การสักยันต์

การสักยันต์ลงบนแผ่นหลัง

การสักยันต์ เป็นการสักที่ต่างจากการสักทั่วไปที่มุ่งเน้นเรื่องความสวยงามหรือเพื่องานศิลปะ แต่การสักยันต์มีจุดประสงค์หลักในเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น จะทำให้มีโชค แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน และพ้นจากอันตรายต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่า รูปแบบลายสักหรือยันต์แต่ละชนิดจะให้คุณที่ต่างกัน[1] และผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แต่ละสำนักกำหนดไว้ เช่น ห้ามด่าบิดามารดา ห้ามลบหลู่ครูอาจารย์ เป็นต้น[2]

การสัก คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธี การหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมายหรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่าสักหมึก ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่าสักน้ำมัน[1] ส่วนคำว่า "ยันต์" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ยันต์คือตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์[3]

ประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่ายันต์ต่าง ๆ พวกที่นับถือนิกายตันตระซึ่งนับถือในทิเบตและเป็นสาขาหนึ่งของสาขามหายานเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น แล้วนำมาสอนในพม่าก่อนที่จะเข้าสู่ไทย[4] ขณะที่เลขยันต์ ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทั้งจากหลักฐานทางโบราณวัตถุและจารึกต่าง ๆ ระบบเลขยันต์นี้มีการบันทึกอย่างเป็นระบบในสมุดไทย (สมุดข่อย) ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เอกสารเหล่านี้ยังตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน การนำระบบเลขยันต์นำมาใช้งานในหลายรูปแบบรวมถึงการสักไว้ตามร่างกาย[5] การสักยันต์ในไทยนิยมเขียนด้วยภาษาบาลี อักษรขอมไทย ด้วยความเชื่อว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์[6]

หลักฐานการสักในประเทศไทยนั้น ในอดีตข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทะเบียนเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชาย สันนิษฐานว่า การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[1][7] ขณะที่ในวัฒนธรรมล้านนา การสักลาย (สักขาลาย) เชื่อว่าเมื่อสักลงไปแล้วจะทำให้มีโชคลาภ แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน และพ้นจากอันตรายต่าง ๆ[8] ปรากฏหลักฐานเช่น ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง (ถึง พ.ศ. 2016) เจ้าเมืองน่าน (พ.ศ. 2017–2020) และเจ้าเมืองเชียงแสน (เริ่ม พ.ศ. 2021) ปรากฏนามอันเนื่องด้วยท่านสักหมึกขาลายลงไปถึงน่อง มีลวดลายที่โดดเด่นเป็นรูปพญานาคและดอกไม้ ชาวเมืองจึงเรียกว่า "ท้าวขาก่าน"[9]

ในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน ได้กล่าวถึงการสักเพื่อเป็นเครื่องรางของขลังสำหรับตัวผู้สักได้แก่ การสักของแสนตรีเพชรกล้า ซึ่งเป็นทหารเอกของพระเจ้าเชียงใหม่[10] อีกตอนหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องเดียวกัน ตอนที่ขุนไกรบิดาของขุนแผนถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการตัดหัวจากรับสั่งของพระพันวษา ด้วยเหตุผลที่พระพันวษาเสด็จล่าควายป่า แต่แล้วควายนั้นแตกตื่นวิ่งเข้ามาถึงที่ประทับ จึงทำให้ต้องโทษอาญาแผ่นดิน แต่เมื่อเพชฌฆาตได้ตัดคอขุนไกรปรากฏว่าไม่เป็นไรอันเป็นผลมาจากคาถาอาคมจากยันต์ที่ได้สักคงกระพันหนังเหนียวได้

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดความนิยมเรื่องการสักยันต์ เพราะมีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในการสักยันต์ในยุคนั้นได้แก่ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น[11]

ยันต์ลักษณะต่าง ๆ

[แก้]
ยันต์เก้ายอด
ยันต์แปดทิศ เชื่อว่ามีคุณทางด้านเมตตา อยู่ยงคงกระพัน คุ้มครองทิศทั้งแปด

ลักษณะยันต์และความหมายของยันต์ ต่อไปนี้เป็นชื่อยันต์บางส่วน[12]

