การขนส่งระบบรางในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่จะอยู่บนเกาะชวาซึ่งมีรถไฟสายหลักอยู่ 2 สาย ส่วนในเกาะสุมาตราจะมีสายรถไฟที่ไม่เชื่อมต่อกันถึง 5 สาย ซึ่งจะมีในจังหวัดอาเจะฮ์, จังหวัดสุมาตราเหนือ (พื้นที่รอบเมืองเมดัน), จังหวัดสุมาตราตะวันตก (พื้นที่รอบเมืองปาดัง), จังหวัดสุมาตราใต้ และจังหวัดลัมปุง สำหรับรถไฟทางไกลในอินโดนีเซีย ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจบริษัท รถไฟอินโดนีเซีย จำกัด ส่วนรถไฟชานเมืองในจาการ์ตาดำเนินการโดยบริษัท รถไฟชานเมืองอินโดนีเซีย จำกัด
ขนาดความกว้างรางรถไฟ ส่วนใหญ่ใช้รางขนาด 1,067 mm (3 ft 6 in) นอกจากนี้ยังมีรางขนาด 1,435 mm (4 ft 8 1⁄2 in) (รวมถึงสายรถไฟใหม่ในจังหวัดอาเจะฮ์) และ 750 mm (2 ft 5 1⁄2 in) การจ่ายไฟฟ้าให้ระบบรางมีเฉพาะรถไฟชานเมืองในจาการ์ตาซึ่งใช้ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัว ไฟฟ้ากระแสตรง ความต่างศักย์ 1500 โวลต์
ทางรถไฟสายแรกในอินโดนีเซีย เปิดใช้งานเมื่อ ค.ศ. 1867 ต่อมาได้มีการขยายเส้นทางทั้งสายของรัฐและสายของเอกชน
จากการยึดครองของญี่ปุ่นและการทำสงครามประกาศเอกราช ส่งผลให้สภาพทางรถไฟอยู่ในสภาพที่แย่มาก ใน ค.ศ. 1950 ได้มีการซื้อรถจักรไอน้ำ 100 คันเข้ามาใช้งาน ต่อมาใน ค.ศ. 1953 ได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าคันแรกจากสหรัฐอเมริกา และมีรถจักรดีเซลไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศในช่วง ค.ศ. 1980 ส่วนรถไฟฟ้าได้สั่งซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1970 เพื่อใช้แทนที่รถจักรไฟฟ้าที่ใช้งานมากว่า 60 ปี
ในช่วงแรก ๆ หลังประกาศเอกราช ทางรถไฟทุกสายควบคุมโดยรัฐบาล ต่อมาได้มีการก่อสร้างทางรถไฟหลายสายมากขึ้น ทั้งทางเดี่ยว ทางคู่ และทางสี่ ในอดีตเคยมีรถรางให้บริการ แต่ได้ถูกยกเลิก ทำให้ระยะทางของรางจาก 7,000 กิโลเมตร ลดลงเหลือเพียง 3,000 กิโลเมตร
บริษัท รถไฟอินโดนีเซีย จำกัด ให้บริการสายรถไฟอย่างครอบคลุมบนเกาะชวาและเกาะสุมาตรา (ยกเว้นในจังหวัดสุมาตราตะวันตกซึ่งมีเฉพาะรถไฟนำเที่ยวประจำสัปดาห์) ชนิดตู้โดยสารมีหลากหลายชนิด อาทิ รถนั่งพิเศษปรับอากาศ รถนั่งธุรกิจไม่ปรับอากาศ รถนั่งชั้นประหยัดไม่ปรับอากาศ เป็นต้น ต่อมารถโดยสารสองชนิดหลัง ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศเสร็จเรียบร้อยภายใน ค.ศ. 2013
ส่วนขบวนรถนอนล้วนนั้นไม่มีมานานแล้ว โดยรถนอนล้วนขบวนสุดท้ายคือ ขบวนรถด่วน บีมา ซึ่งให้บริการในช่วง ค.ศ. 1967-1984 ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นขบวนรถนั่ง โดยมีรถนอนอยู่เพียง 1-2 คันต่อขบวนเท่านั้น จนกระทั่งใน ค.ศ. 1995 รถนอนจึงได้ถูกยกเลิก และได้ดัดแปลงมาเป็นรถนั่งทั้งหมด
บนเกาะชวา ขบวนรถไฟส่วนใหญ่เชื่อมต่อระหว่างจาการ์ตากับเมืองห่างไกล โดยเฉพาะสายรถไฟจาการ์ตา-บันดุง มีความถี่ขบวนรถทุก ๆ ชั่วโมง ขบวนรถไฟส่วนใหญ่ (ยกเว้นรถไฟชานเมือง) จะมีชื่อเรียกเฉพาะ อาทิ ขบวนรถด่วน เดปก (รถด่วนวิ่งระหว่างจาการ์ตา-เดปก), ขบวนรถ โลกาวา (มาจากชื่อแม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองปูร์โวเกร์โต), ขบวนรถ อาร์โกลาวู (มาจากชื่อภูเขาไฟลาวู ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองโซโล), ขบวนรถ บางุนการ์ตา (ย่อจากชื่อเมืองที่ขบวนรถไฟผ่าน ได้แก่เมือง จมบัง-มาดียุน-จาการ์ตา) และขบวนรถ มาตาร์มาจา (มาลัง-บลีตาร์-มาดียุน-จาการ์ตา)
การบริการรถไฟโดยสาร ได้รับการฟื้นฟูในช่วง ค.ศ. 1995-1999 ซึ่งมีการเปิดเดินรถไฟด่วนอีกหลายขบวน ต่อมาอัตราค่าโดยสารเครื่องบินได้ลดลง ส่งผลให้การพัฒนารถไฟเกิดการชะลอตัว จำนวนผู้โดยสารรถไฟคงที่ ส่วนขบวนรถไฟถูกลดจำนวนลงครึ่งหนึ่ง
เนื่องจากมีการร้องเรียนถึงการล่วงละเมิดทางเพศในที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก บริษัท รถไฟอินโดนีเซีย จำกัด จึงได้จัดตู้โดยสารสำหรับสุภาพสตรีในรถไฟชานเมืองบางขบวนของจาการ์ตา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010[1] ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 ได้เปลี่ยนมาพ่วงตู้โดยสารสำหรับสุภาพสตรีในขบวนรถไฟทางไกล โดยจะพ่วงในคันแรกและคันสุดท้ายของแต่ละขบวน[2]
โครงข่ายรถไฟส่วนใหญ่อยู่บนเกาะชวา และสายรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักสำคัญ เช่น รถไฟจากเมืองเมอรักซึ่งอยู่ทางตะวันตกสุดของเกาะ ไปยังเมืองบาญูวางี ซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุดของเกาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีสายรถไฟหลายสายที่ไม่ได้เชื่อมต่อบนเกาะสุมาตรา โดยสายรถไฟแต่ละส่วนจะอยู่ที่สุมาตราเหนือ สุมาตราตะวันตก และสุมาตราใต้ตามลำดับ สายรถไฟเหล่านี้สร้างในสมัยที่เป็นอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ สำหรับในส่วนของสายรถไฟสุมาตราเหนือเคยปิดตัวไปครั้งหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1971 แต่ได้กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งใน ค.ศ. 2011[3]
ใน ค.ศ. 2013 มีทางรถไฟบนเกาะสุมาตรา 1,869 กิโลเมตร แต่มีระยะทางที่ใช้งานได้จริง 1,348 กิโลเมตร[4] และมีโครงการ ทางรถไฟสายทรานส์สุมาตรา ซึ่งเป็นการรวมสายรถไฟทั้งภูมิภาคให้เชื่อมต่อกัน สำหรับสายรถไฟบนเกาะสุมาตรา แบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาค ได้แก่
บนเกาะชวา มีขบวนรถสินค้าไม่มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านปริมาณทางรถไฟ ขบวนรถสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ขบวนรถสินค้า กาลีมัซ วิ่งระหว่างจาการ์ตา-ซูราบายา นอกจากนี้ยังมีขบวนรถสินค้าอื่น ๆ อาทิ ขบวนรถน้ำมัน เป็นต้น ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าระบบรางให้ดียิ่งขึ้น โดยการนำเข้ารถจักรจีอี ซีซี 206 อีกทั้งยังสร้างทางคู่เชื่อมระหว่างจาการ์ตา-ซูราบายาอีกด้วย
ในสุมาตราใต้ มีขบวนรถไฟขนถ่านหิน ส่วนในสุมาตราตะวันตก มีขบวนรถไฟขนปูนซีเมนต์ และในสุมาตราเหนือ มีขบวนรถไฟขนน้ำมันปาล์มและยางพารา
ในปัจจุบัน จาการ์ตามีระบบรถไฟชานเมือง กาเอร์เอ็ล โกมูเตอร์ไลน์ ให้บริการ ส่วนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจาการ์ตา มีกำหนดเปิดให้บริการใน ค.ศ. 2016
มีรถไฟชานเมืองวิ่งให้บริการในเขตเมืองซูราบายา นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานอีกด้วย[5]
อินโดนีเซียมีรถจักรหลายรุ่น จากหลายผู้ผลิต แต่อย่างไรก็ตาม เหลือรถจักรไอน้ำที่ใช้งานได้เพียง 3 คันเท่านั้น โดยทั้งสามคันนี้ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์รถไฟอัมบาราวาทั้งหมด ส่วนรถจักรที่ปลดประจำการแล้ว ได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์การขนส่ง ในสวนสาธารณะของจาการ์ตา และพิพิธภัณฑ์รถไฟอัมบาราวาในเกาะชวาตอนกลาง โดยรถจักรไอน้ำหลายคัน ได้ถูกปลดประจำการตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียแล้ว บางส่วนได้ส่งคืนผู้ผลิต บางส่วนนำเข้าพิพิธภัณฑ์
รายการอ้างอิงนี้ แสดงรายชื่อรถจักรที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่[6]