วัดปู่เปี้ย

วัดปู่เปี้ย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทโบราณสถานร้าง
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดปู่เปี้ย เป็นโบราณสถานร้างตั้งอยู่ในเวียงกุมกาม ในตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นสวนลำไยของบิดานางจันดี ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2529 ทำให้พบกลุ่มโบราณสถาน ประกอบด้วย วิหารยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ สถูปแปดเหลี่ยม และแท่นบูชา รูปแบบสถาปัตยกรรมมีลักษณะมีลักษณะศิลปะสุโขทัยและแบบล้านนารวมกัน[1]

วัดปู่เปี้ยได้รับประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542

โบราณสถานและโบราณวัตถุ

[แก้]

วิหารคงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ห้องด้านหลังมีฐานชุกชีเต็มพื้นที่ห้อง ห้องประดิษฐานพระประธานเป็นคูหา (ห้องคันธกุฎี) จากการขุดแต่งวิหารพบว่า มีการก่อสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย โดยในสมัยหลังได้มีการขยายยี่ห้อเพิ่มเสาคู่นอก เจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณด้านหลังวิหาร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มุมฐานประทักษิณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบันไดทางขึ้น 1 แห่ง

อุโบสถตั้งบนฐานเขียงที่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีเสมาหินทรายกลมสีแดงและสีเทา ผนังกำแพงอุโบสถมีช่องปรุรูปกากบาท ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนปัทม์ ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน ห้องด้านหลังเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน ไม่มีเสารองรับโครงสร้างหลังคาภายในอาคาร โดยใช้เทคนิคแบบผนังรับน้ำหนักแทน บริเวณฐานหน้ากระดานทองไม้ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปเมฆ หรือลายกรอบช่องกระจกโดยรอบ

สถูปแปดเหลี่ยมมีกำแพงแก้วล้อมรอบ คงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ที่มีลักษณะเป็นบัวคว่ำ เหนือขึ้นไปเจาะช่องปรุรูปกากบาท สันนิษฐานว่าเป็นสถูปแปดเหลี่ยมที่ยอดเป็นองค์ระฆัง ปล้องไฉน และฉัตร และคงเป็นสถูปบรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญ เพราะพบหม้อดินเผาเนื้อไม่แกร่ง และเศษกระดูกข้อต่อส่วนมือหรือเท้าของมนุษย์ ด้านหน้าของสถูปเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาแบบฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่

โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปแก้ว พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปขนาดเล็กเนื้อตะกั่วด้านหลังมีการจารึกคาถา พระพิมพ์ดินเผาประเภทพระผงและพระสิงห์สอง ภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง และภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย และพบแผ่นอิฐมีลวดลาย แก้วหัวแหวนหินสี ลูกปัดหินสี ใบมีดเหล็ก และหอยเบี้ย เป็นต้น[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดปู่เปี้ย (Pu Pia Temple)". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-08. สืบค้นเมื่อ 2021-11-08.
  2. "วัดปู่เปี้ย (ร้าง)". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.