Armed Forces Academies Preparatory School | |
ชื่อย่อ | รร.ตท.สปท. / AFAPS.RTARF |
---|---|
คติพจน์ | สามัคคี มีความรู้ คู่คุณธรรม |
ประเภท | สถาบันการศึกษาทางทหาร |
สถาปนา | 27 มกราคม พ.ศ. 2501 |
สังกัดการศึกษา | สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย |
ผู้บัญชาการ | พลตรี ชาตรี จันทร์พิทักษ์[1] |
ที่ตั้ง | เลขที่ 9 หมู่ 10 ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก 26110 |
สี | สีแดง-น้ำเงิน-ฟ้า-เลือดหมู |
เว็บไซต์ | www |
โรงเรียนเตรียมทหาร (อังกฤษ: Armed Forces Academies Preparatory School) เป็นสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ที่ศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร เรียกว่า นักเรียนเตรียมทหาร (นตท.)
การรับสมัครบุคคลพลเรือนเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารนั้น โรงเรียนเตรียมทหารมิได้เป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเตรียมทหารด้วยตนเอง หากแต่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือก โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดจำนวนรับนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นแต่ละเหล่าทัพจะส่งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นเวลา 2 ปี
ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว นักเรียนเตรียมทหารเหล่านี้จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่าทัพ (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ) ตามที่นักเรียนได้สมัครและผ่านการสอบคัดเลือก
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่าทัพแล้ว นักเรียนนายร้อยเหล่านี้ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหาร และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร พร้อมทั้งเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสด็จแทนพระองค์[2]
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 จอมพลถนอม กิตติขจร ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอดำริต่อสภากลาโหมว่า หากจะรวมโรงเรียนที่อยู่ในระดับการศึกษาเดียวกันจากกองทัพต่าง ๆ เป็นสถาบันเดียวกันก็จะเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติ ทั้งยังทำให้ผู้ศึกษามีโอกาสได้รู้จักคุ้นเคย มีความสนิทสนมกลมเกลียว มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความคิดจิตใจร่วมกันแต่เยาว์วัย ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลเหล่านี้สามารถประสานงานกันได้ด้วยดีและปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สภากลาโหมได้เห็นชอบในดำรินี้เป็นเอกฉันท์ ในขั้นแรกให้รวมโรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ และโรงเรียนเตรียมนายเรืออากาศ เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร สังกัดกรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2501 จึงถือว่าวันที่ 27 มกราคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร ผู้บัญชาการคนแรกคือ พลเอก ปิยะ สุวรรณพิมพ์
ในปี พ.ศ. 2506 กรมตำรวจ ได้ขอให้โรงเรียนเตรียมทหารรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย โรงเรียนเตรียมทหารจึงเป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับนายทหาร นายตำรวจ โดยสมบูรณ์ ในระยะแรกนั้นโรงเรียนเตรียมทหารยังไม่มีที่ตั้งถาวร ได้ใช้อาคารโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2504 โรงเรียนเตรียมทหารได้จัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างโรงเรียนเตรียมทหารขึ้น ณ เลขที่ 1875 ถนนพระรามที่ 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุศาลาแดง ของกองสัญญาณทหารเรือ มีพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา หลังจากได้สร้างโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนพระรามที่ 4 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปีเดียวกัน
ในปี พ.ศ. 2522 กองพันทหารสื่อสาร กองบัญชาการกองทัพบก และกองร้อยทหารสื่อสารซ่อมบำรุงเขตหลัง กองบัญชาการกองทัพบก ได้ย้ายออกจากพื้นที่ที่อยู่ต่อเนื่องกัน โรงเรียนเตรียมทหารจึงได้รับพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเพิ่มอีก 91 ไร่ 62 ตารางวา รวมเป็น 127 ไร่ 9 ตารางวา
ในปี พ.ศ. 2537 พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้พิจารณาว่า สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของโรงเรียนเตรียมทหารได้เปลี่ยนแปลงไป พื้นที่โดยรอบกลายเป็นย่านชุมชนหนาแน่น ทั้งยังมีสภาพแวดล้อมเป็นมลพิษ อีกทั้งพื้นที่ของโรงเรียนเตรียมทหารมีข้อจำกัดต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตนักเรียนเตรียมทหารและการพัฒนาโรงเรียนเตรียมทหารด้านต่างๆ ในอนาคต จึงได้ปรึกษากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร ถึงการย้ายที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหารไปยังสถานที่ตั้งแห่งใหม่ที่เหมาะสม ซึ่งได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยได้มอบให้บริษัท คริสเตียนนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของโครงการย้ายโรงเรียนเตรียมทหาร รวมทั้งเสนอแนะพื้นที่ตั้งโครงการ ในที่สุดได้เลือกพื้นที่ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เป็นที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหารแห่งใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกเจ้าของพื้นที่มอบพื้นที่ให้ดำเนินการประมาณ 2,460 ไร่ เป็นผลให้โครงการก่อสร้างโรงเรียนเตรียมทหารแห่งใหม่เกิดขึ้น
โครงการก่อสร้างโรงเรียนเตรียมทหารแห่งใหม่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2539 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2541
ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุดได้มีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายโรงเรียนเตรียมทหารมายังที่ตั้งแห่งใหม่ ณ เลขที่ 185 หมู่ 5 ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก กำหนดระยะเวลา ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 และให้สามารถเปิดการศึกษาได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543 โดยมีพิธีเคลื่อนย้ายโรงเรียนเตรียมทหารเข้าสู่ที่ตั้งในวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543
วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2543 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียน[3]
ส่วนพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารเดิม ต่อมาก็ได้กลายเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์ และ วัน แบงค็อก ตามลำดับ
เครื่องหมายจักรดาว เป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนเตรียมทหาร ประกอบด้วย
สีแดง คือ เหล่าทหารบก
สีน้ำเงิน คือ เหล่าทหารเรือ
สีฟ้า คือ เหล่าทหารอากาศ
สีเลือดหมู คือ เหล่าตำรวจ
รายนามผู้บัญชาการ | |||
ลำดับ | นาม | วาระการดำรงตำแหน่ง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1 | พลตรี ปิยะ สุวรรณพิมพ์ | 27 มกราคม พ.ศ. 2501 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 | |
2 | พลตรี ชิงชัย รัชตะนาวิน | 13 มกราคม พ.ศ. 2515 - 30 กันยายน พ.ศ. 2520 | |
3 | พลตรี ไพบูลย์ สิรยากร | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520 - 30 กันยายน พ.ศ. 2523 | |
4 | พลตรี สนั่น ขยันระงับพาล | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 - 30 กันยายน พ.ศ. 2525 | |
5 | พลตรี โกมล เกษรสุคนธ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2525 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2527 | |
6 | พลตรี นิยม ศันสนาคม | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2527 - 30 กันยายน พ.ศ. 2528 | |
7 | พลตรี ธีรวัฒน์ เอมะสุวรรณ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 - 30 กันยายน พ.ศ. 2531 | |
8 | พลตรี ชัยณรงค์ หนุนภักดี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 - 30 กันยายน พ.ศ. 2532 | |
9 | พลตรี พนม จีนะวิจารณะ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2532 - 30 กันยายน พ.ศ. 2534 | |
10 | พลตรี มนัส คล้ายมณี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 - 30 กันยายน พ.ศ. 2536 | |
11 | พลตรี ปรีชา สามลฤกษ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2536 - 30 กันยายน พ.ศ. 2538 | |
12 | พลตรี ประพาฬ นิลวงศ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2538 - 30 กันยายน พ.ศ. 2541 | |
13 | พลตรี สุเทพ โพธิ์สุวรรณ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 - 30 กันยายน พ.ศ. 2544 | |
14 | พลตรี ธีระศักดิ์ ฤทธิวงศ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - 30 กันยายน พ.ศ. 2547 | |
15 | พลตรี พอพล มณีรินทร์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 - 30 กันยายน พ.ศ. 2549 | |
16 | พลตรี พรพิพัฒน์ เบญญศรี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 30 กันยายน พ.ศ. 2552 | |
17 | พลตรี รักบุญ มนต์สัตตา | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - 30 กันยายน พ.ศ. 2554 | |
18 | พลตรี สุรสิทธิ์ ถาวร | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 - 30 กันยายน พ.ศ. 2555 | |
19 | พลตรี บุญชู เกิดโชค | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 30 กันยายน พ.ศ. 2556 | |
20 | พลตรี ชัยชนะ นาคเกิด | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - 30 กันยายน พ.ศ. 2557 | |
21 | พลตรี ชนินทร์ โตเลี้ยง | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 - 30 กันยายน พ.ศ. 2559 | |
22 | พลตรี ศิราวุฒิ วงศ์ขันตี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560 | |
23 | พลตรี กนกพงษ์ จันทร์นวล | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563 | |
24 | พลตรี รวิศ รัชตะวรรณ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564 | |
25 | พลตรี โกญจนาท ธูปเทียนรัตน์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566 | |
26 | พลตรี ชาตรี จันทร์พิทักษ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน[4][5] |
หมายเหตุ ยศทหารเป็นยศขณะดำรงตำแหน่งตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี