สัญญาณเรียกขานทางทะเล

เรือตัดน้ำแข็งนิวเคลียร์โซเวียต Arktika พร้อมสัญญาณเรียกขาน UKTY
USS Carl Vinson และ JDS Ashigara แสดงธงสัญญาณซึ่งแสดงสัญญาณเรียกขาน NCVV และ JSRA ตามลำดับ

สัญญาณเรียกขานทางทะเล (อังกฤษ: Maritime call sign) เป็นสัญญาณเรียกขานที่กำหนดให้เป็นสิ่งระบุตัวตนโดยเฉพาะของเรือ สำหรับใช้ในการสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสาร ซึ่งเรือพาณิชย์และเรือเดินสมุทรของแต่ละประเทศนั้นจะถูกกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลความถี่และออกใบอนุญาตทางทะเลของแต่ละชาติ

ความเป็นมา

[แก้]

ในช่วงแรกของการใช้งานวิทยุโทรเลข วิทยุโทรเลขนั้นถูกติดตั้งอยู่บนเรือเดินสมุทร โดยก่อนจะมีการกำหนดมาตรฐานสากลในการสื่อสารนั้น ได้มีการสร้างเครื่องส่งสัญญาณวิทยุเพื่อสื่อสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรกโดยกูลเยลโม มาร์โกนี ในปี พ.ศ. 2444[1] โดยใช้หลักการเดียวกับการสื่อสารโทรเลขทางรถไฟในการกำหนดให้อักษร 2 ตัวแรกในการส่งรหัสมอส์ต แทนชื่อของสถานีที่ส่งสัญญาณในแต่ละบรรทัดของข้อความ อาทิ AX หมายถึงข้อความส่งมาจากสถานีของ Halifax อักษร N และตัวอักษรอีก 2 ตัวจะหมายถึงกองทัพเรือสหรัฐฯ และ อักษร M และตัวอักษรอีก 2 ตัวจะหมายถึงสถานีของมาร์โกนี

ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2455 อาร์เอ็มเอส ไททานิก สัญญาณเรียกขาน MGY กำลังวุ่นอยู่กับการส่งโทรเลขจากผู้โดยสารบนเรือไปยังสถานีชายฝั่งเคปเรส เมืองนิวฟันด์แลนด์ สัญญาณเรียกขาน MCE ซึ่งขณะนั้นเองได้รับคำเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งจากสถานีของมาร์โกนีบนเรือ เอสเอส เมซาบา (SS Mesaba) สัญญาณเรียกขาน MMU และ เอสเอส แคลิฟอร์เนียน (SS Californian) สัญญาณเรียกขาน MWL[2] แต่ก็ไม่มีการตอบสนองหรือแจ้งเตือนไปยังกัปตันเรือแต่อย่างใด จนกระทั่งเรือประสบเหตุ ได้มีการเรียกขานขอความช่วยเหลือด้วยข้อความ CQD CQD CQD CQD CQD CQD DE MGY MGY MGY MGY MGY MGY POSITION 41.44 N 50.24 W ซึ่งได้รับการตอบรับข้อความโดยเรือ อาร์เอ็มเอส คาร์เพเทีย (RMS Carpathia) สัญญาณเรียกขาน MPA[3] หลังจากนั้นในปีเดียวกัน จึงได้เกิดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อกำหนดมาตรฐานของสัญญาณเรียกขานทางวิทยุสื่อสาร โดยกำหนดให้อักษร 2 ตัวแรกของสัญญาณเรียกขานนั้นสามารถระบุตัวตนสถานีว่าเป็นของประเทศใดในการออกากาศ

สำหรับเรือพาณิชย์และเรือเดินสมุทรและละลำนั้นจะถูกกำหนดสัญญาณเรียกขานโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านคลื่นความถี่วิทยุ หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการทางทะเลของชาติประเทศต้นทางของเรือ ในกรณีของรัฐต่าง ๆ ที่มีการจดทะเบียนแบบเรือชักธงสะดวก (Flag of convenience)[4] อาทิ ปานามา ไลบีเรีย สัญญาณเรียกขานทางทะเลสำหรับเรือขนาดใหญ่จะประกอบไปด้วยคำนำหน้าประเทศ ตามด้วยตัวอักษร 3 ตัว (เช่น 3LXY และบางครั้งตามด้วยตัวเลข เช่น 3LXY2) ส่วนของเรือพาณิชย์ของสหรัฐฯ นั้น จะได้รับสัญญาณเรียกขานที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร "W" หรือ "K" ในขณะที่เรือของกองทัพเรือสหรัฐจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร "N" แต่เดิมนั้น ทั้งตัวเรือและสถานีที่ออกอากาศนั้นจะได้รับสัญญาณเรียกขานประจำตัวประมาณ 3 ถึง 4 หลัก จนกระทั้งความต้องการสัญญาณเรียกขาน ทั้งทางทะเลและสัญญาณเรียกขานในกิจการอื่น ๆ มีความต้องการสูงขึ้น เรือที่เป็นของสหรัฐจึงได้รับสัญญาณเรียกขานทางทะเลที่ยาวขึ้น และมีตัวอักษรพร้อมทั้งตัวเลขผสมกัน

