ชื่อเดิม | พิพิธภัณฑ์รัฐสภา |
---|---|
ก่อตั้ง | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2545 |
ที่ตั้ง | 2 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร |
ประเภท | ประวัติศาสตร์, บุคคล |
เจ้าของ | สถาบันพระปกเกล้า |
เว็บไซต์ | kingprajadhipokmuseum |
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | พิพิธภัณฑ์ และ ห้าง |
สถาปัตยกรรม | นีโอคลาสสิก |
เมือง | เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2449 - 2455 |
ปรับปรุง | 6 สิงหาคม พ.ศ. 2545 (เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์) |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | คอนกรีตเสริมเหล็ก |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | ชาร์ล เบเกอแลง |
รางวัล |
|
เว็บไซต์ | |
King Prajadhipok Museum | |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | กรมโยธาธิการ (อาคารหลังเก่า) |
ขึ้นเมื่อ | 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000046 |
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งที่อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณทางแยกผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2449 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455 อาคารได้รับการออกแบบโดย ชาร์ล เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส ในรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก โดยมีจุดเด่นที่โดมตรงกลาง
เดิมอาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของห้างยอนแซมสันแอนด์ซัน (John Sampson & Son) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "ห้างยอนแซมสัน" ซึ่งเป็นสาขาร้านจำหน่ายผ้าตัดเสื้อ รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีชื่อเสียงในย่านบอนด์สตรีท กรุงลอนดอน ได้ขยายสาขามาตั้งในเมืองไทย ตามคำชักชวนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2441 ต่อมาจึงมีรับสั่งให้ลงทุนก่อสร้างอาคารแห่งนี้ขึ้น และเปิดเช่าเรื่อยมาจนกระทั่งบริษัทเลิกกิจการไป[1]
ต่อมา หลวงไมตรีวานิช (เฉลิม ยอดมณี) เข้ามาทำการเช่าอาคาร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ห้างสุธาดิลก" จนหมดสัญญาลงในปี พ.ศ. 2476 กรมโยธาเทศบาลจึงได้เข้ามาเช่าเป็นที่ทำการของกรม[2] และในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 สถาบันพระปกเกล้าได้รับการโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ฯ จากกรมโยธาธิการ จนดำเนินการปรับปรุงตกแต่งอาคารแล้วเสร็จในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2545[3] ภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบัน ภายในพิพิธภัณฑ์มีการรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ จัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของพระองค์
อาคารหลังนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2449 ในปลายรัชกาลที่ 5 ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปี และเปิดให้เช่าเป็นที่ตั้ง "ห้างยอนแซมสัน" ดำเนินธุรกิจขายผ้าฝรั่งและตัดชุดสูทสากลที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาเมื่อห้างยอนแซมสันเลิกกิจการ อาคารหลังนี้จึงเปลี่ยนเป็น "ห้างสุธาดิลก" ขายเครื่องก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2476 กรมโยธาเทศบาลจึงเช่าอาคารใช้เป็นที่ทำการของกรม จนกระทั่งกรมนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมโยธาธิการดังในปัจจุบัน
รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ออกแบบโดยนายชาร์ล เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส เป็นอาคาร 3 ชั้น อิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิค มีหอคอยยอดโดม ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบกรีก-โรมัน ในปี พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานแห่งชาติ อาคารกรมโยธาธิการหลังนี้ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมเรียกว่า พิพิธภัณฑ์รัฐสภา อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อยู่บริเวณใต้พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าอาคารรัฐสภา จัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์นำมาจัดแสดงและเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 สถาบันพระปกเกล้าได้รับโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ฯ และได้รับความอนุเคราะห์จากกรมโยธาธิการให้ใช้อาคารที่ตั้งในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น 1 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้แก่ พระราชประวัติส่วนพระองค์ ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ อภิเษกสมรส จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2527 รวมทั้ง การจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ การตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และพระราชกรณียกิจขณะเสด็จกลับมาประทับ ณ ประเทศไทยเป็นการถาวร นอกจากนี้ ยังจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ด้วย
ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ เสด็จเข้าศึกษาที่ทวีปยุโรป ทรงพระผนวช ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระยศขณะนั้น) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงสละราชสมบัติ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตและการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง เชิญพระบรมอัฐิกลับมายังประเทศไทย นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระจริยวัตรและพระราชนิยมส่วนพระองค์ในด้านต่าง ๆ เช่น ดนตรี กีฬา ภาพยนตร์
ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น 3 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ฉลองพระองค์ พระมาลา ฉลองพระบาท รวมทั้ง พระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์ การพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่จบการศึกษาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในพิธีฉลองพระนคร 150 ปี การเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าและปฐมบรมราชานุสรณ์ พระราชลัญจกรในพระองค์
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้เข้าชมวันอังคาร – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ไม่เว้นวันนักขัตฤกษ์ยกเว้นวันสงกรานต์และวันปีใหม่ ไม่เสียค่าเข้าชม กรณีเข้าเป็นหมู่คณะติดต่อประสานงานล่วงหน้าจะมีวิทยากรนำชม
การเดินทางสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง[4]
13°45′22″N 100°30′23″E / 13.7560386°N 100.506507°E