พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ28 มีนาคม พ.ศ. 2451
วังปารุสกวัน จังหวัดพระนคร มณฑลกรุงเทพ อาณาจักรสยาม (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย)
สิ้นพระชนม์30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 (55 ปี)
พระตำหนักเทรเดซี คอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
ฌาปนกิจ2 มกราคม พ.ศ. 2507
ฌาปนสถานเพนเมานต์
หม่อมเอลิสะเบธ ฮันเตอร์ (สมรส 2481)
พระนามเดิม
หม่อมเจ้าพงษ์จักร
พระบุตรหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์
ราชสกุลจักรพงษ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
พระมารดาหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก
ศาสนาพุทธ
อาชีพ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
 บริเตนใหญ่
แผนก/สังกัดกองทัพบกไทย
กองทัพบกสหราชอาณาจักร
ชั้นยศ พลตรี
ร้อยโท

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ มีพระนามลำลองว่า พระองค์ชายจุล (28 มีนาคม พ.ศ. 2451 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506)[1] เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก เสกสมรสกับหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2481 มีพระธิดาคนเดียว คือ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2466 – 2470 จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (ศศ.บ. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท (ศศ.ม. เกียรตินิยม)

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ

พระประวัติ

[แก้]

ประสูติ

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก (สกุลเดิม เดสนิตสกายา) พระชายาชาวรัสเซีย ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2451 เมื่อเวลา 23.58 น. ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสกวัน[2] เมื่อรู้ข่าวว่าพระราชนัดดาประสูติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่แต่เดิมเคยกริ้วในพระราชโอรสมาก่อน ก็ทรงตื่นเต้นและหายกริ้ว รีบเสด็จมาทอดพระเนตร เอาพระทัยใส่การจัดห้องหับ การดูแลเรื่องต่าง ๆ มีพิธีการทำขวัญเดือนตามธรรมเนียมโบราณ

เมื่อแรกประสูติทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระนามว่า "หม่อมเจ้าพงษ์จักร"[3] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่ว่า "จุลจักรพงษ์" โดยเป็นการเอาอย่างพระนามของทูลหม่อมปู่ คือ จุลจอมเกล้า ทั้งยังเป็นการล้อพระนามพระบิดา คือ เล็ก ไปในขณะเดียวกัน[4] มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า ท่านหนู

ขณะทรงพระเยาว์

[แก้]
หม่อมคัทริน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทูลขอหม่อมหลวงชม นรินทรกุล ผู้ซึ่งเป็นข้าหลวงอยู่ในวังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาตั้งแต่อายุ 11 ปี รับใช้พระโอรสธิดาทุกพระองค์ มาเป็นพี่เลี้ยงให้พระโอรส ด้วยความเห่อพระนัดดา จึงยอมให้มาเป็นพี่เลี้ยงพระโอรสที่วังปารุสก์ ในวัยเยาว์จนถึงอายุ 3 ขวบ โอรสองค์น้อยมีสุขภาพอ่อนแอ ซึ่งขณะที่อายุ 2 ขวบป่วยเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง แต่รอดพ้นมาได้

พระองค์นี้ได้นำความปลาบปลื้มปีติยินดีให้กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงยิ่งนัก อันเนื่องมาแต่ ทรงพระเมตตาที่มิได้ทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าดังที่ควรจะเป็น จึงใคร่จะพระราชทาน ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ทรงจัดพระราชทานให้เป็นพิเศษเทียบเท่ากับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแทบทุกประการ ด้วยทรงห่วงใยที่หม่อมคัทรินที่มีเชื้อชาติยุโรป จะไม่สามารถอบรมฝึกฝนจริตมารยาทของพระโอรส ให้เข้ากับระเบียบแบบแผนเจ้านายตามพระราชประเพณีไทยได้ดี[5] หากยังได้ดูแลใกล้ชิดขนาดบรรทมร่วมบนพระที่ด้วย

