การจัดการของเสียในประเทศไทยมีหลายประเด็น เช่น การใช้พลาสติกมากเกินไป, ขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น
คนไทยต่อหัวสร้างขยะมูลฝอยประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน โดย 50 เปอร์เซ็นต์ของขยะมูลฝอยดังกล่าวสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ[1] ตามสถิติของกระทรวงมหาดไทย ขยะทั่วประเทศใน พ.ศ. 2559 มีจำนวน 27 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ในจำนวนนี้ 4.2 ล้านตันได้บังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร[2][3] ตัวเลขประจำ พ.ศ. 2552 อยู่ที่ 15.1 ล้านตัน ประมาณร้อยละยี่สิบของทั้งหมดเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (BMA)[4] ส่วนของเสียที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2558 มีการนำกลับมาใช้ใหม่เพียงประมาณห้าล้านตัน และมีเพียงแปดล้านตันเท่านั้นที่ได้รับการจัดการตามแนวทางปฏิบัติที่ดีระดับโลก นอกจากนั้น จากพื้นที่ทิ้งขยะ 2,500 แห่งของประเทศไทย มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม[1] ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (PCD) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังขยะมูลฝอยหลักของประเทศไทย ระบุว่า ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยที่ร้ายแรง ซึ่งปัญหาเหล่านั้นกำลังเพิ่มขึ้น ด้านวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปริมาณขยะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 600,000 ตันต่อปี เนื่องจากจำนวนประชากรและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น[3]
แผนการจัดการขยะของประเทศไทยเรียกร้องให้ 75 เปอร์เซ็นต์ของขยะมูลฝอยทั้งหมดของประเทศไทยถูกกำจัด หรือรีไซเคิลอย่างเหมาะสมในทางใดทางหนึ่งภายใน พ.ศ. 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 49 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ภายในปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลและเอกชนวางแผนที่จะใช้จ่ายเงินจำนวน 177 พันล้านบาท (5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเทคโนโลยีการจัดการขยะและการรณรงค์การรับรู้ของสาธารณชน "เรามีค่าปรับสำหรับการทิ้งขยะ แต่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจ" วิจารย์กล่าว "เราจำเป็นต้องยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงสอนให้ผู้คนให้รีไซเคิล, นำกลับมาใช้ใหม่ และลดขยะ"[5]
ในประเทศไทยบทบาทในการจัดการขยะมูลฝอย (MSW) และการจัดการขยะอุตสาหกรรมจัดโดยรัฐบาลไทย ซึ่งต่อมาแบ่งออกเป็นรัฐบาลของประเทศ, รัฐบาลระดับภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลแต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานที่แตกต่างกัน รัฐบาลของประเทศมีหน้าที่กระตุ้นกฎระเบียบ, นโยบาย และมาตรฐาน รัฐบาลระดับภูมิภาคมีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานของรัฐบาลของประเทศและการปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการขยะในพื้นที่ปกครองของตน[6] การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่กำจัดขยะเอง แต่จ้างบริษัทเอกชนที่ได้รับสิทธิ์นั้นจากกรมควบคุมมลพิษ[7] ส่วนปัญหาสำคัญคือการขาดเงินทุนสำหรับการจัดการขยะ—ครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยจ่ายเงินน้อยกว่าหนึ่งดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย[1] ซึ่งบริษัทหลักคือศูนย์การจัดการของเสียนิคมอุตสาหกรรมบางปู;[8] บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENCO);[9] บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จํากัด;[10] บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด (WMS);[11] บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG)[12] และบริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) ส่วนบริษัทนำทรัพยากรกลับมาผลิตใหม่ชั้นนำคือวงษ์พาณิชย์ ซึ่งซื้อวัสดุรีไซเคิลผสม (กระดาษ, พลาสติก, แก้ว, อลูมิเนียม, เหล็ก) ในราคาประมาณ 11,300 บาทต่อตัน[4][13] บริษัทเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อของเสียที่รับจากลูกค้าก่อนนำไปกำจัด