กระชายดำ

กระชายดำ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophyta
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
Monocots
เคลด: Commelinids
Commelinids
อันดับ: ขิง
วงศ์: วงศ์ขิง
สกุล: สกุลเปราะ

Wall. ex Baker
สปีชีส์: Kaempferia parviflora
ชื่อทวินาม
Kaempferia parviflora
Wall. ex Baker

กระชายดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Kaempferia parviflora), KP หรือว่านกำบัง ว่านจังงัง[1] เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีปุ่มปม ลักษณะคล้ายกระชาย แต่เนื้อในหัวเป็นสีม่วง เมื่อแก่สีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ผิวด้านนอกสีเหลือง ใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด สีขาวแต้มชมพู

เป็นพืชที่มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร สารสกัดจากกระชายดำมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย เชื้อรา และไมโครแบคทีเรีย ต้านการเกิดโรคภูมิแพ้และต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในสัตว์ทดลองพบว่า มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงที่ถูกแยกออกจากกายของหนูขาว และสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) บริเวณเยื่อบุหลอดเลือดดำของรกเด็ก กระชายดำในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงอยู่ที่จังหวัดเลย นอกจากนั้นยังเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง นักรบสมัยก่อนจะนำหัวไปปลุกเสกแล้วอมเวลาต่อสู้ เชื่อว่าทำให้คงกระพัน[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

กระชายดำแตกต่างจากกระชายทั่วไป (ที่ใช้เป็นเครื่องแกง) คือ กระชายทั่วไปใช้ส่วนที่เป็นราก (tuber) ซึ่งงอกออกมาจากเหง้า (ลำต้นที่อยู่ใต้ดิน) มีกาบใบและใบซ้อนโผล่ขึ้นอยู่เหนือดิน ส่วนกระชายดำมีลำต้นอยู่ใต้ดิน (rhizome) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหัว ลักษณะคล้ายขิง หรือขมิ้นแต่มีขนาดเล็กกว่า ใบใหญ่และมีสีเขียวเข้มกว่ากระชายทั่วไป ขนาดใบกว้างประมาณ 7–15 ซม. ยาว 30–35 ซม. ใบมีกลิ่นหอม ประกอบด้วยกาบใบมีสีแดงจาง ๆ และหนาอวบ กำเนิดมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 ซม.

ดอกออกจากยอด ช่อละหนึ่งดอก มีใบเลี้ยง ดอกมีสีชมพูอ่อน ๆ ริมปากดอกสีขาว เส้าเกสรสีม่วง เกสรสีเหลือง กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันมีลักษณะเป็นรูปท่อ มีขน โคนเชื่อมติดกันเป็นช่อยาว เกสรตัวผู้จะเหมือนกับกลีบดอก อับเรณูอยู่ใกล้ปลายท่อ เกสรตัวเมียมีขนาดยาวเล็ก ยอดของมันเป็นรูปปากแตรเกลี้ยงไม่มีขน หัวมีสีเข้ม แตกต่างกัน ตั้งแต่สีม่วงจาง ม่วงเข้ม และดำสนิท (ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ความแตกต่างของสีขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม อายุ หรือพันธุกรรม) สีของหัวเมื่อนำไปดองสุราจะถูกฟอกออกมา[2]

พันธุ์ในปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมและจำแนกพันธุ์อย่างเป็นทางการ แต่หากจำแนกตามลักษณะของสีของเนื้อหัว พอจะแยกได้ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่มีเนื้อหัวสีดำ สีม่วงเข้ม สีม่วงอ่อนหรือสีน้ำตาล[3] ส่วนใหญ่แล้ว จะพบกระชายที่มีสีม่วงเข้มและสีม่วงอ่อน ส่วนกระชายที่มีสีดำสนิทจะมีลักษณะหัวค่อนข้างเล็ก ชาวเขาเรียกว่า กระชายลิง ซึ่งมีไม่มากนักจัดว่าเป็นกระชายที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด

การปลูกกระชายดำ

[แก้]

กระชายดำสามารถขยายพันธุ์โดยใช้แง่งหรือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยทั่ว ๆ ไปจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการปลูก กระชายดำชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังหรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีเนื่องจากจะเน่าเสียโดยเฉพาะดินที่มีสภาพเป็นกรด เมื่อมีฝนชุกหรือความชื้นในดินสูง จะทำให้เกิดโรคเหง้าเน่า สามารถปลูกกลางแจ้งจนถึงมีแสงแดดพอควร ส่วนต้นเหนือดินมักจะยุบหรือแห้งเมื่อเข้าฤดูแล้ง ส่วนใหญ่จะเก็บเหง้าแก่เมื่ออายุ 10–11 เดือนหลังปลูก สีของกระชายดำถึงจะเข้มเต็มที่

การปลูกกระชายดำจะเริ่มเตรียมดินในช่วงต้นเดือนมีนาคม และจะปลูกต้นเมษายนของทุก ๆ ปี สำหรับการปลูกในแปลงใหญ่ และกลางแจ้ง ส่วนเหง้าที่นำมาปลูกนั้นผู้ควรทำการแบ่งเหง้าให้เป็นหัวเล็ก ๆ มีตาที่จะปลูก 2–3 ตาเพื่อการงอกที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เมื่อเริ่มมีฝน หรือพายุฤดูร้อนก็สามารถทำการปลูกได้

การบริโภค

[แก้]

กระชายดำสามารถนำมาแปรรูปได้เช่น กระชายดำแห้ง, กระชายดำบดผงในถุงชา, ไวน์กระชายดำ, กระชายดำอัดแคปซูล

กระชายดำแบบหัวสด ใช้เหง้า (หัวสด) ประมาณ 4–5 ขีด ต่อสุราขาว 1 ขวด ดองสุราขาวดื่มก่อนรับประทานอาหารอาหารเย็นปริมาณ 30 ซีซี. หรือฝานเป็นแว่นบาง ๆ แช่น้ำดื่ม หรือจะดองกับน้ำผึ้ง ในอัตราส่วน 1:1

แบบหัวแห้ง หัวแห้งดองกับน้ำผึ้งแท้ในอัตราส่วน 1:1 นาน 7 วัน แล้วนำมาดื่มก่อนนอน

แบบชาชง ผงแห้งกระชายดำ 1 ซอง ชงน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 120 ซีซี.) แต่งรสด้วยน้ำตาล หรือน้ำผึ้งตามต้องการ[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล (2010). ร้อยพรรณพฤกษา ว่าน. กรุงเทพฯ: เศรษฐศิลป์. ISBN 978-616-7376-09-7.
  2. องค์ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สู่การเป็น smart officer สมุนไพรและเครื่องเทศ (PDF). สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. สิงหาคม 2013. pp. 8–12. ISBN 978-974-403-953-8.[ลิงก์เสีย]
  3. สมพร หิรัญรามเดช (ภูติยานันต์) (1982). สมุนไพรใกล้ตัว ตอนที่ 3. ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. โรงพิมพ์พิฆเณศ.
  4. ประเวศ วะสี (1994). ความหลากหลายทางชีวภาพกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ศิรินารถ เพ็งเนตร; วชิราวดี มาลากุล; สุรวุฒิ ยิ่งสุขไพศาล; สุวรรณ ธีระวรพันธ์ (2009). การศึกษาฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของสารสกัดกระชายดำในหนูขาว. การประชุมทางวิชาการนเรศวรวิจัย ครั้งที่ 5.