แวมไพร์เซอร์ไวเวอส์ | |
---|---|
ผู้พัฒนา | ลูกา กาลันเต |
ผู้จัดจำหน่าย | ลูกา กาลันเต |
แต่งเพลง | ดานีเอเล ซันดารา ฟีลิปโป วีกาเรลลี |
เครื่องเล่น | ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ แมคโอเอส |
วางจำหน่าย | 20 ตุลาคม 2565 |
แนว | โรกไลก์ ยิงแหลก |
รูปแบบ | วิดีโอเกมผู้เล่นเดี่ยว |
แวมไพร์เซอร์ไวเวอส์ เป็นวิดีโอเกมแนวโรกไลก์ยิงแหลก (ชูตเอ็มอัป) ซึ่งพัฒนาและเผยแพร่โดยลูกา กาลันเต ผู้เป็นที่รู้จักในอีกชื่อ poncle เกมปล่อยฉบับเออร์ลีแอ็กเซส (early access) ออกมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และวางจำหน่ายอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565[1]
ผู้เล่นจะควบคุมตัวละครที่โจมตีแบบอัตโนมัติขณะที่กำลังต่อสู้กับสัตว์ประหลาดที่มาเป็นระลอกต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เอาชีวิตรอดจากการจู่โจมให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้และปลดล็อกตัวละคร อาวุธ และวัตถุเรลิกเพิ่มเติมเพื่อใช้ต่อไปในการเล่นครั้งถัดไป และแม้ว่าชื่อและงานศิลปะหลักของเกมจะประกอบด้วยแวมไพร์ สัตว์ประหลาดที่จะต้องเผชิญหน้าทุก ๆ ชนิดไม่มีชนิดใดเลยที่เป็นแวมไพร์
ผู้เล่นจะเลือกหนึ่งในตัวละครต่าง ๆ ที่มีพลังวิเศษและอาวุธเริ่มต้นที่ต่างกัน และควบคุมตัวละครนั้นผ่านแผนที่ที่ไม่มีจุดจุบที่มีแผนผังซ้ำที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ อาวุธของผู้เล่นจะโจมตีแบบอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายให้เอาชีวิตรอดให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้จากการจู่โจมของสัตว์ประหลาดที่มาเป็นระลอกต่อเนื่องซึ่งจะสร้างความเสียหายเมื่อสัมผัสโดนผู้เล่น ผู้เล่นจะสามารถเก็บเกี่ยวอัญมณีแต้มประสบการณ์ได้จากการเอาชนะสัตว์ประหลาดและการสำรวจแผนที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเลเวล หรือ "floor chicken" (ไก่พื้น) เพื่อฟื้นฟูเลือดของผู้เล่นและไอเทมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ ผู้เล่นจะได้รับตัวเลือกสามหรือสี่ตัวเลือกสำหรับอาวุธและพลังวิเศษตั้งรับเพิ่มในทุก ๆ ครั้งที่เลเวลสูงขึ้น และเมื่อผู้เล่นสะสมอาวุธกับพลังวิเศษได้ครบอย่างละหกชนิดแล้วและได้อัปเกรดจนสุดแล้ว ผู้เล่นจะได้รับเฉพาะเหรียญทองหรือไก่เพิ่มเท่านั้นในทุก ๆ ครั้งที่เลเวลสูงขึ้น นอกจากนี้แล้วก็สามารถอัปเกรดอาวุธและพลังวิเศษได้อีกทางด้วยการเปิดหีบซึ่งหล่นจากสัตว์ประหลาดที่มีพลังมากเป็นพิเศษ โดยอาจมีไอเทมอยู่หนึ่ง สาม หรือห้าชิ้น อาวุธส่วนใหญ่มีรูปขั้นสุดท้ายซึ่งจะได้จากการเปิดหีบหลังจากได้อัปเกรดพวกมันจนสุดแล้วและประกอบด้วยเงื่อนไขเฉพาะอื่น ๆ[2][3]
การเล่น แวมไพร์เซอร์ไวเวอส์ แต่ละรอบมีจำกัดเวลาแบบอ่อนอยู่ที่ 15 หรือ 30 นาทีขึ้นอยู่กับว่าเลือกเล่นแผนที่ไหน เมื่อถึงจำกัดเวลาแล้ว แผนที่จะถูกล้างและศัตรูตัวสุดท้ายซึ่งแข็งแกร่งอย่างมากชื่อว่า "Death" จะปรากฏตัว โดยจะมี Death ปรากฏตัวออกมาทุก ๆ หนึ่งนาทีเพื่อให้ผู้เล่นต้องตายลงในที่สุด การเล่นครั้งใดที่ถึงหรือเลยจำกัดเวลาของแผนที่ไปจะถือว่าเป็นการเล่นจบเกมโดยสำเร็จ และจะได้รางวัลเหรียญทองเพิ่ม ในระหว่างแต่ละเกมจะสามารถใช้เหรียญทองซึ่งสะสมไว้เพื่อปลดล็อกตัวละครใหม่ ๆ และพลังวิเศษถาวรได้ นอกจากนั้น เมื่อสำเร็จคำท้าแล้วผู้เล่นก็จะสามารถปลดล็อคแผนที่ อาวุธ และตัวละครใหม่ ๆ ได้
ฉากของเกมแวมไพร์เซอร์ไวเวอส์อยู่ในชนบทอิตาลีใน พ.ศ. 2564 ฝูงสัตว์ประหลาดที่ Bisconte Draculó เสกขึ้นมาทำลายล้างแผ่นดิน ครอบครัว Belpaese และผู้รอดชีวิตวีรบุรุษคนอื่น ๆ ถือเป็นหน้าที่ของพวกเขาในการไล่ล่าและเอาชนะ Draculó ให้จนได้[4] ภารกิจนี้นำพาพวกเขาผ่านพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสัตว์ประหลาด ไม่ว่าจะเป็นป่าต้องคำสาป ห้องสมุดผีสิง โรงงานนมร้าง หอคอยลางร้าย และวิหารต่างโลก
นักพัฒนาลูกา "poncle" กาลันเต ได้อธิบายว่าเขาสร้างเกมแวมไพร์เซอร์ไวเวอส์ขึ้นมาเพราะเขาอยากจัดการชุมชน อย่างที่เขาเคยมีประสบการณ์เป็นผู้ดูแลในเซิร์ฟเวอร์เกมอัลติมาออนไลน์ (Ultima Online) มาก่อน โดยเกมได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมมือถือ Magic Survival ซึ่งมีตัวละครที่โจมตีศัตรูแบบอัตโนมัติเช่นกัน ขั้นพัฒนาฉบับเออร์ลีแอ็กเซสใช้เวลาประมาณหนึ่งปี และกาลันเตใช้เงินประมาณ 1100 ปอนด์สเตอร์ลิงไปกับแอสเซ็ต ศิลปะ และดนตรี[5]
ความสำเร็จของเกมเกินความคาดหวังของกาลันเต และทำให้เขาสามารถลาออกจากงานของเขาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เพื่อมุ่งพัฒนาเกมอย่างเต็มตัว เขาได้ "เพื่อนบางคน" มาช่วยเขาอย่างไม่เป็นทางการในเวลาว่าง เนื้อหาที่วางแผนไว้มีอาวุธ ตัวละคร และแผนที่เพิ่มเติม รวมทั้ง "โหมดไม่มีที่สิ้นสุด" กาลันเตตั้งใจจะเอาเกมแวมไพร์เซอร์ไวเวอส์ออกจากเออร์ลีแอ็กเซสภายในปลาย พ.ศ. 2565[6]
ในวันที่ 24 มีนาคม 2022 กาลันเตประกาศว่าเขาได้จ้างฟรีแลนซ์เซอร์หลายคนเพื่อขยายทีมแวมไพร์เซอร์ไวเวอส์แล้วอัตราการพัฒนาก็เร็วขึ้น นอกจากเขาได้วางแผนเค้าโครงขอบเขตของเนื้อหาใหม่ที่สัญญาไว้ กาลันเตยังได้อธิบายว่าหมุดหมายหลักซึ่งได้ตั้งไว้สำหรับฤดูร้อนปี 2565 คือการพอร์ตเกมแวมไพร์เซอร์ไวเวอส์ไปยังเกมเอนจิน "มาตรฐานอุตสาหกรรม" เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพทั่วไปของมัน[7]
แม้ว่าแวมไพร์เซอร์ไวเวอส์เมื่อปล่อยออกมาตอนแรกไม่เป็นที่รู้จัก แต่เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 ก็ได้กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาและมีผู้เล่นสูงถึง 30,000 คนพร้อมกันบนสตีม[5][8] ตัวเลขนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้เล่นมากกว่า 70,000 คนพร้อมกันในเดือนถัดมา[9] แม้ว่าไม่ใช่เกมแรกในแนวนี้ แวมไพร์เซอร์ไวเวอส์กลับทำให้มีเกมอื่นหลายเกมที่มีรูปแบบการเล่นอัตโนมัติและการเดินหน้าแบบโรกไลก์ปล่อยออกมาในปีต่อ ๆ มา ซึ่งส่วนมากในราคาต่ำและอยู่ในเออร์ลีแอ็กเซส[10]
เอียน วอล์กเกอร์ (Ian Walker) จากโคตากุ (Kotaku) และเกรอัม สมิธ (Graham Smith) จากร็อก เปเปอร์ ช็อทกัน (Rock Paper Shotgun) ได้ยกย่องเกมนี้โดยเปรียบเทียบเหมือนกับโดปามีน[2][11] นิโคล คาร์เปนเตอร์ (Nicole Carpenter) จากเว็บไซต์โพลีกอน (Polygon (website)) ได้กล่าวถึงความลึกของเกม โดยกล่าวว่า "ฉันไม่เห็นสตรีมเมอร์ (Online streamer) คนไหนที่เห็นเล่นเกมนี้เหมือนกันเลยสักคน"[a][3] แอรอน ซิมเมอร์แมน จากอาร์ซ เทกนิกา (Ars Technica) ยกให้แวมไพร์เซอร์ไวเวอส์เป็นตัวเลือกของเขาสำหรับเกมแห่งปี[10]
แวมไพร์เซอร์ไวเวอส์ถูกเสนอชื่อในหมวดหมู่ Best Early Access Launch สำหรับรางวัลโกลเดินจอยสติก (Golden Joystick Awards)[12]
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)