บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
จันทรภาณุ | |
---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งตามพรลิงค์ | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 1773 –1806 |
รัชสมัย | 33 ปี |
ราชาภิเษก | พ.ศ. 1773 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช |
ถัดไป | พระเจ้าพงษาสุระ |
พระมหากษัตริย์แห่งจัฟฟ์นา | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 1798 – 1806 |
ถัดไป | ซาวะกันมินดัน |
ประสูติ | ตามพรลิงค์ |
สวรรคต | พ.ศ. 1806 |
ราชวงศ์ | ปัทมวงศ์ |
ศาสนา | พุทธ |
พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์[1] พระองค์ขยายอาณาเขตกว้างขวาง โดยมีเมืองบริวารถึง 12 เมือง เรียกว่า "เมืองสิบสองนักษัตร" และยังแผ่อำนาจไปถึงเกาะลังกา โดยการยกทัพไปตีถึง 2 ครั้งที่ยกทัพเรือเข้าโจมตีเกาะลังกา (ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน) พระองค์ทรงยึดครองภาคเหนือของเกาะนี้ได้ (พ.ศ. 1778 - 1818)
หลักฐานว่าด้วยตำนานเมือง จารึก และความคิดเห็นของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงพระเจ้าจันทรภาณุมีปรากฏอยู่ ดังนี้[2]
1. ศาสตราจารย์เสนารัต ปรณวิตานะ นักโบราณคดีชาวศรีลังกาเสนอว่า พระเจ้าจันทรภาณุสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กาลิงคะบนคาบสมุทรมาเลย์ โดยราชวงศ์นี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศรีลังกาทั้งการเมืองและการค้านับตั้งแต่สมัยอาณาจักรอนุราธปุระตอนปลายเป็นต้นมา ต่อมาจักรวรรดิโจฬะแห่งอินเดียใต้เข้ายึดครองศรีลังกา กษัตริย์ศรีลังกาต้องการกอบกู้บ้านเมืองจึงร้องขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์แห่งราชวงศ์กาลิงคะ กษัตริย์แห่งราชวงศ์กาลิงคะยกทัพเข้ามาช่วยเหลือจนสามารถปลดแอกศรีลังกาจากจักรวรรดิโจฬะ นับแต่ตั้นมาอิทธิพลของราชวงศ์กาลิงคะก็เริ่มแทรกแซงสถาบันกษัตริย์ศรีลังกา ด้วยการแต่งงานเกี่ยวดองเป็นสะพานเชื่อมโยงสร้างความผูกพัน โดยพระเจ้าจันทรภาณุเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามาฆะผู้ครอบครองเขตราชรัฏฐะ บริเวณตอนเหนือของศรีลังกา และเหตุที่พระองค์ยกทัพเข้ายึดครองศรีลังกาก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบิดา
2. ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปาการ ยืนยันตามแนวคิดของศาสตราจารย์เสนารัต ปรณวิตานะ โดยเสริมว่า การปฏิสัมพันธ์กับเกาะลังกาของอาณาจักรบนคาบสมุทรมาเลย์นั้น เริ่มต้นจากราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย เพราะราชวงศ์นี้มีกำเนิดมาจากรัฐโอริสสาแห่งอินเดียจึงมีความผูกพันกับแผ่นดินแม่ ส่วนความสัมพันธ์กับศรีลังกาเป็นลักษณะเข้าช่วยเหลือยามกษัตริย์ศรีลังกาถูกจักรวรรดิโจฬะเข้าโจมตีรุกราน ต่อมาราชวงศ์ไศเลนทร์อ่อนแอลง ราชวงศ์ใหม่ที่ขึ้นมามีอำนาจแทนคือปัทมวงศ์แห่งทักษิณรัฐ ได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองของศรีลังกาอย่างเด่นชัด โดยขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรโปโฬนนารุวะหลายพระองค์ ส่วนสาเหตุที่พระเจ้าจันทรภาณุยกทัพไปยึดครองศรีลังกานั้น ถือว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรม เพราะพระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้ามาฆะผู้ยึดครองเขตราชรัฏฐะแห่งศรีลังกาก่อนแล้ว
3. หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี อดีตอาจารย์พิเศษประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงประทานความเห็นไว้ว่า ราชวงศ์กาลิงคะของพระเจ้าจันทรภาณุนั้น มีเมืองหลวงอยู่ที่สุวรรณปุระหรือสุวรรณชวปุระ (ปัจจุบันคือ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) โดยประทานเหตุผลว่า อาณาจักรศรีวิชัยในอดีตปกครองแบบสหพันธรัฐ อาศัยความโดดเด่นด้านแหล่งการค้าเป็นสำคัญ แม้ราชวงศ์ไศเลนทร์จะมีอิทธิพลก็จริง แต่ก็เปิดกว้างยอมรับความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์อื่นด้วย ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับศรีลังกา โดยเฉพาะการเข้าช่วยเหลือกษัตริย์ศรีลังกาต่อสู้กับทมิฬโจฬะ สมัยอาณาจักรโปโฬนนารุวะตอนต้น ราชวงศ์กาลิงคะแห่งสุวรรณปุระมีอิทธิพลต่อศรีลังกามากขึ้น เหตุเพราะมีการแต่งงานเกี่ยวดองกัน พระเจ้ามาฆะผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าจันทรภาณุนั้น ทรงครองราชย์เหนือสุวรรณปุระมาก่อน เหตุผลที่พระองค์ยกทัพไปยึดศรีลังกา เพราะต้องการป้องกันอิทธิพลของจักรวรรดิโจฬะแห่งอินเดียใต้ และเหตุผลที่พระเจ้าจันทรภาณุยกทักไปบุกรุกศรีลังกา ก็เพราะเป็นรัชทายาทของพระเจ้ามาฆะนั่นเอง
4. ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช เสนอว่า พระเจ้าจันทรภาณุสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช โดยพรรณนาว่า "ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชปรากฏเห็นครั้งแรกที่เมืองลพบุรีประมาณ พ.ศ.1658 หลักฐานคือการส่งคณะทูตและเครื่องราชบรรณาการไปเมืองจีน ซึ่งสมัยนั้นตรงกับราชวงศ์ซ้องมีราชธานีอยู่ทางเหนือชื่อว่าไคฟง ครั้งต่อมาถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งอาณาจักรขอมแผ่อำนาจเข้าครอบครองจึงขาดหายไประยะหนึ่ง มาปรากฏเห็นอีกครั้งประมาณ พ.ศ.1698 เมื่อหลักฐานระบุว่ากษัตริย์แห่งเมืองลพบุรีได้ส่งคณะทูตไปเมืองจีน สมัยนั้นราชธานีของราชวงศ์ซ้องย้ายมาอยู่ที่เมืองฮางเซา การส่งทูตไปจีนครั้งหลังแสดงว่าราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชพยายามประกาศความเป็นเอกราชของลพบุรีอีกครั้ง สอดคล้องกับจารึกดงแม่นางเมืองซึ่งระบุ พ.ศ.1710 โดยเน้นความเป็นเอกราชและราชธานีน่าจะอยู่ที่ลพบุรี ต่อมาประมาณ พ.ศ.1734 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้อพยพโยกย้ายลงใต้ไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช สาเหตุเป็นเพราะพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมบีบคั้นให้พระองค์สละราชธานี พระองค์จึงชักชวนพระมเหสีและพระอนุชาทั้งสองพร้อมข้าราชบริพารย้ายมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช" ส่วนหลักฐานยืนยันว่าพระเจ้าจันทรภาณุเป็นเชื้อสายราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชคือทหารหาญที่ร่วมกองทัพเดินทางไปโจมตีศรีลังกา คัมภีร์ฝ่ายศรีลังการะบุนามทหารว่า "ชาวะกะ" ตรงกับภาษาไทยว่า "โยนกะ" หมายถึง ชาวยวนโยนกซึ่งติดตามพระองค์มาลงหลักปักฐานบริเวณปักษ์ใต้ และสอดคล้องกับจารึกพระขรรค์ไชยศรีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประมาณ พ.