ถึงแม้ว่าทูลกระหม่อมปู่ (รัชกาลที่ 5) แม้จะไม่ทรงรับพระนัดดาองค์ใหม่เป็นหลานอย่างเปิดเผย แต่ในที่สุดก็ได้โปรดให้พระนัดดาเข้าเฝ้าในปี พ.ศ. 2453 ที่พระราชวังพญาไท เมื่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อายุครบ 2 ขวบ พระองค์ก็ทรงเล่าให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถึงพระนัดดาไว้ว่า "วันนี้ฉันได้พบกับหลานชายของเธอ ดูน่ารักน่าเอ็นดูเหมือนพ่อ ฉันรู้สึกรักและหลงใหลคนนี้ตั้งแต่แรกเห็น เพราะถึงอย่างไรนี่ก็เป็นสายเลือดเชื้อไขของฉันเอง" และรับสั่งต่อด้วยถ้อยคำที่แฝงความรู้สึกโล่งพระทัยว่า "และไม่มีเค้าว่า มีเชื้อสายฝรั่งติดมาด้วยเลย"[6] ภายหลังรัชกาลที่ 5 ได้สวรรคตในปี 2453 ได้ค้นพบหลักฐานจากการบันทึกของหม่อมเจ้าทิพย์รัตน์ประภา เทวกุล ที่ท่านหญิงเคยรับใช้ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีรับสั่งกับท่านหญิงว่า "สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกำลังโปรดตาหนู เสียดายที่มาด่วนสวรรคตไปเร็ว"[7] ส่วนรัชกาลที่ 6 ทรงพระเมตตารักท่านหนู ถ้าจะใคร่สันนิษฐาน โปรดเพียงใดจะเห็นได้ในประกาศเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์[8] เมื่อปี พ.ศ. 2463[9]

การศึกษา

[แก้]
ภาพถ่าย ขณะเรียนที่เคมบริดจ์

ประมาณ พ.ศ. 2458 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์เสนาธิการทหารบกในขณะนั้น ได้ทรงมอบหมายให้พระสารสาสน์พลขันธ์ เป็นผู้สอนหนังสือในฐานะเป็นครูคนแรกแก่พระโอรสวัย 7 ขวบ ที่วังปารุสกวัน โดยเดิมทีสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระประสงค์ให้พระนัดดาเข้าโรงเรียนราชินี แต่พระองค์จุลฯ ไม่ทรงยินยอม[10] ต่อมาจากนั้นอีก 2 ปี คือ ใน พ.ศ. 2460 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ได้เสด็จเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม[11] ที่ถนนราชดำเนินนอก ตามกฎของโรงเรียนนายร้อยประถม นักเรียนทุกคนต้องเข้าเป็นนักเรียนกินนอน แต่เนื่องจากหม่อมแม่เห็นว่า ยังเด็กเกินไป เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ก็ทรงอนุโลม[12] ใช้เวลาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยประถมอยู่ 4 ปี จนจบ แต่หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็พลัดพรากจากพระมารดาที่ไม่ได้เอ่ยคำร่ำลากันหลังจากการหย่าร้าง ต่อมาอีก 2-3 เดือน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าก็มาสวรรคต ตามด้วยการทิวงคตของพระบิดาในอีก 8 เดือนต่อมา[13]

หลังจากที่พระบิดาทิวงคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทูลกระหม่อมลุง ทรงวางแผนการศึกษาให้พระนัดดาได้ศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อพระชันษาครบ 13 ปี โดยต้องการให้พระองค์จุลฯ รู้จักปกครองดูแลตนเอง โดยออกมาเรียนตามลำพังและอนุญาตให้แม่มาเยี่ยมพระโอรสได้เป็นครั้งคราวเมื่อหยุดเรียน โดยก่อนที่เสด็จไปเมืองนอก ทูลกระหม่อมลุงและอาเอียดน้อย (ร.7) ได้ทรงตกลงจะให้พระองค์จุลฯ ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ พระองค์จุลฯ ออกเดินทางศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยเดินทางด้ายรถไฟไปถึงปาดังเบซาร์ ข้ามแดนไปท่าเรือตรงเกาะปีนัง ข้ามเขตสยามเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2463[14] แล้วจึงเสด็จโดยเรือ

เมื่อถึงประเทศอังกฤษ ทรงได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดจากครอบครัวของพระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน สิงหเสนี) อัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ โดยในระยะแรกทรงอยู่กับครูที่เมืองไบรตัน ห่างจากกรุงลอนดอน 86 กิโลเมตร เพื่อซึมซับภาษาอังกฤษโดยไม่ได้พบปะคนไทยเลยเป็นเวลา 6 เดือน[15] ต่อมาพระองค์จุลฯ ทรงสามารถสอบเข้าศึกษาต่อได้ที่โรงเรียนแฮร์โรว์เมื่อ พ.ศ. 2466 ถึงปี พ.ศ. 2470 จนเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (B.A. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และ ปริญญาโท (M.A. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2477 เมื่อครั้นยังเรียนอยู่ที่อังกฤษ ทรงได้รับเลือกเป็นสภานายกสามัคคีสมาคม[16]จากนั้นทรงรับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงลอนดอน

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ

[แก้]

ในการลาออกจากราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 มีหนังสือเรื่อง แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ มีเรื่องที่กล่าวถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่มีโอกาสจะได้เป็น (Candidate) พระมหากษัตริย์ต่อจากรัชกาลที่ 7 คือมีคนไปสัมภาษณ์ท่านว่าท่านมีความเห็นเช่นไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพระองค์ตอบกลับว่า "จะไม่มีใครมาเชิญฉันหรอก และถึงจะมีคนมาเชิญจริง ๆ ฉันก็ยินดีรับไม่ได้เพราะได้ถูกตัดออกอย่างเด็ดขาดมานานแล้ว ถ้าจะรบเร้ากันจริง ๆ ซึ่งก็ไม่เชื่อว่า จะมีใครมารบเร้า ฉันต้องยืนยันให้มีประชามติ (plebiscite) กันเสียก่อน" [17] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในหลักประชาธิปไตยเป็นอย่างดีของท่าน และด้วยเหตุที่ว่า จากราชกิจจานุเบกษา ตอนพิเศษของเล่มที่ 41 มีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ออกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 เกี่ยวกับลำดับชั้นเชื้อพระบรมวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น แต่ในหมวดที่ 5 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ มาตรา 11

"มาตรา 11 เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่า เป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ ท่านว่า ให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ ลักษณะที่กล่าวนี้คือ... (๔) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้" ผนวกกับ "มาตรา 12 ท่านพระองค์ใด ตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 11 แห่ง กฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่า "พระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น" ซึ่งได้แก่ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เองและลูกหลาน แต่ทั้งนี้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อธิบายไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ว่า "ข้าพเจ้ามิได้เคยนึกว่า ตนถูกตัดจากสิทธิอะไรเลย ข้าพเจ้าไม่เคยนึกและบัดนี้ก็มิได้นึกว่า ข้าพเจ้ามีสิทธิอย่างใดเกินกว่าที่คนไทยทุก ๆ คนย่อมมีอยู่ตามกฎหมาย"[18]

ผู้จัดการคอกหนูขาว

[แก้]
พระองค์พีระ และรถแข่งรอมิวลุส ที่มีชื่อเสียง ชายที่อยู่ขวาสุดในภาพคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ภายหลังจากที่การปฏิวัติในประเทศไทยและการสิ้นชีพิตักษัยของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ทำให้การควบคุมดูแลกองมรดกทรัพย์สินของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ตกเป็นของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นเจ้าของกองมรดกทั้งหมดแต่เพียงพระองค์เดียว และรายได้ประจำปีจากกองมรดกที่ทรงได้รับก็เพิ่มจากเดิมปีละ 1,000 ปอนด์ มาเป็นปีละ 20,000 ปอนด์

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายทุกพระองค์ต้องเข้ารับราชการ โดยที่พระองค์ตัดสินพระทัยมานานแล้วว่าไม่เหมาะในการรับราชการทหาร จึงทรงเลือกที่จะเป็นนักประพันธ์อิสระแทน ซึ่งอันที่จริงผลงานพระนิพนธ์ของพระองค์ก็เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านคนไทยอยู่แล้ว ทั้งการวิจารณ์หนังสือและบทพระนิพนธ์ความเรียงสั้น ๆ ทางด้านการเมือง บทพระนิพนธ์เชิงอัตชีวประวัติของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช

พระองค์จุลฯ ทรงประทับที่เดียวกับพระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ พระโอรสในสมเด็จวังบูรพาฯ โดยพระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์แนะนำให้พระองค์จุลฯ รู้จักกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช และทำให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยและต้องชะตากัน และด้วยความที่พระองค์จุลฯ กำพร้าจึงทรงรู้สึกเหมือนตนเป็นพี่ชายของพระองค์พีระฯ[19] ในขณะช่วงหยุดเรียน ฤดูร้อนปี 2474 พระองค์พีระฯ พระองค์จุล และพระองค์อาภัสฯ พักด้วยกันที่เมืองเบียริทซ์กับ มารดาและสามีใหม่ของมารดาพระองค์จุลฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน พระองค์อาภัสฯ สอนพระองค์พีระฯ หัดขับรถ ก็ได้ฉายแววพรสวรรค์ทางด้านนี้ ทรงเรียนรู้การขับรู้ได้เร็วและโปรดการขับรถอย่างยิ่ง และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ภาวะการเงินของสำนักงานพระคลังข้างที่ อยู่ในฐานะลำบาก พระองค์จุลฯ จึงรับอุปการะพระองค์พีระฯ อย่างเต็มตัว พระองค์ทรงออกกำลังทรัพย์ในการแข่งขันรถ พระองค์จุลฯ ซื้อรถ อี.อาร์.เอ ประทานให้เป็นของขวัญวันเกิดพระองค์พีระฯ โดยได้ประลองแข่งขันความเร็วครั้งแรกที่ดิเอปป์ ประเทศฝรั่งเศส เข้าเส้นชัยเป็นคนที่ 2 นับเป็นผลงานเกินความคาดหมาย และหลังจากนั้นก็ได้รับชัยชนะครั้งแรกที่โมนาโค พระองค์พีระฯ ได้ครองรางวัลดาราทอง สร้างความปลาบปลื้มให้กับชาวไทย หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ พากันพาดหัวหน้าหนึ่งกันเอิกเกริก[20] หลังจากจบฤดูแข่งขันรถในปี พ.ศ. 2480 พระองค์พีระฯ ได้ครอบรางวัลดาราทองอีกเป็นปีที่ 2 พระองค์จุลฯ พระองค์พีระฯ และนายพุ่ม สาคร พระสหายของเจ้าฟ้าฯ จักรพงษ์ฯ กลับประเทศไทย ได้รับการต้อนรับจากคนไทยอย่างล้นหลาม ในฐานะวีรบุรุษที่นำชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทยแพร่ขจายไปสู่โลกกว้าง[21]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ที่เริ่มเข้าการแข่งขันรถแข่ง จนถึงปี 2482 เป็นเวลา 5 ปี ที่ พ. พีระ เข้าแข่งขันความเร็วทั้งหมด 68 ครั้ง ชนะเลิศ 20 ครั้ง ได้ที่สอง 14 ครั้ง และที่สาม 5 ครั้ง และยังเข้าการแข่งขันระดับนานาชาติอีกหลายครั้ง ถือเป็นคนเอเชียคนเดียวที่เข้าทีมต่างประเทศซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักแข่งรถอาชีพ โดยพระองค์จุลฯ ทรงทำหน้าที่เป็นผู้จัดการคอกหนูขาวนี้นานเกือบ 8 ปี[22] โดยเป็นผู้ออกทุนทรัพย์และอำนวยการในระหว่างการแข่ง ด้วยความที่พระองค์จุลฯ มีนามเล่นว่า "หนู" พระองค์พีระฯ จึงเขียนรูปหนูสีขาวไว้ที่รถ ตั้งแต่นั้น จึงเรียกคณะแข่งรถนี้ว่า "คอกหนูขาว" (White Mouse) ทาสีฟ้าสดใสมีรถแข่งขันที่ชื่อ รอมิวลุส (Romulus) รีมุส (Remus) และ หนุมาน (Hanuman) สีฟ้าแบบนี้ ปัจจุบันเรียกว่า ฟ้าพีระ (Bira blue)

ชีวิตในคอร์นวอลล์

[แก้]
ภาพหมู่พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 ฉายเมื่อ พ.ศ. 2481 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ อยู่ตรงกลาง แถวที่ 5 นับจากแถวล่างขึ้นแถวบน

หลังจากที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์สมรสกับลิสบา โดยจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนและต่อมาที่สถานทูตไทย โดยมีสักขีพยานในการสมรส เพียงญาติใกล้ชิดครอบครัวและเพื่อนสนิทไม่กี่คน หลังจากนั้นเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ทางเขตตะวันตกของอังกฤษไม่กี่วันก็กลับมาอยู่ที่ห้องชุดที่ลอนดอน จากนั้นเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกับพระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ พระองค์เจ้าพีระฯ และซีริล และเมื่อเดินทางกลับมายังอังกฤษในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2482 จากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่เมืองไทยประกาศวางตัวเป็นกลางในสงครามครั้งนี้ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงทรงตั้งพระทัยที่จะเสด็จกลับ แต่ก็เป็นการยากที่จะเดินทางทางเรือในในยามสงคราม ในที่สุดพระองค์ก็ตัดสินใจที่จะประทับอยู่ที่อังกฤษต่อไป

แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นและทำให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์รู้สึกเศร้าพระทัย เมื่อญี่ปุ่นยกพลเข้ารุกรานประเทศไทยในตอนปลาย พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยต้องยอมจำนนต่อคำขาดของญี่ปุ่น ซ้ำร้ายรัฐบาลไทยตัดสินใจประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา พระองค์จึงตัดสินพระทัยหลบออกจากลอนดอนไปใช้ชีวิตอย่างสงบ อยู่อย่างเงียบ ๆ ในชนบทที่ไกลจากเมืองหลวง โดยเดินทางไปที่เมืองคอร์นวอลล์ ที่บ้านลีแนมฟาร์ม[23]

พระองค์ทรงขยันขันแข็งในการทรงงาน ทรงแบ่งเวลาในแต่ละวันในงานพระนิพนธ์ ไม่เพียงทรงนิพนธ์งานทางประวัติศาสตร์เป็นภาษาไทยเท่านั้น ยังทรงพระนิพนธ์เรื่อง Brought Up in England เป็นภาษาอังกฤษ และหนังสือเกี่ยวกับการแข่งรถอีกหลายเล่ม เมื่อทรงงานเสร็จพระองค์ก็จะทรงแสวงหาความสำราญ ไม่เพียงกับบริวารที่แวดล้อมเท่านั้น ยังทรงเชิญแขกพักที่บ้านหรือร่วมรับประทานอาหารค่ำ

ตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเมืองไทยและรัฐบาลไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น ทั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และพระองค์เจ้าพีระฯ ก็กลายสถานะมาเป็น "พลเมืองของชนชาติศัตรู" ในอังกฤษโดยปริยาย[24] พระองค์จึงเริ่มแสวงหาหนทางที่พระองค์จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศอังกฤษ อันเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงอาศัย โดยตัดสินพระทัยสมัครเข้าพลทหารในหน่วยอาสารักษาดินแดน ใบสมัครครั้งแรกถูกปฏิเสธ จึงทรงยื่นใหม่และได้รับอนุมัติหน่วนอาสารักษาดินแดนเป็นหน่วยสนับสนุนการรบใน พ.ศ. 2483 มีกำลังพลรวม 1 ล้านคน เป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นเพื่ออาศัยประโยชน์จากประสบการณ์ทางการรบของทหารผ่านศึกครั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และรวมถึงเป็นหน่วยรองรับกำลังพลสำรองที่เป็นคนหนุ่มที่มีอาชีพอยู่แล้ว

ทั้งสองพระองค์ต้องเข้ารับการฝึกในหมวดทหารอาสาของตำบลร็อก (Rock Olatoon) เข้าเวรยามในตอนกลางคืนและลาดตระเวณตามบริเวณชายฝั่ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2484 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงย้ายไปสังกัดกองกำลังยุวชนทหารบก ทรงได้รับยศเป็นนายร้อยตรีและหลังจากนั้น 6 เดือน ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็นนายร้อยโทและยังคงบทบาทในหน่วยทหารอาสารักษาดินแดนต่อไป[25]

อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2487 ที่บ้านลีแนมฟาร์ม ที่ได้รับแจ้งจากเจ้าของบ้านว่าจะยกเลิกสัญญาเช่า ในขณะที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เองก็ทรงไม่อยากที่จะออกจากกองพันยุวชนทหารที่ทรงสังกัดอยู่ ลิสบาเองก็ช่วยงานอาสาสงครามอยู่ในหน่วยรถพยาบาลฉุกเฉินของสมาคมการกุศลเซนต์จอห์น ด้วยเหตุนี้ทรงหาที่อยู่ใหม่และตัดสินพระทัยซื้อบ้านและที่ดินแทนการเช่า ทรงเลือก บ้านเทรเดซี ใกล้กับเมืองบอดมิน ซึ่งกลายเป็นบ้านที่ประทับตลอดพระชนม์ชีพ[26]

สิ้นพระชนม์

[แก้]

