การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ (อังกฤษ: royal intermarriage) คือการแต่งงานระหว่างสมาชิกของราชวงศ์ผู้ปกครอง[n 1]สองราชวงศ์ ซึ่งในอดีตถือเป็นยุทโธบายทางการทูตที่ใช้กันโดยทั่วไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ในบางครั้งการเสกสมรสนี้เกิดขึ้นด้วยการบังคับใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อบุคคลผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ และในหลาย ๆ ครั้งเกี่ยวข้องกับนโยบายทางการเมืองและ/หรือขนบธรรมเนียมของระบอบราชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่
ในทวีปยุโรป การเสกสมรสในลักษณะนี้เป็นที่แพร่หลายอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่สมัยกลางจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในขณะที่หลักฐานของการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ในส่วนอื่น ๆ ของโลก สามารถสืบค้นย้อนไปได้ไกลที่สุดถึงยุคสัมฤทธิ์[1] ซึ่งบ่อยครั้งที่พระมหากษัตริย์ในอดีตมักจะพยายามแผ่ขยายราชวงศ์ของพระองค์ออกไปทั้งในและนอกประเทศ[2] ดังนั้นสายสัมพันธ์ทางเครือญาติซึ่งเกิดจากการเสกสมรสนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยทั้งกระตุ้นและยับยั้งความขัดแย้งและการรุกรานระหว่างรัฐ[3] ทั้งยังช่วยริเริ่ม ส่งเสริม และรับประกันสันติภาพระหว่างรัฐได้อีกด้วย นอกจากนี้สายสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการเสกสมรสยังสามารถรักษามิตรไมตรีของสองราชวงศ์ ที่ต่างพยายามหลีกเลี่ยงภัยคุกคามจากการรุกรานและความขัดแย้งอันมีชนวนเหตุมาจากการยุยงของราชวงศ์ที่สาม[3] พร้อมเสริมสร้างโอกาสที่จะผนวกรวมดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนจากการอ้างสิทธิ์ทางกฎหมายเหนือราชบัลลังก์ หรือแม้กระทั่งการอ้างสิทธิ์เหนือส่วนหนึ่งของรัฐ เช่น อาณานิคม ผ่านการรับช่วงสืบทอดอำนาจการปกครองในกรณีที่รัฐนั้นเกิดปัญหาไร้รัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าไม่มีรัชทายาทเพศชายไว้สืบทอดราชสมบัติโดยปราศจากข้อกังขาได้
ในบางส่วนของทวีปยุโรป ราชวงศ์ต่าง ๆ ยังคงนิยมเสกสมรสระหว่างกันเป็นปกติ (สมาชิกราชวงศ์เสกสมรสกับตระกูลขุนนางต่าง ๆ ภายในรัฐ) ไปจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 16 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเริ่มหันมานิยมการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ของรัฐอธิปไตยต่าง ๆ มากขึ้น แต่ในส่วนอื่น ๆ ของโลก การเสกสมรสเช่นนี้กลับได้รับความนิยมน้อยกว่ามากและเริ่มลดจำนวนลงตามกาลเวลาที่ผ่านไป หรือแปรเปลี่ยนไปตามขนบธรรมเนียมและนโยบายการต่างประเทศในขณะนั้น
ในอุดมคติของวัฒนธรรมตะวันตกร่วมสมัย การเสกสมรสคือสายสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ระหว่างคู่รักสองคน ในขณะที่ครอบครัวซึ่งสายเลือดและการสืบสกุลคือจุดศูนย์กลางของอำนาจและมรดกตกทอด (เช่น พระราชวงศ์ของกษัตริย์) มักมองการแต่งงานในรูปแบบที่ต่างออกไป บ่อยครั้งที่มักจะมีภาระความรับผิดชอบทางการเมืองหรือที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรักใคร่ให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นว่าที่คู่ครองในอนาคตจึงต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะความมั่งคั่งและอำนาจบารมี เป็นผลให้การเสกสมรสด้วยเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทูต คือรูปแบบที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในชนชั้นผู้ปกครองของยุโรปมานานนับศตวรรษ[4]
การเลือกคู่อภิเษกสมรสอย่างถี่ถ้วนมีความสำคัญต่อการดำรงสถานะราชวงศ์ เช่น ในดินแดนบางแห่ง หากเจ้าชายหรือพระราชาเสกสมรสกับสามัญชนผู้ไม่มีเชื้อสายราชวงศ์ และแม้ว่าบุตรธิดาคนแรกอันประสูติแด่เจ้าชายหรือพระราชาจะเป็นรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วก็ตาม บุตรธิดาคนดังกล่าวอาจไม่มีสิทธิ์อ้างตนเป็นเชื้อขัตติยราชสกุลตามพระบิดาได้เลย[4]
