รถไฟฟ้ารางเบา (สิงคโปร์) 轻轨列车系统 Sistem Rel Ringan இலகு கடவு ரயில் | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
เจ้าของ | องค์การขนส่งทางบก |
ที่ตั้ง | สิงคโปร์ |
ประเภท | ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) |
จำนวนสาย | 3 |
จำนวนสถานี | 43 (ไม่เปิดใช้งาน 5 สถานี) |
ผู้โดยสารต่อวัน | 132,000 คน (ค.ศ. 2013)[1] |
การให้บริการ | |
เริ่มดำเนินงาน | 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 |
ผู้ดำเนินงาน | เอสบีเอส แทรนสิต เอสเอ็มอาร์ที |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
ระยะทาง | 28.8 km (17.90 mi) |
รถไฟรางเบาสิงคโปร์ เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบาในประเทศสิงคโปร์ ให้บริการควบคู่กับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสิงคโปร์ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1999 แบ่งเป็น 3 สายย่อย ตั้งชื่อตามย่านที่พักอาศัย ได้แก่ สายบูกิตปันจัง, สายเซงกัง และสายปุงกล โดยสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดินได้ที่สถานีเชาชูกัง, สถานีเซงกัง และสถานีปุงกล ตามลำดับ
ระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่ใช้ขนส่งระหว่างอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติ รถไฟฟ้าวิ่งอัตโนมัติแบบไม่มีคนขับ ทางวิ่งเป็นทางยกระดับทั้งหมด
รถไฟรางเบาสิงคโปร์ ก่อสร้างโดยองค์การขนส่งทางบก และดำเนินการโดย 2 บริษัทหลัก ได้แก่ เอสเอ็มอาร์ที และเอสบีเอส
วัตถุประสงค์ของโครงการรถไฟรางเบาสิงคโปร์นี้ เพื่อช่วยในการขนส่งผู้คนแบบไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวในบางพื้นที่ ตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะการจราจรติดขัดได้ดีอีกด้วย เนื่องจากรถไฟฟ้าใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อน จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษในตัวเมือง
รถไฟฟ้าสายบูกิตปันจัง ประกอบไปด้วย 14 สถานี เปิดทำการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 ต่อมารถไฟฟ้าสายเซงกัง ได้เปิดทำการสองช่วง ช่วงที่ 1 วงแหวนตะวันออก เปิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2003 และช่วงที่ 2 วงแหวนตะวันตก เปิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2005 (ส่วนใหญ่) และ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 (เฉพาะสถานีฟาร์มเวย์) ส่วนสถานีเชงลิม และสถานีกูปัง ได้ปิดทำการลง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย แต่ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2013 สถานีเชงลิมก็ได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง[2]
ส่วนรถไฟฟ้าสายปุงกล ฝั่งวงแหวนตะวันออก เปิดทำการเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2005 วันที่เดียวกันกับที่เปิดรถไฟฟ้าสายเซงกัง ฝั่งวงแหวนตะวันตก โดยมีอยู่ 2 สถานีที่ไม่ได้เปิดให้บริการ ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ได้เปิดใช้งานสถานีโอเอซิส เนื่องจากมีประชากรย้ายเข้ามาพักอาศัยในบริเวณนี้มากขึ้น[3] และวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2011 ได้เปิดใช้งานสถานีดาไม[4] ส่วนสถานีในฝั่งวงแหวนตะวันตกนั้น ยังไม่เปิดใช้งาน เนื่องจากยังมีประชากรในแถบนั้นไม่มากนัก จนถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2013 จึงได้เปิดใช้งานอย่างไม่เป็นทางการ โดยรถไฟฟ้าให้บริการเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนเท่านั้น[2]
วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2014 เวลา 11 นาฬิกา 15 นาที ได้เปิดใช้งานสถานีรถไฟฟ้า 3 สถานีในสายปุงกล ฝั่งวงแหวนตะวันตก ได้แก่ สถานีนิบง, สถานีซูมัง และสถานีซูเต็ก[5] และในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ได้เปิดใช้งานสถานีกูปัง[6]
