เอสซีบีพาร์กพลาซา | |
---|---|
![]() | |
![]() | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เสร็จสมบูรณ์ |
ที่ตั้ง | 9 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
พิกัด | 13°49′38″N 100°33′53″E / 13.82722°N 100.56472°E |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2535 |
แล้วเสร็จ | พ.ศ. 2539 |
ความสูง | |
หลังคา | เอสซีบีพาร์กพลาซา 1 (อาคารสูงที่สุด) 137 เมตร |
ชั้นบนสุด | 37 |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
จำนวนชั้น | 37 |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | บริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด |
เอสซีบีพาร์กพลาซา (อังกฤษ: SCB Park Plaza) หรือ ไทยพาณิชย์พาร์กพลาซา (อังกฤษ: Siam Commercial Bank Park Plaza) เป็นอาคารสำนักงานในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ใช้เวลาก่อสร้างมากกว่า 4 ปี ด้วยงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาท (400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น) สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2539 เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทในเครือเอสซีบี เอกซ์ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงผู้เช่าสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกอื่น ๆ
เอสซีบีพาร์กพลาซาตั้งอยู่บนพื้นที่ 52 ไร่ (8.3 เฮกตาร์; 21 เอเคอร์) อยู่บนถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับแยกรัชโยธิน ออกแบบโดย โรเบิร์ต บุย สถาปนิกชาวอเมริกันที่อาศัยในประเทศไทย เป็นหนึ่งในอาคารแรก ๆ ในประเทศไทยที่นำระบบอัจฉริยะมาปรับประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เหมาะสมที่สุด และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในยุคนั้นสำหรับการพัฒนากลุ่มอาคารทั้งหมดเป็นโครงการเดียวภายใต้การออกแบบองค์รวมร่วมกัน[1]
เอสซีบีพาร์กพลาซาประกอบด้วยอาคาร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาคารหลักความสูง 37 ชั้น หลังคารูปทรงปิรามิดสีทอง และอาคารที่อยู่ติดกันความสูง 24 ชั้น, อาคารเอสซีบีพาร์กพลาซาเวสต์ ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ความสูง 12 ชั้น และ 21 ชั้น และอาคารเอสซีบีพาร์กพลาซาอีสต์ ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ความสูง 21 ชั้น และ 5 ชั้น[2] แต่ละกลุ่มตั้งอยู่บนอาคารค้าปลีกที่เชื่อมต่อกัน และมีบริการที่จอดรถอยู่ใต้ดินทั้งหมด การออกแบบเน้นรูปทรงสามเหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่ และอาคารที่มีผนังกระจกทั้งหมดก็มีผังพื้นที่ตามตารางสามเหลี่ยม รวมถึงมีช่องแสงหลังคาทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ครอบคลุมบริเวณห้องโถงกลางของอาคารหลัก[1]
เอสซีบีพาร์กพลาซาเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ในคริสต์ทศวรรษ 2010[3] เช่นเดียวกับสำนักงานของบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่ง สำนักงานใหญ่ของยูนิลีเวอร์ในประเทศไทยอยู่ที่โครงการนี้จนถึงปี พ.ศ. 2558[4] ได้รับการออกแบบด้วยเป้าหมายที่จะเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมแบบบูรณาการ[1] นอกจากนี้ อาคารชุดยังมีร้านค้าและร้านอาหารจำนวนมากในห้างสรรพสินค้าโพเดียม และเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้ที่อาศัยและทำงานในพื้นที่[5]
เคยมีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นในเอสซีบีพาร์กพลาซาทั้งสิ้น 2 ครั้ง ดังนี้