ระบบฉีดเชื้อเพลิงอ้อม หรือ อินไดเรกต์อินเจ็กชั่น (อังกฤษ: Indirect injection; IDI) หมายถึง ระบบการจ่ายเชื้อเพลิงแบบหนึ่งในเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งจะไม่ฉีดน้ำมันเข้าไปในห้องเผาไหม้โดยตรง
เครื่องยนต์เบนซิน/แก๊สโซลีน (gasoline engine) ที่ใช้ระบบฉีดน้ำมันแบบอ้อม ซึ่งหัวฉีดจะฉีดน้ำมันไปยังจุดก่อนที่จะถึงลิ้นไอดีนั้น ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้แล้ว เนื่องจากระบบฉีดเชื้อเพลิงตรง (Direct injection) ได้รับความนิยมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบางรายเช่น ฟ็อลคส์วาเกิน โตโยต้า และฟอร์ด ได้พัฒนาระบบ “ฉีดเชื้อเพลิงแบบผสม” (dual injection) ซึ่งรวมเอาระบบฉีดน้ำมันแบบตรงเข้ากับแบบอ้อม โดยระบบนี้จะผสานข้อดีของระบบการฉีดน้ำมันทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน
ระบบฉีดน้ำมันตรง ช่วยให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำมันที่ฉีดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ได้อย่างแม่นยำ ภายใต้แรงดันสูง ส่งผลให้เครื่องยนต์มีกำลังและประหยัดน้ำมันมากขึ้น แต่ข้อเสียของระบบฉีดน้ำมันแบบนี้ก็คือ มักจะทำให้เกิดอนุภาคฝุ่นละอองมากขึ้น และเนื่องจากน้ำมันไม่ไปสัมผัสกับลิ้นไอดีอีกต่อไป จึงทำให้เกิดคราบเขม่าสะสมที่ลิ้นไอดีได้ในระยะยาว
ระบบการฉีดน้ำมันแบบอ้อม จะช่วยให้มีการฉีดน้ำมันไปยังลิ้นไอดี ซึ่งจะช่วยลดหรือขจัดปัญหาคราบเขม่าที่สะสมบนลิ้นไอดีได้ และในสภาวะที่เครื่องยนต์ทำงานด้วยภาระงานต่ำ ระบบฉีดน้ำมันแบบนี้จะช่วยให้การผสมน้ำมันกับอากาศดีขึ้น
ระบบฉีดน้ำมันแบบผสมส่วนใหญ่จะใช้ในรถยนต์ที่มีราคาแพง เนื่องจากความซับซ้อนและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของระบบ
ระบบฉีดเชื้อเพลิงทางช่องไอดี (อังกฤษ: Port injection) หมายถึง การฉีดน้ำมันไปที่ด้านหลังของลิ้นไอดี ซึ่งจะเร่งการระเหยของน้ำมัน[1]
เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ระบบฉีดน้ำมันแบบอ้อม จะฉีดน้ำมันเข้าไปยังห้องเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกับห้องเผาไหม้ หลัก ๆ จะมีอยู่ 2 แบบคือ ห้องเผาไหม้ช่วย (swirl chamber) และ ห้องเผาไหม้ล่วงหน้า (prechamber) ห้องเล็ก ๆ เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเผาไหม้ ก่อนที่จะลามไปยังห้องเผาไหม้หลัก ห้องเผาไหม้ทั้งสองแบบต้องได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำมันที่ถูกฉีดเป็นละอองกับจะผสมอากาศที่ถูกอัดจนร้อนอย่างเหมาะสม