วัดราชนัดดารามวรวิหาร

วัดราชนัดดารามวรวิหาร
ทัศนียภาพบริเวณหน้าวัดราชนัดดา
แผนที่
ที่ตั้งแขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
เว็บไซต์www.watratchanaddaram.com
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดราชนัดดาราม
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000039
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ "วัดราชนัดดา" เป็นวัดตั้งอยู่ที่สี่แยกระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย ในเขตพระนคร แปลว่า “วัดของพระราชนัดดา” วัดนี้สร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3)เพื่อเป็นพระเกียรติแก่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระราชนัดดาในปี 2389[1][2]

ประวัติ

[แก้]

วัดราชนัดดารามวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโลหะปราสาท แทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย โดยสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้

แต่เดิมโลหะปราสาทไม่ได้ตั้งเด่นเป็นสง่าเมื่อผ่านมาทางถนนราชดำเนินเหมือนในปัจจุบัน เพราะมีการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย หัวมุมถนนราชดำเนิน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2532 จึงได้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทย โดยอ้างว่าตัวอาคารที่บดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท และวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายในตอนนั้นที่เริ่มทำลายทิ้งมรดกของคณะราษฎร[3] เพราะตัวอาคารเฉลิมไทยนั้นถือได้ว่าเป็นมรดกคณะราษฎรที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนิน ทั้งนี่การทำลายมรดกคณะราฎรถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจยิ่งขึ้น เมื่อที่ตั้งของโรงหนังเดิมถูกกลายเป็นลานพลับพลาเจษฎษบดินทร์ สัญลักษณ์ของกลุ่มกษัตริย์นิยมไปแทน

ศิลปกรรม

[แก้]

พระอุโบสถ

[แก้]
พระอุโบสถ

พระอุโบสถเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีโดยมียังมีเครื่องหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีเครื่องลำยองประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เเต่มีรูปแบบที่นิยมในรัชกาลที่ 3 คือ การใช้ระบบเสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่มีบัวหัวเสา ไม่มีคันทวย ไม่มีเสาร่วมใน เนื่องจากการใช้เสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สามารถรับน้ำหนักได้ดี มีเสาพาไลโดยรอบทำให้มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร หลังคามี 3 ซ้อน 4 ตับ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกรูปพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ ใบไม้ จำพวกลายดอกโบตั๋นหรือลายก้านแย่ง ซึ่งเป็นลวดลายที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3[4] ตัวอาคารวางตัวในลักษณะเเนวขวางคือวางตามเเนวทิศเหนือ-ใต้ อยู่กึ่งกลางระหว่างพระวิหารเเละศาลาการเปรียญ ซุ้มประตูเเละหน้าต่างของพระอุโบสถเป็นทรงบรรพเเถลงที่ประดับลวดลายอย่างเทศ ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมเป็นภาพพุทธประวัติ โดยมีลักษณะเด่น คือ ภาพเหล่าเทวดาล่องลอยท่ามกลางหมู่เมฆ โดยผนังหุ้มกลองด้านหน้าเขียนพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากชั้นดาวดึงส์ เเละผนังหุ้มกลองด้านหลังเขียนตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยผนังด้านอื่นๆ เป็นฉากของสวรรค์ประกอบด้วยท้องฟ้า พระอาทิตย์อยู่กลางผนังทางทิศตะวันออกเเละพระจันทร์อยู่กลางผนังทางทิศตะวันตกมีเทวดาเหาะล่องลอยเต็มหมู่ท้องฟ้า[5]

พระเสฏฐตมมุนี

[แก้]
พระเสฏฐตมมุนี

พระเสฏฐตมมุนีเป็นพระประธานในพระอุโบสถ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธมหาโลหาภินันทปฏิมา พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ต่อมารัชกาลที่ 4 พระราชทานพระนามว่า "พระเสฏฐตมมุนี" โดยหล่อจากทองแดงที่ขุดได้จำนวนมากจากอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา เมื่อสร้างเสร็จโปรดเกล้าฯ ให้ชักลากจากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดราชนัดดาโดยใช้วิธีผูกเชือก 4 เส้นเเละลากด้วยตะเฆ่ เเละให้ชาวบ้านมาช่วยกันชักพระ เเต่ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ เนื่องจากใช้ชาวบ้านที่ไม่มีประสบการณ์ทำให้การชักลากที่แล่นด้วยความเร็วควบคุมไม่อยู่เเละได้ทับเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ที่เข้าร่วมบัญชาการการชักพระครั้งนี้ ทำให้ขาขาดอาหารสาหัส อยู่ได้เพียงหนึ่งเดือนก็ถึงเเก่อสัญกรรม ลักษณะของพระเสฏฐตมมุนีเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 7 ศอก มีลักษณะเเบบพระพุทธรูปที่สร้างในรัชกาลที่ 3 คือ มีพระวรกายเพรียวบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่จรดพระนาภี พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งไข่ ขมวดพระเกษาเล็ก มีพระรัสมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดเเละมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กเเละโด่ง พระโอษฐ์เล็กแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย เส้นพระโอษฐ์โค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น"[6]

