ลาวครั่ง

ลาวครั่ง
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร [1]
ภาษา
ภาษาลาวครั่ง[1], ภาษาไทย
ศาสนา
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท[1]

ลาวครั่ง คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได กลุ่มชนดังกล่าวมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในนครเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้าง เข้ามาในสยามเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ได้ส่งให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ กับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ไปตีเวียงจันทน์เมื่อปี พุทธศักราช 2321 และกวาดต้อนเทครัวชาวลาวเวียงจันทร์ลงมายังสยาม ชาวลาวกลุ่มนี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหัวเมืองชั้นในที่ เมืองนครชัยศรี และเมืองสุพรรณบุรี

ประวัติ

[แก้]

ลาวครั่ง คือชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในหัวเมืองชั้นในของสยาม เมื่อครั้งเกิดสงครามระหว่างสยามกับเวียงจันทน์ เมื่อปีพุทธศักราช 2321 โดยมีมูลเหตุจากพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ทรงขุ่นข้องหมองใจกับพระเจ้าสิริบุญสาร แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันทน์) เนื่องจากพระเจ้าศิริบุญสารนำเครื่องบรรณาการไปมอบแก่พระเจ้าอังวะและขอให้ กองทัพพม่าไปช่วยตีพระยาวรราชภักดี (พระวอ) ที่เมืองจำปานคร (หนองบัวลำภู) ซึ่งเป็นกบฏต่อกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันทน์) พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ ศึกฯ กับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกกองทัพบกจำนวน ๒๐,๐๐๐ ออกจากรุงธนบุรี ขึ้นไปตั้งประชุมพลที่เมืองนครราชสีมา จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ แยกทัพลงไปกรุงกัมพูชา เกณฑ์กองทัพ ๑๐,๐๐๐ และต่อเรือรบ เรือไล่ แล้วให้ขุดคลองอ้อมเขาหลี่ผี ยกทัพเรือขึ้นไปตามลำน้ำโขง ไปบรรจบกองทัพบก ณ นครล้านช้างเวียงจันทน์กองทัพธนบุรีล้อมนครเวียงจันทน์ไว้ 4 เดือนถึงสามารถตีเมืองได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ ก็ทรงพระโสมนัสให้มีตราหากองทัพกลับยังพระมหานคร สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงตั้งพระยาสุโภ ขุนนางเมืองล้านช้างให้อยู่รั้งเมือง แล้วนำครอบครัวเชลยชาวเมืองเวียงจันทน์หลายหมื่นครัวเรือน ขุนนางท้าวเพลี้ยทั้งปวง และราชบุตรพระเจ้าสิริบุญสารทั้งสามองค์คือ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ กับทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ ช้าง ม้า เป็นอันมาก และเชิญพระแก้วมรกต กับพระบาง เลิกทัพกลับยังกรุงธนบุรีโดยพระราชกำหนด ชาวลาวเวียงจันทน์กลุ่มหนึ่งซึ่งมีสำเนียงแบบหลวงพระบางได้ถูกส่งให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในเขตหัวเมืองชั้นในที่ เมืองนครชัยศรี และเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาในปัจจุบันถูกเรียกว่า ลาวครั่ง จากเอกสารของนักวิจัยที่ทำการค้นคว้าและศึกษาอาจจะสรุปความหมายของคำว่า "ลาวครั่ง" ได้ 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 สันนิษฐานว่าสาเหตุที่เรียกชาวลาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ว่า ลาวครั่ง มาจากชื่อของครั่งที่ชาวลาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้นิยมนำมาใช้ย้อมสีผ้าให้โทนสีแดง เพื่อใช้ในการทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่น ผ้าซิ่น

