สยามนิกาย หรือ สยามวงศ์ เป็นคณะสงฆ์เถรวาทที่พระอุบาฬีก่อตั้งขึ้นในประเทศศรีลังกา
ในปี พ.ศ. 2293 พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ พระเจ้ากรุงลังกาทรงพระราชศรัทธาแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ศรีลังกาอีกครั้ง จึงได้ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ลังกากุมารบันทึกไว้ว่า “พ.ศ. 2293 คณะราชทูตออกเดินทางจากท่าเรือตรินโคมาลี โดยเรือของฮอลันดานามว่าเวลตรา การเดินทางครั้งนั้นผ่านเมืองอะแจ สุมาตราและแวะพักที่มละกาเป็นเวลาห้าเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูมรสุม จากนั้นคณะราชทูตได้เดินทางเข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองบางกอกและนนทบุรี”[1]
ในพ.ศ. 2295 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้จัดส่งพระสงฆ์ไปให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวศรีลังกา ตามคำขอร้องของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะกรุงลังกา ซึ่งส่งราชทูตเข้ามาขอพระสงฆ์ไทยไปศรีลังกา คณะธรรมทูตไทยมีจำนวน 25 รูปประกอบด้วยพระสงฆ์ 18 รูป สามเณร 7 รูป โดยมีพระอุบาฬีและพระอริยมุนีเป็นหัวหน้า ออกเดินทางโดยเรือกำปั่นฮอลันดาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. 2295 ถึงเมืองตรินโคมาลี อันเป็นเมืองท่าอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลังกา เมื่อวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ โดยใช้เวลาเดินทางถึง 5 เดือน 4 วัน
เมื่อคณะไปถึงศรีลังกาคณะได้จำวัดอยู่ที่วัดบุปผาราม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าวัดมัลวัตตะและเป็นวัดของพระมหานายก คณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ คณะมัลวัตตะ อยู่ตรงกันข้ามกับวัดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งมีทะเลสาบกั้นกลาง อยู่ในเมืองศิริวัฒนนคร (ปัจจุบันคือเมืองกัณฏี) คณะได้ให้บรรพชาอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุ 700 รูป เป็นสามเณร 3,000 รูป ในระยะ 3 ปีที่ออกไปอยู่ในศรีลังกา คือ พ.ศ. 2295-2298[2]