สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ

สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275 (24 ปี)
รัชสมัย24 ปี
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
ถัดไปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระมหาอุปราชเจ้าฟ้าพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
สมุหนายก
พระราชสมภพพ.ศ. 2221
สวรรคตพ.ศ. 2275 (54 พรรษา)
มเหสีกรมหลวงราชานุรักษ์[1]
พระองค์เจ้าทับทิม
พระราชบุตรกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์
เจ้าฟ้าหญิงเทพ
เจ้าฟ้าหญิงประทุม
เจ้าฟ้าอภัย
เจ้าฟ้าปรเมศร์
เจ้าฟ้าชายทับ
พระองค์เจ้าชายเสฏฐา
พระองค์เจ้าชายปริก
พระองค์เจ้าหญิงสมบุญคง
พระนามเต็ม
พระเจ้าภูมินทราชา
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
พระราชมารดาสมเด็จพระพันวษา

สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[2] หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ หรือ พระเจ้าภูมินทราชา[3] หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275[4]

พระราชประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเพชร เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีมะแม จุลศักราช 1040[5]: 365  ตรงกับ พ.ศ. 2221 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี กับพระอัครมเหสีพระนามว่าสมเด็จพระพันวษา[7] มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าพร และเจ้าฟ้าหญิง (ไม่ทราบพระนาม) พระองค์ประสูติตั้งแต่พระราชบิดา (พระเจ้าเสือ) เป็นขุนนางในตำแหน่งออกหลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากพระอัยกา (พระเพทราชา) ทรงครองราชย์และแต่งตั้งพระเจ้าเสือเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ และออกพระนามว่า สุรินทกุมาร

เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปี พ.ศ. 2251 จึงขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่าพระเจ้าภูมินทราชา แต่จารึกชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกข์ออกพระนามว่า พระบาทพระศรีสรรเพชญสมเด็จเอกาทศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[8] แต่ประชาชนมักออกพระนามว่าพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ต่อมาทรงสถาปนาพระบัณฑูรน้อย เจ้าฟ้าพร พระราชอนุชาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระนาม

[แก้]
  • สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มาจากนามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง
  • สมเด็จพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
  • สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9
  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
  • สมเด็จพระภูมินทราธิราช
  • ขุนหลวงทรงปลา
  • พระภูมินทราชา (คำให้การขุนหลวงหาวัด)[9]: 510 
  • พระภูมินทรมหาราชาธิราช (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความย่อ หอพระราชกรมานุสร)[9]: 510 
  • เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ (พระบัณฑูรใหญ่)[10]: 11–12 [11]: 3 

พระอุปนิสัย

[แก้]

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-

ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประพฤติเหตุในอโนดัปปธรรม แล้วเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๕ ตำลึง[12]: 307 

สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระท้ายทรงมีพระนิสัยคล้ายกับสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี[13][14] กล่าวคือ :-

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทําปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาชาติปลาน้อยใหญ่ต่าง ๆ เป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือก [ทำที่กันเฝือก] ดักลอบ ดักไชย กระทำการต่าง ๆ ฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ประพาสป่าฆ่าเนื้อนกเล่นสนุกด้วยดักแร้ว ดักบ่วง ไล่ช้าง ล้อมช้าง ได้ช้างเถื่อนเป็นอันมาก เป็นหลายวัน แล้วกลับคืนมายังพระนคร[12]: 310–311 

เหตุการณ์ในรัชสมัย

[แก้]

เจ้าฟ้าพรถวายราชสมบัติ

[แก้]

ก่อนที่กรมพระราชวังบวร ฯ พระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าเพชร) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงมอบเวนราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าพร[15]: 186  ขณะทรงพระประชวรหนักก่อนจะเสด็จสวรรคคต เนื่องจากทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ พระมหาอุปราช หลังจากเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าพรทรงมิได้กระทำตามรับสั่งของสมเด็จพระราชบิดาแล้วทรงถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเพชร ด้วยทรงดำริว่า เจ้าฟ้าเพชรทรงเป็นพระเชษฐามีสิทธิโดยชอบในราชบัลลังก์ แต่ทรงมีข้อตกลงว่าเมื่อใดที่พระเชษฐาเสด็จสวรรคตแล้วหากพระอนุชายังมีพระชนม์อยู่ จะต้องยกราชสมบัติคืนให้แก่พระอนุชาสืบราชบัลลังก์ต่อไป เจ้าฟ้าเพชรก็ทรงรับมอบราชสมบัติแล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในรัชกาลพระองค์จึงเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยดี[16]: 118 

พงศาวดารเรื่อง ไทยรบพม่า ว่าด้วยเรื่องมูลเหตุที่จะเกิดรบกับพม่าคราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ กล่าวว่า :-

เดิมเมื่อพระเจ้าเสือประชวรจะสวรรคต ทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าเพ็ชรพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช จึงมอบเวนราชสมบัติพระราชทานเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสองค์น้อย ซึ่งเป็นพระบัณฑูรน้อย แต่พระบัณฑูรน้อยยอมถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐา พระมหาอุปราชจึงเสด็จขึ้นผ่านพิภพทรงพระนามว่า สมเด็จพระภูมินทรราชา[17]: 52 

และ ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง กล่าวว่า :-

ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเพทราชา ทรงมีพระราชโอรสหลายพระองค์ พระองค์ไม่พอพระทัยในราชโอรสองค์โต จึงทรงแต่งตั้งโอรสองค์ที่สองเป็นวังหน้าพระราชโอรสองค์นี้ทรงแสดงพระองค์ว่า มีค่าเหมาะสมกับราชบัลลังก์จริง ๆ โดยปฏิเสธที่จะสืบราชบัลลังก์ซึ่งแย่งจากพระเชษฐา พระองค์ทรงยื่นข้อเสนอว่า ถ้าพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์จึงจะตกแก่พระองค์ ข้อเสนอนี้เป็นที่ยอมรับ[18]: 137 

สำเร็จโทษพระองค์เจ้าดำ

[แก้]

ต้นรัชกาลหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา (พระราชพงศาวดารไทยว่า พระองค์เจ้าดำ เป็นพระบิดาของกรมขุนสุรินทรสงคราม[19]: 265 [9]: 345 ) ทรงกระทำฝ่าฝืนเข้าไปในบริเวณพระราชฐานต้องห้าม สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงปรึกษากับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เพื่อชำระความผิดตามพระราชอาญาจึงรับสั่งให้จับพระองค์เจ้าดำนำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์แล้วให้นำพระศพไปฝังที่วัดโคกพระยาตามราชประเพณีโดยไม่มีการจัดพระเมรุพระศพ

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า :-

เจ้าพระองค์ดำนั้นกระด้าง ลางทีเสด็จเข้าในออกนอกขึ้นบังลังก์กลาง ไม่สู้เกรงกลัวพระราชอาชญาเลย จึ่งทรงพระกรุณาสั่งให้สำเร็จเสียด้วยท่อนจันทน์[20]: 395–396 

ส่วนพระองค์เจ้าแก้ว บาทบริจาริกาของพระองค์เจ้าดำเป็นหม้ายจึงตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวชเป็นภิกษุณีอยู่กับกรมพระเทพามาตย์ (กัน) ณ พระตำหนักวัดดุสิดารามนิวาสสถานเดิมของเจ้าแม่วัดดุสิต[21]

ไข้ทรพิษระบาด พ.ศ. 2256

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2256 เกิดไข้ทรพิษระบาดในรัชกาลพระองค์[22] กินระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้มตายจำนวนมาก และระหว่างเกิดไข้ทรพิษระบาดก็ยังเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงที่สุดจนแทบหาซื้อไม่ได้ แม้ว่าราคาข้าวในรัชกาลพระองค์เคยเป็นยุครุ่งเรืองในการค้าข้าวและยังมีราคาถูกที่สุดเพียงเกวียนละ 7 บาทกว่า[23] ก็ตาม ปรากฏหลักฐานชั้นต้นในจดหมายมองซิเออร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการ คณะต่างประเทศ วันที่ ๑๔ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๑๒ (พ.ศ. ๒๒๕๕) และจดหมายของมองซิเออร์เดอบูร์ ถึง มองซิเออร์เตเชีย วันที่ ๑๐ เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๑๓ (พ.ศ. ๒๒๕๖) ความว่า[24]

เมื่อต้นปีนี้ได้เกิดไข้ทรพิษขึ้น ซึ่งกระทำให้พลเมืองล้มตายไปครึ่งหนึ่ง ทั้งการที่ข้าวยากหมากแพงก็ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ตามปกติในปีก่อนๆ ข้าวที่เคยซื้อกันได้ราคา ๑ เหรียญนั้น บัดนี้ ๑๐ เหรียญ ก็ยังหาซื้อเกือบไม่ได้

พระเจ้ากรุงกัมพูชาเข้ามาพึ่งและการยกทัพตีกรุงกัมพูชา

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2259 รัชกาลพระศรีธรรมราชาที่ 2 (นักเสด็จ) หรือ พระธรรมราชาวังกะดาน[12]: 308  เสด็จเสวยราชสมบัติปกครองกรุงกัมพูชา ครั้งนั้นพระแก้วฟ้าที่ ๓ (นักองค์อิ่ม) ซึ่งถูกถอดออกจากราชบัลลังก์ก่อกบฏจะทำสงคราม พระศรีธรรมราชาที่ 2 กับพระองค์ทอง พระอนุชาร่วมกันทำสงครามต้านกบฏแต่ไม่สำเร็จ จึงเสด็จหนีฝ่าวงล้อมเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและขอกองกำลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จไปสู้รบกับพระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) ที่ได้ขึ้นครองราชย์กรุงกัมพูชา[12]: 308  ครั้งนั้นสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงมีรับสั่งให้พระศรีธรรมราชาที่ 2 เข้าเฝ้าแล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค และบ้านเรือนให้พำนักใกล้วัดค้างคาว[12]: 309 

เมื่อ พ.ศ. 2261 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงจัดทัพหมายจะตีกรุงกัมพูชาเพื่อช่วยให้พระศรีธรรมราชาที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง มีรับสั่งให้มหาดไทยและกลาโหมเกณฑ์กองทัพ 20,000 คน พร้อมช้างม้า โปรดให้ เจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) หรือ เจ้าพระยาจักรีบ้านโรงฆ้อง[20]: 397  เป็นแม่ทัพบก พร้อมกำลังพล 10,000 ช้าง 300 เชือก ม้า 400 ตัว พร้อมสรรพาวุธต่างๆ ให้พระพิชัยรณฤทธิ์เป็นนายพลทหารทัพหน้า ให้พระวิชิตณรงค์เป็นยกกระบัตร ให้พระพิชัยสงครามเป็นนายกองเกียกกาย ให้พระรามกำแหงเป็นนายกองทัพหลัง ให้ พระยาโกษาธิบดีจีน (ลูกจีน)[20]: 397  เป็นแม่ทัพเรือ นำกองพล 10,000 คน เรือรบ 100 ลำ พร้อมพลแจวและสรรพาวุธ โปรดให้ยกทัพไปตีเมืองกัมพูชา[12]: 309 

