การล่มสลายของมาเนอปลอว์ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
![]() ![]() |
![]() ![]() | ||||||
หน่วยที่เกี่ยวข้อง | |||||||
| |||||||
กำลัง | |||||||
![]() ![]() | ไม่ทราบ | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เสียชีวิต 5 นาย | เสียชีวิต 10 นาย, บาดเจ็บ 50 นาย | ||||||
พลเรือน 9,000–10,000 คน พลัดถิ่น |
การล่มสลายของมาเนอปลอว์ (อังกฤษ: Fall of Manerplaw) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2538 เมื่อหมู่บ้านมาเนอปลอว์ถูกยึดโดยกองทัพพม่า และกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) มาเนอปลอว์เป็นที่ตั้งกองบัญชาการของกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ 2 กลุ่ม ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)[1][2] การโจมตีทางทหารครั้งสุดท้ายโดยกองทัพพม่าได้รับความช่วยเหลือจากข้อมูลตำแหน่งโดย DKBA ได้รับการต่อต้านเพียงเล็กน้อยจากกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งผู้นำได้สั่งให้ล่าถอยตามยุทธวิธี[1]
ชาวกะเหรี่ยงในรัฐกะเหรี่ยง (หรือเรียกอีกอย่างว่ารัฐกะยิน) ทางตะวันออกของพม่า) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามในพม่า มีประชากรคิดเป็นร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ และได้ต่อสู้เพื่อเอกราชและการปกครองตนเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492[3] เป้าหมายเริ่มแรกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) คือการได้รับเอกราชของชาวกะเหรี่ยง อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2519 พวกเขาเริ่มเรียกร้องให้มีการรวมตัวเป็นสหพันธรัฐในพม่าโดยมีตัวแทนชาวกะเหรี่ยงอย่างเป็นธรรม และให้ชาวกะเหรี่ยงกำหนดนโยบายของตนเอง[4]
ระยะเวลาก่อนการล่มสลายของมาเนอปลอว์ หมู่บ้านถูกโจมตีหลายครั้งโดยกองทัพพม่า และพื้นที่โดยรอบเป็นที่ก่อเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้งโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร รวมถึงการบังคับใช้แรงงานและการลงโทษด้วยการวิสามัญฆาตกรรม[5]
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 กลุ่มศาสนาพุทธและกลุ่มศาสนาคริสต์ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เริ่มมีความขัดแย้งกันในการสร้างเจดีย์ในเมืองมาเนอปลอว์ อู ธุสะนะ พระภิกษุชาวกะเหรี่ยงที่สั่งก่อสร้างและขณะนั้นท่านเป็นสมาชิกของ KNU ที่ได้ออกมาร่วมประท้วงต่อต้านองค์การร่วมกับคนอื่น ๆ ที่ไม่พอใจกับความเป็นผู้นำของกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์[2] เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2537 กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ปะทะกับผู้เห็นต่างชาวพุทธในเมืองมาเนอปลอว์ ในที่สุดเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การแตกแยกใน KNU และการก่อตั้งกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2537[2][6] ต่อมา อู ธุสะนะได้ทำข้อตกลงกับ พลตรี หม่อง ฮลัล ผู้บัญชาการภาคตะวันออกเฉียงใต้ของกองทัพบกพม่า และพยายามโน้มน้าวชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงให้อพยพไป ค่ายปกป้องผู้ลี้ภัยของ DKBA พระอู ธุสะนะ ยังพยายามชักชวนทหารพุทธของ KNLA ให้แปรพักตร์ไปยัง DKBA และช่วยเหลือกองทัพพม่า[1]
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 กองทหารพม่า 4,000[1][2] ถึง 10,000 นาย[6]และกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) รุกเข้าสู่เมืองมาเนอปลอว์ และยึดหมู่บ้านใกล้เคียงหลายแห่งได้ สันเขามินยอคี ซึ่งในปี พ.ศ. 2535 ได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็งโดยกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ก็ถูกยึดโดยไม่มีการยิงแม้แต่นัดเดียว ทหารจาก DKBA ช่วยเหลือกองทัพพม่าโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของ KNLA และนำทางพวกเขาผ่านป่าไปยังมาเนอปลอว์[1] ขณะที่กองทัพพม่าและ DKBA เข้าใกล้เมืองมาเนอปลอว์ พลเรือนประมาณ 9,000[5] ถึง 10,000 คน[7]ได้หลบหนีออกจากหมู่บ้านและพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งจากค่ายผู้ลี้ภัยในบริเวณใกล้เคียงด้วย
เมื่อกองทัพพม่าและกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) เคลื่อนกำลังเข้ามาอยู่ในเมืองมาเนอปลอว์เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2538 ผู้นำของกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ได้สั่งการให้ทหารของตนล่าถอยและเผาทำลายหมู่บ้าน[6] ขณะที่ประชาชนในเมืองมาเนอปลอว์ประมาณ 3,000 คน ได้ถูกอพยพออกไปแล้วในตอนนั้น[8]
ทหารกองทัพพม่า 5 นาย[9]และทหารกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) 10 นายเสียชีวิตในการจู่โจมครั้งสุดท้าย[1] ในบรรดากองกำลัง KNLA ที่สามารถหลบหนีการรุกคืบของกองทัพพม่ามีกำลังจำนวน 50 นายได้รับบาดเจ็บ[1]
ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่หลบหนีการสู้รบ มุ่งหน้าไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยใกล้ชายแดนพม่า–ไทย หลังจากยึดมาเนอปลอว์ได้ กองทัพพม่าก็รุกคืบไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ ในที่สุดก็มาถึงฐานที่มั่นของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ทางตอนใต้ของคอมูรา ซึ่งฐานดังกล่าวตกเป็นของทหารพม่าเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538[10]
ผลกระทบโดยตรงของการล่มสลายของมาเนอปลอว์ และผลที่ตามมาคือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สูญเสียรายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้ภาษีท้องถิ่น ข้อตกลงการตัดไม้ และการค้าข้ามพรมแดน ในขณะที่กองทัพพม่ายึดเมืองชายแดนได้หลายแห่ง[11]