สวนวชิรเบญจทัศ

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
แผนที่
ประเภทสวนสาธารณะระดับย่าน
ที่ตั้งถนนกำแพงเพชร 3 แขวงจตุจักรเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
พื้นที่375 ไร่
เปิดตัว28 กรกฎาคม พ.ศ. 2545
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
การรถไฟแห่งประเทศไทย
ขนส่งมวลชน หมอชิต
พหลโยธิน

สวนวชิรเบญจทัศ หรือที่นิยมเรียกว่า สวนรถไฟ เป็นสวนสาธารณะระดับย่าน มีเนื้อที่กว่า 375 ไร่ (0.6 ตร.กม.) ตั้งอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร 3 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานสวนจตุจักร ประกอบด้วยสวนสาธารณะ 3 แห่งที่มีพื้นที่ติดต่อกันได้แก่ สวนจตุจักร พื้นที่ 155 ไร่ สวนวชิรเบญจทัศ พื้นที่ 375 ไร่ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พื้นที่ 196 ไร่ รวมทั้งหมด 727 ไร่

ประวัติ

[แก้]

สวนวชิรเบญจทัศ เดิมเคยใช้เป็นสนามกอล์ฟรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สร้างขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีมติให้สร้างสวนสาธารณะขึ้นในส่วนของพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชนทั่วไปและประชาชนในย่านใกล้เคียง โดยได้รับพระราชทานชื่อ สวนวชิรเบญจทัศ จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศในพระราชสถานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมายุครบ 50 พรรษา[1]

ภายในสวน

[แก้]
อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566

เลนจักรยาน สวนวชิรเบญจทัศ เป็นเลนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ รอบ ๆ สวน สำหรับผู้ที่นิยมขี่จักรยาน ซึ่งทางสวนฯมีบริการให้เช่าจักรยานสำหรับขี่ มีจักรยานให้เลือกขี่หลายแบบ อัตราค่าบริการคันละ 20–150 บาท และคืนจักรยานภายในวันที่ยืม โดยไม่จำกัดเวลา

อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ เป็นอาคารที่จัดแสดงและเพาะเลี้ยงผีเสื้อและแมลงชนิดต่าง ๆ ขนาดเนื้อที่ 6 ไร่ โดยจัดภูมิทัศน์แบบธรรมชาติ ประกอบด้วยพรรณไม้ต่าง ๆ บ่อน้ำ ลำธาร น้ำตกเล็ก ๆ รวมทั้งพืชพรรณที่เป็นอาหารของผีเสื้อ ภายในตัวอาคารจัดเป็นนิทรรศการแสดงเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผีเสื้อ และด้านข้างจัดเป็นกรงจัดแสดงผีเสื้อมีชีวิตขนาด 1,168 ตารางเมตร เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าเข้าชม ทุกวันอังคารวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.30–16.30 น. ปิดวันจันทร์ เริ่มเปิดทำการในปลายปี พ.ศ. 2547[2]

สวนนันทนาการชุมชนสวนรถไฟ เป็นส่วนที่ให้บริการด้านกิจกรรมนันทนาการรูปแบบต่าง ๆ มีสระว่ายน้ำสำหรับเด็กที่ตกแต่งด้วยน้ำพุ สร้างความเพลิดเพลิน เปิดบริการ 6.00–20.00 น.

ค่ายพักแรม เป็นสถานที่ใช้จัดกิจกรรมกลางแจ้งและตั้งค่ายพักแรมของเด็กนักเรียนเยาวชน

สวนป่าใหญ่ในเมือง เป็นสวนป่าจำลองระบบนิเวศวิทยาของป่าเพื่อทำกิจกรรมการศึกษาธรรมชาติ เพื่อการเรียนรู้ สามารถเข้าถ่ายภาพได้

เมืองจราจรจำลอง

เมืองจราจรจำลอง เป็นสถานที่จำลองสิ่งก่อสร้างและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทยมารวมกันไว้ อาทิ สะพานพระราม 8, ภูเขาทอง, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น อีกทั้งยังใช้เป็นที่ฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการขับขี่ยวดยานและการจราจรแก่เด็ก ๆ และเยาวชน

ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ เป็นอาคารในพื้นที่ 30 ไร่ ที่เป็นศูนย์รวมของการเล่นกีฬาและออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ครบวงจร เช่น ห้องฟิตเนส, สระว่ายน้ำ, ห้องฝึกโยคะ, สนามเทนนิส, สนามฟุตซอล รวมถึงห้องบริการต่าง ๆ เช่น ห้องอาบน้ำ, ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว โดยสร้างขึ้นตามนโยบายของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับเป็นศูนย์กีฬาครบวงจรแห่งแรกในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยการใช้บริการของส่วนนี้ เสียค่าบำรุงสถานที่ปีละ 40 บาท[3]

สวนปิกนิก ฟ้าใส ไม้สวย ด้วยแรงใจ ปตท.สผ. เป็นสถานที่พื้นที่กว่า 4 ไร่ ด้วยการสนับสนุนของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) สำหรับจัดปิกนิก เป็นลานร่มรื่น มีเตาปิ้งสำหรับปิ้งอาหารทานเองได้ และมีบึงน้ำขนาดใหญ่ให้เช่าเรือพายเล่น ราคาลำละ 50 บาท ต่อเวลาครึ่งชั่วโมง เปิดบริการ 7.00–21.00 น.

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ เป็นสาขาของสวนโมกขพลาราม สถานที่ปฏิบัติธรรมและค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับธรรมะ สร้างตามดำริของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 160 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เปิดอย่างเป็นทางการวันแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553[4]

ศูนย์อาหาร เป็นที่ตั้งของร้านค้าอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ต่าง ๆ อยู่บริเวณใกล้ทางเข้าด้านถนนวิภาวดีรังสิต เปิดให้บริการถึง 21.00 น.

การเดินทาง

[แก้]
  • ถนนพหลโยธิน สาย 3 8 26 27 28 29 34 38 39 44 55 63 90 96 104 112 134 138 ปอ.2 ปอ.3 ปอ.9 ปอ.10 ปอ.12 ปอ.13 A1
  • ถนนกำแพงเพชร 2 สาย 77 104 122 136 145 ปอ.23 ปอ.138

สามารถเข้าทางด้านข้าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิตได้ และ ด้าน ถนนกำแพงเพชร 3 (ด้านข้างศูนย์การค้าเจเจมอลล์ จตุจักร และ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร) โดยเสียค่าบำรุงจอดรถคันละ 20 บาท

ภาพถ่าย

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สวนรถไฟ". หมูหินดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-06. สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.
  2. ""อุทยานผีเสื้อฯ" โลกแห่งความงามที่สัมผัสได้". ผู้จัดการออนไลน์. October 18, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-03. สืบค้นเมื่อ July 13, 2010.
  3. ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ)กรุงเทพฯ
  4. "เปิดสวนโมกข์กรุงเทพ". โพสต์ทูเดย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-23. สืบค้นเมื่อ 2010-08-01.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°48′45″N 100°33′16″E / 13.812579°N 100.5544004°E / 13.812579; 100.5544004