ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองของญี่ปุ่น กำลังปฏิบัติการในไครสต์เชิร์ช, ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (อังกฤษ : Urban Search And Rescue ; ย่อ: USAR [ a] หรือ US&R [ b] ) คือการปฏิบัติการกู้ภัยที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและทักษะ ที่มีความเกี่ยวพันกับสภาพพื้นที่ การช่วยเหลือออกจากพื้นที่ประสบภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งประสบเหตุในเขตเมืองอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหว การพังทลายของโครงสร้างอาคารและตึก รวมถึงสงคราม การก่อการร้ายหรืออุบัติเหตุ การวางทุ่นระเบิดและการยุบตัวของพื้น[ 1]
การทรุดตัวและพังถล่มของอาคารหรือโครงสร้างอาจเกิดจากโครงสร้างที่ขาดความมั่นคงและตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูง[ 2] ปกติหลังจากการพังถล่มมักจะเกิดช่องว่างภายใต้เศษซากของอาคาร ซึ่งมีโอกาสที่ผู้รอดชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากติดอยู่ภายในภายใต้ช่องว่างเหล่านั้น และพร้อมที่จะพังทลายลงมาได้ตลอดเวลา
การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองอาจจะต้องปฏิบัติการในสถานการณ์ที่ซับซ้อนภายใต้สภาพแวดล้อมที่อันตราย จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต มักมีการค้นพบผู้รอดชีวิตหลังจากเริ่มปฏิบัติการไปแล้วในหลายชั่วโมงหรือหลายวันต่อมาหลังจากการเริ่มปฏิบัตการ ดังนั้นควรวางแผนในการปฏิบัติการให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้
เจ้าหน้าที่กำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งติดอยู่ในอาคารออกมา ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน พ.ศ. 2551
สำหรับปฏิบัติการที่มีความซับซ้อนและต้องการเครื่องมือที่ทันสมัยในการเข้าปฏิบัติการ หากทีมในท้องถิ่นไม่มีกำลังหรือเครื่องมือในการปฏิบัติการมากพออาจต้องร้องขอทีมค้นหาและกู้ภัยจากต่างชาติเข้ามาปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันมีการพลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ภายใต้การดำเนินการของคณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ (INSARAG) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานและดำเนินการตอบสนองเหตุการณ์ในภัยธรรมชาติขนาดใหญ่[ 3]
การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองมีความเสี่ยงสูงในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากภัยพิบัติต่าง ๆ ขณะปฏิบัติการช่วยเหลือ อาทิ เหตุการณ์แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น น้ำท่วม เขื่อนแตก อุบัติเหตุขนาดใหญ่ การก่อการร้าย รวมไปถึงวัตถุปนเปื้อนและอันตราย
ทีมค้นหาและกู้ภัยของตุรกีและสหราชอาณาจักรกำลังปฏิบัติการหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและประเทศซีเรีย พ.ศ. 2566
ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง อาจจะถูกจัดตั้งขึ้นในรูปแบบของทีมเฉพาะกิจ[ 4] ซึ่งประกอบไปด้วยกำลังที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อปฏิบัติการในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน อาจประกอบไปด้วย นักพจญเพลิงจากหน่วยดับเพลิง หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น และองค์กรหรือบริษัทเอกชนในการปฏิบัติการแต่ละครั้ง ซึ่งแต่ละประเทศจะมีรูปแบบหน่วยกำกับดูแลที่ต่างกัน อาทิ
