การเป็นพิษจากดิช็อกซิน (Digoxin poisoning) | |
---|---|
ภาพวาด Digitalis purpurea โดยฟรันซ์ โคห์เลอร์ | |
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-10 | T46.0 |
ICD-9 | 972.1 |
MedlinePlus | 000165 |
การเป็นพิษจากดิช็อกซิน เกิดจากการรับยาดิช็อกซินปริมาณมากในเวลาอันสั้นหรือมีระดับดิช็อกซินสะสมในร่างกายจากการรักษาเป็นเวลานาน ดิช็อกซินเป็นยารักษาภาวะหัวใจวายและภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว[1] พบในพืชสกุลถุงมือจิ้งจอก (Digitalis)
การเป็นพิษจากดิช็อกซินแบ่งออกเป็นเฉียบพลันและเรื้อรัง อันตรายของทั้งสองประเภทคือผลกระทบต่อหัวใจ ในรายที่พิษเฉียบพลันจะมีอาการคลื่นไส้ รู้สึกหมุนและอาเจียน ในรายเรื้อรังจะมีอาการล้า ละเหี่ยและมีปัญหาด้านการมองเห็น[2]
อาการทั่วไปของผู้ป่วยคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน เพ้อ การมองเห็นผิดปกติ (มองไม่ชัดหรือมองเห็นเป็นสีเหลือง) ร่วมกับความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว เป็นต้น[3]
ในรายที่ต้องสงสัยว่าได้รับพิษจากดิช็อกซิน จะมีการตรวจปริมาณดิช็อกซินและโพแทสเซียมในซีรัมเลือด รวมถึงตรวจครีแอทินิน BUN และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ[4]
การรักษาภาวะพิษจากดิช็อกซินหลักคือใช้ยาดิช็อกซินอิมมูนแฟบ ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ต่อต้านดิช็อกซิน ยาดังกล่าวให้ผลอย่างมากในการรักษาภาวะฉุกเฉินจากการได้รับพิษดิช็อกซิน เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง การไหลเวียนโลหิตผิดปกติและหัวใจเต้นผิดจังหวะ[5] การประเมินขนาดยาดิช็อกซินอิมมูนแฟบมีสองวิธีคือ ดูจากปริมาณดิช็อกซินที่ได้รับและความเข้มข้นของดิช็อกซินในซีรัมเลือดและน้ำหนักผู้ป่วย[6]
การรักษาอื่น ๆ คือการให้แมกนีเซียม เฟนิโทอินและไลโดเคน ในรายที่การเต้นหัวใจช้าผิดปกติจะใช้อะโทรพีน แคทีโคลามีนและเครื่องกระตุ้นหัวใจ[7]