ช่วงท้ายของพระชนมชีพ พระองค์เริ่มประชวรเป็นเนื้องอกที่หลอดอาหารส่วนบนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอน จนพระอาการดีขึ้นตามลำดับ จากผลการตรวจพบว่าพระองค์เป็นมะเร็ง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างจากคำพิพากษาประหารชีวิต แม้พระโรคจะกำเริบขึ้นในบางระยะแต่พระองค์ทรงมีกำลังพระทัยที่เข้มแข็ง ทรงพยายามดูแลรักษาพระองค์อย่างดีที่สุดและปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทรงน้อมรับความเป็นจริงของชีวิตด้วยสติและเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง โดยไม่ประมาททั้งยังมีการสั่งเรื่องการจัดการพระศพไว้ล่วงหน้าด้วย

สิ่งหนึ่งที่ทรงทำมาตลอดพระชนมชีพ คือการบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่าง ๆ แม้ในช่วงสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์ไม่กี่วัน ยังทรงประทานเงินแก่กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนเก็บดอกผลสำหรับใช้จ่ายช่วยเหลือในการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคมะเร็งและช่วยเหลือผู้ป่วยยากจน

วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ณ พระตำหนักเทรเดซี่ ตั้งแต่บ่าย 2 โมงครึ่งไปแล้วตามเวลาสหราชอาณาจักร ก็ทรงหลับสงบไม่รู้สึกพระองค์แต่ชีพจรยังแรงอยู่ ตลอดเวลาเหล่านี้ท่านไม่ได้แสดงพระอาการเจ็บปวดหรือทรมานอย่างใดเลย จนในที่สุด สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 19.20 น. ตามเวลาสหราชอาณาจักร

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2507 มีการนิมนต์พระสงฆ์ชาวลังกาชื่อ ภิกษุด็อกเตอร์สัทธาทิศา มาสวด มีนายบุญมั่น ปุญญถิโร ข้าราชการประจำสถานทูตไทยในลอนดอนมาช่วยทำพิธีและอาราธนาศีล ผู้มาร่วมพิธีมีเฉพาะคนในครอบครัวและเพื่อนสนิทไม่กี่คน ในวันรุ่งขึ้นจึงเคลื่อนพระศพไปยังสุสาน หีบพระศพคลุมด้วยธงชาติไทย มีธงจักรตะบอง ตราสัญลักษณ์ของราชสกุลจักรพงษ์คลุมทับเฉพาะพระเศียร บนหีบพระศพมีช่อดอกไม้วางอยู่สองช่อ ตามที่ทรงอนุญาตเฉพาะช่อหนึ่งของหม่อมเอลิสเบธเป็นกุหลาบแดง อีกช่อหนึ่งเป็นของหม่อมราชวงศ์นริศรา เป็นช่อดอกทิวลิปและแดฟโฟดิล และบรรทุกพระศพไปยังสุสานเพนเมาต์เครเมเทเรียมที่เมืองทรูโร มีแขกร่วมพิธีทั้งสิ้น 22 คน ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2507 มีงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานที่บ้านจักรพงษ์ ท่าเตียน ถัดมาวันที่ 20 มกราคม มีพิธีไว้อาลัยที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน

หลังจากนั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 มีการอัญเชิญพระอัฐิจากอังกฤษกลับมายังประเทศไทย หม่อมเอลิสะเบธและหม่อมราชวงศ์นริศราได้บำเพ็ญกุศลถวายและเชิญพระอังคารไปบรรจุในพระเจดีย์เสาวภาประดิษฐานสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[27]

พระกรณียกิจ

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ คือ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2477 ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ กับถวายตราจักรีบรมราชวงศ์แด่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แทนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8

ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระมหากษัตรีของอังกฤษ นอกจากนั้นในระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม พ.ศ. 2504 ทรงเป็นสมาชิกคณะผู้แทนไทยในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ก[28]

ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษประจำกองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงได้รับพระราชทานยศทหารบกเป็น พลตรี เมื่อ พ.ศ. 2502[29]

ชีวิตส่วนพระองค์

[แก้]