สหรัฐ ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองของสหรัฐนั้นจะต้องผ่านการรับรองโดยรัฐบาลกลาง[ 5] หรือแต่ละมลรัฐเอง โดยจะมีข้อตกลงความร่วมมือในการช่วยเหลือกันในการปฏิบัติการระหว่างทีม
อังกฤษ ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองของอังกฤษจะอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีดับเพลิงและทีมงานบรรเทาสาธารณภัยท้องถิ่น โดยได้รับอุปกรณ์และการฝึกอบรมจากรัฐบาลกลางของอังกฤษเอง[ 6]
ไทย ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองของไทย (USAR Thailand) อยู่ภายใต้การดูแลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีการจัดกำลังในรูปแบบของหน่วยเฉพาะกิจ ประกอบไปด้วยกำลังจากหลายส่วนมาปฏิบัติการร่วมกัน[ 7]
การปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองนั้น เกิดจากการรวมตัวกันเพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลกรการแพทย์ฉุกเฉิน วิศวกร แพทย์ สุนัขค้นหาและกู้ภัย อุปกรณ์ช่วยเหลือเฉพาะทาง รวมไปถึงการสื่อสารสั่งการที่มีประสิทธิภาพเพื่อบริหารจัดการอุปกรณ์สนับสนุนและความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการฝึกหน่วยงานกู้ภัยภายในท้องถิ่นให้รับทราบถึงขั้นตอนและกระบวนการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยของระดับชาติและระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม จะช่วยทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ[ 8]
ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองสามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่น้อยกว่า 7-10 วัน โดยใน 72 ชั่วโมงแรกนับเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดสูงที่สุด[ 9] ซึ่งทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองมีความสามารถในการ
สุนัขค้นหาและกู้ภัยพร้อมกันเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองจากสหราชอาณาจักร ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล เมษายน พ.ศ. 2558 ประเมินภัยอันตรายของโครงสร้างและค้ำยันไม่ให้โครงสร้างเกิดความเสียหายและถล่มซ้ำเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ตรวจสอบภัยอันตรายและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในพื้นที่รวมถึงวัตถุอันตราย
ปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยโดยวิธีการทางกายภาพและเชิงเทคนิค เช่น การใช้สุนัขค้นหา การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการค้นหาตรวจสอบความร้อนของร่างกาย การตรวจจับด้วยเสียง
ปฏิบัติการกู้ภัยในพื้นที่อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างถล่ม ด้วยเทคนิควิธีการต่าง ๆ อาทิ การตัดเจาะทำลาย การใช้เชือกเพื่อการกู้ภัย การกู้ภัยทางสูง
การรักษาปฐมพยาบาลในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีอาการไม่คงที่ ไม่สามารถลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่อาคารถล่ม
การประเมินสถานการณ์ การระบุพื้นที่เป้าหมายและลำดับความสำคัญพื้นที่ที่มีผู้ประสบภัย [ 10] ในสถานการณ์แผ่นดินไหวอาคารถล่ม โดยให้มีความครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ภายในระยะเวลาสั้นที่สุด
ขั้นตอนการปฏิบัติงาน[ แก้ ]
ขั้นตอนการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองสากลตามระบบของ INSARAG ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน[ 1] คือ
