ศาลาว่าการกลาโหม

ศาลาว่าการกลาโหม
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถาปัตยกรรมนีโอ-พัลลาเดียน
ที่ตั้งเขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°45′6″N 100°29′40″E / 13.75167°N 100.49444°E / 13.75167; 100.49444
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกโยอาคิม กรัสซี

ศาลาว่าการกลาโหม เป็นอาคารประวัติศาสตร์ใน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังบนถนนสนามไชยใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์อันเก่าแก่ อาคารหลังนี้เป็นแบบนีโอ-พัลลาเดียนสร้างขึ้นเป็น โรงทหารหน้า ในปี 2425–2427 โดยเป็นการออกแบบโดยโยอาคิม กรัสซีสถาปนิกชาวอิตาลี ทำหน้าที่เป็นสำนักงานของกระทรวงกลาโหมมาตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงในปี 2430

ประวัติ

[แก้]

อาคารตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวังและทางทิศใต้ของศาลหลักเมืองเคยเป็นที่ตั้งของวังเจ้านายถึง 3 วังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2325–2352) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วังต่าง ๆ ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับอีกต่อไปและบางส่วนของบริเวณนี้ถูกใช้เป็นยุ้งฉาง คอกม้า และโรงเลี้ยงไหม[1][2]

อาคารในช่วงราวคริสต์ทศวรรษ 1880–1900

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย รวมไปถึงการแทนที่ระบบแรงงานเกณฑ์ด้วยการใช้กำลังทหารอาชีพ กองทหารที่เรียกว่า "ทหารหน้า" ประกอบด้วยทหารประมาณ 4,400 นาย ได้รับการจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายทศวรรษปี 1870 เพื่อทำหน้าที่ปกป้องพระนคร[3] ความจำเป็นในการมีที่ตั้งถาวรสำหรับกองกำลังก็ปรากฏชัดเจนในไม่ช้าหลังจากเกิดการระบาดของอหิวาตกโรคซึ่งทำให้ทหารหลายนายเสียชีวิต ผู้บังคับกองทหาร เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ต่อมาคือจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)) จึงได้ขอให้สร้างค่ายทหารขึ้น และดำเนินการก่อสร้างในบริเวณดังกล่าวระหว่างปี พ.ศ. 2425 ถึง พ.ศ. 2427 อาคารนี้ได้รับการออกแบบโดยโยอาคิม กรัสซี สถาปนิกชาวอิตาลีโดยมีเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง อาคารนี้ได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 เมื่อมีการก่อตั้งกระทรวงกลาโหมอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2430 อาคารดังกล่าวจึงกลายมาเป็นที่ทำการของกระทรวง และยังคงมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน[1]

สถาปัตยกรรม

[แก้]

อาคารนี้ออกแบบในสไตล์นีโอ-ปัลลาเดียนโดยมีผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า 3 ชั้น มีลานกลางอาคารก่อด้วยอิฐ ส่วนหน้าอาคารที่หันไปทางทิศตะวันตกมุ่งสู่พระบรมมหาราชวังมีลักษณะเด่นคือหน้าจั่วตรงกลางที่รองรับด้วยเสาแบบดอริกขนาบข้างด้วยปีกอาคารสองข้างซึ่งมีประตูเปิดออกไปสู่ลานภายใน หน้าต่างเรียงรายทั้งสามชั้นภายนอกอาคารซึ่งตกแต่งด้วยเสาเรียงซ้อนกัน[1]

แม้ว่าส่วนหน้าของอาคารจะสมมาตรอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ปีกของอาคารกลับเรียวไปทางด้านหลังตามความจำเป็นของรูปทรงของแปลงที่ดิน ซึ่งตัวอาคารครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ยกเว้นสนามหญ้าด้านหน้า มีถนนล้อมรอบอยู่ทุกด้าน (ทิศตะวันตกคือถนนสนามไชย ทิศเหนือคือถนนหลักเมือง ทิศตะวันออกคือถนนราชินี และทิศใต้คือถนนกัลยาณไมตรี) ตามแผนเดิมโครงสร้างส่วนกลางจะประกอบด้วยคลังอาวุธและพิพิธภัณฑ์การทหารที่ชั้นบน ห้องประชุมอยู่ตรงกลาง และพื้นที่ฝึกฟันดาบด้านล่าง ปีกทั้งสองข้างประกอบด้วยห้องนอนอยู่ชั้นบน ห้องประชุมและฝึกอบรมอยู่ตรงกลาง และพื้นที่เก็บอาวุธและเสบียงอยู่ชั้นล่าง ปีกทางเหนือเป็นที่ตั้งของหน่วยปืนใหญ่ โรงพยาบาลทหาร และคอกม้า ในขณะที่ปีกทางใต้เป็นที่ตั้งของหน่วยทหารราบและหน่วยวิศวกรรม บริเวณด้านหลังของปีกทางใต้มีหอนาฬิกาที่เชื่อมต่อกัน (ซึ่งปัจจุบันได้รื้อถอนไปแล้ว) ซึ่งยังเป็นที่ตั้งของเครื่องสูบน้ำและถังเก็บน้ำอีกด้วย โดยอาคารนี้สร้างขึ้นโดยใช้ท่อประปาที่ทำจากโลหะ ลานตรงกลางใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมและออกกำลังกาย

ตัวอาคารได้รับการต่อเติมหลายครั้ง รวมทั้งการขยายส่วนหน้าอาคาร[1] ส่วนใหม่ที่ขนานไปกับปีกเดิมทางเหนือ และส่วนต่อขยายที่ด้านหลัง (ด้านตะวันออก) ของอาคาร[4]เคยเป็นที่ตั้งของยุ้งฉาง โรงอาบน้ำ และสระว่ายน้ำ อาคารนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ในปี 2540 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรในปี 2541[1][4]

มุมมองแบบพาโนรามาที่แสดงให้เห็นด้านหน้าอาคารทั้งหมด

พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่

[แก้]
ปืนใหญ่พญาตานีในปี 2546 ชี้ออกจากตัวอาคาร

ที่สนามหญ้าหน้าอาคารเป็นสวนมีปืนใหญ่สัมฤทธิ์จำนวนมาก ส่วนจัดแสดงนี้ริเริ่มโดยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอาจทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากประสบการณ์ระหว่างที่ทรงศึกษาที่วิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิร์สต์[5] จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2464 พบว่าเคยมีการจัดแสดงปืนใหญ่ไว้บนสนามหญ้าถึง 63 กระบอก[6] แต่หลายกระบอกได้ถูกย้ายไปที่อื่นแล้ว และปัจจุบันยังมีปืนอีก 40 กระบอกที่ยังคงเหลืออยู่ ปืนใหญ่เกือบทั้งหมดมีชื่อจารึกไว้ เช่น "ถอน พระสุเมรุ" และ “ลมประไลยกัลป์”[6] ปืนใหญ่ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดคือปืนใหญ่พญาตานีซึ่งยึดมาจากเมืองปัตตานี (ขณะนั้นเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรปตานี) เมื่อปี พ.ศ. 2329[5]

มีการปรับเปลี่ยนส่วนจัดแสดงหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2547 ปืนใหญ่หลายกระบอกรวมถึงปืนใหญ่พญาตานีถูกหมุนมาตั้งตรงหน้าอาคาร ทำให้เกิดข่าวลือว่ากระทรวงกำลังพยายามหลีกเลี่ยงโชคร้ายที่เกิดจากปืนที่เล็งไปที่พระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับที่เคยทำมาก่อนหน้านี้[7] พลเอกอู๊ด เบื้องบน ปลัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้ออกมาปฏิเสธโดยกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับภูมิทัศน์ใหม่ โดยดำเนินการตามคำร้องขอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและตามคำแนะนำของกรมศิลปากร และเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 120 ปีของกระทรวงด้วย[7]

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การจัดแสดงก็ได้รับการจัดระเบียบใหม่ โดยตอนนี้ปืนใหญ่ทั้งหมดชี้ไปด้านข้าง ในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงได้จัดนิทรรศการดังกล่าวในรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โดยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ โดยมีป้ายข้อมูลและทัวร์นำชมตามกำหนดการ สวนแห่งนี้ยังมีรูปปั้น คชสิงห์ ขนาดใหญ่ 2 ตัวและน้ำพุดนตรีอีกด้วย[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ชนสรณ์ บุญจำนงค์ (7 September 2016). "ที่ทำการกระทรวงกลาโหม / Ministry of Denfence Head Office". asaconservationaward.com (ภาษาไทย และ อังกฤษ). Association of Siamese Architects. สืบค้นเมื่อ 23 November 2018.
  2. "กระทรวงกลาโหม". ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. Silpakorn University. สืบค้นเมื่อ 24 November 2018.
  3. Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2005). A History of Thailand. Cambridge University Press. pp. 53–54. ISBN 9780521016476.
  4. 4.0 4.1 "ประกาศกรมศิลปการ เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน" (PDF). Royal Thai Government Gazette. 115 (Special 3 D): 3. 13 January 1998. สืบค้นเมื่อ 24 November 2018.
  5. 5.0 5.1 เกสรา จาติกวณิช (10 February 2012). "รีวิวของพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ". ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย : Thai Museums Database. Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. สืบค้นเมื่อ 25 November 2018.
  6. 6.0 6.1 Sewell, C. A. Seymour (May 1922). "Notes on some old Siamese guns" (PDF). Journal of the Siam Society. 15 (1): 1–43. สืบค้นเมื่อ 25 November 2018.
  7. 7.0 7.1 "หันปืนใหญ่'พญาตาณี'กลับหลัง ลือหึ่งแก้เคล็ดดับไฟใต้-'อู้ด'ยันไม่เกี่ยว". Manager Daily. 3 June 2004. สืบค้นเมื่อ 25 November 2018.
  8. หนุ่มลูกทุ่ง (29 August 2014). "ยลปืนใหญ่ "พญาตาณี" และเหล่าราชาแห่งสนามรบ พร้อมชมน้ำพุดนตรี ที่ "พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ" กระทรวงกลาโหม". Manager Online. สืบค้นเมื่อ 24 November 2018.