ครอบครัว

[แก้]
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับหม่อมเอลิสะเบธ ในปี 2479
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และหม่อมเอลิสะเบธ ฮันเตอร์ พร้อมด้วยสุนัขชื่อโจน ณ เวลาเลี้ยงอาหารค่ำ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงพบ หม่อมเอลิสะเบธ (นามเดิมคือ Elisabeth Hunter) เมื่อครั้งไปเรียนศิลปะการวาดภาพ โดยพระองค์เจ้าพีระ ซึ่งโปรดสตรีร่วมห้องเรียนกับหม่อมเอลิสะเบธ จึงชวนพระองค์นัด เสด็จไปดินเนอร์กัน 4 คน จึงได้พบและหลงรักกัน แต่ขณะนั้นท่านตั้งพระทัยจะไม่รักสตรีต่างชาติ เนื่องจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 รับสั่งมาทางจดหมายว่า อย่าทำตามที่ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระบิดาทรงทำ คือการแต่งงานกับสตรีต่างด้าว จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงรู้สึกเป็นอิสระจากภาระหน้าที่ตามพระราชประเพณี จึงตัดสินพระทัยเสกสมรสกับหม่อมเอลิสะเบธ (Elisabeth Hunter) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2481 หลังการเสกสมรสในปีเดียวกันทรงพาหม่อมเอลิสะเบธกลับประเทศไทยพร้อมกับพระองค์เจ้าพีระทรงนำหม่อมซีรีลกลับ โดยเสด็จทางเรือและขึ้นบกที่สิงคโปร์ และต่อรถไฟมายังหัวลำโพง การเสด็จกลับครั้งนี้นับเป็นข่าวใหญ่มาก ประชาชนต่างมารอรับเสด็จกันแน่นขนัด

เมื่อเสกสมรส พระองค์ทรงดำริที่จะไม่มีบุตร ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนถึงหม่อมเอลิสะเบธ ได้ตรัสไว้ว่า "ถ้าเผื่อเราแต่งงานกัน อย่ามีลูกกันเลย เพราะเด็กที่เกิดมาหลายเชื้อชาติ จะมีปัญหาตลอด" แต่ถึงกระนั้นหลังเสกสมรสเป็นเวลา 18 ปี หม่อมเอลิสะเบธจึงตั้งครรภ์หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ เมื่อหม่อมอายุ 41 ปี[30]

ความสนพระทัย

[แก้]

ในระหว่างทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โปรดการละคร โดยทรงแสดงประปรีชาสามารถด้านการละครในเวลาต่อมา ทั้งทรงนิพนธ์บทละครจำนวนหนึ่ง และยังทรงเข้าร่วมแสดงละครและนิพนธ์บทละครด้วยตัวพระองค์เอง[31]

พระนิพนธ์

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญที่สุดคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ

  • ประวัติศาสตร์ที่แต่งเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ Lords of Life (และต่อมาทรงแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า เจ้าชีวิต เรื่องราวของพระราชวงศ์จักรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 ของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปี 2475 ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนการปกครอง), Wheels at Speed, Road Racing 1936, Road Star Hat Trick, Dick Seaman-Racing Motorist, Brought up in England, Blue and Yellow, The Education of the Enlightened Despots, The Twain Have Met, First-Class Ticket
  • ประวัติศาสตร์ไทย ได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย, ไตรภูมิพระร่วง, เจ้าชีวิต
  • สาขาประวัติศาสตร์ต่างประเทศ ได้แก่ เฟรเดริค มหาราชแห่งปรัสเซีย, คองเกรสแห่งเวียนนา, คัทรินมหาราชินี, คาวัวร์และกำเนิดอิตาลีอิสระ, ฮันนิบาล, เนลสัน
  • สาขาอัตชีวประวัติ ได้แก่ เกิดวังปารุสก์ ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นมากที่สุด นิพนธ์ไว้ทั้งหมด 3 เล่ม
  • สาขาบทละคร ได้แก่ สุดหนทาง, ตรวจราชการ
  • สารคดีปกิณกะ ได้แก่ ชุมนุมจุลจักรสาร, ต้นรัชกาลเอลิซาเบธที่ 2
  • นวนิยาย ได้แก่ สามสาว, ดัดสันดานอิเหนา และ สาวสวย-หญิงงาม
  • เรื่องแปล ได้แก่ วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์
  • แข่งรถ ได้แก่ ดาราทอง ,ไทยชนะ

พระเกียรติยศ

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

พระยศ

[แก้]

พระยศทางทหาร

[แก้]
  • 31 ตุลาคม พ.ศ. 2474: นายร้อยตรี[42]
  • 16 มกราคม พ.ศ. 2478: นายร้อยเอก[43]
  • 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480: นายพันตรี[44]
  • 9 ตุลาคม พ.ศ. 2491: พันโท[45]
  • 1 กันยายน พ.ศ. 2496: พันเอก[46]
  • 26 สิงหาคม พ.ศ. 2502: พลตรี[47]