เตรียมความพร้อม (Preparedness) เป็นการเตรียมความพร้อมของทีมก่อนปฏิบัติงาน เพื่อทบทวน วางแผนจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา
เตรียมตัวออกปฏิบัติงาน (Mobilisation) เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์หลังเกิดภัยพิบัติเพื่อลงไปยังพื้นที่ประสบภัย
ปฏิบัติงาน (Operations) เป็นการรายงานตัวต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์ในท้องที่นั้น ๆ ในการมอบหมายในการปฏิบัติงานยังส่วนต่าง ๆ จนกระทั้งสิ้นสุดภารกิจในพื้นที่นั้น
ถอนกำลัง (Demobilisation) เป็นการถอนทีมออกจากพื้นที่ประสบภัยหลังจากภารกิจสิ้นสุด หรือได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังไปยังจุดอื่น
รายงานผลการปฏิบัติงาน (Post-Mission) เป็นการทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานค้นหาและกู้ภัย และนำมาถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติการครั้งต่อไป
เครื่องหมายในการเคลียร์พื้นที่สิ่งปลูกสร้างแต่ละหลังมีความจำเป็นอย่างมากในการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง ปัจจุบันมีการใช้งานระบบเครื่องหมายของ INSARAG อย่างแพร่หลาย
ในระดับสากลหรือระหว่างประเทศ มักใช้การทำเครื่องหมายตามรูปแบบที่คณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ (INSARAG) เป็นผู้กำหนดขึ้น ประกอบไปด้วย 3 รูปแบบ[ 1] คือ เครื่องหมายพื้นที่ปฏิบัติงาน เครื่องหมายผู้ประสบภัย และเครื่องหมายการเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็ว
เครื่องหมายพื้นที่ปฏิบัติงาน[ แก้ ]
การทำเครื่องหมายพื้นที่ปฏิบัติงานของ INSARAG ในปัจจุบัน
เครื่องหมายพื้นที่ปฏิบัติงาน ประกอบไปด้วย[ 10]
วาดกรอบสี่เหลี่ยมขนาด 1.2 x 1.0 เมตร โดยประมาณ
อาจจะวาดลูกศรเพิ่มเติมเพื่อระบุทิศทางของพื้นที่ปฏิบัติการหรือทางเข้า
ในกรอบสี่เหลี่ยม ให้ระบุข้อมูล
รหัสพื้นที่ปฏิบัติงาน
รหัสทีม
ระดับการประเมินการค้นหากู้ภัยที่ปฏิบัติเสร็จแล้ว (ASR)
วันที่ปฏิบัติ
นอกกรอบสี่เหลี่ยม ให้ระบุข้อมูล
ด้านบนให้ระบุอันตรายใด ๆ ที่จำเป็นต้องระบุเตือน เช่น แร่ใยหิน (Asbestos)
ด้านล่างให้ระบุประเภทในการคัดกรองผู้ประสบภัย
ข้อมูลรหัสทีมที่อัพเดทล่าสุด ระดับของการประเมินการค้นหากู้ภัยที่ปฏิบัติเสร็จแล้ว (ASR) และวันที่ในการ ASR ระดับต่อไปในครั้งหน้า
ข้อมูลของบุคคลสูญหาย ผู้ประสบภัยที่รอดชีวิต เสียชีวิต ที่มีการลำเลียงออกมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องหมายอาจจะเป็นสีสเปรย์ กระดาษกาวกันน้ำ สติ๊กเกอร์ หรือวัสดุอื่น ๆ ตามที่ทีมจะจัดหามาใช้งานได้
รหัสพื้นที่ปฏิบัติงานควรจะมีความสูงประมาณ 40 เซนติเมตร
รหัสทีม ระดับของการประเมินในการค้นหาและกู้ภัย (ASR) ควรมีขนาดเล็กกว่ารหัสพื้นที่ปฏิบัติงาน ควรสูงประมาณ 10 เซนติเมตร
สีควรมองเห็นง่าย ตัดกับพื้นหลังของตัวอาคารหรือวัตถุที่ทำเครื่องหมาย
เมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว และไม่มีการมอบหมายภารกิจอื่นต่อในพื้นที่ ให้วาดเส้นแนวขวางผ่านจุดกึ่งกลางของเครื่องหมายกรอบสี่เหลี่ยม
เครื่องหมายผู้ประสบภัย[ แก้ ]
เครื่องหมายผู้ประสบภัย (Victim Marking) จัดทำขึ้นเพื่อระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตว่าอยู่ในตำแหน่งใด ทั้งที่มีข้อมูลและไม่มีข้อมูล ให้เป็นที่สังเกตเห็นเด่นชัด มีขั้นตอนปฏิบัติคือ[ 10]
ทีมค้นหาและกู้ภัยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานหรือไม่สามารถเริ่มปฏิบัติงานได้ในทันที
มีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนในตำแหน่งในการปฏิบัติงานที่แน่นอน
ทำเครื่องหมายเหนือตำแหน่งหรือใกล้เคียงจุดที่ผู้ประสบภัยอยู่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทำเครื่องหมายด้วยอุปกรณ์ที่สามารถเห็นได้ชัดและสามารถหาได้ง่าย อาทิ สีสเปรย์ กระดาษกันน้ำ สติ๊กเกอร์
ขนาดควรประมาณ 50 เซนติเมตร
สีควรตัดกับสีพื้นหลังของวัตถุที่ทำเครื่องหมาย
เมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้นแล้วไม่ต้องทำเครื่องหมายเพิ่มเติม
ไม่ต้องระบุรหัสพื้นที่ปฏิบัติงาน
เครื่องหมายการเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็ว[ แก้ ]
เครื่องหมายการเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็ว (Rapid Clearance Marking: RCM) เป็นการให้เครื่องหมายในพื้นที่ที่มีการประเมินแล้วว่าไม่มีผู้เสียชีวิตหรือรอดชีวิต หรืออาจมีเพียงผู้เสียชีวิต เพื่อลดเวลาการปฏิบัติงานและไปปฏิบัติงานในพื้นที่อื่นต่อ ป้องกันการทำงานซ้ำซ้อนกัน โดยมีหลักเกณฑ์ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัย หรือตามข้อกำหนดของหน่วยงานด้านการจัดการสาธารณภัยของประเทศนั้น ๆ (LEMA)[ c] หรือศูนย์ประสานการปฏิบัติในพื้นที่ (OSOCC)[ d] หรือหน่วยประสานงานด้านการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (UCC)[ e] มีขั้นตอนปฏิบัติคือ[ 10]
อำนาจในการตัดสินใจให้เครื่องหมายนี้จะขึ้นอยู่กับหน่วยงานด้านการจัดการสาธารณภัยของประเทศนั้น ๆ (LEMA) หรือศูนย์ประสานการปฏิบัติในพื้นที่ (OSOCC)
การทำเครื่องหมายการเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็ว (RCM) จะใช้ได้เมื่อทำการค้นหาอย่างเต็มรูปแบบอย่างรวดเร็วในพื้นที่ปฏิบัติงานดังกล่าวแล้ว หรือมีหลักฐานยืนยันอย่างแน่นอนแล้วว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติการในพื้นที่นั้นอีก
เครื่องหมายการเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็ว (RCM) นั้นกำหนดแค่เพียง 2 ประเภทคือ
C ในกรอบสี่เหลียขนมเปียกปูน หมายความว่า Clear แปลว่า เคลียร์ ไม่มีผู้บาดเจ็บที่รอดชีวิตและผู้เสียชีวิต
D ในกรอบสี่เหลียขนมเปียกปูน หมายความว่า Deceased แปลว่า เสียชีวิต ตรวจสอบแล้วมีเพียงผู้บาดเจ็บที่เสียชีวิตแล้วที่ร่างยังคงอยู่ หากเคลื่อนย้ายร่างออกไปแล้วให้ทำเครื่องหมาย C เคลียร์กำกับไว้กับเครื่องหมายเดิม
ใช้ได้กับอาคารที่ทำการที่เคลียร์ได้อย่างรวดเร็วซึ่งได้รับข้อมูลมาว่าไม่มีผู้รอดชีวิตแล้ว
ใช้ได้กับวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาคาร เช่น รถยนต์ วัตถุ กองซากปรักหักพัง ที่ผ่านการค้นหาอย่างเต็มรูปแบบอย่างรวดเร็ว โดยใช้กับตำแหน่งที่มองเห็นได้เด่นชัด
การทำเครื่องหมายจะต้องมี่ข้อมูลกำกับเพิ่มเติม ด้วยวัสดุที่เห็นเด่นชัด อาทิ สเปรย์ ใต้เครื่องหมายหลัก โดยระบุ
รหัสทีม
วันที่ปฏิบัติการ
ขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร
สีสดใสตัดกับพื้นหลังวัตถุ
แผนภูมิแสดงการใช้ระบบการทำเครื่องหมาย FEMA ทั่วไปในนิวออร์ลีนส์ หลังพายุเฮอริเคนแคทรีนา
ในสหรัฐอเมริกาสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA) ใช้ระบบการทำเครื่องหมายที่แตกต่างกับสากลบนโครงสร้างของอาคารหรือพื้นที่ที่ค้นหา ดังต่อไปนี้:
เครื่องหมายทับในแนวทแยง (X) แสดงว่ากำลังดำเนินการค้นหาอยู่ภายในอาคาร ใช้เพื่อระบุตำแหน่งของเจ้าหน้าที่และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานซ้ำซ้อน
X ภายในช่องสี่เหลี่ยมหมายถึง "อันตราย - ห้ามเข้า!"