ศ.1734 ซึ่งระบุว่าพวกยวนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยไปสร้างปราสาทพระขรรค์ไชยศรี ร่วมกับพวกจามพุกามและรามัญเป็นจำนวนมาก
5. อาจารย์วิเชียร ณ นคร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เสนอว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเดิมเป็นพราหมณ์จากอินเดียชื่อ "พราหมณ์มาลี" ได้อพยพพร้อมน้องชายชื่อ "พราหมณ์มาลา" และพรรคพวกลงเรือสำเภาหลายสิบลำ หนีการรุกรานของชาวมุสลิมจากอินเดียมาขึ้นบกที่บ้านทุ่งตึก (เดิมอยู่ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา) แล้วจึงโภคาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์มีพระนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" ส่วนพราหมณ์มาลาผู้เป็นน้องได้รับอุปโภคาภิเษกเป็น "พระมหาอุปราช" ต่อมาถูกชาวมุสลิมตามมาตีแตกอีก จึงต้องทิ้งบ้านเมืองหนีมาตามลำน้ำตะกั่วป่า ข้ามเขาสก แล้วล่องแม่น้ำพุมดวงมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาตั้งอยู่ที่บ้านน้ำรอบ (ตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี) แต่ภูมิประเทศไม่เหมาะสม ประกอบกับเกิดไข้ห่า (โรคระบาด) จึงอพยพผู้คนไปตั้งที่เชิงเขาชวาปราบ ปลายคลองสินปุน (อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่) ต่อมาได้ตั้งหลักแหล่งที่บ้านเวียงสระ (อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี) แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะไข้ห่ายังไม่หายขาด ต้องอพยพมาทางตะวันออก จนได้พบหาดทรายใหญ่อยู่ริมทะเล ภูมิประเทศและชัยภูมิดี มีลำน้ำและที่ราบเหมาะสำหรับการเกษตร ชื่อ "หาดทรายแก้ว" จึงได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้น พร้อมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ จัดระเบียบการปกครองแบบธรรมราชา แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองตามสร้อยพระนามของพระองค์เป็น "นครศรีธรรมราช" ตั้งแต่นั้นมา
1. ประกาศอิสรภาพจากอาณาจักรศรีวิชัยให้แก่นครศรีธรรมราช ตอนนั้นนครฯเป็นรัฐหนึ่งของศรีวิชัย ซึ่งตอนนั้นศรีวิชัยอ่อนแอเต็มที พระเจ้าจันทรภาณุจึงประกาศเอกราชจากศรีวิชัยในราว พ.ศ. 1773 และอาณาจักรศรีวิชัยก็ถึงกาลอวสานในราวปี พ.ศ. 1838 หลังจากครองความ ยิ่งใหญ่มานานประมาณ 500 ปี
2. ยกทัพไปตีลังกา 2 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1.ยกไปตีลังกาในราวปี พ.ศ. 1750 ในสมัยของพระเจ้าปรักกรมพาหุ กษัตริย์แห่งลังกา ในการรบครั้งนี้ได้รับชัยชนะ เป็นเหตุให้แสนยานุภาพของพระองค์แผ่ไปตลอดแหลมมลายู และเกิดมีอาณานิคมของตามพรลิงก์อยู่ในลังกา และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลังกาต้องมอบพระพุทธสิหิงค์ให้ในโอกาสต่อมา และชาวลังกาเรียกพระนามของพระองค์ว่า ชวากะ
