ຖິ່ນ | |
---|---|
ชาวลัวะในประเทศไทย | |
ประชากรทั้งหมด | |
ไม่ทราบ | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ลาว, ไทย, สหรัฐ | |
ลาว | 23,193 (ค.ศ. 1995)[1] |
ไทย | 48,000 (ค.ศ. 1995)[2] |
ภาษา | |
มัล, ไปร อะจูล; พูดลาวหรือไทยเป็นภาษาที่สอง | |
ศาสนา | |
ศาสนาผี, เถรวาท, ศาสนาคริสต์ | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
มลาบรีและขมุ[2] |
ลัวะ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลมอญ-เขมร ของกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก[3] ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณจังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และยังพบชาวลัวะในประเทศลาวบริเวณชายแดนทางทิศตะวันตกของแขวงไชยบุรีซึ่งลัวะในบริเวณนี้นั้น แบ่งออกตามภาษาได้อีก 3 กลุ่ม คือ ลัวะไปร ลัวะมัล และลัวะอะจูล ซึ่งเป็นกลุ่มที่เล็กที่สุด[4]
ลัวะในจังหวัดน่านและในแขวงไชยบุรีของลาวจัดว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้มานานแล้ว บ้างสันนิษฐานว่า ลัวะเป็นพวกเดียวกับเผ่าว้าที่มีภูมิลำเนาอยู่ในมณฑลยูนานและตามลุ่มแม่น้ำสาละวินในรัฐฉานของพม่า อีกข้อสันนิษฐาน คือ ละว้าที่อาศัยอยู่บริเวณทางตอนใต้ของจีนและตอนเหนือของประเทศไทย เป็นบรรพบุรุษของ 2 กลุ่ม คือ ลัวะอยู่ในล้านนา หรือตอนบนของประเทศไทยและละว้าอยู่ในภาคกลางของสยาม[5]
เมื่อมีการแบ่งพรมแดนไทยและลาว ทำให้ชาวลัวะที่ไปมาหาสู่กันแยกออกจากกันด้วยพรมแดน พบว่ามีชาวลัวะจากลาวอพยพเข้ามาในไทยบริเวณจังหวัดน่าน 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2419 เนื่องจากชนกลุ่มน้อยในลาวถูกกดขี่จากการปกครอง อีกครั้งราว พ.ศ. 2517–2518 เนื่องจากหนีภัยคอมมิวนิสต์ในลาว
ชาวลัวะมีชื่อที่ทางราชการเรียกว่า ถิ่น หรือ ข่าถิ่น แต่ชาวลัวะเองรู้สึกไม่ชอบเพราะรู้สึกว่าเป็นคำดูถูก หากให้เรียกระหว่าง 2 คำ ชาวลัวะยอมรับคำว่า ลัวะ มากกว่า[6]
ชาวลัวะมีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษาลัวะ แต่เดิมมีการนับถือผี โดยเฉพาะผีเสื้อบ้าน และผีบรรพบุรุษ ภายหลังเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบ จึงได้มีการนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งยังเหลือร่องรอยศาสนาพุทธยุคเก่าที่ผสมผสานกับความเชื่อด้านการนับถือผีในบางท้องถิ่นแถบภาคเหนือของไทย เช่น การฉันอาหารเย็นของพระสงฆ์ การนำคาถาพุทธคุณมาทำยันต์ไล่ผี เข้าใจว่าเป็นอิทธิพลของนิกายตันตระหรือมันตรายาน ซึ่งได้รับก่อนการรับนิกายเถรวาท[7] และซึมซับรับวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน