กรณีพิพาทเปดราบรังกา

อธิปไตยเหนือเปดราบรังกา/ปูเลาบาตูปูเตะฮ์, มิดเดิลร็อกส์ และเซาท์เลดจ์ (คดีระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์)
Sovereignty over Pedra Branca/Pulau Batu Puteh, Middle Rocks and South Ledge (Malaysia v. Singapore)
สาระแห่งคดี
ข้อพิพาท ให้ศาลฯ ตัดสินว่าอธิปไตยเหนือ (ก) เปดราบรังกา/ปูเลาบาตูปูเตะฮ์ (ข) มิดเดิลร็อกส์ และ (ค) เซาท์เลดจ์ เป็นของมาเลเซียหรือสาธารณรัฐสิงคโปร์
คู่ความ
ผู้ขอ ความตกลงพิเศษระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์
ศาล
ศาล ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ตุลาการ Awn Shawkat Al-Khasawneh, Raymond Ranjeva, Shi Jiuyong, Abdul G. Koroma, Gonzalo Parra Aranguren, Thomas Buergenthal, Hisashi Owada, Bruno Simma, Peter Tomka, Ronny Abraham, Kenneth Keith, Bernardo Sepúlveda Amor, Mohamed Bennouna, Leonid Skotnikov, Pemmaraju Sreenivasa Rao (ad hoc judge appointed by Singapore) and Christopher J.R. Dugard (ad hoc judge appointed by Malaysia)
วินิจฉัย
" สิงคโปร์มีอธิปไตยเหนือเปดราบรังกา มาเลเซียมีอธิปไตยเหนือมิดเดิลร็อกส์ เซาท์เลดจ์อยู่ในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศใดให้ประเทศนั้นมีอธิปไตยเหนือเกาะดังกล่าว "
ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2008
กฎหมาย
เว็บไซต์
Sovereignty over Pedra Branca/Pulau Batu Puteh, Middle Rocks and South Ledge (Malaysia/Singapore)

กรณีพิพาทเปดราบรังกาเป็นกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซียเหนือเกาะเล็กหลายเกาะ ณ ปากทางเข้าทิศตะวันออกของช่องแคบสิงคโปร์ อันประกอบด้วยเปดราบรังกา (Pedra Branca) หรือเดิมมาเลเซียเรียก ปูเลาบาตูปูเตะฮ์ (Pulau Batu Puteh) และปัจจุบันเรียก บาตูปูเตะฮ์ (Batu Puteh), มิดเดิลร็อกส์ (Middle Rocks) และเซาท์เลดจ์ (South Ledge) กรณีพิพาทเริ่มต้นในปี 1979 และส่วนใหญ่ระงับโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในปี 2008 ซึ่งวินิจฉัยว่าเปดราบรังกาเป็นของสิงคโปร์ และมิดเดิลร็อกส์เป็นของมาเลเซีย

ต้นปี 1980 สิงคโปร์ยื่นคำประท้วงอย่างเป็นทางการต่อมาเลเซียโดยสนองต่อแผนที่ซึ่งมาเลเซียจัดพิมพ์ในปี 1979 โดยอ้างสิทธิเหนือเปดราบรังกา ในปี 1989 สิงคโปร์เสนอให้ยื่นข้อพิพาทต่อ ICJ มาเลเซียตกลงในปี 1994 ก่อนหน้านั้นในปี 1993 สิงคโปร์ยังอ้างสิทธิ์เหนือเกาะเล็กใกล้เคียงมิดเดิลร็อกส์และเซาท์เลดจ์ด้วย ในปี 1998 สองประเทศตกลงในข้อความของความตกลงพิเศษซึ่งมีความจำเป็นต่อการส่งข้อพิพาทไปยัง ICJ มีการลงนามความตกลงพิเศษในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 และ ICJ ได้รับแจ้งความความตกลงฯ อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน มีการจัดการไต่สวน ณ ICJ เป็นเวลาสามสัปดาห์ในเดือนพฤศจิกายน 2007