ตามประเพณีแล้ว การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญหลายประการ เช่น ความกว้างใหญ่ของอาณาเขตพื้นที่ที่ราชวงศ์นั้นปกครองหรือควบคุมอยู่[4] หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกประการหนึ่งก็คือเสถียรภาพในการปกครองดินแดนของตน เนื่องจากราชวงศ์ต่าง ๆ มักมีท่าทีบ่ายเบี่ยงหากอีกราชวงศ์ที่จะร่วมเสกสมรสด้วยนั้นเผชิญกับความไม่แน่นอนในการปกครอง[4] พันธมิตรทางการเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะการเสกสมรสเช่นนี้คือตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผูกมัดเอาสองราชวงศ์และประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งในยามสงบและยามศึกสงคราม อีกทั้งยังเป็นตัวแปรที่ช่วยตัดสินความเป็นไปทางการเมืองครั้งสำคัญ ๆ ได้อีกด้วย[4][5]
นอกจากนี้การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ยังหมายถึงโอกาสที่ดินแดนจะตกไปอยู่การครอบครองของราชวงศ์อื่นอีกด้วย เช่นในกรณีที่รัชทายาทลำดับแรกสุดผู้ประสูติแด่พระราชบิดา-มารดาซึ่งฝ่ายหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ต่างชาติ[6][n 2][n 3] เช่นในกรณีของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ที่แผ่ขยายอิทธิพลของตนผ่านการเสกสมรสกับราชวงศ์ต่าง ๆ และอภิสิทธิ์ทางการเมืองเหนือดินแดนที่ต่อมารวมกันเป็นสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์นี้ยังมุ่งเน้นนโยบายการเสกสมรสกับราชวงศ์ในอัลซาซบนและชวาเบีย[7] ซึ่งนโยบายการรวมดินแดนผ่านการเสกสมรสเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนก่อให้เกิดคำขวัญในภาษาละตินว่า Bella gerant alii, tu, felix Austria, nube! ("ปล่อยให้ผู้อื่นทำศึกสงครามไป ส่วนเธอ, ออสเตรียผู้แสนสุข, จงเสกสมรส!")[8]
แต่ในบางกรณี พระมหากษัตริย์บางพระองค์ก็จะทรงทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ เช่นในกรณีของเจ้าหญิงมาเรีย เทเรส พระราชธิดาในพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปน เมื่อเสกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทรงถูกบังคับให้สละราชสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์สเปน[9] และในบางกรณีเมื่อพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงยอมเสกสมรสแลกกับข้อตกลงพิเศษ (บางครั้งมาในรูปแบบสนธิสัญญา) จะมีการเจรจาตกลงในประเด็นการสืบราชสมบัติไว้ล่วงหน้า เช่น ข้อตกลงในการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน และพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ ที่กำหนดไว้ว่ามรดกจากฝั่งพระมารดา เช่น เบอร์กันดีและกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ จะถูกมอบให้แก่พระราชโอรส-ธิดาของทั้งสองพระองค์ในอนาคต แต่มรดกในฝั่งของพระบิดา อันประกอบไปด้วยสเปน, เนเปิลส์, ซิซิลี และมิลาน จะตกทอดไปยังดอน การ์โลส พระราชโอรสองค์แรกในพระเจ้าเฟลีเปกับพระนางมารีอา มานูเอลาแห่งโปรตุเกส ซึ่งหากดอน การ์โลส สิ้นพระชนม์โดยปราศจากรัชทายาทแล้ว มรดกฝั่งพระบิดาจึงจะตกทอดไปยังพระราชโอรส-ธิดา อันประสูติจากการเสกสมรสครั้งที่สองกับพระนางแมรี[10] ในทางกลับกัน การเสกสมรสระหว่างพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ กับพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (พระราชโอรสและรัชทายาทของพระเจ้าอองรีที่ 2) ในปี พ.ศ. 2101 อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สกอตแลนด์ กำหนดว่าหากพระราชินีนาถแมรีสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท จะส่งผลให้ราชบัลลังก์สกอตแลนด์ถูกรวมเข้ากับราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[10]
ศาสนามีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับวงการเมืองของยุโรป เช่น บทบาทสำคัญในระหว่างการเจรจาเพื่อจัดการเสกสมรสขึ้น การเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงฝรั่งเศส มาร์เกอริตแห่งวาลัว กับพระเจ้าอองรีที่ 3 แห่งนาวาร์ (ผู้นำฝ่ายอูเกอโนต์ในฝรั่งเศส) ณ กรุงปารีส พ.ศ. 2105 ปรากฏชัดแจ้งว่าคือความพยายามในการ กระชับมิตร ระหว่างฝ่ายคาทอลิกและฝ่ายโปรเตสแตนท์ในฝรั่งเศส แต่ผลแท้จริงกลับเป็นเพียงกลอุบายลวงดังปรากฏเป็นเหตุการสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว[11] และภายหลังการปฏิรูปศาสนาของอังกฤษ คู่เสกสมรสระหว่างพระมหากษัตริย์อังกฤษกับเจ้าหญิงในรีตโรมันคาทอลิกมักไม่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะในกรณีที่พระราชินีไม่ทรงยินยอมที่จะเปลี่ยนไปเข้ารีตโปรเตสแตนท์หลังการเสกสมรส หรืออย่างน้อยที่สุดทรงแอบประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนแบบลับ ๆ[n 4] ซึ่งต่อมามีการผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ในปี พ.ศ. 2243 ที่จำกัดสิทธิ์รัชทายาทผู้เสกสมรสกับชาวคาทอลิกไม่ให้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษ[13] ส่วนราชวงส์ผู้ปกครองอื่น ๆ อาทิเช่น ราชวงศ์โรมานอฟ[n 5] และราชวงศ์ฮับส์บูร์ก[16] ที่ยินยอมให้มีการเสกสมรสก็ต่อเมื่อคู่เสกสมรสอยู่ในรีตเดียวกันอยู่แล้วหรือเต็มใจที่จะเปลี่ยนรีตของตน เช่น ในปี พ.ศ. 2469 เมื่อเจ้าหญิงอัสตริดแห่งสวีเดนเสกสมรสกับพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 แห่งเบลเยียม ที่ทรงตกลงว่าพระราชโอรส-ธิดาจะทรงได้รับการเลี้ยงดูแบบคาทอลิก แต่ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหญิงอัสตริดต้องทรงสละรีตลูเทอแรนของพระองค์ แม้กระนั้นก็ยังทรงเปลี่ยนรีตในปี พ.ศ. 2473[17] นอกจากนี้คู่เสกสมรสบางคู่ถูกล้มเลิกเนื่องจากไม่สามารถประณีประนอมทางศาสนาได้ เช่น แผนการอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 4 วาซาแห่งโปแลนด์ (โรมันคาทอลิก) กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งพาลาทิเนต (ลูเทอแรน) ที่ไม่เป็นที่นิยมชมชอบเนื่องจากขุนนางส่วนมากของโปแลนด์เข้ารีตคาทอลิก ดังนั้นแผนดังกล่าวจึงถูกตีตกไปอย่างเงียบ ๆ[18]
ในบางครั้ง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ผู้ปกครองกับบริวารใต้อาณัติก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีกับอิดิธแห่งเวสเซ็กซ์ และพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 2 ยากีลโลแห่งโปแลนด์กับเอลิซาเบธ กรานอฟสกา ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในยุโรปสมัยกลาง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ราชวงศ์ต่าง ๆ เริ่มหันเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเพื่อรักษาอำนาจบารมีและความจงรักภักดีในหมู่สมาชิกคู่แข่งของระบอบศักดินา สายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับตระกูลขุนนางท้องถิ่นจึงค่อย ๆ หายไปในท้ายที่สุด เนื่องจากราชวงศ์ต่าง ๆ หันไปเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติมากขึ้น[19][20] การเสกสมรสกับบริวารใต้ปกครองเช่นนี้ฉุดดึงเอาพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ระดับเดียวกับประชาชนในปกครองของพระองค์เอง และมักจะก่อให้เกิดความมักใหญ่ใฝ่สูงของครองครัวสามัญชนคู่เสกสมรส ทั้งยังก่อให้เกิดเรื่องราวความอิจฉาริษยาและการดูหมิ่นเหยียดหยามในหมู่ขุนนางศักดินา ส่วนความคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ควรเสกสมรสกับราชวงศ์หรือพระมหากษัตริย์ต่างชาติเพื่อหลีกเลี่ยงและยุติภัยสงครามนั้น แต่เดิมแนวคิดนี้มีจุดกำเนิดมาจากลัทธิปฏิบัตินิยม ซึ่งในช่วงที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังรุ่งเรือง แนวคิดนี้มีส่วนช่วยให้เกิดแนวความคิดที่ว่าการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ผู้ปกครองกับสามัญชนใต้ปกครองของตนคือข้อเสียเปรียบทั้งทางด้านสังคมและการเมือง ซ้ำยังเป็นการละเลยโอกาสที่จะเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติให้หลุดลอยไปโดยไร้ประโยชน์[21][22]