เมื่อสถานีวิทยุสื่อสารเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในทศวรรษที่ 1920 (ประมาณ พ.ศ. 2463) สัญญาณเรียกขานเดิมที่มีความยาว 3 ถึง 4 ตัวอักษรถูกนำมากำหนดใช้งานใหม่ เนื่องจากเรือที่ใช้งานอยู่เดิมถูกลบออกจากฐานข้อมูล อาทิ สัญญาณเรียกขาน WSB ถูกใช้งานโดยเรือ 2 ลำ คือเรือ เรือ SS Francis H. Leggett ซึ่งอับปางนอกชายฝั่งรัฐออริกอนเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2457 และต่อมาคือเรือ Firwood ซึ่งเป็นเรือที่ถูกทำลายด้วยไฟใกล้เปรูเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2462[5] แต่ต่อมาได้ถูกใช้งานโดยวารสารแอตแลนตา (The Atlanta Journal) ซึ่งได้ดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ในปี พ.ศ. 2465 และอีกกรณีที่คล้ายคลึงกัน คือ สัญญาณเรียกขาน WEZU ซึ่งเดิมเป็นสัญญาณเรียกขานทางทะเลของของเรือ SS Lash Atlantico ถูกนำไปใช้งานกับสถานีวิทยุในปี พ.ศ. 2540[6] นอกจากนี้การกำหนดสัญญาณเรียกขานให้เพิ่มเติมนั้นอาจจะกำหนดให้กับสถานีวิทยุสื่อสารชายฝั่ง หรือในกรณีที่มีการขายเรือซึ่งเดิมเป็นของสหรัฐไปยังเจ้าของใหม่ในประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะต้องนำไปจดทะเบียนใหม่ในประเทศนั้น ๆ สัญญาณเรียกขานเดิมนั้นจะถูกนำมาใช้งานใหม่บนสถานีภาคพื้นดินในกิจการวิทยุกระจายเสียง

ในส่วนของเรือสำราญหรือเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กซึ่งมีวิทยุสื่อสารแบบวีเอชเอฟนั้น อาจจะไม่ได้รับการกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล โดยอาจจะใช้การเรียกชื่อเรือแทน และในเรือลาดตระเวนนั้นจะมีการกำหนดหมายเลขแสดงอยู่ที่หัวเรือทั้งสองฝั่ง และมีการใช้งานหมายเลขดังกล่าวเป็นสัญญาณเรียกขาน อาทิ ยามฝั่ง 47021 หมายถึง เรือลำดังกล่าวอยู่ลำดับที่ 21 ในชุดเรือดังกล่าว เรือมีความยาวขนาด 47 ฟุต สัญญาณเรียกขานทางทะเลอาจใช้ตัวย่อเป็นตัวเลขสองหรือสามตัวสุดท้ายของชื่อ เช่น หน่วยยามฝั่ง ศูนย์ สอง หนึ่ง

การกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล

[แก้]

การกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเลนั้นจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่กำกับดูแลคลื่นความถี่และกิจการทางทะเลในแต่ละประเทศ อาทิ

ไทย

[แก้]
เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย (FFG-462) แสดงธงสัญญาณเรียกขานของตนเอง คือ HSMH[7]

สำหรับเรือในประเทศไทย หน่วยงานที่กำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล และ เลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุในประเทศไทย[8] และกำกับการใช้งานทางทะเลโดยกรมเจ้าท่า[9]

สหรัฐ

[แก้]

สำหรับเรือในสหรัฐอเมริกาที่ต้องการมีใบอนุญาตวิทยุนั้น จะต้องดำเนินการตาม FCC Radio Service Code SA: "Ship Recreational or Voluntarily Equipped"[10] ซึ่งมีคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) เป็นผู้กำกับดูแลอยู่

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Intellectual Property, Telecommunication Patents, Wireless Telegraphy". Q-Thai Forum.
  2. "Titanic FAQs, Page 2: Signals". Marconigraph.com. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 21, 2009.
  3. "The RMS Titanic Radio Page". HF.ro. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 17, 2016.
  4. Technology, Ship Expert. "5 อันดับประเทศยอดฮิตจดทะเบียนเรือ". blog.shipexpert.net (ภาษาอังกฤษ).
  5. Fenwick, William (July 1928). "Broadcast Station Calls With a Past". Radio Broadcast. Doubleday, Doran & Company, Inc.: 150.
  6. "US NODC Codes for worldwide ships sorted by ship name". International Research Vessel Schedules & Information. Oceanic Information Center. สืบค้นเมื่อ December 29, 2019.
  7. "HTMS Phutthaloetla Naphalai FFG 462". Helis.com (ภาษาอังกฤษ).
  8. "ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล" (PDF). ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำนักงาน กสทช.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. ระเบียบข้อบังคับสำนักนำร่อง เขตท่าเรือกรุงเทพฯ - สำนักนำร่อง (md.go.th)
  10. "Ship Radio Stations". Federal Communications Commission. October 9, 2019. สืบค้นเมื่อ December 29, 2019.