สิงคโปร์โต้แย้งว่าเปดราบรังกาเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ และไม่มีหลักฐานว่าเกาะเคยอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐสุลต่านยะโฮร์ หากว่าศาลฯ ไม่ยอมรับข้อโต้แย้งนี้ สิงคโปร์ต่อสู้ว่าอธิปไตยเหนือเกาะได้ส่งมอบให้แก่สิงคโปร์เนื่องจากสิงคโปร์และเจ้าอาณานิคมคือสหราชอาณาจักรใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องเหนือเกาะ การกระทำรวมถึงการเลือกเปดราบรังกาเป็นที่ตั้งประภาคารฮอร์สเบิร์ก (Horsburgh) และการก่อสร้างประภาคาร การกำหนดให้ข้าราชการมาเลเซียที่ประสงค์เยี่ยมเกาะต้องขอใบอนุญาต การติดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณทหารบนเกาะ และการศึกษาโอกาสการถมดินรอบเกาะ มาเลเซียยังคงเงียบเมื่อเผชิญกับกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากนี้ มาเลเซียยังยืนยันในจดหมายปี 1953 ว่ายะโฮร์ไม่ได้อ้างความเป็นเจ้าของเกาะ และจัดพิมพ์รายงานและแผนที่ทางการถือว่าเปดราบรังกาเป็นดินแดนของสิงคโปร์ มิดเดิลร็อกส์และเซาท์เลดจ์ควรถือเป็นเขตสังกัดของเปดราบรังกา

ข้อต่อสู้คดีของมาเลเซียมีว่ายะโฮร์ตั้งชื่อเดิมแก่เปดราบรังกา มิดเดิลร็อกส์และเซาท์เลดจ์ ยะโฮร์มิได้ยกเปดราบรังกาให้แก่สหราชอาณาจักร เพียงแต่อนุญาตให้สร้างและบำรุงรักษาประภาคารบนเกาะเท่านั้น การกระทำของสหราชอาณาจักรและสิงคโปร์เกี่ยวกับประภาคารฮอร์สเบิร์กและน่านน้ำโดยรอบเกาะมิใช่การกระทำขององค์อธิปัตย์ของเกาะ ยิ่งไปกว่านั้น จดหมายปี 1953 ไม่ได้รับอนุญาต และรายงานและแผนที่ทางการที่ออกในจดหมายดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีข้อสรุป

วันที่ 23 พฤษภาคม 2008 ศาลฯ วินิจฉัยว่าเปดราบรังกาอยู่ในอธิปไตยของสิงคโปร์ ส่วนมิดเดิลร็อกส์เป็นของมาเลเซีย สำหรับเซาท์เลดจ์นั้น ศาลฯ สังเกตว่าเกาะอยู่ในน่านน้ำอาณาเขตที่ดูทับซ้อนกันโดยเกิดจากมาเลเซียแผ่นดินใหญ่ เปดราบรังกาและมิดเดิลร็อกส์ เนื่องจากเกาะดังกล่าวมองเห็นได้เฉพาะเมื่อน้ำลงต่ำเท่านั้น เกาะจึงเป็นของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของน่านน้ำอาณาเขตบริเวณนั้น มาเลเซียและสิงคโปร์ตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วมเพื่อปักปันเขตแดนทางทะเลในพื้นที่โดยรอบเปดราบรังกาและมิดเดิลร็กอส์ และเพื่อตัดสินความเป็นเจ้าของเซาท์เลดจ์

พื้นที่พิพาท

[แก้]
ตำแหน่งโดยประมาณของเปดราบรังกาในทะเลจีนใต้ และประเทศข้างเคียง

บริเวณพิพาทนี้ประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่

  • เปดราบรังกา (Pedra Branca) ซึ่งเป็นชื่อที่สิงคโปร์ใช้เรียก เป็นคำภาษาโปรตุเกสแปลว่าหินสีขาว หรือ ปูเลาบาตูปูเตะฮ์ (Pulau Batu Puteh) ซึ่งเป็นชื่อที่มาเลเซียใช้เรียก ในภาษามลายูแปลว่าหินสีขาวเช่นกัน มีพื้นที่ประมาณ 137 × 60 เมตร ไม่มีผู้คนอาศัย มีแต่ประภาคาร
  • มิดเดิลร็อกส์ (Middle Rocks) เป็นหินเล็ก ๆ สองก้อน อยู่ห่างไปทางใต้ของเปดราบรังกา 6 ไมล์ทะเล
  • เซาท์เลดจ์ (South Ledge) เป็นก้อนหินที่อยู่ห่างจากเปดราบรังกาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 2.2 ไมล์ทะเล เห็นเฉพาะเวลาน้ำลง

ข้อกล่าวอ้าง

[แก้]

ข้อกล่าวอ้างของมาเลเซียในคดีนี้คือเปดราบรังกาเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิยะโฮร์ จึงต้องเป็นของมาเลเซีย สิงคโปร์เพียงแต่เข้าไปก่อสร้างและรักษาประภาคาร ส่วนสิงคโปร์อ้างว่าการเข้าไปสร้างประภาคารของอังกฤษนั้นได้รับความยินยอมจากรัฐยะโฮร์ และสิงคโปร์ได้สืบทอดสิทธินั้นมาจากอังกฤษ

คำพิพากษา

[แก้]

ประเด็นสำคัญในการพิพากษาของศาลโลกนั้น เห็นว่าสนธิสัญญา พ.ศ. 2367 กำหนดให้เปดราบรังกาอยู่ในเขตของอังกฤษ ต่อมาในจดหมายตอบโต้ระหว่างรัฐมนตรีอาณานิคมแห่งสิงคโปร์กับสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ว่าเปดราบรังกาอยู่ในอาณาเขตของฝ่ายใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัฐยะโฮร์ตอบกลับเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2496 ว่ายะโฮร์ไม่ได้อ้างสิทธิเหนือเปดราบรังกา หลังจากนั้น พฤติการณ์ของมาเลเซียได้แสดงให้เห็นว่ายอมรับอธิปไตยเหนือเปดราบรังกา เช่น มาเลเซียขออนุญาตสิงคโปร์เข้าไปสำรวจน่านน้ำในเปดราบรังกา และในราว พ.ศ. 2513 สิงคโปร์ประกาศถมทะเลรอบเกาะ ได้มีประกาศให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูลอย่างเปิดเผย มาเลเซียมิได้ประท้วง นอกจากนั้น แผนที่ที่ตีพิมพ์ในมาเลเซียระหว่าง พ.ศ. 2505 – 2518 ยอมรับว่าเปดราบรังกาอยู่ในสิงคโปร์ จึงตัดสินว่าเปดราบรังกาเป็นของสิงคโปร์

ปฏิกิริยาของคู่กรณี

[แก้]

ในระหว่างยื่นฟ้องคดีต่อศาลโลก คู่กรณีทั้งสองประเทศได้โจมตีกันอย่างรุนแรง แม้แต่ความคิดเห็นของประชาชนบนเว็บไซต์ก็มีทั้งกระแสชาตินิยมล้วน ๆ จนถึงโต้ตอบด้วยหลักกฎหมายอย่างมีเหตุมีผล เมื่อศาลโลกมีคำตัดสินออกมา ฝ่ายมาเลเซียยอมรับความพ่ายแพ้เป็นอย่างดี ในขณะที่ประชาชนมาเลเซียมีความผิดหวังและโจมตีการทำงานของฝ่ายกฎหมายของมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามิดเดิลร็อกส์จะเป็นของมาเลเซีย แต่รัฐบาลมาเลเซียยังไม่อนุญาตให้ชาวมาเลเซียเดินทางเข้าไป เพราะต้องเจรจากับสิงคโปร์เกี่ยวกับปัญหาน่านน้ำรอบเกาะ และมาเลเซียได้เปลี่ยนชื่อเรียกเปดราบรังกาในภาษามลายูเหลือเพียงบาตูปูเตะฮ์เท่านั้น

อ้างอิง

[แก้]
  • พวงทอง ภวัคพันธุ์. กรณีพิพาทระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ กรณีหินสามก้อน ใน อุษาคเนย์ที่รัก. สุเจน กรรพพฤกษ์, สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, บรรณาธิการ. กทม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 218 – 233

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Sovereignty over Pedra Branca/Pulau Batu Puteh, Middle Rocks and South Ledge, International Court of Justice, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-27, สืบค้นเมื่อ 31 August 2008.
  • International Court of Justice – Case concerning sovereignty over Pedra Branca, Middle Rocks and South Ledge, Ministry of Foreign Affairs (Singapore), 2007, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-07, สืบค้นเมื่อ 2012-11-30.
  • Horsburgh light, Lighthouse Depot, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-14, สืบค้นเมื่อ 31 August 2008.


1°19′47″N 104°24′27″E / 1.3297°N 104.4076°E / 1.3297; 104.4076