อนุสรณ์และการรำลึกถึง

[แก้]

เนื่องในปีครบรอบ 100 ปี การประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ พระธิดา ร่วมกับลูกชาย จุลจักร จักรพงษ์ และภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ จัดนิทรรศการ “100 ปี จุลจักรพงษ์” เปิดบ้านจักรพงษ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ยังจัดทำหนังสือที่ระลึกและดีวีดีภาพยนตร์เรื่อง “ภาพแห่งชีวิต จุลจักรพงษ์” ที่เป็นการรวมรวมข้อมูลพระองค์จุลฯ รวมภาพข่าว ภาพวาดโบราณต่าง ๆ ความยาวจำนวน 120 หน้า ประกอบด้วย 10 บท และในวันงานยังมีการฉายภาพยนตร์เก่า “ภาพแห่งชีวิต จุลจักรพงษ์” ที่นำฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์เก่าที่ถ่ายทำโดยพระองค์จุลฯ[48]

สำหรับอาคารที่ตั้งตามพระนาม เช่น ตึกจุลจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เป็น สถานที่พยาบาลคนไข้ภายนอก[49] สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2524[50] และตึกจุลจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกหลังศาลาพระเกี้ยว

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "HRH Prince Chula CHAKRABONGSE". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-06. สืบค้นเมื่อ 2006-10-11.
  2. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 29
  3. ปรีดี พนมยงค์ กับสถาบันกษัตริย์และกรณีสวรรคต สุพจน์ ด่านตระกูล
  4. เกิดวังปารุสก์, หน้า 35
  5. "พระราชประวัติเจ้าฟ้าฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-09-08.
  6. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 95
  7. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 30
  8. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 40
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์, เล่ม 37, ตอน 0 ก, 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2463, หน้า 152
  10. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 42
  11. "พ.ท.พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) นักเศรษฐศาสตร์ที่กล้าคิดกล้าเขียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-08-24.
  12. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 44
  13. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 47
  14. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 55
  15. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 57
  16. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 63
  17. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เกิดวังปารุสก์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ River Books, [ม.ป.ป.]. ISBN 974-8225-22-4
  18. เกิดวังปารุสก์, หน้า 215
  19. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 70
  20. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 77
  21. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 79
  22. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 74
  23. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 245
  24. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 248
  25. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 249
  26. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 250
  27. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 19
  28. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 17
  29. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-10.
  30. นิตยสารเฮลโล ฉบับที่ 8 วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551 หน้า 64-78
  31. 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 64
  32. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๑, ตอน ๐ ง, ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗, หน้า ๓๗๐๓
  33. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๙, ตอน ๔๖ ง, ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕, หน้า ๑๒๔๙
  34. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๑, ตอน ๙ ง, ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗, หน้า ๒๓๔
  35. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๘, ตอน ๐ ง, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔, หน้า ๓๐๘๔
  36. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2014-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๕, ตอน ๐ ง, ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๓๐๒๐
  37. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐, ตอน ๑๗ ง, ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖, หน้า ๑๐๑๐
  38. พระราชทานเหรียญราชรุจิ (หน้า ๒๗๒๕)
  39. "PRINCE OF SIAM VISITS KING, Invested With Order". Central Queensland Herald.
  40. "London Gazette". Thegazette.co.uk.
  41. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 พฤษภาคม 2481 แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับตราต่างประเทศ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/542.PDF
  42. พระราชทานยศทหารบก
  43. ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  44. ประกาศกระทรวงกลาโหม ประกาศพระราชทานยศทหาร
  45. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  46. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  47. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  48. ระลึก 100 ปี ‘จุลจักรพงษ์’ เก็บถาวร 2009-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน posttoday.com
  49. ในหลวงกับกาชาด ด้านอาคารสถานที่[ลิงก์เสีย]
  50. หน่วยรังสีวินิจฉัย เก็บถาวร 2008-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน md.chula.ac.th

บรรณานุกรม

[แก้]
  • อรสม สุทธิสาครและสุธาทิพย์ โมราลาย, 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, (ISBN 978-974-9863-63-3)
  • หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2551 (ISBN 978-974-9863-72-5)
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ ฉบับ 100 ปีจุลจักรพงษ์. --กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2552 (ISBN 978-974-9863-71-8)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]