หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์

หม่อมหลวง

บุปผา นิมมานเหมินท์
เกิด17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต17 มกราคม พ.ศ. 2506 (57 ปี)
นิวเดลี ประเทศอินเดีย
นามปากกาดอกไม้สด
อาชีพนักเขียน
สัญชาติไทย
ช่วงเวลาพ.ศ. 2472 – 2506
คู่สมรสสุกิจ นิมมานเหมินท์ (2497–2506)

หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ (ราชสกุลเดิม: กุญชร; 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 — 17 มกราคม พ.ศ. 2506) เป็นนักเขียนหญิงชาวไทย เจ้าของนามปากกา ดอกไม้สด ภริยาของสุกิจ นิมมานเหมินท์ ราชบัณฑิตและนักการเมืองชาวไทย และท่านยังเป็นพี่สาวของหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ หรือนามปากกาว่า บุญเหลือ ซึ่งเป็นนักเขียนเช่นกัน

ประวัติ

[แก้]

หม่อมหลวงบุปผาเป็นธิดาลำดับที่ 31 ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) และนางมาลัย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 ที่วังบ้านหม้อ เป็นพี่สาวร่วมบิดากับหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักเขียนชาวไทยที่มีนามปากกาว่า บุญเหลือ เวลาต่อมามารดากับบิดาแยกทางกันเมื่อท่านอายุ 4 ขวบ หม่อมเจ้าหญิงชมในกรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ จึงได้ขอไปเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง ด้วยความที่หม่อมเจ้าหญิงชมเป็นผู้ยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ส่งผลให้หม่อมหลวงบุปผาเป็นคนที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาตั้งแต่เล็ก ๆ จนอายุ 13 ปี ท่านกลับมาอยู่บ้านและเข้าเรียนที่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ทางภาษาฝรั่งเศส

ท่านเริ่มต้นอาชีพนักเขียน โดยเริ่มเขียนบทละคร "ดีฝ่อ" และเริ่มเขียนหนังสือในปี พ.ศ. 2472 เมื่ออายุ 20 ปี เรื่องแรก คือ "ศัตรูของเจ้าหล่อน" ลงพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทยเขษม ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2472

งานเขียนของดอกไม้สดถือได้ว่าเป็นนิยายกึ่งพาฝันกึ่งสมจริงรุ่นบุกเบิก งานส่วนใหญ่ของท่านจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องความรักและการหาคู่ของคนหนุ่มสาว ท่านเป็นนักเขียนรุ่นแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับตัวละครฝ่ายหญิงมาก

ผลงานในระยะแรกของดอกไม้สดจะมีความเป็นโรมานซ์ แต่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของท่านในฐานะที่เป็นราชตระกูลที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในวัง นวนิยายของท่านจะมีลักษณะเรียลลิสติกมากขึ้น เช่นเรื่อง ผู้ดี

ในปี พ.ศ. 2477 เมื่อท่านอายุได้ราว 30 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัย "ผู้ใหญ่" เต็มตัวในช่วงเวลานั้น นวนิยายของท่าน "หนึ่งในร้อย" มีความสุขุมลุ่มลึกขึ้นอย่างมาก ความสนใจและเข้าใจในพุทธศาสนาของผู้ประพันธ์ได้ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครอย่างลึกซึ้ง เช่น วิธีคิดของตัวละครเอกฝ่ายชาย คุณพระอรรถคดีวิชัย ซึ่งมีวิธีคิดและดำรงชีวิตอยู่บนหลักพุทธศาสนาโดยผสมผสานออกมาเป็นชีวิตของคนที่ปกติ ไม่ได้แสดงอาการ "แก่วัด" แต่นำหลักนั้นไปคบหาสมาคมผู้อื่น นำพาครอบครัว สงเคราะห์ญาติ เสียสละ และปฏิบัติราชการในฐานะผู้พิพากษา รวมทั้งมีการสอดแทรกพุทธศาสนสุภาษิตเป็นช่วง ๆ เพื่ออธิบายการขับเคลื่อนของเรื่องราว ในทางกลับกันผู้ประพันธ์ได้สะท้อนการมองโลกแบบสมัยใหม่แต่ให้คุณค่าในสังคมไทยแบบเก่าได้ถูกผสานผ่านการแสดงตนของตัวละครหลักฝ่ายหญิง อนงค์ อย่างดีเพราะเป็นสาวสมัยที่ขึ้นชื่อว่า "เปรี้ยว" ขับรถ เต้นรำ ตกแต่งห้องแบบโมเดิร์น แต่งตัวด้วยแฟชั่นยุค 1930 ที่ผู้หญิงกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น เปิดเผยร่างกายและการกระทำมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมีความละมุมละม่อม คิดถี่ถ้วน และวางตัวดี แม้คนอื่น ๆ จะไม่เข้าใจและตัดสินตัวละครเหล่านั้น ตามค่านิยมแห่งยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ตัวละครเหล่านั้นมีหลักยึดของตน

ในปี พ.ศ. 2491 ท่านมีผลงานเรื่องสั้นชุด "พลเมืองดี" ออกมา และในปี 2492 ท่านเขียนเรื่อง "วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย" ได้เพียงสองบทก็ต้องหยุดไปเพราะปัญหาสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2497 ท่านเดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศออสเตรเลีย และสมรสกับศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินท์[1] (ผู้เขียน คนแซ่หลี) ในเดือนกันยายนปีเดียวกันที่ซานฟรานซิสโก ต่อมาปี พ.ศ. 2502 ติดตามสามีไปประเทศอินเดีย เมื่อ ศ. สุกิจ นิมมานเหมินท์ไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี

หม่อมหลวงบุปผาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506 ด้วยโรคหัวใจวาย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ภายในบริเวณสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ตลอดอายุขัย 57 ปี รวมแล้ว ดอกไม้สดมีผลงานนวนิยายทั้งสิ้น 12 เรื่อง, เรื่องสั้น 20 เรื่อง และนวนิยายที่เขียนไม่จบอีก 1 เรื่อง รวมพิมพ์เป็นเล่มทั้งสิ้น 14 เล่ม

ผลงานสร้างชื่อเสียง

[แก้]
  • ศัตรูของเจ้าหล่อน (2472)
  • นิจ (2472)
  • นันทวัน (2472)
  • ความผิดครั้งแรก (2473)
  • กรรมเก่า (2475)
  • สามชาย (2476) (เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนอยู่สมัยหนึ่ง)
  • หนึ่งในร้อย (2477) (อยู่ใน หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน)
  • อุบัติเหตุ (2477)
  • ชัยชนะของหลวงนฤบาล (2478)
  • ผู้ดี (2480) (กระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาชั้นมัธยมศึกษาถึงปัจจุบัน)
  • นี่แหละโลก (2483) (ได้รับรางวัลนวนิยายของชาวเอเชีย แล้วได้ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น)
  • วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย (2492) (แต่งไม่จบ)
  • บุษบาบรรณ (รวมเรื่องสั้น สมาคมนักประพันธ์ออสเตรเลียนำเรื่องสั้นชื่อ "พลเมืองดี" ไปตีพิมพ์ในหนังสือเล่มพิเศษ ชื่อ "SPAN" บางครั้งเรื่องนี้นำไปพิมพ์ในชุดพู่กลิ่น)
  • พู่กลิ่น (รวมเรื่องสั้น เดิมใช้ชื่อว่า "เรื่องย่อย")

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-02. สืบค้นเมื่อ 2011-03-16.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]