X ที่มีข้อความล้อมรอบหมายความว่า "ค้นหาเสร็จสิ้น" โดยมีความหมายแต่ละส่วน ดังนี้
เหนื่อเครื่องหมาย X ระบุเวลา (และวันที่หากจำเป็น) ที่ทีมค้นหาออกจากพื้นที่
ด้านซ้ายของเครื่องหมาย X ระบุถึงทีมที่เข้ามาปฏิบัติการ
ใต้เครื่องหมาย X ระบุถึงผลการค้นหา (จำนวนผู้ประสบภัย นำออก จำนวนผู้เสียชีวิต ประเภทของการค้นหา เช่น หลักหรือรอง)
ด้านขวาของเครื่องหมาย X ข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจจะต้องระวังหรือแจ้งเตือนให้ทราบ
รหัส X เหล่านี้ถูกใช้ในหลากหลายสถานการณ์ และมีใช้อย่างหลากหลาย (และนำไปใช้และดัดแปลงโดยหน่วยงานอื่น) ระหว่างปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองหลังเหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนาเมื่อปี พ.ศ. 2548
↑ ตัวย่อ USAR ได้รับการรับรองโดยคณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ (INSARAG) ของ UN เพื่อหมายถึงทีมค้นหาและกู้ภัยในเมืองทั่วโลกโดยไม่คำนึงถึงภาษาพูด
↑ ในสหรัฐอเมริกาใช้ US&R เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสับสนที่อาจเกิดขึ้นกับ กองกำลังสำรองของกองทัพสหรัฐอเมริกา
↑ Local Emergency Management Authority: LEMA
↑ On-Site Operation Coordination Centre: OSOCC
↑ USAR Coordination Cell: UCC
↑ 1.0 1.1 1.2 Sumtumpruek, Waruth (2023-02-13). "รู้จัก USAR ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง" . ประชาชาติธุรกิจ . สืบค้นเมื่อ 2023-02-13 .
↑ "สภาวิศวกรชี้แผ่นดินไหวตุรเคีย - ซีเรีย สัญญาณเตือนระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก แนะกรุงเทพฯ และภาคก่อสร้างไทยต้องเร่งศึกษาความเสี่ยงรอยเลื่อน" . COE (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-02-10.
↑ "United States Response to the Earthquake in Bam, Iran" , coe-dmha.org
↑ "Archived copy" (PDF) . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2006-01-18. สืบค้นเมื่อ 2006-02-04 .{{cite web }}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์ )
↑ "FEMA: Urban Search and Rescue Response System - Task Forces" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2006-02-10. สืบค้นเมื่อ 2006-02-04 .
↑ "Dept for Communities and Local Government: Fire and Resilience - USAR (accessed 19 Jul 07)" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-06-10. สืบค้นเมื่อ 2023-02-13 .
↑ "ไทยส่งทีม USAR Thailand ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย "แผ่นดินไหวตุรกี" " . bangkokbiznews . 2023-02-09.
↑ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ส่งชุดครูฝึกค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง(USAR TEAM) เดินทางไปฝึกทบทวน – Thailand Plus Online
↑ "72 ชั่วโมงแรก โอกาสช่วยคนติดใต้ซากอาคาร | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส" . Thai PBS .{{cite web }}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์ )
↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. (2560). คู่มือปฏิบัติงานคณะที่ปรึกษา ด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ (INSARAG Guidelines) เล่มที่ 2: การเตรียมความพร้อมและการเผชิญเหตุ คู่มือ B: การปฏิบัติการ. เก็บถาวร 2023-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพฯ. ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.