บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน Khon Kaen Wittayayon School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ประเทศไทย | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ข.ก., KKW (อักษรย่อ), ขอนแก่นวิทย์(ไม่ทางการ) |
ชื่อเดิม |
|
ประเภท | |
คติพจน์ | "ความรู้ดี มีจรรยา กีฬาเด่น ดนตรีดัง" สุวิชาโน ภวํ โหติ (ผู้มีความรู้ดี คือผู้เจริญ) |
สถาปนา | พ.ศ. 2440 (127 ปี 339 วัน) |
ผู้ก่อตั้ง | |
เขตการศึกษา | สพม.ขอนแก่น |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ |
สหวิทยาเขต | เมืองขอนแก่น |
ผู้อำนวยการ | นายบุญเหลือ ทองอ่อน |
เจ้าหน้าที่ | 295 คน |
ระดับชั้น |
|
เพศ | สหศึกษา |
จำนวนนักเรียน | 4,468 คน (พ.ศ. 2566) |
วิทยาเขต | หลัก |
ขนาดวิทยาเขต | 21ไร่ |
สี | สีชมพู-สีฟ้า-สีเหลือง |
เพลง | มาร์ชขอนแก่นวิทยายน, เชิดชู, สายสัมพันธ์, ขวัญเมือง, ชมพูคู่หล้า ฟ้าคู่เมือง เหลืองคู่ใจ, รัศมีดวงคบเพลิง, ลาวิทยายน |
เว็บไซต์ | |
อัปเดตล่าสุด: 25 มกราคม พ.ศ. 2565 |
โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เป็นโรงเรียนรัฐบาลระดับมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยถือเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในใจกลางเทศบาลนครขอนแก่น เปิดทำการสอนในรูปแบบสหศึกษา ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตการศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น เป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุด เป็นอันดับ 2 ของประเทศ อันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[a][1]
โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)[2]
โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่นแห่งแรก[ต้องการอ้างอิง] ก่อตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2440 โดยนายกิจจการี (จีน ปิยรัตน์) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขอนแก่น ร่วมกับพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น และอุปฮาด (ท้าวหนูหล้า สุนทรพิทักษ์) จัดตั้งโรงเรียนชั้นมูลศึกษาขึ้น ตามแนวนโยบายด้านการศึกษาของกรมธรรมการ โดยเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำเมืองขอนแก่น ให้ชื่อว่า "โรงเรียนขอนแก่น (ชาย)" นายทับ ฉิมมา เป็นครูใหญ่คนแรก
การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขอนแก่น (ชาย) ได้ดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งกำหนดให้มีการเรียนวิชาต่าง ๆ ประกอบด้วย คัดไทย เขียนไทย จรรยาและวิชาเลขคณิต แบ่งการเรียนออกเป็น 3 ชั้น คือ
จนกระทั่งทางราชการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 แบ่งการศึกษาเป็น 2 ระดับ คือสามัญและวิสามัญ โรงเรียนขอนแก่น (ชาย) จัดการศึกษาในสายสามัญ โดยเปิดสอน 2 ระดับ คือ ประถมศึกษาปีที่ 1-3 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1-3
ครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. 2449 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาตรวจราชการยังมณฑลอุดรอีสาน และเสด็จมายังเมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2449 ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนขอนแก่น (ชาย) ตอนหนึ่ง ความว่า
เวลาบ่าย 4 โมง ไปดูที่ต่าง ๆ จนถึงตลาดและวัดธาตุ มีโรงเรียนซึ่งข้าหลวงบริเวณจัดตั้งขึ้น มีพระสอน มีจำนวนนักเรียน 109 คน แต่สวมเสื้อและหมวกเหมือนกันหัดเข้าแถว คำนับอย่างเรียบร้อยแล้วกลับที่พักแรม
พุทธศักราช 2453 ได้มีการสร้างอาคารเรียนขึ้น 1 หลัง ซึ่งพระครูพิศาลอรัญเขตร์ ได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 60 บาท จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนให้กับโรงเรียนด้วย[3] และในปีนี้เอง โรงเรียนขอนแก่น (ชาย) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวัดธาตุวิทยาคาร
4 ปีถัดมา คือใน พ.ศ. 2458 พระยาพิศาลสารเกษตร (พร พิมพะสูต) ผู้ว่าราชการเมืองในขณะนั้น ได้พิจารณาให้ย้ายที่ทำการของโรงเรียนวัดธาตุวิทยาคารจากบริเวณวัดธาตุ ให้ไปตั้งอยู่ ณ ที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายนปัจจุบัน โดยมีการก่อสร้างอาคารชั่วคราวขึ้น 1 หลังสำหรับทำการเรียนการสอน เป็นอาคารทรงปั้นหยา ชั้นเดียว ยกพื้น แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน"
ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประถมศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2464 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายนได้จัดการเรียนการสอนต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งการพระราชทานนามใน พ.ศ. 2470
ได้มีการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้น ด้วยเงินศึกษาพลีจำนวน 24,500 บาท ตามแบบของกระทรวงธรรมการ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2468 แล้วเสร็จส่งมอบให้กรรมการตรวจรับเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2469 ตัวอาคารกว้าง 24 เมตร ยาว 45 เมตร รวมทั้งใน พ.ศ. 2469 ได้มีการสร้างโรงพละขึ้น 1 หลัง ใช้งบประมาณ 10,000 บาท
จากการก่อสร้างอาคารทั้งสองหลัง มีการใช้งบประมาณของทางราชการเป็นจำนวนมาก จังหวัดขอนแก่นโดยมณฑลอุดร จึงได้มีเอกสาร ศธ.51.15/42 เรื่อง มณฑลอุดรขอนามโรงเรียนประจำจังหวัด "ขอนแก่นวิทยายน" ไปยังบางกอก[4] ขอพระราชทานนามของโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะครูและนักเรียน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามโรงเรียนลงมา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ว่า
ขอนแก่นวิทยายน
ต่อมา โรงเรียนได้รับอนุมัติให้เปิดการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนกลางปีที่ 1 (ม.4) [5] ใน พ.ศ. 2474 มีการเริ่มเก็บค่าเล่าเรียนจากนักเรียนโดยอนุมัติเสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น คือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ โดยให้เก็บค่าเล่าเรียน [6]ทั้งนี้ โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้ ตามประกาศของแผนกธรรมการ มณฑลอุดรอีสาน[7]
พ.ศ. 2476 โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ และมีการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 ทำการเรียนการสอนตั้งระดับประถมศึกษา ถึง ระดับมัธยมศึกษา
พ.ศ. 2484 เกิดสงครามอินโดจีนขึ้น คณะครู ยุวชนทหาร (ก่อตั้งในโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. 2480) นักเรียน และลูกเสือโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนได้ร่วมกับทางราชการในการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัด โดยมีหน้าที่ในการควบคุมแสงไฟและการจราจร ในปีการศึกษานี้ ไม่มีการสอบไล่ โดยทางโรงเรียนให้ถือว่านักเรียนสอบไล่ได้ทั้งหมด หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ ภายในโรงเรียนมากมาย เช่น โรงวิทยาศาสตร์ โรงฝึกงานฝีมือ บ้านพักครู [8]
ใน พ.ศ. 2496 รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนการศึกษาชาติฉบับใหม่ โรงเรียนได้ปรับระดับชั้นเป็นมัธยมต้น 3 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และเตรียมอุดมศึกษา 2 ปี ซึ่งในส่วนหลังนี้ได้มีการเปิดเรียนเมื่อภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2501 ส่วนการศึกษาระดับประถมศึกษาที่เคยจัดมานั้น ได้โอนไปอยู่กับงานของเทศบาลเมืองขอนแก่นตั้งแต่ พ.ศ. 2482 แล้ว[9]
พุทธศักราช 2507 กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแบบจัดการศึกษาให้มีระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.1-3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.4-5) แทนการจัดการเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา (ม.7-8) แบบเดิม จึงได้มีการก่อตั้งโรงเรียนโครงการมัธยมศึกษาแบบประสมขึ้นแห่งแรกในจังหวัดขอนแก่น อาศัยสถานที่ของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนเป็นสถานที่ในการจัดการศึกษาชั่วคราว โดยรับนักเรียน ม.ศ.1 ทั้งหญิงและชาย กระทั่งปีการศึกษา 2511 จึงได้ย้ายออกไปก่อตั้งเป็นโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยในปัจจุบัน
พ.ศ. 2512 ขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้มากขึ้นตามแผนการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 รวมทั้งได้มีการกำหนดเปลี่ยนแปลงการใช้อักษรย่อปักเสื้อของนักเรียนจากที่ปัก ข.ก.1 ให้เป็น ข.ก. ซึ่งใช้ปักบนเสื้อนักเรียนจนประทั่งปัจจุบัน มีการปรับปรุงและก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในโรงเรียนมากมาย และยังคงอยู่ในสถานศึกษาจนปัจจุบัน เช่น มีการก่อสร้างอาคาร 3 ราวปีพุทธศักราช 2518 อาคาร 1 ราวปีพุทธศักราช 2521 โดยการแลกเปลี่ยนที่ดินกับสัสดีจังหวัด โดยแลกเปลี่ยนที่ดินบริเวณบ้านพักครู ภารโรง ถนนหลังเมือง เยื้องวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่นปัจจุบันกับพื้นที่บริเวณแนวจากอาคาร 3 จดโรงแรมแก่นอินน์ เป็นต้น นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงเรียนผู้ใหญ่ ระดับ 5 (ม.ศ.4-5) ภายในบริเวณโรงเรียน ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนผู้ใหญ่ขอนแก่นวิทยายน" อาคารที่ตั้งอยู่บริเวณอาคาร 85 ปี (อาคารห้องสมุด) ในปัจจุบัน และยังมีการปรับปรุงชั้นเรียนใหม่ตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ กำหนดระบบการจัดชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (ม.1-3) และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี (ม.4-6)
พ.ศ. 2523 ได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 424 ค. เป็นห้องเรียน 20 ห้อง ห้องพักครู 4 ห้อง ซึ่งก็คือ อาคาร 2 ในปัจจุบัน รวมทั้งใน พ.ศ. 2525 ได้มีการก่อสร้างอาคารในวาระครบรอบ 85 ปีของการก่อตั้งโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารห้องสมุดและห้องโสตทัศนูปกรณ์
พ.ศ. 2532 โรงเรียนเริ่มรับนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาของกรมสามัญศึกษา (ชื่อในขณะนั้น) มาใช้ในการบริหาร โรงเรียนจึงได้มีการขยายห้องเรียนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2533-2538 ทำให้ในปีการศึกษา 2538 จำนวนนักเรียนได้ขยายเป็นระดับชั้นละ 18 ห้องเรียน รวม 108 ห้องเรียน ซึ่งถือเป็นการเปิดรับนักเรียนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
พ.ศ. 2538 เป็นช่วงที่มีการริเริ่มปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนได้นำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติเกิดผลเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน กระทั่งโรงเรียน ได้รับรางวัลพระราชทานประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่
พ.ศ. 2543 มีการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน เน้นการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา เน้นการเรียนการสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาสื่อการเรียนการสอนและห้องเรียนต้นแบบอย่างต่อเนื่อง ได้มีการริเริ่มโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยจัดชั้นเรียนสองห้องในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายให้เป็นห้องเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Gifted) และดำเนินนโยบายจัดตั้งโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) และมีการปรบปรุงภูมิทัศน์ในโรงเรียนมากมาย อาทิ การก่อสร้างลานกีฬาอเนกประสงค์ อาคารวิทยบริการ อาคาร 4 อาคาร 5 อาคาร 8 และอาคารโรงฝึกงาน การปรับปรุงสนามกีฬาฟุตบอลให้ร่มรื่นมากขึ้น การปรับปรุงหอประชุมโรงเรียน สถานที่พักผ่อนรอบสนามกีฬาฟุตบอล เป็นต้น ใน พ.ศ. 2547 โรงเรียนได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ ในการดำเนินการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และใน พ.ศ. 2549 โรงเรียนได้ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษารอบที่ 2 ของ สมศ.
โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โดยแบ่งแผนการเรียน (ปรับปรุงแผนการเรียน พ.ศ. 2562) ดังนี้
หมายเหตุ หลักสูตรดังกล่าวเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2562 จนถึงปัจจุบัน
นับแต่การสถาปนาโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. 2440 ถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 100 ปี มีผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่, อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนมาแล้วทั้งสิ้น 27 คน ดังนี้
ลำดับ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | ตำแหน่ง |
1 | นายทับ ฉิมมา | พ.ศ. 2440 | พ.ศ. 2450 | ครูใหญ่ |
2 | พระครูพิศาลอรัญเขตร์ | พ.ศ. 2451 | พ.ศ. 2453 | ครูใหญ่ |
3 | ราชบุรุษนารถ อินทุสมิต | พ.ศ. 2454 | พ.ศ. 2457 | ครูใหญ่ |
4 | นายผล ผลโตษะ | พ.ศ. 2458 | พ.ศ. 2459 | ครูใหญ่ |
5 | รักษาการ ราชบุรุษเฉย อินทุมาน |
พ.ศ. 2459 | พ.ศ. 2460 | รักษาราชการแทน |
6 | นายอั้น ธีระศิริโชติ | พ.ศ. 2461 | พ.ศ. 2468 | ครูใหญ่ |
7 | นายถม ขรรค์เพชร์ | พ.ศ. 2469 | ครูใหญ่ | |
8 | รองอำมาตย์ตรีเปลื้อง อินทุสมิต | พ.ศ. 2470 | พ.ศ. 2471 | ครูใหญ่ |
9 | ขุนสุนทรการัญยศึกษาธิการ | พ.ศ. 2472 | พ.ศ. 2472 | ครูใหญ่ |
— | รักษาการ นายสิทธิ์ บัณฑิตวงษ์ |
พ.ศ. 2473 | รักษาราชการแทน | |
10 | นายสิงห์ วาริชยานนท์ | พ.ศ. 2474 | พ.ศ. 2475 | ครูใหญ่ |
11 | นายคำบ่อ เดชกุญชร | พ.ศ. 2476 | พ.ศ. 2483 | ครูใหญ่ |
12 | นายสิทธิ์ บัณฑิตวงษ์ | พ.ศ. 2484 | พ.ศ. 2496 | ครูใหญ่ |
13 | นายเงิน รัตนจันท | พ.ศ. 2496 | พ.ศ. 2505 | ครูใหญ่ |
14 | นายสุชาติ สุขากันยา | พ.ศ. 2506 | พ.ศ. 2507 | อาจารย์ใหญ่ |
15 | นายเจือ หมายเจริญ | พ.ศ. 2507 | พ.ศ. 2512 | ครูใหญ่,อาจารย์ใหญ่ |
16 | นายทรวง ยุวกาญจน์ | พ.ศ. 2512 | พ.ศ. 2516 | อาจารย์ใหญ่ |
17 | นายสนิทพงษ์ นวลมณี | พ.ศ. 2516 | พ.ศ. 2523 | อาจารย์ใหญ่,ผู้อำนวยการ |
18 | นายดิลก วัจนสุนทร | พ.ศ. 2523 | พ.ศ. 2527 | ผู้อำนวยการระดับ 9 |
19 | นายล้วน วรนุช | พ.ศ. 2527 | พ.ศ. 2531 | ผู้อำนวยการ |
20 | นายครรชิต ตรานุชรัตน์ | พ.ศ. 2531 | พ.ศ. 2532 | ผู้อำนวยการระดับ 8 |
21 | นายสวาท ภูคำแสน | พ.ศ. 2532 | พ.ศ. 2538 | ผู้อำนวยการระดับ 8 |
22 | นายชุมพล เวียงเพิ่ม | พ.ศ. 2538 | พ.ศ. 2543 | ผู้อำนวยการ |
23 | นายประดิษฐ์ สำราญพัฒน์ | พ.ศ. 2543 | พ.ศ. 2551 | ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ |
24 | นายวิชัย ศรีสัตย์รสนา | พ.ศ. 2551 | พ.ศ. 2558 | ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ |
25 | นายยุทธศาสตร์ กงเพชร | พ.ศ. 2558 | พ.ศ. 2564 | ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ |
26 | นายศักดาเดช ทาซ้าย | พ.ศ. 2564 | พ.ศ. 2567 | ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ |
— | รักษาการ นางชุรีพร นาเลาห์ |
พ.ศ. 2567 | รักษาราชการแทน | |
27 | นายบุญเหลือ ทองอ่อน | ปัจจุบัน | ผู้อำนวยการ |
ชื่อโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ปรากฏหลักฐานของกองจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสาร ศธ.51.15/42 เรื่อง มณฑลอุดรขอนามโรงเรียนประจำจังหวัด "ขอนแก่นวิทยายน" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470