  • ยันต์รัตนตรัย มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ การชนะศัตรู เมตตามหานิยม
  • ยันต์พุทธคุณ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ คุ้มกันสารพัดภัย แคล้วคลาดจากอันตราย
  • ยันต์มหาศิริมงคล มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ เป็นมงคลยิ่งนัก และคุ้มภัยอันตรายทั้งปวง
  • ยันต์มหาสาวัง มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ กันและแก้สารพัดโรคภัยอันตราย
  • ยันต์มหาอุด มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม
  • ยันต์ห้ายอด มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ คุ้มกันภัยและอันตรายทั้งปวง
  • ยันต์ตะกรุดโทน มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ กันอันตรายจากอาวุธทุกชนิด
  • ยันต์โภคทรัพย์ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ ทําให์มีเงินพอกพูนขึ้น
  • ยันต์พญาหงส์ทอง มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ เมตตามหานิยมเป็นเสน่ห์ ทําให้คนรัก
  • ยันต์พญาหนุมาน มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม
  • ยันต์พุดซ้อน หรือ ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ ถือเป็นมหายันต์สูงสุดกว่ายันต์ทั้งปวง
  • ยันต์กันสะกด มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ กันภัย กันอันตรายจากโจรผู้ร้าย
  • ยันต์หนุนดวง หรือ ยันต์โภคทรัพย์ห้าแถว มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ แถวแรกเป็นคาถาเมตตามหานิยมแถวที่สองเป็นคาถาหนุนดวงชะตา แถวที่สามเป็นคาถาแห่งความสําเร็จ แถวที่สี่เป็นคาถาราศีประจําตัว แถวที่ห้าเป็นคาถามหาเสน่ห์
  • ยันต์เก้ายอด หมายถึง คุณวิเศษของพระพุทธเจ้าทั้งเก้าประการ ดีในการป้องกันศาสตราวุธทั้งหลาย
  • ยันต์แปดทิศ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ มีสรรพคุณทางด้านเมตตา อยู่ยงคงกระพัน และคุ้มครองทิศทั้งแปด
  • ยันต์พญากาน้ำ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ มีไว้ค้าขายทางน้ำ
  • ยันต์ราหูอมจันทร์ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ ช่วยหนุนดวงชะตา โดยการเปลี่ยนเรื่องร่ายให้กลายเป็นเรื่องดี และต่อต้านสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ประวัติความเป็นมาในการสักยันต์ของไทย เก็บถาวร 2013-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ไทย)
  2. การสักยันต์มีหลายสำนักที่มีกฏมีระเบียบว่าควรถืออะไรบ้างเมื่อสักยันต์ที่สำนักนั้นแล้ว เก็บถาวร 2013-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ไทย)
  3. พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
  4. วรรณนิภา ชวนชม, บุญยง ชื่นสุวิมล, นิติ ภวัครพันธ์ุ (มกราคม–เมษายน 2554). "ทุนและพื้นที่: ศึกษากรณีการก่อตัวของกลุ่มสักยันต์ห้าแถวหนุนดวงในกรุงเทพมหานคร". วิทยบริการ. 22 (1): 103.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. วานิษา บัวแย้ม. "ศึกษาแนวคิดยันต์รูปตัวละครรามเกียรติ์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 14.
  6. "เครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ" (PDF).
  7. พระปลัดระพิน พุทธิสาโร. (2561). รหัสพุทธธรรม : ยันต์โสฬสที่วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา Code of Buddhadahmma : Yantra Solasa in Wat Na Phra Meru in Ayutthaya http://gps.mcu.ac.th/wp-content/uploads/2016/09/Yantra-12-6-63-1-1.pdf
  8. "การสักขาลาย ตามความเชื่อของ "ชาวล้านนา" ที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน". มติชนสุดสัปดาห์.
  9. "วัฒนธรรมการสักในล้านนา". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  10. ญาดา อารัมภีร. "จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : หนังเหนียว (3)". มติชนสุดสัปดาห์.
  11. เอก นาครทรรพ. "การศึกษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในเลขยันต์ไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  12. เทพย์ สาริกบุตร, ประชุมมหายันต์ 108, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เจริญกิจ ท่าพระ, 2538)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]