กาพย์

กาพย์ เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่บังคับจำนวนคำและสัมผัส จัดวรรคต่างจากกลอนและไม่บังคับเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค ไม่มีบังคับเอก-โทเหมือนโคลง และไม่มีบังคับครุและลหุเหมือนฉันท์

ความเป็นมาของกาพย์

[แก้]

กาพย์ มีที่มาไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นคำประพันธ์เดิมของไทย หรือรับมาจากชาติอื่น ตำรากาพย์เก่าแก่ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ กาพย์สารวิลาสินี และ กาพย์คันถะ แต่งเป็นภาษาบาลี ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง แต่สันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในล้านนาสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา[1] และเปลี่ยนแปลงมาจากกาพย์มคธเป็นกาพย์ไทยโดยบริบูรณ์ประมาณรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา[2]

การจำแนกชนิดของกาพย์

[แก้]

กาพย์ในคัมภีร์กาพย์

[แก้]

ในคัมภีร์กาพย์กำหนดคำประพันธ์ชนิด กาพย์ ไว้ 8 ชนิด คือ กาพย์พรหมคีติ กาพย์มัณฑุกคติ กาพย์ตุรงคธาวี กาพย์มหาตุรงคธาวี กาพย์กากคติ ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี และกาพย์ตรังควชิราวดีหรือกาพย์ตรังคนที กาพย์มหาตรังคนที และกาพย์ทัณฑิกา ในคัมภีร์กาพย์คันถะ

นอกจากนี้ใน ประชุมลำนำ ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ได้แสดงกาพย์อีกชนิดหนึ่งชื่อ กาพย์ภุชงคลิลา มาจากคัมภีร์กาพย์สารจินดา

กาพย์กากคติ

[แก้]

หมายความว่า  มีการดำเนินคำดังกาที่บินไป กำหนดให้ ๑ บท มี ๔ บาท,  บาท ๑ และบาท ๓  มี ๓ วรรค บาท ๒ และ บาท ๔  มี ๔ วรรค   วรรคละ ๔ พยางค์

 เฉพาะบาทที่ ๑ มีบังคับครุ  และลหุ เช่นเดียวกับฉันท์    ดังนี้

ลหุ   ครุ   ลหุ   ครุ         ลหุ   ครุ   ลหุ   ครุ          ลหุ   ครุ   ลหุ   ครุ

๏ สภาวะคน
ณ ยามผจญ กะอันตราย
เกิดความคับขัน ผกผันถึงตาย
ในจิตวุ่นวาย เอาตัวรอดพลัน
แดนคนธรรพ์

กาพย์พรหมคีติ

[แก้]

หมายความว่า มีเสียงขับอันไพเราะประเสริฐ ฉันทลักษณ์กำหนดให้ บทละ ๘ วรรค, วรรคหน้า ๕ พยางค์ วรรคหลัง ๖ พยางค์ ส่งสัมผัสบทท้ายวรรค ๘ รับสัมผัสบทท้ายวรรค ๒

๏ เจอคนหลอกลวงคน เพียงหนึ่งหนจำจนตาย
ดินฟ้าจะสลาย ให้ลืมหลงจงอย่าหวัง
ซ่อนเจ็บไว้ภายใน ครั้งต่อไปได้ระวัง
อย่าหมายหลอกหลายครั้ง กับคนที่มีหัวใจ
แดนคนธรรพ์

กาพย์มัณฑุกคติ

[แก้]

หมายความว่า มีคำดำเนินไปดังกบเต้น วรรคละ ๖ พยางค์ ท้ายวรรค ๓ กับ ๔, ๔ กับ ๖, และ ๗ กับ ๘ ไม่สัมผัสกัน ฉันทลักษณ์กำหนดให้ ๑ บท มี ๔ บาท,บาทละ ๒ วรรค, บาทแรกบังคับครุ ลหุ

ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ

๏ คติว่าประสาสัตว์ ผิจะกัดก็ป้องตน
แต่พวกสัตว์กินเลือดคน สัตว์ด้วยกันนั้นแสนร้าย
ชีวิตอยู่ด้วยเบียดเบียน สะอิดสะเอียนพวกเลือดเย็น
การดำรงชีพจำเป็น สืบชีวีด้วยบีฑา
แดนคนธรรพ์

กาพย์ตุรงคธาวี

[แก้]

หมายความว่า มีระเบียบดังม้าวิ่ง

ฉันทลักษณ์กำหนดให้ ๑ บท มี ๔ บาท,บาท ๑ และ ๓ มี ๓ วรรค วรรคละ ๓,๔,๕ พยางค์

บาท ๒ และ ๔ มี ๔ วรรค วรรคละ ๓,๕,๓,๕ พยางค์

๏ ความสามารถ
ความโง่ฉลาด ความถนัดของคน
ต่างกันไป นิสัยแห่งตัวตน
ตามพื้นฐาน ประสบการณ์ร่ำเรียนมา
แต่เมื่อไร
รวมเป็นหมู่ใหญ่ สามัคคีมีค่า
ร่วมแบ่งปัน สารพันวิทยา
เกิดพลัง เป็นคลังวิชาการ
แดนคนธรรพ์

กาพย์มหาตุรงคธาวี

[แก้]

หมายความว่า มีระเบียบดังม้าวิ่ง

ฉันทลักษณ์กำหนดให้ ๑ บท มี ๔ บาท,บาท ๑ และ ๓ มี ๓ วรรค วรรคละ ๓,๔,๕ พยางค์

บาท ๒ และ ๔ มี ๔ วรรค วรรคละ ๓,๔,๓,๖ พยางค์

๏ ความเชื่อมั่น
มีความสำคัญ สัมพันธ์ใจและกาย
ป่วยใจด้วย เมื่อไม่สบาย
หลีกไม่พ้น ต้องทนทุกข์ทรมา
ควรรักษา
กายินวิญญาณ์ มิท้าต่อภัยพาน
คนต้องทน ทำใจชื่นบาน
มิหวั่นไหว ต่อไข้โศกโรคเกาะกิน
แดนคนธรรพ์

กาพย์ที่นิยมแต่งกันทั่วไป

[แก้]

กาพย์ที่กวีนิยมใช้ในวรรณกรรม มี 3 ชนิด คือ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และ กาพย์สุรางคนางค์ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกว่า กาพย์ดังกล่าว ไม่ปรากฏอยู่ในตำรากาพย์เลย นอกจากนี้ กาพย์ทั้ง 9 ชนิดในตำรากาพย์ก็ไม่ปรากฏในวรรณกรรมเช่นกัน[3]

กาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่

[แก้]

การใช้กาพย์ในวรรณกรรม

[แก้]

วรรณกรรมที่แต่งด้วยกาพย์เพียงอย่างเดียว

[แก้]

วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งร่วมกันคำประพันธ์ประเภทอื่น

[แก้]

วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งแทรก

[แก้]
  • คำหลวง วรรณกรรมคำหลวงของไทยมี 5 เรื่องได้แก่ มหาชาติคำหลวง พระมาลัยคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระนลคำหลวง และลิลิตคำหลวง ซึ่งนักปราชญ์ราชกวีได้ร่วมกันรจนาขึ้น จึงมักบรรจุคำประพันธ์ทุกชนิดในวรรณกรรมคำหลวง รวมทั้งกาพย์ด้วย
  • กวีวัจนะ เป็นชื่อเรียกพระนิพนธ์เรื่อง สามกรุง ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งมีลักษณะการนำเอาฉันทลักษณ์ไทยทุกชนิดมาแต่งรวมกัน


กวีผู้ชำนาญเชิงกาพย์

[แก้]

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

[แก้]

กวีที่ได้รับยกย่องว่าสร้างสรรค์ผลงานด้านกาพย์มากที่สุดคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง กรมพระราชวังบวรฯ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ งานพระราชนิพนธ์มี 8 เรื่อง คือ กาพย์เห่เรือ 4 บท กาพย์เห่เรื่องกากี 3 ตอน กาพย์เห่สังวาสและเห่ครวญ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง นันโทปสันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง และเพลงยาว ในบรรดาพระราชนิพนธ์เหล่านี้ ทรงใช้กาพย์เป็นหลักถึง 5 เรื่อง

กาพย์ที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรทรงใช้มีเพียงชนิดเดียวคือ กาพย์ยานี 11 ซึ่งทรงเลือกใช้คำได้อย่างเด่น ทำให้เกิดความไพเราะ เสนาะหู ชวนฟัง นอกจากนี้ยังทรงเพิ่มสัมผัสสระในคำที่ 2 - 3 ของวรรคแรก และคำที่ 3 - 4 ของวรรคหลังอย่างเป็นระบบทำให้เกิดจังหวะอ่านรับกันและเพิ่มความไพเราะยิ่งขึ้น

ตัวอย่างลีลากาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

งามทรงวงดั่งวาด งามมารยาทนาดกรกราย
งามพริ้มยิ้มแย้มพราย งามคำหวานลานใจถวิล
แต่เช้าเท่าถึงเย็น กล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ
ชายใดในแผ่นดิน ไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ
กาพย์เห่สังวาส


อ้างอิง

[แก้]
  1. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์. ภาษาไทย 2 การประพันธ์ไทย. กรุงเทพมหานคร : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, 2518.
  2. ฉันท์ ขำวิไล. ฉันทศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2506.
  3. สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]