บันทึกร่วมสมัยของพ่อค้าชาวสก๊อตแลนด์[25]: 234  ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระชื่อ กัปตัน อะเล็กซานเดอ แฮมินตันกล่าวถึง พระยาโกษาธิบดีจีน ว่า:-

ในปี ๑๗๑๗ พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทําสงครามกับประเทศกัมพูชา และให้กองทัพยกพลประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน และกองทัพเรือ ๒๐,๐๐๐ คน ยกไปให้กองทัพทั้งสองนี้อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาพระคลังผู้ซึ่งเป็นจีนไม่มีความรู้ในการสงครามเลย จีนผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งด้วยความไม่เต็มใจที่สุด แต่คําสั่งของพระเจ้าแผ่นดินย่อมขัดขืนไม่ได้[26]: 25 

ครั้นกองทัพเรือกรุงศรีอยุธยาของพระยาโกษาธิบดีจีนได้ยกทัพมาถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศ ได้เข้าโจมตีกับทหารเวียดนามเป็นสามารถ ทหารเวียดนามล้มตายจำนวนมากแต่ฝ่ายเวียดนามเสริมกำลังเรือรบเพิ่มอีกมา พระยาโกษาธิบดีจีนกำลังไม่แข็งกล้าจึงถอยทัพเรือหนีไป กองกำลังฝ่ายเวียดนามจึงเข้าโจมตีจนกองทัพกรุงศรีอยุธยาถอยแตกหนี เสียเรือรบปืนใหญ่น้อยให้กับฝ่ายเวียดนามจำนวนมาก

ครั้นกองทัพหลวงของเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) มีรี้พลมาถึงได้ตั้งค่ายอยู่ใกล้เมืองกัมพูชาห่างประมาณ 80 – 90 เส้น ส่วนทัพหน้าของพระพิชัยรณฤทธิ์ ถือพลจำนวน 3,000 คน มีรี้พลออกไปสู้รบนำหน้าไปก่อน ทัพพระพิชัยรณฤทธิ์ได้เข้าตีต่อกับทหารกัมพูชาและเวียดนามจนมีชัย ทหารฝ่ายข้าศึกหลายแห่งก็ล้มตายจำนวนมาก พระพิชัยรณฤทธิ์จึงเคลื่อนพลไล่ติดตามต่อเข้าไปอีก ตีได้หัวเมืองมากมาย ฝ่ายทัพหลวงของเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) ก็เร่งเสริมกำลังพลทหารยกเข้าไปหนุนตีต่อจนฝ่ายข้าศึกตกใจกลัวไม่อาจสู้รบต้านทานได้จึงแตกพ่ายหนีไป ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยามีชัยชนะได้กำลังเสริม ช้างม้า และสรรพาวุธต่างๆ จำนวนมาก ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงไล่ติดตามต่อไปแล้วจึงตั้งค่ายล้อมรักษาเมืองกัมพูชาไว้อย่างมั่นคง[12]: 309 

ครั้งนั้น เจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) แม่ทัพบกคิดอุบายให้กษัตริย์กรุงกัมพูชาว่าจะสร้างสัมพันธไมตรีต่อกัน จึงแต่งหนังสือพร้อมส่งทูตไปบอกความแก่พระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) กษัตริย์กรุงกัมพูชาทราบความในหนังสือนั้นก็ดำริว่าจะพ้นภัยอันตรายจึงรับสั่งว่าจะถวายดอกไม้เงินทองยอมเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ)ทราบความพระดำริของพระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) จึงเลิกทัพกลับมายังกรุงศรีอยุธยาและให้พระแก้วฟ้าที่ 3 เข้ามาถวายดอกไม้เงินทองแก่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเป็นที่พอพระทัยเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) และนายทัพนายกองได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลจำนวนมาก แต่พระยาโกษาธิบดีจีนไม่เป็นที่พอพระทัยมาก ทรงพระพิโรธแล้วรับสั่งให้พระยาโกษาธิบดีจีนชดใช้อาวุธยุโธปกรณ์ เรือรบต่างๆ ที่เสียให้กับฝ่ายข้าศึกทั้งหมด [12]: 309 

หลังจากทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพกลับ พระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) ถูกบรรดาขุนนางในราชสำนักเหยียดหยามว่าแปรพักตร์และไม่พอใจให้ปกครองกรุงกัมพูชา กระทั่ง พ.ศ. 2265 พระแก้วฟ้าที่ 3 (นักองค์อิ่ม) ยอมสละราชสมบัติให้นักองค์ไชย พระราชโอรสปกครองกรุงกัมพูชาแทน ราชสำนักกัมพูชาเกิดความวุ่นวายและทำสงครามบ่อยครั้งเป็นเหตุให้ดินแดนกัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม ทั้งยังถูกแทรกแซงและแย่งที่ดินทำกิน[27]: 179–181 

ราชทูตสเปนเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2261 พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน ทรงแต่งคณะราชทูตสเปนประจำกรุงมะนิลา[28]: 48  หัวเมืองขึ้นของสเปนจำนวน 220 คน[29] โดย คอน เกรกอริโอ บุสตามันเต บุสติลโย (สเปน: Gregorio Alexandro Bustamante Bustillo) หลานชายของ เฟอร์นันโด มานูเอล บุสตามันเต บุสติลโย (สเปน: Fernando Manuel Bustamante Bustillo) ข้าหลวงใหญ่ประจำกรุงมะนิลาเป็นหัวหน้าคณะทูต พร้อมเรือกำปั่น 2 ลำ[30]: 38  โปรดให้เชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเพื่อขอนำเข้าข้าวจากกรุงสยามอันเนื่องมาจากนาข้าวของกรุงมะนิลาเสียหายจากการระบาดของตั๊กแตนตั้งแต่เมืองปังกาซีนันจนถึงหมู่เกาะปาไนย์จนขาดแคลนข้าว รื้อฟื้นความสัมพันธ์[31]: 61  อำนวยความสะดวกด้านการค้าเฉกเช่นประเทศอื่นๆ[32] และยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยา[29] เรือกำปั่นของสเปนออกเดินทางจากกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2261 ฤดูร้อน มาถึงอ่าวสยามบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 3 เมษายน วันต่อมาออกญาโกษาธิบดี (จีน) ว่าการพระคลัง ได้ให้การต้อนรับพร้อมแจ้งระเบียบราชสำนัก และอนุญาตให้คณะทูตสเปนเดินเรือขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา[31]: 62–63 

คณะราชทูตสเปนเดินเรือจากบางกอกมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงให้การต้อนรับคณะทูตสเปนอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติแล้วโปรดพระราชทานสิ่งของกำนัลจำนวนมาก คณะทูตสเปนต่างได้รับการปรนนิบัติอย่างฟุ่มเฟือยเป็นที่เกษมสำราญ ต่อมา หลวงมงคลรัตน์จีน กับ กีแยร์โม ดันเต (สเปน: Guillermo Dante) เป็นผู้เชิญพระราชสาส์นแปลถวายสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ การเตรียมการเจรจาข้อตกลงสนธิสัญญาต่างๆ ทางการทูตเริ่มเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน อีก 2 วันต่อมา สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีพระราชดำริถึงความเร่งด่วนเรื่องกรุงมะนิลาขาดแคลนข้าว มีรับสั่งให้ส่งเรือสินค้าข้าวสารล่วงหน้าไปยังกรุงมะนิลาจำนวน 2 ลำ การเจรจาครั้งนั้น โปรดให้จัดการต้อนรับเลี้ยงคณะทูตสเปนเป็นเวลา 81 วัน ระหว่างนี้คณะราชทูตได้เข้าชมพระมณฑปจตุรมุขภายในพระราชวัง (The Great Pagoda)[33]: 127  แล้วจึงโปรดให้เข้าเฝ้า[31]: 68  การเจรจาทางการทูตครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี

ครั้งนั้น สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระพระราชทานที่ดินบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา[34]: 140  จำนวน 64 ตารางบราซ (Brazas) ตั้งอยู่ทางตะวันออกห่างจากแม่น้ำ 100 บราซ (Brazas) ซึ่งแต่เดิมเป็นค่ายญี่ปุ่น ให้แก่คณะทูตสเปนเพื่อสร้างโรงงานค้าขาย และไว้ต่อเรือ (ต้นทุนค่าต่อเรือในกรุงสยามมีราคาเพียง 35,000 เปโซ ขณะที่กรุงมะนิลาราคา 150,000 เปโซ[31]: 70 ) โปรดให้ชาวกรุงศรีอยุธยาจัดหาไม้เลื่อย ไม้สัก และเหล็กอีกด้วย ครั้นการสร้างโรงงานเสร็จสิ้น คณะราชทูตสเปนจึงได้เดินทางกลับกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2261 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระพระราชทานของกำนัลมากมาย และข้าวสารจำนวน 70 คอลล่า (Collas)[31]: 71  แล้วทรงตั้งคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาให้เดินทางพร้อมไปด้วย แต่ระหว่างเดินทางคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยากลับได้รับการปฏิบัติที่เลวมาก[34]: 140  แม้แต่ผู้ว่าราชการบุสตามันเตก็ไม่ได้ใส่ใจกับคณะทูตกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นคนแปลกหน้า คณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาเกิดความไม่พอใจจึงเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาด้วยความโกรธ และเต็มไปด้วยความขุ่นเคือง และไม่ปรารถนาคบค้าสมาคมกับพวกสเปนอีกต่อไป[34]: 140  ทว่าการต้อนรับคณะทูตสเปนครั้งนั้นทำให้เรือของกรุงศรีอยุธยาได้ออกไปค้าขายถึงกรุงมะนิลาเป็นครั้งคราว[30]: 38 