ประเด็นที่ 2 สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "ลาวภูครัง" ที่เข้าในสยามเมื่อปี พุทธศักราช 2358 ซึ่งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้ส่งครัวลาวเมืองภูครังมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้ครัวลาวเมืองภูครังตั้งถิ่นฐานแถบเมืองนครชัยศรีพร้อมกับครัวลาวเมืองพุกรางที่ส่งเข้ามาพร้อมกัน และได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานอุปกรณ์สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือน เช่น ไม้ จากมุงหลังคา และผู้คนไปช่วยปลูกสร้างบ้านเรือนด้วย[3] ด้วยเหตุที่กองทัพไทยเข้าไปตั้งมั่นชั่วคราวเมื่อครั้งทำสงครามกับเวียดนามและเขมร[4] เมืองภูครังจึงน่าจะมีประชากรมากพอสมควรและมีความสำคัญในแง่ประโยชน์ต่อฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นชาวลาวเมืองภูครังจึงถูกกวาดต้อนลงมาหลายครั้ง[5] โดยส่งลงมาพักไว้ที่เมืองพิษณุโลก เพื่อส่งต่อมายังกรุงเทพฯ ปรากฏว่าพวกนี้ได้หนีกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์อีก เจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงคุมตัวไปยังกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง เหลือผู้ที่เจ็บป่วยอีกเกือบ 700 คน จึงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์เมืองภูเขียว, เมืองขอนแก่น, เมืองชนบท ช่วยกับเมืองเวียงจันทน์ คุมคนและช้างขึ้นไปรับชาวลาวครังส่งมายังกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2360[6] และส่งไปอยู่กับพวกเดิมที่เมืองนครชัยศรี ซึ่งต่อมาจึงมีการสันนิษฐานว่าลาวกลุ่มนี้อาจคือกลุ่มเดียวกับลาวครั่งปัจจุบัน แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานนี้ และไม่เป็นที่ยอมรับ

อัตลักษณ์

[แก้]

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวลาวครั่งที่สามารถแบ่งแยกได้ทันทีที่พบคือภาษาพูดซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงสูง แบบสำเนียงหลวงพระบาง ชาวลาวครั่งโดยรวมมีรูปร่างสันทัดหน้ารูปไข่จมูกมีสันผิวขาวเหลืองทั้งชายและหญิง ปัจจุบันชาวลาวครั่งมักเรียกตัวเองตามสำเนียงภาษาท้องถิ่นว่า “ลาวขี้คั่ง”หรือ“ลาวคั่ง”

ลักษณะทางสังคม

[แก้]

ชาวลาวครั่งมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมและประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษมากมาย ซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ เช่น ประเพณียกธง ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตโดยจะจัดขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนของทุกปี ลักษณะทางสังคมชาวลาวครั่งมักจะมีความผูกพันทางเครือญาติสูง นิยมตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มใหญ่ มีฐานะมั่นคง มีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ โดยการทำเกษตรกรรม เช่น การทำนา

การแต่งกาย

[แก้]

ชาวลาวครั่งปัจจุบันในชีวิตประจำวันจะแต่งกายตามปกติ ยกเว้นในการจัดงานประเพณีหรืองานมงคลที่มีการรวมกลุ่ม ซึ่งต้องแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะหรือมีการต้อนรับแขกคนสำคัญของท้องถิ่น ผู้ชายมักจะแต่งกายชุดสุภาพมีผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนผู้หญิงจะแต่งกายด้วยชุดผ้าทอพื้นเมืองนุ่งผ้าซิ่นไหมทอด้วยเทคนิดมัดหมี่หรือทอด้วยเทคนิคขิดจกมีตีนซิ่นต่อ โดยลักษณะองค์ประกอบของผ้าซิ่นลาวครั่งจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือส่วนหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น วัตถุดิบที่ใช้คือไหมและฝ้าย ซึ่งในอดีตมักนิยมนำมาย้อมโทนสีแดงจากสีธรรมชาติ เช่น การย้อมครั่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ประวัติความเป็นมาของคนไทยเชื้อสายลาวครั่ง
  2. Joshua Project
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ลาว
  4. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3, หอสมุดแห่งชาติ, สมุดไทยดำ เว้นดินสอสีขาว, เลขที่ 18} ร่างตราเจ้าพระยาจักรีตอบเมืองสุพรรณ, จ.ศ. 1222
  5. บังอร ปิยะพันธุ์. ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541, หน้า 50. ISBN 974-86304-7-1
  6. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ครัง