กกคมบาง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | พืชดอก (Magnoliophyta) |
ชั้น: | พืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledoneae) |
อันดับ: | Poales |
วงศ์: | กก (Cyperaceae) |
สกุล: | Scleria |
สปีชีส์: | กกคมบาง (S. sumatrensis) |
ชื่อทวินาม | |
Scleria sumatrensis (Retz., 1789) |
กกคมบาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Scleria sumatrensis) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์กก เป็นพืชจำพวกไม้ล้มลุกอายุขัยหลายฤดู มีเหง้าแข็ง ลำต้นเป็นสามเหลี่ยม มีสันคมสากคาย สูงตั้งแต่ 1-3 เมตร ใบของกกคมบางเป็นรูปแถบยาว 15-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสามร่อง ดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ยาว 15-30 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยแยกเพศ ดอกเพศเมียรูปไข่ยาว 3.5-4 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศผู้รูปหอกยาว 3.5-4 มิลลิเมตร ปลายแหลมมีเกสรเพศผู้จำนวน 3 อัน ผลของกกคมบางมีสีเทา ลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม เมื่อแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ มีแผ่นแข็งรูปถ้วยยาวประมาณครึ่งหนึ่งของผล[1][2]
กกคมบางแพร่พันธุ์ในแถบเอเชียใต้ บริเวณประเทศอินเดีย ศรีลังกา แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ภาคใต้ของไทย ไปจนถึงประเทศออสเตรเลีย พบมากในที่โล่งชายน้ำ[1]
กกคมบางเรียกกันในจังหวัดนราธิวาสว่า หญ้าคมบาง แต่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กกคมบาง เป็นชื่อท้องถิ่นของกกสามเหลี่ยมใหญ่[3]