รางจืด | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Asterids |
อันดับ: | Lamiales |
วงศ์: | Acanthaceae |
สกุล: | Thunbergia |
สปีชีส์: | T. laurifolia |
ชื่อทวินาม | |
Thunbergia laurifolia Lindl. |
รางจืด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thunbergia laurifolia) เป็นชื่อของพืชสมุนไพรประเภทไม้เลื้อยหรือไม้เถาในวงศ์เหงือกปลาหมอ มีลักษณะเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้ เถาจะมีลักษณะเป็นข้อปล้องกลมมีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ดอกจะเป็นสีม่วงอ่อน ๆ หรือสีคราม ออกดอกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ รางจืดได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชาแห่งการถอนพิษ"[1][2][3] มีสรรพคุณทางยาในด้านการถอนพิษต่าง ๆ หรือใช้เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ รวมถึงใช้เป็นยารับประทานเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ
รางจืดมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ได้แก่ กำลังช้างเผือก เครือเขาเขียว ขอบชะนาง ยาเขียว (ภาคกลาง) คาย รางเย็น (ยะลา) จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดุเหว่า (ปัตตานี) ทิดพุด (นครศรีธรรมราช) น้ำนอง (สระบุรี) ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์)
ไม้เลื้อยหรือไม้เถา มีลักษณะเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถานั้นจะกลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ใบ จะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ตรงโคนใบจะเว้า ปลายใบจะเรียวแหลม กว้าง 4-7 ซม. ยาว 8-14 ซม. ส่วนดอกจะมีสีม่วงอมฟ้า ใบประดับ สีเขียวประสีน้ำตาลแดง ออกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ
นิยมใช้เถาในการปักชำ ในการชำเถา ให้เลือกเถาแก่มาตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ให้มีตาติดอยู่ 2-3 ตา ถ้าชำเถาในฤดูฝนจะออกรากเร็วกว่า
รากและใบ รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใบและรากใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ ยาพอกบาดแผล ใช้สำหรับถอนพิษยาฆ่าแมลง สำหรับผู้ป่วยที่ดื่มยาฆ่าแมลงเข้าไปเป็นการบรรเทาอาการก่อนถึงโรงพยาบาล แก้พิษแอลกอฮอล์ บรรเทาอาการเมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้ ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า จอลอดี่เดอ ตัดลำต้นเป็นชิ้นเล็กพกติดตัว เชื่อว่าป้องกันงูได้[4]
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Thunbergia laurifolia ที่วิกิสปีชีส์