การเมืองลาว

การเมืองลาว

ການເມືອງລາວ
ประเภทรัฐรัฐเดี่ยว, ลัทธิมากซ์–เลนิน, ระบบพรรคเดียว, สาธารณรัฐสังคมนิยม
รัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ชื่อสภาแห่งชาติ
ประเภทสภาเดียว
สถานที่ประชุมอาคารสภาแห่งชาติ
ประธานไซสมพอน พมวิหาน
ประธานสภาแห่งชาติ
ฝ่ายบริหาร
ประมุขแห่งรัฐ
คำเรียกประธานประเทศ
ปัจจุบันทองลุน สีสุลิด
ผู้แต่งตั้งการลงมติเลือกของสภาแห่งชาติ
หัวหน้ารัฐบาล
คำเรียกนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันสอนไซ สีพันดอน
ผู้แต่งตั้งการลงมติเลือกของสภาแห่งชาติตามการเสนอของประธานประเทศ
คณะรัฐมนตรี
คำเรียกสภารัฐมนตรี
ชุดปัจจุบันคณะที่ 12 (สอนไซ 1)
หัวหน้านายกรัฐมนตรี
รองหัวหน้ารองนายกรัฐมนตรี
ผู้แต่งตั้งการลงมติเลือกของสภาแห่งชาติตามการเสนอของนายกรัฐมนตรี
สำนักงานใหญ่อาคารสำนักนายกรัฐมนตรี
กระทรวง19
ฝ่ายตุลาการ
ศาลศาลลาว
ศาลประชาชนสูงสุด
ประธานศาลเวียงทอง สีพันดอน
ที่ตั้งศาลที่ทำการศาลประชาชนสูงสุด นครหลวงเวียงจันทน์

การเมืองในประเทศลาวอยู่ในกรอบของสาธารณรัฐสังคมนิยมพรรคการเมืองเดียว พรรคการเมืองตามกฎหมายเพียงพรรคเดียว คือ พรรคปฏิวัติประชาชนลาว ประมุขแห่งรัฐคือประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด ซึ่งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคดังกล่าวด้วย หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน แนวนโยบายแห่งรัฐกำหนดโดยคณะกรรมการกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรของพรรคปฏิวัติจำนวน 13 คนซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหาร และคณะกรรมการกลางศูนย์กลางพรรคที่มีสมาชิก 71 คน การตัดสินใจที่สำคัญของรัฐอาศัยการลงมติของสภารัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของลาวที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ประกาศใช้เมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 โดยลาวเป็นรัฐอิสระภายในสหภาพฝรั่งเศส มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 โดยตัดส่วนที่อ้างถึงสหภาพฝรั่งเศสออกไป ลักษณะทางการศึกษา สุขภาพ และเทคนิคอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามแบบเดิมสมัยอาณานิคม รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2518 หลังจากประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534 ในปีต่อมามีการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติจำนวน 85 ที่นั่ง โดยมีวาระ 5 ปี สมัชชานี้มีหน้าที่ออกกฎหมาย การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 โดยมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 99 คนใน พ.ศ. 2540 และ 115 คนใน พ.ศ. 2549

การวางระเบิดต่อต้านรัฐบาลยังคงเกิดขึ้น รวมทั้งมีการยิงประปรายทั่วประเทศด้วย มีหลายกลุ่มออกมาอ้างความรับผิดชอบ เช่น คณะกรรมการเพื่อเอกราชและประชาธิปไตยในลาวและขบวนการพลเมืองลาวเพื่อประชาธิปไตย

ประธานประเทศได้รับเลือกจากสมัชชาแห่งชาติ มีวาระ 5 ปี นายกรัฐมนตรีและสภารัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานประเทศ โดยสมัชชาแห่งชาติให้การรับรอง มีวาระ 5 ปี มีรองนายกรัฐมนตรี 4 คน และสภารัฐมนตรีมี 28 คน