อาหารโอกินาวะ

ชุดอาหารโอกินาวะ ประกอบด้วยโซบะแบบโอกินาวะ, จัมปุรูมะระ และเบียร์โอริออน
ราฟูเต หรือสตูหมูโชยุ
ฮิรายาชี ลักษณะคล้ายกับโอโกโนมิยากิของญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่

อาหารโอกินาวะ (ญี่ปุ่น: 沖縄料理โรมาจิOkinawa ryōri) คืออาหารพื้นเมืองของจังหวัดโอกินาวะซึ่งเป็นจังหวัดภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่น บ้างเรียกว่า อาหารรีวกีว (ญี่ปุ่น: 琉球料理โรมาจิRyūkyū ryōri) ตามนามอดีตอาณาจักรรีวกีวซึ่งเคยตั้งอยู่ ณ บริเวณดังกล่าว[1] เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์การติดต่อค้าขายกับต่างชาติ, ภูมิอากาศ, พืชพรรณ และวัตถุดิบอื่น ๆ ทำให้อาหารโอกินาวะแตกต่างไปจากอาหารญี่ปุ่นในแผ่นดินใหญ่

ประวัติ

[แก้]

อาหารโอกินาวะได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากอาหารจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สืบเนื่องจากการค้าขายที่มีมายาวนาน มันเทศเข้าสู่โอกินาวะเมื่อปี ค.ศ. 1605 ที่ต่อมาได้กลายเป็นอาหารหลักของโอกินาวะจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 บทความที่เขียนโดยบริษัทคิคโคแมนระบุว่ามะระและบวบในโอกินาวะถูกนำไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาเมื่ออาณาจักรรีวกีวตกเป็นรัฐบรรณาการของจีน พ่อครัวชาวโอกินาวะจำนวนหนึ่งได้เข้าไปเรียนรู้การทำอาหารอย่างจีนที่มณฑลฝูเจี้ยน ด้วยเหตุนี้อาหารจีนส่งอิทธิพลสู่อาหารโอกินาวะมาจนถึงปัจจุบัน และบทความของคิคโคแมนยังกล่าวไปอีกว่าการกลั่นอาวาโมริ (ญี่ปุ่น: 泡盛โรมาจิAwamori) อาจเป็นสิ่งเดียวกับเหล้าขาวซึ่งได้รับไปจากสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน[2] โดยเข้าสู่โอกินาวะตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ครั้นเมื่อแคว้นคาโงชิมะเข้ารุกรานอาณาจักรรีวกีว เหล่าพ่อครัวโอกินาวะจึงเข้าไปร่ำเรียนการทำอาหารญี่ปุ่น และด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาหารโอกินาวะได้รับอิทธิพลจากอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาอีก[3]

ในช่วงที่สหรัฐปกครองโอกินาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในระยะเวลาดังกล่าว อาหารกระป๋องได้รับความนิยมมาก ร้านแฮมเบอร์เกอร์แบบอเมริกันผุดขึ้นในโอกินาวะ ชาวโอกินาวะเองก็คุ้นชินกับวัฒนธรรมอาหารของอเมริกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีทหารสหรัฐเข้ามาประจำการอยู่ในโอกินาวะนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง[1]

ลักษณะ

[แก้]

อาหารโอกินาวะมีการใช้ผักและผลไม้ประกอบ โดยได้รับอิทธิพลจากอาหารเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้สมุนไพรและเครื่องเทศมากกว่าอาหารญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ แต่น้อยกว่าอาหารในกลุ่มประเทศหมู่เกาะเขตร้อนอื่น ๆ[4] อาหารโอกินาวะส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยเกลือ, มิโซะ, ปลาโอแห้ง, สาหร่ายคมบุ และเห็ดชนิดต่าง ๆ

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของอาหารโอกินาวะคือนิยมใช้เนื้อสัตว์ โดยมีแหล่งโปรตีนหลักคือเนื้อหมู ส่วนหนึ่งก็เพราะหมู่เกาะโอกินาวะแทบมิได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธหรือรับนโยบายงดบริโภคเนื้อสัตว์ของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ทั้งนี้โอกินาวะมีวัฒนธรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคมาตั้งแต่สมัยเอโดะแล้ว ชาวโอกินาวะกล่าวถึงอาหารของพวกตนว่า "เริ่มด้วยหมู จบที่หมู" และ "หมูกินได้ทุกส่วนยกเว้นกีบเท้าและเสียงร้องอู๊ด ๆ ของมัน"[3]

แม้โอกินาวะจะล้อมรอบไปด้วยทะเล แต่ชาวโอกินาวะบริโภคอาหารทะเลค่อนข้างน้อยหากเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมชายฝั่งทะเลในที่อื่น ๆ ปลาและผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเลต่าง ๆ ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะสภาพอากาศของโอกินาวะค่อนข้างร้อน อาจทำให้เน่าเสียง่าย ด้วยเหตุนี้จึงมีวิธีถนอมอาหาร เป็นต้นว่าหมักเกลือ, ตากแห้ง, ย่าง, เคี่ยวกับซอสถั่วเหลือง หรือทำเป็นคามาโบโกะแทน ส่วนซาชิมิในโอกินาวะมีให้รับประทานค่อนข้างจำกัด ด้วยอุณหภูมิบนเกาะส่งผลให้ความสดใหม่คงอยู่ได้ไม่นาน ต่างจากญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "沖縄料理" [Okinawan Cuisine]. Nihon Daihyakka Zensho (Nipponika) (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Shogakukan. 2013. OCLC 153301537. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 25, 2007. สืบค้นเมื่อ 2013-07-15.
  2. Nakasone, Ronald Y. (2002). Okinawan diaspora. University of Hawaii Press.
  3. 3.0 3.1 Ishige, Naomichi. "Food Forum Okinawa เก็บถาวร 2008-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Kikkoman. Retrieved on November 30, 2009.
  4. Beare, Sally (2006). 50 secrets of the world's longest living people. New York: Marlowe & Co. ISBN 9781569243480.