ภายในปี ค.ศ. 2016 รถไฟฟ้าสายเซงกัง และสายปุงกล จะเพิ่มจำนวนจาก 16 คัน เป็น 41 คัน และจะพ่วงรถแบบ 2 คันต่อขบวน โดยรถไฟแต่ละขบวน จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากที่สุดถึง 105 คนในอนาคต นอกจากนี้ จะมีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณรถไฟใหม่อีกด้วย[7]
สายและสี | ปีที่เปิดให้บริการ | สถานีปลายทาง | จำนวนสถานี | ระยะทาง (กิโลเมตร) | ศูนย์ซ่อมบำรุง | |||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เอสเอ็มอาร์ที | ||||||||||
สายบูกิตปันจัง | ค.ศ. 1999 | เชาชูกัง | ชุมทางเท็นไมล์ | 14 | 7.8 | ศูนย์ซ่อมบำรุงชุมทางเท็นไมล์ | ||||
เอสบีเอส | ||||||||||
สายเซงกัง | ค.ศ. 2003 | เซงกัง (เดินรถวงกลม) | 6 | 10.7 | ศูนย์ซ่อมบำรุงเซงกัง | |||||
ค.ศ. 2005 | เซงกัง (เดินรถวงกลม) | 9 | ||||||||
สายปุงกล | ค.ศ. 2005 | ปุงกล (เดินรถวงกลม) | 8 | 10.3 | ||||||
ค.ศ. 2014 | ปุงกล (เดินรถวงกลม) | 8ก | ||||||||
ก – ไม่นับรวมสถานีแซมกี, สถานีเท็กลี, สถานีปุงกลพอยต์ และสถานีสมุเดรา ซึ่งไม่เปิดใช้งาน |
ในทุก ๆ สถานีจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ดังนี้ ลิฟต์, ทางลาดสำหรับคนพิการ, ระบบนำทางแบบจอสัมผัส และห้องน้ำ นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอีกด้วย[8]
สายบูกิตปันจัง (BPLRT) เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1999
สายเซงกัง (SKLRT) เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 10.7 กิโลเมตร เปิดให้บริการส่วนแรกวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2003 สถานีรถไฟฟ้า แบ่งเป็นฝั่งวงแหวนตะวันออก 5 สถานี (คอมพาสเวล-รังกุง) และฝั่งวงแหวนตะวันตก 8 สถานี (เชงลิม-เรนจง)
สายปุงกล (PGLRT) เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทางส่วนแรก 10.3 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี เปิดให้บริการเมื่อ 29 มกราคม ค.ศ. 2005 (ยกเว้นสถานีโอเอซิส ที่เปิดให้บริการเมื่อ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2007 และสถานีดาไม ที่เปิดให้บริการเมื่อ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2011) ต่อมาอีก 3 สถานี ได้แก่ สถานีนิบง, สถานีซูมัง และสถานีซูเต็ก ได้เปิดให้บริการเมื่อ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2014
ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ชุมทางเท็นไมล์ ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายบูกิตปันจัง และศูนย์เซงกัง ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายเซงกังและปุงกล นอกจากนี้ยังซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าสิงคโปร์ สายเหนือ-ตะวันออก อีกด้วย
สาย | ชื่อรถไฟฟ้า | จำนวนคัน | เริ่มให้บริการ | ความเร็วสูงสุด |
---|---|---|---|---|
สายบูกิตปันจัง | บอมบาร์ดิเออร์ อินโนเวีย ซี 801 | 19 | ค.ศ. 1999 | 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
บอมบาร์ดิเออร์ อินโนเวีย ซี 801 เอ | 13 | ค.ศ. 2014 | 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง | |
สายเซงกัง สายปุงกล |
มิตซุบิชิ คริสตัล มูฟเวอร์ | 41 | ค.ศ. 2003 | 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
รถไฟฟ้ารางเบาสิงคโปร์ส่วนใหญ่ ขับเคลื่อนโดยใช้ล้อยางมากกว่าล้อเหล็ก รถทุกคันวิ่งโดยใช้ระบบอัตโนมัติ ไม่มีคนขับ โดยจะถูกควบคุมจากศูนย์ซ่อมบำรุงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นรถไฟฟ้าที่ท่าอากาศยานจางีสิงคโปร์อีกด้วย
รถไฟรางเบาสิงคโปร์ สามารถใช้ตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสิงคโปร์ได้ โดยการใช้บัตรอีแซด-ลิงก์ หรือบัตรโดยสารเที่ยวเดียวธรรมดา