ซุ้มสีมา

[แก้]

ซุ้มสีมาพระอุโบสถวัดราชนัดดาเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงเรือนแบบประเพณีนียมทรงปราสาทยอดลักษณะคล้ายบุษบกประกอบด้วยส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุเเละส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ 1 ฐาน ส่วนเรือนเป็นเสาเเบบย่อมุมไม้ 12 หลังคาทำเป็นทรงปราสาทซ้อนหลายชั้น ยอดบนเป็นกราวยเเหลม ส่วนใสีมาเป็นแบบสีมาคู่เเกะสลักจากหินชนวนด้านหนึ่งเป็นรูปธรรมจักรอีกด้านเป็นรูปเทวดา

ภาพพระอุโบสถ อื่น ๆ

[แก้]

พระวิหารเเละศาลาการเปรียญ

[แก้]
พระวิหาร
ศาลาการเปรียญ

พระวิหารเเละศาลาการเปรียญมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ โดยจะมีลักษณะคล้ายพระอุโบสถเเต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นอาคารแบบไทยประเพณีโดยมียังมีเครื่องหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีเครื่องลำยองประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เเต่มีรูปแบบที่นิยมในรัชกาลที่ 3 คือ การใช้ระบบเสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่มีบัวหัวเสา ไม่มีคันทวย ไม่มีเสาร่วมใน เนื่องจากการใช้เสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สามารถรับน้ำหนักได้ดี มีเสาพาไลโดยรอบทำให้มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร หลังคามี 2 ซ้อน 3 ตับ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกรูปพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ ใบไม้ จำพวกลายดอกโบตั๋นหรือลายก้านแย่ง ซึ่งเป็นลวดลายที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3[4] โดยพระวิหารเเละศาลาการเปรียญจะตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกขวางกับพระอุโบสถ โดยพระวิหารจะตั้งอยู่ทางทิศใต้ด้านหลังพระอุโบสถเเละศาลาการเปรียญจะตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือหน้าพระอุโบสถ พระประธานในพระวิหารมีพระนามว่า พระชุติธรรมนราสพ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร พระประธานในศาลาการเปรียญเป็นพระพุทธรูปปางรำพึงไม่มีพระนาม จิตรกรรมภายในพระวิหารเป็นลายพรรณพฤกษาอย่างเทศผูกลายเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ส่วนจิตรกรรมในศาลาการเปรียญเขียนลานพรรณพฤกษาเป็นลายดอกไม้ร่วง ซุ้มประตู-หน้าต่างของพระวิหารเเละศาลาการเปรียญมีลักษณะเหมือนกันคือประดับลวดลายอย่างเทศจำพวกดอกไม้ ใบ ไม้ แบบพระราชนิยม เป็นลวดลายจีนผสมตะวันตก[7]

ภาพพระวิหารเเละศาลาการเปรียญ อื่น ๆ

[แก้]

โลหะปราสาท

[แก้]
โลหะปราสาท

โลหะปราสาท ตั้งอยู่ ณ ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ โลหะปราสาทมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยทรงปราสาทมี 3 ชั้น มียอดทรงปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น บนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นรัชกาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท จนมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่หาได้ โดยบูรณะตั้งแต่ชั้นบนลงมา คือ ทำพื้น ก่อมณฑปโบกปูนสีแดง ยกฉัตร ยอดเจดีย์ที่ชั้นบนสุดและชั้นที่ 2 ทั้งหมด ยังเหลือแต่ชั้นล่างสุดที่ไม่ได้บูรณะ

การบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ ดำเนินการในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด นับว่าโลหะปราสาทได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาล เป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้

เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรก แห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

สืบเนื่องจากโอกาสดังกล่าว โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุดจึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 สาระสำคัญของโครงการนี้ประกอบด้วย งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีนาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น (ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นยศ พลอากาศตรี) ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และ นายประพิศ แก้วสุริยาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

ในปี พ.ศ. 2555 กรมศิลปากร ร่วมกับวัดราชนัดดารามวรวิหาร จัดโครงการบูรณะโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม โดยการปิดทองคำเปลวบนยอดทั้ง 37 ยอด โดยเริ่มดำเนินการจากชั้นบนสุดลงมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560

ภาพโลหะปราสาท อื่น ๆ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Datta, Rangan (6 November 2022). "A visit to Loha Prasat in Bangkok will fill you with peace, joy and serenity". No. The Telegraph. My Kolkata. สืบค้นเมื่อ 31 August 2023.
  2. "Wat Ratchanatdaram Worawihan (Loha Prasat)". Amazing Thailand. Tourism Thailand. สืบค้นเมื่อ 31 August 2023.
  3. "วาทะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อทุบ "ศาลาเฉลิมไทย" มอง "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ต่ำทราม".
  4. 4.0 4.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 259-261
  5. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 262-263
  6. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 266-267
  7. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 263-265

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′17″N 100°30′15″E / 13.754835°N 100.504292°E / 13.754835; 100.504292