หมายเหตุ รายงานคณะทูตสเปนเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสระได้รับการตีพิมพ์ในกรุงมะนิลาเมื่อ ค.ศ. 1719 (พ.ศ. 2262) ปรากฏในรายงานชื่อ La Breve y puntual Relación de la Embajada, que executó en Siam el General Don Alejandro de Bustamante, Bastillo, y Me-dinilla, Manjón de Estrada, Señor y Mayor de las Casas de su apellido: con una epilogada descripción de aquel Reyno, y sus costumbres; y otra muy sucinta de las Islas Philippinas, sus servicios en ellas, y alguna parte de los trabajos, e infortunios, que después la han seguido, (en adelante, Breve). Manila, 1719.[35][36]

ส่งราชทูตไปกรุงจีน

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2263 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พระนามใน จดหมายเหตุรัชกาลเซิ่งจู่ มีชื่อว่า เซินเลี่ยไพเจ้าก่วงไพหม่าฮูลู่คุนซือโหยวถียาผูอาย หรือ เซินเลี่ยไพ)[37]: 120  ทรงแต่งคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาเป็นชุดแรก โปรดให้เดินทางโดยเรือไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนเมื่อปลายรัชสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง เมื่อคณะราชทูตเดินทางถึง หยังจงเหยิน ข้าหลวงกว่างตงถวายรายงานต่อกรมพิธีการกรุงจีน (อังกฤษ: Li bu; จีน: 禮部) ว่า ชุดเดินทางของคณะราชทูตกรุงสยามชุดนี้มีบุคคลชื่อ กัวอี้ขุย กับพวกรวม 156 คน ซึ่งเป็นชาวฝูเจี้ยน และกว่างตงติดเรือมาด้วย ขอโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจสอบแล้วสั่งให้กลับไปฝูเจี้ยนและกว่างตงภูมิลำเนาเดิมนั้น ให้คณะราชทูตกรุงสยามชุดนี้กลับไปยังกรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วส่งพระราชสาส์นถวายสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระให้ทรงทราบ เมื่อมีเรือเดินทางจากกรุงศรีอยุธยามาถึงกรุงจีน จึงให้ กัวอี้ขุย กับพวก ตลอดจนชาวจีนที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยากลับไปยังฝูเจี้ยนและกว่างตง ภูมิลำเนาเดิม[37]: 119  สาเหตุเหตุของการเรียกชาวจีนกลับภูมิลำเนาเดิมนั้น เพราะเป็นพระราโชบายของจักรพรรดิจีนทุกราชวงศ์ที่ห้ามชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานโพ้นทะเล[38]: 114 

จักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง พระเจ้ากรุงจีน ซึ่งคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาเข้าเฝ้ากราบทูลถวายถึงความอุดมสมบูรณ์ของข้าวในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ

เมื่อ พ.ศ. 2265 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงแต่งคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาชุดที่สอง (นับเป็นครั้งแรกที่มีรายงานของคณะทูตบรรณาการ) ให้ไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนเมื่อปลายรัชสมัยจักรพรรดิคังซี เมื่อคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปถึง พระเจ้ากรุงจีนโปรดพระราชทานเลี้ยง และพระราชสิ่งของตามธรรมเนียม ครั้นคณะราชทูตสยามได้เข้าเฝ้า จึงกราบทูลถวายจักรพรรดิคังซี พระเจ้ากรุงจีนว่า ดินแดนสยามมีข้าวอุดมสมบูรณ์และมีราคาถูก[39]: 16  ใช้เงินเพิง 2-3 เฉียน (เงินหน่วยย่อยของจีนโบราณ) สามารถซื้อข้าวเปลือกได้ 1 ตั้น (1 ตั้น หรือ ต่า หมายถึง 1 หาบจีน หรือเท่ากับ 50 กิโลกรัมในสมัยโบราณ)[40]: 179  ในขณะเดียวกันทางตอนใต้ของจีนก็กำลังประสบปัญหาความอดอยาก และสภาพแห้งแล้ง[39]: 16 

จักรพรรดิคังซี ทรงฟังแล้วจึงประกาศพระราชดำรัสต่อเสนาบดีจีนว่า ชาวเสียนหลอ [คณะราชทูตกรุงศรีอยุธยา] กล่าวว่ามีข้าวอุดมสมบูรณ์ในแผ่นดินของตน และเงินหนักสองสามออนซ์สามารถแลกข้าวได้หนึ่งหาบ เราจึงสั่งให้ส่งข้าวสารมายังมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และเจ้อเจียง เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อท้องที่เหล่านั้น มีการส่งข้าวสาร 30,000 หาบ ไปตามวัตถุประสงค์ของทางการ และข้าวสารเหล่านี้ก็ได้รับการยกเว้นภาษี[41]: 120  แล้วมีพระราชดำรัสตอบคณะราชทูตกรุงศรีอยุธยาว่า :-

ในเมื่อดินแดนของท่านมีข้าวมากก็ให้ส่งมาสักสามแสนตั้น ไปยังฝูเจี้ยน กว่างตง และหนิงปอ แล้วนำออกขาย ถ้าหากสามารถส่งมาได้จริงตามนั้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างมาก ข้าวสามแสนตั้นนี้เป็นข้าวที่ขนส่งในนามของทางราชการให้ยกเว้นภาษี[37]: 120 

ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา คณะราชทูตยังซื้อผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา และทองเหลืองกลับมาด้วย[42]

เมื่อ พ.ศ. 2267 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระโปรดให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายจักรพรรดิยงเจิ้ง มีพันธุ์ข้าว ไม้ผล และสิ่งของต่างๆ และรับสั่งให้กลุ่มชาวจีน 96 คน ให้บรรทุกข้าวทางเรือมาขายที่มณฑลกว่างตง เมืองจีน จักรพรรดิยงเจิ้งจึงมีพระดำริสรรเสริญสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระว่าทรงไม่ย่อท้อต่อความลำบาก ทรงแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมอย่างน่าสรรเสริญ แล้วโปรดให้นำข้าวที่บรรทุกมาจากสยามออกขายโดยไม่ต้องเสียภาษี และห้ามไม่ให้กลุ่มพ่อค้าซื้อถูกแล้วนำไปขายแพงแล้วยังทรงหยุดนำเข้าข้าวชั่วคราวเป็นการแสดงความเอื้ออาทรของพระองค์ต่อกรุงสยามอีกด้วย จักรพรรดิยงเจิ้งมีพระบัญชาว่า :-

การที่กษัตริย์เซียนหลัว [พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา] มาถวายพันธุ์ข้าว ไม้ผล และสิ่งอื่น ๆ โดยไม่ย่อท้อต่อความลำบากในการเดินทางไกลและมีภยันตราย นับว่าเป็นแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมอย่างน่าสรรเสริญ สมควรกำนัลสิ่งของให้ ส่วนข้าวที่ส่งมานั้น ให้ขุนนางท้องถิ่นจัดให้นำออกขายโดยเร็วตามราคาในขณะนั้นของมณฑลกว่างตง ไม่ให้หัง [ห้าง] เพิ่มหรือกดราคาตามอำเภอใจ การซื้อถูกขายแพงมิใช่เจตนาของเราที่จะแสดงความเอื้ออาทรต่อประเทศเล็ก หลังจากนี้ไปแล้วให้หยุดการนำเข้าข้าวไว้ก่อน จนกว่าจะต้องการข้าวอีก และเมื่อมีคำสั่งอย่างไรก็ให้ปฏิบัติตามนั้น สำหรับสินค้าอับเฉา [สิ่งของที่ใช้ถ่วงน้ำหนักในเรือ] ที่มาพร้อมกับเรือนั้น ให้ยกเว้นภาษีทั้งหมด ส่วนสีควน หัวหน้าลูกเรือและลูกเรืออื่นๆ รวมเก้าสิบหกคน แม้จะเป็นชาวกว่างตง ฝูเจี้ยน และเจียงซี [กังไส] แต่ได้อาศัยในเซียนหลัว [กรุงศรีอยุธยา] มาหลายชั่วคน ต่างมีครอบครัว ยากที่จะบังคับให้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม จึงอนุญาตให้ตามที่ขอคงให้อยู่ในเซียนหลัวต่อไปโดยไม่ต้องกลับภูมิลำเนา เป็นการผ่อนผันให้[37]: 121 

ครั้งนั้นจักรพรรดิยงเจิ้งโปรดพระราชทานกำนัลแพรต่วน และแพรแสเป็นพิเศษถวายแก่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และพระมเหสี รวมทั้งพระราชทานสิ่งของกำนัลแก่กัปตันเรือและคณะ เมื่อ พ.ศ. 2271 ฉางไล่ ข้าหลวงฝูเจี้ยน ถวายความเห็นต่อพระเจ้ากรุงจีนว่าสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีพระทัยเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงใจ เห็นควรอนุญาตให้นำข้าวและสินค้าออกขายในมณฑลเซี่ยเหมิน โดยให้เก็บภาษีตามระเบียบและจัดให้มีผู้กำกับควบคุม หากมีเรือบรรทุกสินค้ามาจากกรุงศรีอยุธยาก็ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบนี้ จักรพรรดิยงเจิ้ง ทรงเห็นด้วยตามข้อเสนอผ่อนผันให้ยกเว้นภาษีข้าวสาร และพืชธัญญาหาร[37]: 122 

เมื่อ พ.ศ. 2272 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระแต่งคณะราชทูตมาถวายพระสุพรรณบัฏ และเครื่องราชบรรณาการเป็นสิ่งของพื้นเมือง เช่น ซู่เซียง [ไม้เนื้อหอม] กำยาน จีวรพระ และผ้าพับ มาถวายจักรพรรดิยงเจิ้ง พระเจ้ากรุงจีนทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงความจริงใจของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ โปรดให้รับเครื่องราชบรรณาการ แต่สิ่งของพื้นเมืองนั้นทรงมิได้ใช้ในราชสำนักจีน ตรัสว่ามิจำเป็นต้องนำมาถวายเป็นราชบรรณาการอีก[37]: 123  แล้วทรงแต่งเครื่องราชบรรณาการถวายแก่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ประกอบด้วย ผ้าไหม ผ้าแพร ภาชนะหยก ถ้วยชามจีน และแผ่นจารึกคำสดุดีว่า เทียนหนานโลหว๋อ หรือ เทียนหลำลกก๊ก[43]: 51  หมายถึง เมืองสวรรค์ทางทิศใต้[38]: 114  หรือ ประเทศสุขสำราญอยู่ข้างฟ้าฝ่ายทิศใต้[43]: 51  แล้วมีพระบรมราชโองการว่า :-

ไทยนั้นอยู่ไกล และเส้นทางเดินเรือก็ยากลำบาก และเต็มไปด้วยอันตราย การส่งบรรณาการเป็นงานที่ยุ่งยาก เราปรารถนาที่จะแสดงความกรุณาของเราต่อประเทศราชที่อยู่ห่างไกลโดยให้ลดจำนวนเครื่องราชบรรณาการลง แต่เนื่องจากพวกเขาได้นำบรรณาการมาแล้วในเวลานี้ จึงไม่เหมาะที่จะขนกลับไปอีก เพราะฉะนั้นเราก็จะขอรับไว้...[38]: 114 

แล้วโปรดให้กรมพิธีการกรุงจีนมีหนังสือกราบทูลถวายสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงทราบ[37]: 123  ตลอดรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระโปรดให้ส่งคณะราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับกรุงจีนทั้งสิ้น 4 ครั้ง[38]: 113 

ขุดคลองมหาชัย

[แก้]
คลองสนามชัย บริเวณวัดบางกระดี่

เมื่อ พ.ศ. 2264 ปีฉลู ครั้นสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเบ็ดปลาที่ปากน้ำท่าจีน เมื่อถึงคลองมหาชัย ทรงทอดพระเนตรเห็นคลองนี้ยังขุดไม่เสร็จตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี เดิมขุดไว้เมื่อปีระกาศักราช 1067 (พ.ศ. 2248) กำหนดความกว้าง 8 วา ลึก 6 ศอก ยาว 340 เส้น แต่ขุดไปได้ 6 เส้น สมเด็จพระราชบิดาก็เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน[44]: 154 

สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระก็ทรงดำริให้ขุดคลองมหาชัย จึงมีรับสั่งให้พระราชสงคราม (ปาน) เป็นนายกองจัดการเกณฑ์กำลังคนจากหัวเมืองใต้ 7 หัวเมือง[note 1] ได้กำลัง 30,000 คน เมื่อถึงคลองมหาชัย พระราชสงคราม (ปาน) มีบัญชาการให้ เมอสิเออร์ปาลู[46]: 369 [10]: 13  กัปตันชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นข้าหลวงในกรุงศรีอยุธยาดำเนินการส่องกล้องแก้ว 5 ชั้น มองดูเสาธงที่ปักไว้เป็นกรุยเป็นสำคัญ แล้วให้สังเกตุที่ตรงปากคลองข้างใต้บริเวณที่ยังไม่ได้ขุด รังวัดแล้วนับได้ 340 เส้น (13.6 กม.)[47]: 32  ส่วนที่ขุดแล้วนั้นรังวัดได้เพียง 6 เส้น (240 เมตร) เท่านั้น แล้วจึงกำหนดให้ขุดคลองลึก 6 ศอก และกว้างเท่ากับรอยขุดเดิมที่ค้างไว้ ใช้เวลาขุด 2 เดือน จึงขุดคลองมหาชัยแล้วเสร็จ[12]: 311 

หลังการขุดคลองมหาชัยเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว พระราชสงคราม (ปาน) เข้าเฝ้าทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระก็ทรงปิติยินดีพอพระทัย จึงเลื่อนพระราชสงคราม (ปาน) เป็นพระยาราชสงคราม (ปาน) และพระราชทานเจียดทอง เสื้อผ้าเงินทองเป็นจำนวนมาก[12]: 312  คลองที่ขุดเพิ่มตอนที่หนึ่ง (ตั้งแต่ปากคลองทิศเหนือถึงโคกขาม) พระราชทานนามว่า คลองพระพุทธเจ้าหลวง[48]: 95  (ทรงตั้งชื่อนี้เพราะขุดค้างมาแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี[49]: 130 ) ส่วนตอนที่สอง (โคกขามถึงเมืองสาครบุรี หรือจังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน) พระราชทานนามว่า คลองมหาชัยชลมารค[48]: 95 [50]: 76  ชื่อคลองมหาชัยนี้ใช้เรียกกันมาถึงปัจจุบัน

การชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก

[แก้]

มูลเหตุ

[แก้]
อนุสาวรีย์พระยาราชสงคราม (ปาน) แม่กองควบคุมการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ณ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง

เมื่อ พ.ศ. 2268 ปีมะเส็ง เกิดเหตุการณ์สายน้ำไหลมาทางด้านตะวันตก กัดเซาะจนตลิ่งพังเสียหายจวนใกล้จะถึงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) วัดป่าโมกวรวิหาร[51]: 215  พระราชมุนี[52]: 88  เจ้าอาวาสวัดป่าโมกในขณะนั้นจึงเข้ามากรุงศรีอยุธยาแล้วแจ้งมูลเหตุแก่พระยาราชสงคราม (ปาน) เจ้ากรมโยธา[53]: 441  ว่าเห็นจะพังลงน้ำหากตลิ่งยังถูกกัดเซาะไปอีกประมาณ 1 ปี แล้ว พระยาราชสงคราม (ปาน) จึงกราบทูลให้ทรงทราบเหตุ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจึงทรงปรึกษาเหล่าเสนาบดีทั้งปวง ทรงมีพระดำริหาหนทางแก้ไขว่าจะรื้อพระพุทธไสยาสน์ไปก่อใหม่ หรือจะชะลอลากไปให้พ้นตลิ่ง ทรงตรัสว่า :-

เราจะรื้อพระพุทธไสยาสน์ไปก่อใหม่จะดีหรือ ๆ จะชะลอลากไปไว้ในที่ควรจะดี[12]: 313 

พระยาราชสงคราม (ปาน) กราบทูลว่ายังไม่ได้เห็นด้วยตัวเองจะขอถวายบังคมลาไปสำรวจดูก่อน ครั้นสำรวจดูแล้วเห็นทางแก้ไขได้จึงกลับมาเข้าเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระว่าเห็นพอจะชะลอองค์พระพุทธไสยาสน์ให้พ้นตลิ่งได้ พระยาราชสงคราม (ปาน) กราบทูลว่า :-

จะขอพระราชทานเจาะฐานพระเจ้า [องค์พระพุทธไสยาสน์] เป็นฟันปลา เจาะศอกหนึ่งไว้ศอกหนึ่ง เจาะให้ตลอดแล้วเอาไม้ยางหน้าศอกคืบยาว ๑๓ วา เป็นแม่สะดึงเข้าเคียงไว้ แล้วจึ่งเอาไม้ยางทำเป็นฟากหน้าใหญ่ศอกหนึ่ง หน้าน้อยคืบหนึ่ง สอดไปตามช่องซึ่งเจาะไว้นั้น พาดขึ้นบนหลังตะเฆ่ทุกช่องแล้วตราดติง แล้วจึ่งให้ขุดที่เว้นไว้ให้ตลอด เอาไม้ฟากสอดทุกช่องแล้วองค์พระเจ้าจะลอยขึ้นอยู่บนตะเฆ่[20]: 400–401 

วิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสด็จเข้าเฝ้าอยู่ได้ทรงฟังก็ดำริคัดค้านไม่เห็นด้วยกับพระยาราชสงคราม (ปาน) ทรงตรัสว่า หากพระพุทธไสยาสน์เป็นไม้พอจะเห็นด้วย แต่เป็นอิฐปูนองค์ใหญ่โต หากชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ไปทั้งพระองค์ แม้บั่นออกเป็น 3 ท่อน เอาไปทีละท่อนก็เอาไปไม่ได้ รื้ออิฐไปก่อใหม่เสียจะดีกว่า หากมีอันตรายแตกหักพังทลายจะเป็นการเสียพระเกียรติยศเลื่องลือไปนานาประเทศ[20]: 401 [12]: 313 

พระยาราชสงคราม (ปาน) จึงกราบทูลขออาสาถวายชีวิตเป็นเดิมพัน จะขอชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ไม่ให้แตกพังให้จงได้ แต่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงกังวลพระทัยจึงมีรับสั่งให้นิมนต์พระสังฆราชาคณะมาประชุมร่วมกัน พระสังฆราชาคณะปรึกษาว่า พระพุทธไสยาสน์ก่อเป็นองค์พระพุทธอยู่แล้วหากรื้อไปก่อใหม่ก็ไม่สมควร สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงทราบก็ทรงคล้อยตามพระสังฆราชาคณะ ดังนั้นจึงมีรับสั่งให้พระยาราชสงคราม (ปาน) จัด เตรียมการชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ เร่งพันเชือก ทำรอกกว้าน เครื่องมือตะเฆ่ ใช้เวลาเตรียมการ 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ[20]: 401 

การเตรียมการ และการชะลอ

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2269 ปีมะเมีย ได้ฤกษ์งามยามดี สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชาธิราช เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดป่าโมก โปรดให้พระยาราชสงคราม (ปาน) รื้อพระวิหารแล้วให้ตั้งพระตำหนักตำบลบ้านชีปะขาว ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ประทับ และเสด็จทอดพระเนตรด้วย

ครั้นรื้อพระวิหารและตั้งพระตำหนักเสร็จ พระยาราชสงคราม (ปาน) จึงเกณฑ์คนไปตัดไม้เพื่อทำตะเฆ่แม่สะดึงจำนวนมาก แล้วถมที่สระ 2 แห่ง เอาช้างเหยียบพื้นให้แน่นเสมอกันแล้วปูพื้นด้วยกระดานหนา 2 นิ้วเพื่อใช้เป็นทางสำหรับลากตะเฆ่แม่สะดึงเข้าไป ทางนี้ถึงตัวองค์พระพุทธไสยาสน์ยาว 4 เส้น 10 วา (ประมาณ 180 เมตร) จากนั้นเจาะฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ให้เป็นช่องกว้าง 1 ศอก เว้นไว้ 1 ศอก ช่องสูง 1 คืบให้มีลักษณะเป็นฟันปลา แล้วเอาตะเฆ่แม่สะดึงสอดเข้าไปทั้งสองข้างแล้วร้อยไม้ขวางทางที่แม่สะดึงกลายเป็นตะเฆ่ 4 ล้อ แล้วสอดกระดานหนา 1 คืบหลังตะเฆ่ลอดช่อง แล้วดำเนินการขุดเจาะรื้อเอาอิฐซึ่งอยู่ระหว่างกระดานที่เว้นเป็นฟันปลาออกไป เอากระดานหนาสอดให้เต็มทุกช่อง ผูกรัดร้อยรึงกระหนาบให้มั่งคง ใช้เวลา 5 เดือนจึงเสร็จ เมื่อได้มงคลฤกษ์ดีแล้วให้เริ่มชะลอลากชักตะเฆ่รององค์พระพุทธไสยาสน์

องค์พระพุทธไสยาสน์เป็นพระนอนองค์ใหญ่ ประดิษฐาน ณ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง

ตะเฆ่แม่สะดึงที่ใช้ชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกครั้งนี้เป็นตะเฆ่ที่ใหญ่ที่สุด และใช้บรรทุกสิ่งของหนักที่สุดในประวัติศาสตร์อยุธยา[54]

เมื่อ พ.ศ. 2270 เดือนหกขึ้น 15 ค่ำ การชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์ดำเนินไปได้ครึ่งทาง (90 เมตร) สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงมีรับสั่งให้หยุดการชะลอลากแล้วโปรดให้มีการสมโภชวัดป่าโมก 3 วัน หลังจากนั้นมีรับสั่งให้ชะลอลากต่อ เมื่อพระยาราชสงคราม (ปาน) ชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์พ้นตลิ่งจนมาถึงที่เสร็จสมบูรณ์แล้วโปรดให้ดีดยกองค์พระพุทธไสยาสน์ขึ้นสูงประมาณศอกเศษ (ครึ่งเมตร) แล้วให้ก่ออิฐเป็นฐานรองรับองค์พระพุทธไสยาสน์ ให้ถอดฟากตะเข้ออก แล้วโปรดให้สร้างพระวิหาร พระอุโบสถ การเปรียญ กุฏิ ศาลา กำแพง หอไตร และฉนวนยาว 4 เส้น (160 เมตร) จำนวน 40 ห้อง มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ทำ 6 ปีจึงเสร็จ[12]: 314  แต่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระยังไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปฉลอง จารึกว่าป่าโมก หอพระสมุดวชิรญาณ กล่าวว่า ทรงพระประชวรหนัก[20]: 402 

เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงชะลอลากองค์พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกได้สําเร็จ กรมพระราชวังบวรฯ มหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร) ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพ [51]: 215  ชื่อ โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เมื่อ พ.ศ. 2270 เพื่อเทิดพระเกียรติ และสดุดีบุญญาธิการของพระเชษฐาธิราช[55]: 172 

คณะบาทหลวงฝรั่งเศสถูกฟ้องร้อง และพวกเข้ารีตถูกจำคุก

[แก้]

ภูมิหลัง

[แก้]

ใน จดหมายเหตุของสังฆราชเตเซียเดอเคราเลว่าด้วยไทยกดขี่บีบคั้นคณะบาทหลวง[56] กล่าวถึงมูลเหตุที่คณะบาทหลวงฝรั่งเศสถูกกดขี่บีบคั้นเมื่อ พ.ศ. 2273 ปลายรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมี 2 ประการ

มูลเหตุที่ 1 นายเต็ง บุตรของหลวงไกรโกษา[57] สังกัดกรมพระคลังฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล[58] ซึ่งอยู่ในความอุปการะของ พระสังฆราชเตเซีย เดอ เคราเล ได้เข้ารีตเป็นบาทหลวงแล้วกระทำการหมิ่นพระอาญากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) โดยทูลตอบสวนพระดำรัสว่าพระผู้เป็นเจ้ามีอำนาจมากจะช่วยให้พ้นพระอาญากรมพระราชวังบวรฯ ได้ จึงถูกลงพระอาญาเฆี่ยน จำคุก แล้วถูกบังคับให้เลิกเข้ารีตให้มากราบพระพุทธรูปและบวชเป็นภิกษุ[56]: 65–68 

มูลเหตุที่ 2 คณะสงฆ์ไม่สามารถตอบข้อปัญหาอรรถธรรม คุณความดี และอภินิหารของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ที่ปรากฏในหนังสือคริสต์ ซึ่งเชื้อพระวงศ์พระองค์หนึ่งได้ยืมหนังสือจากคณะบาทหลวงฝรั่งเศสไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ด้วยเชื้อพระวงศ์องค์นั้นทรงดำริว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงจะโปรดศาสนาคริสต์เช่นเดียวกัน[56]: 68–69 

เหตุการณ์สืบเนื่อง

[แก้]

ตั้งแต่นั้น สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และเสนาบดีได้ประชุมปรึกษาโต้เถียงเรื่องศาสนาอยู่หลายเดือนแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้[56]: 69  ทรงมีพระราชโองการตั้งกระทู้สอบสวนมูลเหตุคดีต่างๆ[56]: 71–84  กล่าวโทษคณะบาทหลวงฝรั่งเศส และกำหนดข้อห้าม 4 ข้อซึ่งคณะบาทหลวงฝรั่งเศสต้องปฏิบัติตาม[56]: 70  ดังนี้[59]: 163 

  1. ไม่ให้เขียนหนังสือคาทอลิกเป็นภาษาสยามและภาษาบาลี
  2. ไม่ให้ประกาศศาสนาคาทอลิกแก่ชาวสยาม ชาวมอญ และชาวลาว
  3. ไม่ให้ชักชวนคนสามชาตินี้เข้าศาสนาคาทอลิกเป็นอันขาด
  4. ไม่ให้โต้แย้งศาสนาของชาวสยาม

แล้วโปรดให้ เจ้าพระยาพระคลัง ว่าความไต่สวนมูลคดี ระหว่างที่คณะบาทหลวงฝรั่งเศสถูกสอบสวนคดีความจนยืดเยื้อนั้น ฝ่ายราชสำนักก็ได้จับกุมพวกเข้ารีตเรื่อยมา บ้างอพยพหนี บ้างถูกติดคุก แม้แต่คณะบาทหลวงฝรั่งเศสก็ยังถูกข้าหลวงจากราชสำนักก่อกวนบีบคั้นจนได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2273 ข้าหลวงจากราชสำนักเข้าริบหนังสือสอนศาสนาที่แต่งเป็นภาษาไทย แต่ริบได้แค่บางเล่มล้วนไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา ส่วนหนังสือเกี่ยวด้วยศาสนาไทยถูกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสนำไปเผาไฟทิ้ง[56]: 81  ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ข้าหลวงคนโปรดของกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าพร) ให้คนมาตามบาทหลวงฝรั่งเศสแล้วบอกว่า เมื่อครั้งไต่สวนมูลคดีนั้น การที่พระสังฆราชฝรั่งเศสขออนุญาตจะกลับไปยังกรุงฝรั่งเศสเป็นเหตุให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และกรมพระราชวังบวรฯ ทรงกริ้วอย่างมาก[56]: 85  จึงแนะให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายเพื่อให้หายกริ้ว พระสังฆราช และคณะบาทหลวงฝรั่งเศสจึงไปขึ้นศาลไต่สวนคดีของเจ้าพระยาพระคลังพร้อมดอกไม้ธูปเทียนหมายจะถวายต่อสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเพื่อให้ทรงหายกริ้ว จึงกล่าวถ้อยความสำนึกผิด ไม่ได้คิดทุจริตแต่อย่างใด และจะยินยอมปฏิบัติตามข้อห้าม 4 ข้อตามพระราชโองการ[56]: 86–87  เจ้าพระยาพระคลังจึงให้เสมียนแต่งหนังสือทัณฑ์บนให้คณะบาทหลวงฝรั่งเศสอ่านแล้วลงนามยินยอม แต่คณะบาทหลวงฝรั่งเปลี่ยนใจจะไม่ยอมทำตาม ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) เห็นว่าพอมีทางจะกราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าพร) ได้ จึงเอาหนังสือทัณฑ์บนไปพับเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่สามารถอ่านข้อห้าม 4 ข้อนั้นได้ แล้วเจ้าพระยาพระคลังถามมูลเหตุการถวายดอกไม้ธูปเทียนก็กล่าวชมเชยสรรเสริญว่าคณะบาทหลวงฝรั่งเศสทำให้พระราชไมตรีระหว่างกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศสจะได้ติดต่อกันอีก[56]: 88 

ไม่กี่วันต่อมา เจ้าพระยาพระคลังกราบทูลกล่าวโทษขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ต่อสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ จึงทรงมีรับสั่งให้นำตัวขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ไปไต่สวนคดีด้วยเหตุที่คณะบาทหลวงไม่ยอมลงนามในหนังสือทัณฑ์บน สาเหตุเพราะขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) คนเดียว ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ได้ให้การแก้ตัวว่า หากนำหนังสือทัณฑ์บนออกอ่านเปิดเผยแล้ว พระสังฆราช และคณะบาทหลวงฝรั่งเศสคงจะร้องคัดค้านปฏิเสธข้อความตามหนังสือทัณฑ์บนนั้น หากกระทำเช่นนี้ พระสังฆราช และคณะบาทหลวงฝรั่งเศสจะมีความผิดโทษประหารชีวิต และต้องขาดพระราชสัมพันธไมตรีที่มีต่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส[56]: 89  สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงฟังถ้อยคำแก้ตัวแล้วก็ทรงนิ่งเฉย เหตุเพราะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสด็จมาช่วยขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) มิเช่นนั้นขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) คงต้องถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนอย่างแน่[56]: 89–90  แล้วเจ้าพระยาพระคลังยังกล่าวโทษเพิ่มอีกว่า ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ได้รีดไถเอาเงินจากคณะบาทหลวงอีกด้วย (แต่เจ้าพระยาพระคลังได้รีดไถเอาเงินจากคณะบาทหลวงไปแล้วถึง 150 เหรียญ มีความผิดร้ายแรงกว่าขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) เสียอีก)[56]: 90 

ต่อมา ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ขอร้องพระสังฆราชฝรั่งเศสว่าอย่าขัดขวางพระราชโองการอันมีข้อห้าม 4 ข้อ แต่พระสังฆราชฝรั่งเศสไม่ยินยอม กล่าวว่าจะเป็นการผิดศาสนาและขัดพระราชไมตรี ข้าราชการของเจ้าพระยาพระคลังก็พยายามเคี่ยวเข็ญพระสังฆราชฝรั่งเศสให้ลงนามหนังสือทัณฑ์บนแต่ก็ถูบไล่กลับไปทุกครั้ง[56]: 91–94 

หลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงตั้งเจ้าพระยาพระคลังคนใหม่ เจ้าพระยาพระคลังผู้นี้กราบทูลว่าพระสังฆราชฝรั่งเศสเป็นกบฏ เอาคำสั่งสอนมิจฉาทิฐิเที่ยวสอนให้แพร่หลาย และดูหมิ่นศาสนาพุทธ พวกเข้ารีตก็เพิ่มขึ้นทุกวัน จะขอพระบรมราชานุญาตขับไล่พระสังฆราชและมิชชันนารีฝรั่งเศสออกจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้หมดสิ้น[56]: 101–105  สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงดำรัสถามเจ้าพระยาจักรีให้ทูลตามความพอใจและจริงใจได้

เจ้าพระยาจักรีจึงกราบทูลว่า :-

พวกสังฆราชฝรั่งเศส และพวกมิชชันนารีได้เข้ามายังพระราชอาณาจักรก็โดยที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน ๆ ก็ได้เคยโปรดปรานพวกสังฆราชและมิชชันนารีฝรั่งเศสอยู่เสมอ การที่พวกสังฆราชและมิชชันนารีเที่ยวเทศนาสั่งสอนการศาสนานั้น ก็ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน ๆ ได้พระราชทานพระราชานุญาตไว้ มาจนบัดนี้ก็ได้โปรดพระราชทานพระราชานุญาตอยู่อย่างเดิม การที่หาว่าพวกสังฆราชและมิชชันนารีทำความผิดนั้นก็ไมาได้ยินใครพูดเลย เพราะคนจำพวกนี้เป็นคนที่เรียบร้อยไม่ทำการเอะอะอย่างใด และทำความดีโดยแจกยาจนคนไทยเราทั้งเจ้าพนักงานและพระสงฆ์ ก็ได้รักษาโรคหายเพราะยาของพวกมิชชันนารีก็มาก จำนวนคนที่เข้ารีตมีจำนวนเล็กน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ควรสงสัย หรือหาความใส่พวกมิชชันนารีนี้เลย[56]: 106–107 

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทรงได้ฟังเช่นนั้นก็ทรงกราบทูลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระว่าเจ้าพระยาจักรีกราบทูลโดยสติปัญญาเฉียบแหลม และทรงเห็นพ้องด้วย

สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีรับสั่งว่า :-

ถ้าฉะนั้นต้องเอาเรื่องของคนทั้งหลายมากวนเราทำไม เมื่อการเป็นอยู่ดังนี้แล้ว ก็ปล่อยให้พวกเข้ารีตได้มีความสุขเสียบ้างเถิด และใครอย่าเอาเรื่องนี้มาพูดอีกต่อไป[56]: 107 

แม้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงรับสั่งเช่นนี้แต่เจ้าพระยาพระคลังคนใหม่กลับไม่ยอมปล่อยพวกเข้ารีตออกจากที่คุมขัง กลับรีดไถเรียกเงินพวกเข้ารีตสูงถึงคนละ 600 เหรียญเป็นค่าไถ่ออกจากคุก พวกเข้ารีตไม่มีทุนทรัพย์จะไถ่ตัวเองจึงต้องติดคุกไปตลอดจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และพระสังฆราชฝรั่งเศสก็ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าประกันตัวแก่พวกเข้ารีตแก่เจ้าพระยาพระคลังได้[56]: 107–108 

เจ้าฟ้าอภัยคิดแย่งชิงราชสมบัติ

[แก้]

เมื่อคราวสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงชะลอพระพุทธไสยาสน์สำเร็จ พระองค์ทรงพระประชวรลงยังไม่เสด็จสวรรคต จึงมีพระบรมราชโองการตรัสมอบเวนราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) ให้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา[20]: 402  ด้วยเหตุว่าขณะนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชาธิราชทรงผนวชอยู่เช่นเดียวกับกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) เป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทรงไม่พอพระทัย เว้นแต่หากทรงมอบเวนราชสมบัติแก่กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ก็จะทรงยอมให้แต่กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงไม่ยอมรับ และไม่ทรงลาผนวช เมื่อเจ้าฟ้าอภัยทรงรับราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจึงทรงพระกรุณาดำรัสสั่งให้เจ้าฟ้าอภัยขึ้นราชาภิเษก[20]: 403  เจ้าฟ้าอภัยทรงทราบดีว่าพระราชปิตุลานั้นทรงไม่พอพระพระทัยเป็นแน่ ทรงปรารถนาจะทำสงครามสู้รบทำสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์

เจ้าฟ้าอภัยทรงปรึกษากับเจ้าฟ้าปรเมศร์ว่า :-

พระบิดาเราทรงพระประชวรมีพระอาการหนัก เห็นจะทรงพระชนม์อยู่ไม่นาน ถ้าพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ราชสมบัติจะไปตกอยู่กับพระมหาอุปราช ควรเราซึ่งเป็นราชโอรสจะซ่องสุมผู้คนไว้ให้มาก เวลาพระบิดาสวรรคตแล้วจะได้ต่อสู้รักษาราชสมบัติไว้ มิให้ตกไปเป็นของพระมหาอุปราช และถึงในเวลานี้ก็ควรจะเกียดกัน [กีดกัน] อย่าให้พระมหาอุปราชเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนทราบพระอาการได้[60]: 369 

เจ้าฟ้าอภัยจึงซ่องสุมกำลังผู้คนและช้างม้าจำนวนมากถึง 40,000 คนในวังหลวง[18]: 138  ส่วนกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซ่องสุมกำลังจำนวน 5,000 คนไว้ในวังหน้า[18]: 138  เจ้าฟ้าอภัยรับสั่งห้ามมิให้ผู้ใดเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ แม้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ให้เข้าเฝ้าได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ทรงระมัดระวัง และพยายามชักจูงเสนาบดีทั้ง 4 ฝ่ายให้อยู่ข้างพระองค์[18]: 138 

หลังจากสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอภัยทรงปิดความเพื่อไม่ให้ข่าวการสวรรคตแพร่ออกไปแล้วทรงเตรียมสรรพาวุธและผู้คนให้พร้อมในพระราชวังหลวง โปรดให้ข้าราชการวังหลวงตั้งค่ายตั้งแต่คลองประตูข้าวเปลือกไปถึงคลองประตูจีน ให้ขุนศรีคงยศไปตั้งค่ายริมสะพานช้าง คลองประตูข้าวเปลือกฟากตะวันตก แล้วรักษาค่ายอยู่ที่นั้น [12]: 314  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสังเกตุได้ระแคะระคายว่าเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ทรงกีดกันคิดจะแย่งชิงราชสมบัติ จึงโปรดให้ข้าราชการวังหน้าเตรียมไพร่พลตั้งค่ายฟากคลองข้างตะวันออกเตรียมพร้อมที่จะทำสงคราม แต่ยังมิทรงออกพุ่งรบก่อนด้วยยังทรงไม่ทราบการสวรรคต และทรงเกรงกลัวจะเป็นกบฏต่อพระเชษฐาธิราชที่ทรงพระประชวรอยู่[60]: 370  เมื่อพระราชบุตรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสด็จตรวจค่ายจนถึงค่ายขุนศรีคงยศฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย จึงมีรับสั่งให้ขุนเกนหัดยิงขุนศรีคงยศถึงแก่ความตายแล้วทูลพระราชบิดาว่าเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย[12]: 315 

ฝ่ายข้าราชการทราบข่าวว่าจะเกิดสงครามในพระนคร ต่างพากันเข้ากับฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจำนวนมาก ด้วยพระองค์มีพระทัยโอบอ้อมอารี[60]: 370  ขณะนั้นมีผู้หนึ่งแต่งหนังสือลับการสวรรคตของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระหมายจะให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบความจริง ได้นำความลับนั้นไปผูกกับช้างต้นพระเกษยเดชแล้วปล่อยช้างออกพระราชวังหลวงไป ด้วยบุญญาภินิหาร ช้างตัวนั้นก็วิ่งข้ามน้ำตรงเข้าไปยังพระราชวังหน้า พวกข้าราชการจับช้างได้เห็นความหนังสือผูกติดกับช้างมาด้วยก็นำไปกราบทูลถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล[60]: 371 

ข้างฝ่ายวังหลวง พระมหามนตรีจางวาง พระยาธรรมาเสนาบดีกรมวัง และนายสุจินดามหาดเล็กได้แต่งหนังสือลับให้คนสนิทลอบไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้ยกทัพมาพระราชวังหลวง ความว่า :-

พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้วแต่เวลาปฐมยาม เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์คิดการลับจะทำร้ายพระองค์ บรรดาข้าราชการพากันเบื่อหนายเอาใจออกหาก และย่อท้อเกรงพระบารมีพระองค์เป็นอันมาก ขอให้พระองค์ยกกองทัพเข้ามาเถิด ข้าพระองค์ทั้ง ๓ จะคอยรับเสด็จ[60]: 371 

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบความหนังสือลืบ เวลาย่ามรุ่งโปรดเคลื่อนกำลังพลไปยังพระราชวังหลวงได้เข้าสู้รบกับเจ้าฟ้าอภัย ส่วนข้าราชการวังหลวงทั้ง 3 คนที่แต่งหนังสือลับลักลอบหนีไปยังตำบลบ้านตาลานโดยทางเรือแล้วยังลอบขนทรัพย์สินจากวังหลวง เช่น พระแสงชื่อ พระยากำแจกที่กำจัดภัย ทรัพย์สินมีค่า เสบียงอาหาร และข้าราชการคนสนิทไปด้วย[60]: 372  ภายหลังเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ถูกจับนำไปสำเร็จโทษให้สิ้นพระชนม์ด้วยท่อนจันทร์ตามราชประเพณี[12]: 317  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

การสวรรคต

[แก้]

ระหว่างที่เจ้าฟ้าอภัยฝ่ายวังหลวงคิดแย่งชิงราชสมบัติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมที่จะพุ่งรบแล้วนั้น ทั้ง 2 พระองค์ต่างก็รอเวลาที่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จสวรรคต ไม่นานนักอาการพระประชวรแย่ลงจนแพทย์หลวงไม่สามารถวายการรักษาได้ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจึงเสด็จสวรรคตลงในปีจุลศักราช 1094 (พ.ศ. 2275)

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-

ลุศักราชได้ ๑๐๙๔ ปีชวด จัตวาศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรหนักลง ก็ถึงแก่ทิวงคตในเดือนยี่ข้างแรมไปโดยยถากรรมแห่งพระองค์นั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาบังเกิดในปีมะแม อายุได้ ๒๘ ปี ได้เสวยราชสมบัติอยู่ ๒๖ ปีเศษ พระชนมายุได้ ๕๔ ปีเศษ กระทำกาลกิริยา ผู้ใดมีเมตตาไม่ฆ่าสัตว์ อายุยืน ไม่มีเมตตาฆ่าสัตว์ อายุสั้น[12]: 315 

จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบาทหลวงเอเดรียง โลเน ได้รวบรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2463 และอรุณ อมาตยกุล เป็นผู้แปล ระบุว่า สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระทรงพระประชวรมีฝีในพระโอษฐ์หรือพระศอ ขณะที่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกไว้ว่าพระองค์ประชวรที่พระชิวหา (ลิ้น) จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจเป็นมะเร็งช่องปาก พระองค์ประชวรด้วยพระโรคนี้เป็นเวลานานจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2275 ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์[61] ส่วน จดหมายมองซิเออร์ เลอแบร์ (ว่าด้วยพระเจ้าท้ายสระสวรรคต) ถึงผู้อำนวยการต่างประเทศ วันที่ ๒๗ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๓๓ (พ.ศ. ๒๒๗๖) ว่า :-

ทรงพระประชวรเป็นคล้ายพระยอดขึ้นที่พระโอษฐ์ ได้ทรงพระประชวรอยู่เกือบปีหนึ่งจึงได้เสร็จสวรรคตเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (พ.ศ. ๒๒๗๖)[56]: 129 

หลังจากนั้นเจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสซึ่งอ้างสิทธิในราชสมบัติและเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้สู้รบกับเจ้าฟ้าพรพระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระและวังหน้าและพระเจ้าอาของเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์กลายเป็นสงครามกลางเมือง

การพระบรมศพ

[แก้]

หลังจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระอนุชาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโทนมัสแค้นพระทัยในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระด้วยเหตุทรงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรส ดำรัสว่าจะไม่เผาพระบรมศพให้แต่จะนำไปทิ้งน้ำ[12]: 319  พระยาราชนายกว่าที่กลาโหมกราบทูลเล้าโลมพระองค์หลายครั้งจนพระองค์ทรงตัดสินพระทัยจัดการพระบรมศพตามราชประเพณีแต่ทรงลดขนาดพระเมรุลงเป็นพระเมรุน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก มีพระสงฆ์สดับปกรณ์ 5,000 องค์ (จากเดิม 10,000 องค์) ใช้เวลาทำ 10 เดือนจึงแล้วเสร็จ แล้วเชิญพระบรมศพถวายพระเพลิงเมื่อเดือน 4 ปีฉลู พ.ศ. 2276 ทรงดำรัสว่าทำบุญน้อยนักไม่สบายพระทัยแล้วทรงนิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์เพิ่มเป็น 6,000 องค์ ให้สดับปกรณ์ 3 วันแล้วถวายพระเพลิงเสร็จแล้วนำพระบรมอัฐิใส่พระโกศน้อยแห่เข้ามาบรรจุไว้ท้ายจระนำ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์[20]: 405 

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-

จึ่งทรงพระกรุณาดำรัสสั่งให้ตั้งพระเมรุมาศขนาดน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก ชักพระบรมศพออกถวายพระเพลิงตามราชประเพณี[12]: 319 

การลดพระเมรุเป็นพระเมรุน้อยทำให้การพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีความสมพระเกียรติยศแตกต่างกับรัชกาลก่อนๆ[62]: 350 

พระราชกรณียกิจ

[แก้]

ในรัชสมัยของพระองค์ มีการขุดคลองสำคัญอันเป็นเส้นทางคมนาคม คือ "คลองมหาไชย" และ "คลองเกร็ดน้อย" มีการแข่งกันสร้างวัด ระหว่างพระองค์กับพระอนุชา คือ วัดมเหยงคณ์และวัดกุฎีดาว มีการเคลื่อนย้ายพระนอนองค์ใหญ่ของวัดป่าโมกเพื่อให้พ้นจากการถูกน้ำเซาะตลิ่ง เป็นต้น

ในด้านการต่างประเทศ มีการส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีนถึงสี่ครั้ง ทำให้การค้าขายระหว่างสยามกับจีน ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2244 เกิดความวุ่นวายในประเทศกัมพูชา อันเนื่องจากการแย่งราชสมบัติกันระหว่างนักเสด็จกับนักแก้วฟ้าสะจอง นักเสด็จขอเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ส่วนพระแก้วฟ้านักสะจองผู้เป็นอนุชาฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายญวน ซึ่งพยายามแผ่อำนาจเข้าไปในเขมร พระองค์ได้ส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าไปถึงเมืองอุดงมีชัย ราชธานีของเขมร และได้เกลี้ยกล่อมให้นักแก้วฟ้าสะจองกลับมาอ่อนน้อมต่ออยุธยา เขมรจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรเช่นแต่ก่อน

ในช่วงรัชสมัยนี้ มิชชันนารีคาทอลิกคือมุขนายกหลุยส์ ลาโน ได้พิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อ “ปุจฉาวิสัชนา” มีเนื้อหาเปรียบเทียบศาสนาคริสต์ – ศาสนาพุทธ ชี้ให้เห็นความเหนือกว่าของศาสนาคริสต์ ดูหมิ่นพุทธศาสนา ทันทีหนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกก็สร้างความไม่พอใจให้กับราชการไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงเรียกบาทหลวง 3 คนขึ้นศาลไต่สวน ที่สุดมีพระราชโองการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาไทยในการเผยแพร่ศาสนา ห้ามคนไทย มอญ และลาวเข้ารีตศาสนาคริสต์ และห้ามมิให้มิชชันนารีติเตียนศาสนาของคนไทย มิชชันนารีที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกเฆี่ยนแล้วเนรเทศ[63]

วรรณกรรมในรัชกาล

[แก้]
  • โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก พ.ศ. 2270 พระราชนิพนธ์ยอพระเกียรติสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชาธิราช ลักษณะคำประพันธ์เป็นโคลงสี่สุภาพ
  • โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย[64] พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ต่อมาพระยาตรังคภูมิบาล กวีสมัยรัชกาลที่ 2 รวบรวมไว้ในหนังสือ โคลงกวีโบราณ
  • ราโชวาทชาฎก ฉบับคัดออกจากฉบับเขียนรงของมหาพุทธรักขิต วัดพุทไธสวรรย์ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรงฉศก จุลศักราช ๑๐๘๖ (พ.ศ. 2267)[65]: 29 
  • พระสี่เสาร์คำกาพย์ ปีพุทธศักราช 2266[66]: 24 
  • ตำนานนางเลือดขาว เข้าใจว่าพระภิกษุวัดสทัง (วัดเขียนบางแก้ว) รวบรวม ปีที่แต่งมีข้อความจารเป็นตัวอักษรขอม แปลโดย ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ[67] ว่า "ศุภมัสดุ ๖๕๑ ศกระกานักษัตรเอกศก" เป็นปีมหาศักราช ๑๖๕๑ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๙๑ (พ.ศ. 2272) รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[68]: 99 

พระราชโอรส-ธิดา

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีพระราชโอรสธิดารวมกัน 9 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 6 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 3 พระองค์ ดังนี้[7]

กรมหลวงราชานุรักษ์

มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ คือ

พระสนม

มีพระโอรสธิดา 3 พระองค์ คือ

  • พระองค์เจ้าชายเสฏฐา
  • พระองค์เจ้าชายปริก
  • พระองค์เจ้าหญิงสมบุญคง

เกร็ดที่น่าสนใจ

[แก้]
  • พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท
  • พระราชทานท้องพระโรงแก่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์โดยล่องเรือจากอยุธยาไปเพชรบุรีแล้วไปสร้างที่วัดใหญ่สุวรรณาราม (วัดสุวรรณาราม บ้างก็เรียกวัดใหญ่) จึงทำให้คงเหลือพระราชวัง ท้องพระโรงที่แสดงถึงศิลปกรรมของอยุธยาที่เหลือรอดจากการเผาของพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

มีนักแสดงที่รับบทเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ได้แก่

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
หมายเหตุ
  1. หัวเมืองใต้ หมายถึง หัวเมืองที่อยู่ทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วย เมืองนนทบุรี เมืองสมุทรปราการ เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองนครชัยศรี[45]: 45 
เชิงอรรถ
  1. เล็ก พงษ์สมัครไทย. เฉลิมพระยศ เจ้านายฝ่ายในในรัชกาลที่ 1-9. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2552. หน้า 16
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 347
  3. คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 547-548
  4. Rajanubhab, D., 2001, Our Wars With the Burmese, Bangkok: White Lotus Co. Ltd., ISBN 9747534584
  5. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542.
  6. พินิจ จันทร และคณะ. (2565). ย้อนประวัติศาสตร์ ๔๑๗ ปี อยุธยา ๓๓ ราชัน ผู้ครองนคร. กรุงเทพฯ: เพชรพินิจ. 288 หน้า. ISBN 978-616-5784-79-5
  7. 7.0 7.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 622-623
  8. "จารึกชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกข์". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2271. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 9.2 ศานติ ภักดีคำ (บก.), สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (เผยแพร่). (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 558 หน้า. ISBN 978-616-9-23510-1
  10. 10.0 10.1 ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2505). ต้นตระกูลขุนนางไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 544 หน้า.
  11. สัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ), พระยา. (2502). เล่าให้ลูกฟัง ของพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี. กระทรวงมหาดไทยพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒. พระนคร: โรงพิมพ์กรมมหาดไทย. 219 หน้า.
  12. 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 12.11 12.12 12.13 12.14 12.15 12.16 12.17 12.18 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒ เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. ISBN 978-974-4-19025-3
  13. อมร รักษาสัตย์ . (2510). "ความเจริญและความเสื่อมแห่งราชอาณาจักรไทย : ศึกษาวิเคราะห์ตามหลักทางรัฐประศาสนศาสตร์และสังคมศาสตร์", ใน วารสารพัฒนบริหารศาสตร์, 7(2): 219. อ้างใน พระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ น. 561–62.
  14. กรุงไทย. (2517). ประชุมตำนานและเรื่องน่ารู้ของไทย. กรุงเทพฯ: บรรณศิลป์. 404 หน้า.
  15. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2549). สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
  16. ตรี อมาตยกุล, ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ม.ร.ว, ประเสริฐ ณ นคร และดำเนิร เลขะกุล. (2523). ประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี เล่มที่ ๑๔ (กรกฎาคม–ธันวาคม ๒๕๒๓). แถลงงานรายคาบ ๔ เดือนของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
  17. "เรื่องสงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องมูลเหตุที่จะเกิดรบกับพม่า", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 337 หน้า.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 กรมศิลปากร. (2522). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. แปลโดย สมศรี เอี่ยมธรรม. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหประชาพาณิชย์. 268 หน้า.
  19. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2505). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ พระอธิบายประกอบ. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 622 หน้า.
  20. 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). เจ้าภาพพิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภานพิเศษ ( ลมุน อมาตยกุล ) ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2479. 437 หน้า.
  21. ปวัตร์ นวะมะรัตน. (2552, มิถุนายน). สำรวจวัดดุสิต กว่า 50 ปีก่อน จุดที่เชื่อว่าเป็นวัดพระนมของสมเด็จพระนารายณ์?. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2566.
  22. รวมปาฐกถางานอนุสรณ์อยุธยา ๒๐๐ ปี เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2510. หน้า 24.
  23. ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, พรนิภา พฤฒินารากร และสุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). "ข้าว:ในสมัยปลายอยุธยา พ.ศ. 2199-2130," ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2531. 148 หน้า. หน้า 142. ISBN 978-974-8350-82-0
  24. ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๖(ต่อ) ๓๗ และ ๓๘). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2511. 312 หน้า. หน้า 1.
  25. จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. (2546). ขุนนางกรมท่าขวา: การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึง สมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 391 หน้า. ISBN 978-974-1-32537-5
  26. ชัย เรืองศิลป์. (2519). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2325-2453 ด้านสังคม. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์. 569 หน้า.
  27. เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2558). กัมพูชา จากอาณาจักรฟูนันพนม สู่เขมร-กัมพูชา. กรุงเทพฯ: เพชรประกาย. 358 หน้า. ISBN 978-616-3-44775-3
  28. "อธิบายเรื่องทูตไทยไปยุโรป", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๗ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๘-๓๐). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. 328 หน้า. อ้างใน จดหมายเหตุฝรั่งเศส และจดหมายเหตุสเปน.
  29. 29.0 29.1 เกียรติกำจร มีขนอน. (2566, 14 พฤศจิกายน). บทความเวทีทัศนะ เรื่อง ราชทูตสเปนที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในปี พ.ศ.2261 ตอน สาเหตุการเดินทางของราชทูตสเปนมากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2261. ผู้จัดการออนไลน์. (14 พฤศจิกายน 2566). สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2566.
  30. 30.0 30.1 แชน ปัจจุสานนท์. (2509). ประวัติการทหารเรือไทย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรร์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ๑๔ เมษายน ๒๕๐๙. พระนคร: กรมสารบรรณทหารเรือ กองทัพเรือ. 281 หน้า.
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 FERDINAND C. LLANES. (2009). "DROPPING ARTILLERY, LOADING RICE AND ELEPHANTS: A SPANISH AMBASSADOR IN THE COURT OF AYUDHYA IN 1718", New Zealand Journal of Asian Studies, 11(1). (June 2009).
  32. สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. (2557). "การพัฒนาการพาณิชยนาวีของไทย", วารสารไทยศึกษา, 9(2):205. (สิงหาคม 2556-มกราคม 2557). สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISSN 1686-7459
  33. เบาว์ริง เซอร์จอห์น, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม. (2547). ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 2. แปลโดย อนันต์ ศรีอุดม กัณฐิกา ศรีอุดม และพีรศรี โพวาทอง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. ISBN 974-926-547-5
  34. 34.0 34.1 34.2 สมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (2532). กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน. แปลโดย จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ฯ. 178 หน้า. ISBN 978-974-4-63039-1
  35. Ferdinand C. Llanes. (1994). THE TRADE MISSION TO SIAM IN 1718 IN THE CONTEXT OF FILIPINAS-SIAM RELATIONS AND SOUTHEAST ASIAN HISTORY. The 13th Conference of International Association of Historians of Asia (AI AHA), September 9-12, 1994, Sophia University, Tokyo, Japan.
  36. Florentino Rodao. (1997). ESPAÑOLES EN SIAM (1540–1939): Una aportación al estudio de la presencia hispana en Asia Oriental. MADRID, España: Consejo Superior de Investigaciones Científicas. p. 74. ISBN 978-840-0-07634-4
  37. 37.0 37.1 37.2 37.3 37.4 37.5 37.6 กรมศิลปากร. (2565). ความสัมพันธ์ไทย-จีน จากเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 264 หน้า. ISBN 978-616-283-585-8
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 สืบแสง พรหมบุญ. (2513). Sino-siamese tributary relation 1282-1853 (ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ค.ศ. 1282-1853). วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (แมดิสัน). แปลโดย กาญจนี ละอองศรี. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. 193 หน้า. ISBN 978-974-0-75180-9
  39. 39.0 39.1 สกินเนอร์, จี. วิลเลียม และคณะ. (2529). Chinese society in Thailand : an analytical history (สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์). แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 403 หน้า. ISBN 978-974-0-75557-9
  40. ชวลิต อังวิทยาธร. (2544). การแลกเปลี่ยนและการค้าข้าวบริเวณชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สาขาสังคมศาสตร์ พ.ศ. 2540 ของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 213 หน้า. ISBN 978-974-7-77272-2
  41. คมขำ ดีวงษา. (2531). บทบาทของตลาดในเมืองพระนครศรีอยุธยาต่อการค้าภายในและภายนอก พ.ศ. 2173-2310. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะอักษรศาสตร์. 420 หน้า. ISBN 978-974-5-69117-9
  42. ประวัติของแผ่นดินไทย ภาคที่ ๒ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี. กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566.
  43. 43.0 43.1 หอพระสมุวชิรญาณ. (2466). "ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ", จดหมายเหตุ เรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน. แปลโดย พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ). พิมพ์แจกในงานปลงศพ นายกีกุ่ย ทวีสิน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 74 หน้า.
  44. สมบัติ พลายน้อย. (2555). แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน. 215 หน้า. ISBN 978-974-0-21006-1
  45. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2547). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: มติชน. 615 หน้า. ISBN 978-974-3-23056-1 อ้างใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). หน้า 285.
  46. สมบัติ พลายน้อย. (2538). ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น. 469 หน้า.
  47. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (2561). อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน. 364 หน้า. ISBN 978-974-02-1594-3
  48. 48.0 48.1 บรมบาทบำรุง, พระยา. (2453). "คลองมหาไชยชลมารค", ใน ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ. พระนคร: กระทรวงเกษตราธิการ. 300 หน้า.
  49. กระทรวงเกษตราธิการ. (2484). "คลองมหาไชยชลมารค", ใน ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ข้าราชการกระทรวงเกษตราธิการพิมพ์ช่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 315 หน้า.
  50. ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2519). สามวัง. กรุงเทพฯ: ปริทัศน์ศาสตร์. 580 หน้า.
  51. 51.0 51.1 ยุพร แสงทักษิณ. (2537). วรรณคดียอพระเกียรติ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. 326 หน้า. ISBN 978-974-0-05639-3
  52. พิทักษ์ สายัณห์. (2521). "วัดป่าโมกวรวิหาร", ประวัติศาสตร์วัดไทย. กรุงเทพฯ: พิทยาคาร. 360 หน้า.
  53. อุดม ประมวลวิทย์. (2508). 50 กษัตริย์ไทย. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 767 หน้า.
  54. สตรีสาร, 44(38): 14. ธันวาคม 2534.
  55. ปรียา หิรัญประดิษฐ์ และคณะ. (2533). เอกสารการสอนชุดวิชา 12306: พัฒนาการวรรณคดีไทย หน่วยที่ 8-15. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 994 หน้า. ISBN 974-613-355-1
  56. 56.00 56.01 56.02 56.03 56.04 56.05 56.06 56.07 56.08 56.09 56.10 56.11 56.12 56.13 56.14 56.15 56.16 56.17 56.18 ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๖(ต่อ) ๓๗ และ ๓๘) เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ภาคที่ ๔ ตอน แผ่นดินพระเจ้าเสือ และพระเจ้าท้ายสระ. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2511. 312 หน้า.
  57. หอจดหมายเหตุ. (2560, 15 กันยายน). คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี. อ้างใน หนังสือฉลองครบรอบ 200 ปี การก่อตั้งคณะรักกางเขนในจันทบุรี. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2566.
  58. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๗ เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือแลแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ภาค ๔. พิมพ์ในงารศพ คุณหญิงผลากรนุรักษ (สงวน เกาไศยนันท์) เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
  59. อาเดรียง โลเน. (2546). "การเบียดเบียนศาสนาในปี ค.ศ. 1730 (พ.ศ. 2273 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ", ใน ประวัติมิสซังกรุงสยาม ค.ศ. 1662-1811. แปลโดย นายปอล ซาเวียร์. กรุงเทพฯ: อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 292 หน้า. ISBN 974-911-288-1. อ้างใน จดหมายพระสังฆราชเดอ เกราเล เล่าเรื่อง การเบียดเบียนครั้งนี้ให้พระสันตะปาปาทรงทราบ (ค.ศ. 1733) (EpistolaIllmi et Remi Episcopi Rosaliensis, Vicarii Apostolici regni Siami ad Sanctissimmum Clementem PP. XII) (เอกสารคณะมิสซังต่างประเทศ เล่มที่ 285 หน้า 237–252).
  60. 60.0 60.1 60.2 60.3 60.4 60.5 คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร: คลังวิทยา, 2510. 472 หน้า.
  61. Terwiel, B. J. (2011). Thailand's political history : from the 13th century to recent times (ภาษาอังกฤษ) (Rev. ed.). Bangkok: River Books. ISBN 978-974-9863-96-1.
  62. นนทพร อยู่มั่งมี และคณะ. (2551). ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ: มติชน. 487 หน้า. ISBN 974-020-212-8
  63. แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, หน้า 120
  64. ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย. นิราศเจ้าฟ้าอภัย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2566.
  65. ธนิต อยู่โพธิ์. (2521). สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและนักปราชญ์ราชกวีในรัชสมัย. กรุงเทพฯ: อักษรสารการพิมพ์. 98 หน้า.
  66. สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2533). วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 542 หน้า. ISBN 974-578-337-4
  67. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 11 : พระพุทธนิมิต - ไฟที่ไหม้ลาม : เรื่องสั้น. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. 510 หน้า. ISBN 974-836-527-1
  68. สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2533). วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 542 หน้า. ISBN 974-578-337-4
บรรณานุกรม
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • มาโนช พุ่มไพจิตร. แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป. เชียงใหม่ : หน่วยงานเผยแพร่ข่าวประเสริฐ, 2548.
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. หน้า 165-166. ISBN 978-616-7308-25-8

ดูเพิ่ม

[แก้]

หนังสือและบทความ

[แก้]
  • Dhiravat na Pombejra. (2537). The Last Year of King Thaisa's Reign: Data Concerning Politics and Society from the Dutch East India Company's Siam Factory Dagregister for 1732. ใน ความยอกย้อนของอดีต: พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี. บรรณาธิการโดย วินัย พงศ์ศรีเพียร. หน้า 125-145. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.

เว็บไซต์

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ถัดไป
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8
(พ.ศ. 2246-2252)

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2251-พ.ศ. 2275)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
(พ.ศ. 2275–2301)
หลวงสรศักดิ์
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลแห่งกรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2246-พ.ศ. 2251)
เจ้าฟ้าพร