995). Shadow War: The CIA's Secret War in Laos. Paladin Press, ISBN 0-87364-825-0.
  • Gibbons, William Conrad (2014). The U.S. Government and the Vietnam War: Executive and Legislative Roles and Relationships, Part II: 1961–1964. Princeton University Press, ISBN 0-691-61038-X.
  • Prados, John (2000). The Blood Road: The Ho Chi Minh Trail and the Vietnam War. Wiley, 2000, ISBN 0-471-37945-X.
  • — (1998) The Hidden History of the Vietnam War, Ivan R. Dee, ISBN 1-56663-197-1.
  • Prouty, L. Fletcher (2008). Secret Team: The CIA and Its Allies in Control of the United States and the World. Skyhorse Publishing, ISBN 1-60239-229-3.