ครั้งที่ 2 ยกทัพไปตีลังกาครั้งนี้อยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1801 – พ.ศ. 1803 หรือในราว พ.ศ. 1795 นักประวัติศาสตร์บางท่านมีความเห็นว่า ในการรบครั้งนี้พระองค์มิได้กรีฑาทัพไปโดยพระองค์เอง แต่มอบหมายให้ราชโอรสพร้อมด้วยนายพลคนสำคัญไปรบแทน
การไปรบลังกาในครั้งหลังนี้พระเจ้าจันทนภาณุ ได้รับความช่วยเหลือจากทหารชาวทมิฬโจฬะ และพวกปาณฑย์ ซึ่งเป็นศัตรูกับชาวลังกามาแต่โบราณ และได้ยกพลขึ้นบกที่มหาติตถะ ทางฝ่ายนครศรีธรรมราช มีเจ้าชายวีรพาหุเป็นแม่ทัพในระยะแรกฝ่ายพระเจ้าจันทรภาณุมีชัยชนะในการรบ แต่ระยะหลังกองทัพของพวกปาณฑ์เกิดกลับใจไปร่วมรบกับพวกลังกาตีพวกโจฬะแตกพ่าย ทำให้ทัพของพระเจ้าจันทรภาณุถูกล้อม มีนักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในสนามรบ แต่บางท่านบอกว่าพระองค์เสด็จกลับมาได้และอยู่ต่อมาอีกหลายปีจึงสิ้นพระชนม์
3. สร้างวัดวาอาราม อาจารย์มานิต วัลลิโภดมได้สืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ความว่า ในระหว่าง พ.ศ. 1776 – พ.ศ. 1823 นครศรีธรรมราชว่างจากราชการสงครามมีเวลาว่าง จึงได้สร้างวัดขึ้นหลายวัดเช่น วัดพระเดิม วัดหว้าทยานหรือวัดหว้าอุทยาน และได้มีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิไว้ทุกวัดด้วย
4. ตั้งลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นที่นครศรีธรรมราช ในช่วงที่พระเจ้าจันทรภาณุได้ส่งทูตไปเมืองลังการเพื่อขออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์นั่นเอง ก็ได้ส่งพระภิกษุชาวนครศรีธรรมราชไปศึกษาพระธรรมวินัยแบบหินยานของลังกา และตอนขากลับก็ได้เชิญพระภิกษุชาวลังกาพร้อมชนชาวลังกามาด้วย มาตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ที่นครศรีธรรมราชเรียกว่า "พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์" แทนลัทธิเดิมซึ่งพระพุทธศาสนาแบบมหายานตามอย่างศรีวิชัย ต่อมาลัทธิลังกาวงศ์ก็แผ่ไปสู่สุโขทัย ตั้งเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคงมาจนปัจจุบันนี้
5. สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นแบบทรงลังกา ด้วยในระยะพระบรมธาตุเดิมเป็นแบบศรีวิชัยและชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุและชนชาวลังกาที่มาอยู่ที่นครศรีธรรมราช รวมทั้งชาวนครฯเองด้วย ลงความเห็นกันว่าเห็นควรบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุเสียใหม่ให้แข็งแรง โดยให้สร้างใหม่หมดทั้งองค์ตามแบบทรงลังกา และให้คร่อมทับพระเจดีย์องค์เดิมไว้โดยสร้างเป็นพระสถูปทรงโอคว่ำ พระเจดีย์องค์เดิมได้ค้นพบเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ในสมัย รัชกาลที่ 5 และมีหลักฐานยืนยันว่าชนชาวลังกาได้มาอยู่ที่นครฯจริง ด้วยในปี พ.ศ. 2475 ได้ขุดพบพระพุทธรูปลังกาทำด้วยหินสีเขียวคล้ายมรกต 1 องค์ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝีมือของชาวลังการุ่นเก่า โดยขุดพบที่บริเวณพระพุทธบาทจำลองในวัดพระมหาธาตุฯ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช