สมเด็จพระไชยราชาธิราช

สมเด็จพระไชยราชาธิราช
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2077 - 2089 (13 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระรัษฎาธิราช
ถัดไปสมเด็จพระยอดฟ้า
พระราชสมภพราว พ.ศ. 2042
สวรรคตพ.ศ. 2089 (47 พรรษา)
คู่อภิเษกพระมเหสีจิตรวดี
แม่หยัวศรีสุดาจันทร์
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระราชบิดาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

สมเด็จพระไชยราชาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์อยุธยา รัชกาลที่ 13 แห่งอาณาจักรอยุธยา รัชสมัยของพระองค์โดดเด่นสำหรับการหลั่งไหลเข้ามาของ พ่อค้าและทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสและเทคโนโลยี การสงครามสมัยใหม่ตอนต้นและโดดเด่นในเรื่องการทำศึกกับหัวเมืองต่างๆ

พระราชประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระไชยราชาธิราชพระราชสมภพราว พ.ศ. 2042 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่ประสูติแต่พระสนม[1] ในปี พ.ศ. 2077 ขณะพระชนมายุราว 35 พรรษา ได้ปราบดาภิเษกโดยการสำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราช แล้วขึ้นครองราชย์

ในเอกสารของโปรตุเกส กล่าวกันว่าในปี ค.ศ. 1544 มีความเป็นไปได้ที่พระองค์อาจเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยมีนามทางศาสนาว่า ดง จูอาว (โปรตุเกส: Dom João)[2][3] ซึ่งนอกจากนี้ก็ไม่มีเอกสารอื่นใดที่ยืนยันเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนาในครั้งนี้อีก

พระมเหสี พระราชโอรสธิดา

[แก้]

คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระมเหสี 2 พระองค์คือ[4]

  1. พระมเหสีจิตรวดี
  2. แม่หยัวศรีสุดาจันทร์

สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระราชโอรสที่ปรากฏในพงศาวดาร 2 พระองค์ ประสูติแต่นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์[5] คือ

  1. สมเด็จพระยอดฟ้า ได้ครองราชย์หลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตไม่ถึง 2 ปี ก็ถูกขุนวรวงศาธิราชสำเร็จโทษ
  2. พระศรีศิลป์ ยังถูกเลี้ยงไว้หลังจากสำเร็จโทษสมเด็จพระยอดฟ้า ต่อมาเมื่อขุนนางฝ่ายพระไชยราชาได้สังหารขุนวรวงศาและท้าวศรีสุดาจันทร์ที่คลองสระบัว พระศรีศิลป์ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่รอดชีวิตกลับมาได้ ในรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ พระศรีศิลป์ได้กบฏต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจนต้องปืนสิ้นพระชนม์

การสวรรคต

[แก้]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า หลังทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้ว สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จยกทัพหลวงกลับมายังกรุงศรีอยุธยา แล้วสวรรคตระหว่างทาง[6]

อย่างไรก็ดี บันทึกของพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในอาณาจักรอยุธยาในสมัยนั้นชื่อ เฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต กลับระบุว่าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ซึ่งลักลอบมีความสัมพันธ์กับพันบุตรศรีเทพ (ขุนวรวงศาธิราช) พราหมณ์ผู้คุมหอพระ ได้ลอบปลงพระชนม์พระองค์ด้วยยาพิษในปี พ.ศ. 2089

พระราชกรณียกิจ

[แก้]

ราชการสงคราม

[แก้]

สงครามเชียงกราน

[แก้]

ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามไทยกับพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2081 เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดีได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟ ในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกราน กลับคืนมาได้

อย่างไรก็ตาม​ มีข้อมูลส่วนหนึ่งระบุว่าเมืองเชียงไกร​ เชียงกรานคือหัวเมืองที่อยู่ระหว่างล้านช้าง​และล้านนา​ ​ มิใช่​หัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา​ และในขณะนั้นพงศาวดารพม่าระบุว่าพระเจ้าตะเบงชเวตี้ยังไม่สามารถยึดเมืองหงสาวดีได้​ เมืองเชียงไกร​ เชียงกรานจึงน่าจะเป็นหัวเมืองแถบล้านช้าง​และล้านนามากกว่า​ สอดคล้องกับชื่อที่ขึ้นว่า​เชียง​ เช่นเชียงใหม่​ เชียงราย เชียงแสน​ เชียงทอง​ สงครามครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นการรบทางด้านหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุง​ศรี​อยุธยา​ แต่เป็นรบทางทิศเหนือเพราะฉะนั้นสงครามครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นการรบครั้งแรกระหว่างไทยและพม่า

เมื่อเสด็จยกทัพกลับมาถึงเมืองกำแพงเพชรพงศาวดารระบุว่า​ พระยานารายณ์คิดขบถสมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงให้กุมเอาพระยานารายณ์นั้นฆ่าเสียในเมืองกำแพงเพชร

เมื่อพระองค์ยกทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาชาวโปรตุเกส พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณตำบลบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาเรียกว่าบ้านโปรตุเกส และทรงอนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้มีบาทหลวงเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา

สงครามกับล้านนา

[แก้]

เกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นที่นครพิงค์เชียงใหม่ พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ โดยขุนนางชื่อแสนคล้าวผู้คิดทุริยศ บรรดาเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงราย และเมืองพานได้ ยกกำลังเข้ายึดเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ได้ แล้วพร้อมใจกันแต่งตั้งพระนางจิรประภาเทวี พระมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองนครพิงค์เชียงใหม่ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงพิจารณาเห็นว่าล้านช้างอาจแผ่อำนาจเข้ามาปกครองล้านนา[7] จึงทรงแต่งทัพไปตีเชียงใหม่ในกลางปี พ.ศ. 2088 เมื่อยกทัพมาถึงเชียงใหม่พระมหาเทวีจิระประภาแห่งเมืองเชียงใหม่ได้ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์ได้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระเมืองเกษเกล้าร่วมกับพระมหาเทวี ณ วัดโลกโมฬี แล้วจึงเสด็จฯ กลับกรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาเมื่อล้านช้างยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ​ปีต่อมาสมเด็จพระไชยราชาจึงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ครั้งนี้ฝ่ายเมืองเชียงใหม่พยายามเจราจาขอเป็นไมตรีกับอยุธยาอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ​ ทัพอยุธยาตีได้เมืองลำพูน และยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่แต่ครั้งนี้เชียงใหม่ตั้งรับทัพอยุธยาอย่างเข้มแข็ง​และได้รับการสนับสนุนจากล้านช้าง สมเด็จพระไชยราชาจึงเสด็จฯ ถอยทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตระหว่างทาง[5] เมื่ออยุธยาถอยทัพพระนางจิรประภาแห่งเชียงใหม่จึงหันไปพึ่งล้านช้างโดยถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งเมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังรายทางพระราชมารดาคือพระนางยอดคำทิพย์ พระราชธิดาของเกษเมืองเกล้าและพระนางจิรประภาเทวี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงเจ้าชายพระองค์หนึ่งในเมืองหลวงพระบาง ให้เสด็จมาปกครองนครพิงค์เชียงใหม่สืบต่อไป แต่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชปกครองเมืองเชียงใหม่ได้เพียง 1 ปีก็เสด็จกลับไปขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างที่เมืองหลวงพระบาง และไม่เสด็จกลับมาเชียงใหม่อีกเลย

การคมนาคม

[แก้]

ในรัชสมัยของพระองค์ได้โปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดบางกอก เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำไปถึง กรุงศรีอยุธยามีความคดเคี้ยวหลายแห่ง ทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า แผ่นดินระหว่างคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อยแคบ สามารถเดินถึงกันได้ ผลจากการขุดคลองลัดบางกอกทำให้สายน้ำเปลี่ยนทางเดินจนคลองลัดบางกอกกลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยา จึงโปรดเกล้าให้ขุดคลองลัด ณ บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ด้านท่าราชวรดิษฐ์ในปัจจุบัน

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้แก่

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 92
  2. Manuel de Faria e Sousa, Asia Portuguesa, Porto : Livraria Civilizaçao, 1945, Vol. 3, pp. 127
  3. ปรีดี พิศภูมิวิถี. กระดานทองสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 13
  4. คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 492-494
  5. 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 66-7
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 63
  7. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 93
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายประกอบ สำนักงานพิมพ์โอเดียนสโตร์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2510
  • ไทยรบพม่า เล่ม 1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักงานพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2546
  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สำนักงานพิมพ์คลังวิทยา จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2510

ดูเพิ่ม

[แก้]

เว็บไซต์

[แก้]

หนังสือและบทความ

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระไชยราชาธิราช ถัดไป
สมเด็จพระรัษฎาธิราช
(พ.ศ. 2076 - 2077)

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 2077 -2089)
สมเด็จพระยอดฟ้า
(พ.ศ. 2089 - 2091)