คำว่า "ขอนแก่นวิทยายน" เป็นการประสมของคำว่า "ขอนแก่น" และ "วิทยายน" ซึ่งวิทยายนนี้ เกิดจากการสนธิกันระหว่าง "วิทยา" แปลว่า วิชาความรู้ และคำว่า "อายน" หมายถึง เข้าถึง เข้าสู่ ดังนั้น "ขอนแก่นวิทยายน" จึงแปลรวมกันได้ความหมายว่า "สถานที่ที่เข้าถึงความรู้แห่งขอนแก่น" นั่นเอง
ส่วนสีประจำโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน มีที่มาจากการประชุมคณะครูโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เมื่อปีพุทธศักราช 2480 นายคำบ่อ เดชกุญชร ครูใหญ่ ได้เรียกประชุมคณะครูของโรงเรียน และขอความเห็นจากที่ประชุมว่า ในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ของโรงเรียนนั้น ควรจะมีสีธงหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยว่าควรจะมี ครูใหญ่จึงถามต่อไปว่า ควรจะใช้กี่สีและสีอะไร ที่ประชุมได้ถกเถียงกันและได้ข้อสรุปว่าให้ใช้ 3 สี และตัดสินใจให้ใช้สี "ชมพู" ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียนฝึกหัดครูสวนกุหลาบ "ฟ้า" ซึ่งเป็นสีแทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้น และ "เหลือง" ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ เหตุที่ใช้สีของสองสถาบันนี้ เนื่องมาจาก ครูโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนส่วนใหญ่ในขณะนั้น ได้รับการศึกษาจากสองสถาบันนั้น[10]
โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เป็นหนึ่งในสี่สถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ในกิจกรรมบาสเกตบอลประเพณีจตุรมิตรเกมส์ ซึ่งเป็นการริเริ่มของคณะครูกลุ่มสาระการเรียนรู้พลศึกษาของโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยและโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแข่งขันกีฬา อีกทั้งจากการประกวดแข่งขันต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นวิชาการเป็นสำคัญอยู่แล้ว จึงมีแนวคิดที่จะจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนของทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งล้วนเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และเป็นโรงเรียนมัธยมชั้นนำของจังหวัดขอนแก่น โดยในการจัดการแข่งขันครั้งแรก โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีการศึกษา 2548 ซึ่งจัดให้มีการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล, การแข่งขันประกวดกองเชียร์-ผู้นำเชียร์แต่ละโรงเรียน (ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นโชว์สปีริตเชียร์ ไม่มีการแข่งขัน) และมีการจัดการแข่งขันกีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการนักเรียนแต่ละโรงเรียน โดยกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันบาสเกตบอลประเพณีจตุรมิตรเกมส์นั้น เป็นการเวียนระหว่าง 4 โรงเรียน ดังนี้
เอกลักษณ์ของกิจกรรมนี้ นอกจากการแข่งขันบาสเกตบอลแล้ว ยังมีการแสดงสปีริตเชียร์ หรือโชว์ศักยภาพเชียร์และผู้นำเชียร์จากทั้ง 4 สถาบัน ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาและกระแสในทุก ๆ ปี และเป็นหนึ่งในจุดกำเนิดของทีม "นางฟ้า Turbo" ทีมศักยภาพกองเชียร์โรงเรียนกัลยาณวัตร ซึ่งมีชื่อเสียงมากมายและเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งชื่อกิจกรรมซึ่งใช้การนับเลขภาษาบาลี เป็นขื่อกิจกรรมตามจำนวนครั้ง เริ่มต้นในครั้งที่ 10 ปี พ.ศ. 2558 ในชื่อ "ทศวรรษจตุรมิตรเกมส์" จากนั้นในทุก ๆ ครั้ง จะมีการตั้งชื่อเช่นนี้เรื่อยมา โดยในครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2563) ใช้ชื่อว่า "จตุทศ จตุรมิตรเกมส์" โดยโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้น ณ อาคารอเนกประสงค์ (Sport Complex) มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันบาสเกตบอลเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน
สถานที่ตั้งของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ประกอบด้วยบริเวณโรงเรียน ตั้งอยู่เลขที่ 58 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บนพื้นที่ 22 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ของกรมธนารักษ์ โดยมีอาณาบริเวณทิศเหนือ จดโรงแรมแก่นอินน์ ทิศใต้ จดธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หลังเก่า) ทิศตะวันออก จดถนนกลางเมือง และทิศตะวันตก จดถนนหน้าเมือง ส่วนบ้านพักครู กรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ตั้งอยู่บนถนนหน้าเมือง ด้านหลังโรงเรียน บนพื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 77 ตารางวา และบ้านพักครู กรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ซอยวีรวรรณ ด้านข้างศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน มีพื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา
สำหรับบริเวณโรงเรียนนั้น ตั้งอยู่กลางใจเมืองขอนแก่น บนถนนกลางเมือง รายล้อมด้วยสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น (ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดิม), สถานีขนส่งผู้ดดนสารจังหวัดขอนแก่นเดิม, บ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการ และตั้งอยู่ใกล้เคียงกับ สำนักงานไปรษณีย์อำเภอเมืองขอนแก่น, บริษัท ทศท.โทรคมนาคม จำกัด (TOT ขอนแก่น) และสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เป็นต้น
ในส่วนอาคารต่างๆ ของโรงเรียนนั้น ประกอบด้วยอาคารเรียน 11 หลัง และอาคารประกอบต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้
โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เป็นโรงเรียนที่ตั้งชื่อคณะสีตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะมีการจับฉลากในวันปฐมนิเทศของนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 โดยจะอยู่ในคณะสีนั้นยาวนาน 3 ปี ตลอดการเรียนในแต่ละช่วงชั้น โดยมีคณะสีทั้งหมด 6 คณะสี
โดยในปีล่าสุด (ปีการศึกษา 2566) คณะสีที่ได้ครองถ้วยรางวัลคะแนนรวมทุกกิจกรรม (ถ้วยรวม) คือ คณะทิวสน (สีม่วง)
ลำดับที่ | โรงเรียน | อักษรย่อ | จังหวัด | สถาปนา / ยกฐานะ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
1 | โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน | ข.ก. / KKW | ขอนแก่น | พ.ศ. 2440; 128 ปีก่อน | |
2 | โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ๒ (สมาน สุเมโธ) | ข.ก.๒ / KKW2 | ขอนแก่น | 30 เมษายน พ.ศ. 2539 | เดิมเป็นสาขาของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2536; 32 ปีก่อน |
3 | โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ๓ | ข.ก. / KKW3 | ขอนแก่น | 10 สิงหาคม พ.ศ. 2540 | เดิมเป็นสาขาของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 |