แม้จักรพรรดิโรมันมักจะเสกสมรสกับสตรีชาวโรมันด้วยกัน แต่กระนั้นราชวงศ์ผู้ปกครองรัฐบริวารที่อยู่ใต้อาณัติของโรมในแถบตะวันออกใกล้และแอฟริกาเหนือก็มักจะจัดการเสกสรมรสระหว่างราชวงศ์ขึ้นเพื่อสั่งสมฐานอำนาจของตน[23] การเสกสมรสเหล่านี้มักจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือในบางโอกาสจัดขึ้นตามพระราชโองการจากองค์จักรพรรดิ ฝ่ายโรมเห็นว่าการเสกสมรสเช่นนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มพูนเสถียรภาพแก่บรรดารัฐบริวาร และช่วยป้องกันสงครามยิบย่อยที่จะเกิดขึ้นภายในท้องถิ่น อันจะส่งผลกระทบต่อสันติภาพโรมัน[24] เจ้าหญิงกลาฟีราแห่งแคปพาโดเชีย (Glaphyra of Cappadocia) ได้ชื่อว่าทรงตระเตรียมการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ถึงสามครั้งให้แก่ พระเจ้าจูบาที่ 2 แห่งนูมิเดีย, พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งยูเดีย และ เฮโรด อาร์เชเลาสแห่งซามาเรีย[25]
ตัวอย่างของการเสกสมรสเช่นในนี้ในสมัยโรมันได้แก่
แม้ว่าจักรพรรดิบางองค์อย่างจักรพรรดิจัสตินที่ 1 และจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 จะเสกสมรสกับมเหสีผู้มีพื้นเพต่ำต่อย[n 6] แต่การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติในจักรวรรดิไบแซนไทน์ ภายหลังการล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิล พ.ศ. 1747 ราชวงศ์ผู้ปกครองอย่างราชวงศ์ลาสคาริสและราชวงศ์พาลาโอโลกอสเห็นว่าเป็นการรอบคอบแล้วที่จะเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเสกสมรสระหว่างจักรพรรดิจอห์นที่ 3 ดูคาส วาตัทซีส กับพระนางคอนสแตนซ์ พระธิดาในจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น[31] ต่อมาจักรพรรดิมิคาเอลที่ 8 พาลาโอโลกอส ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวมองโกลในปี พ.ศ. 1806 และจัดการเสกสมรสระหว่างพระธิดาของพระองค์กับข่านของมองโกลเพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีดังกล่าว ประกอบด้วย เจ้าหญิงยูฟรอไซน์ พาลาโอโลกีนากับนอไก ข่านแห่งโกลเดนฮอร์ด และเจ้าหญิงมารีอา พาลาโอโลกีนากับอะบาคา ข่านแห่งจักรวรรดิข่านอิล[32] ในช่วงท้ายคริสต์ศตวรรษดังกล่าว จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 พาลาโอโลกอส ก็ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับกาวานแห่งจักรวรดิข่านอิล รวมถึงตอคตาและอุซเบก ข่านแห่งโกลเดนฮอร์ด นำมาซึ่งการเสกสมรสระหว่างพระธิดาของพระองค์กับบรรดาข่านเหล่านั้น[33]
ผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิเทรบิซอนด์ได้ชื่อว่ามักจะจัดการเสกสมรสระหว่างพระธิดาของตนกับรัฐข้างเคียงในฐานะการเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต[n 7] เจ้าหญิงธีโอโดรา มากาเล คอมเนเน พระธิดาในจักรพรรดิจอห์นที่ 4 เสกสมรสกับอุซซุน ข่าน เจ้าแห่งอัค โคยุนลู เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ซึ่งแม้ว่าพระนางธีโอโดรา ผู้เป็นชาวคริสต์เคร่งศาสนาและจำต้องมาพำนักอยู่ในรัฐอิสลาม จะสามารถแผ่ขยายอิทธิพลของตนเหนือราชกิจของพระสวามีทั้งในและนอกประเทศได้สำเร็จ แต่สัมพันธไมตรีดังกล่าวจะไม่อาาจยับยั้งการล่มสลายของจักรวรรดิเทรบิซอนด์ได้ในท้ายที่สุดก็ตาม[35]
และแม้ว่าการเสกสมรสเช่นนี้จะเป็นการเสริมสร้างสถานะของจักรวรรดิตามปกติ แต่ก็ปรากฏการเสกสมรสข้ามราชวงศ์ที่เป็นการบั่นทอนเสถียรภาพพระราชอำนาจขององค์จักรพรรดิเป็นบางกรณี เช่น เมื่อจักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 พาลาโอโลกอส เสกสมรสกับพระเมหสีองค์ที่ 2 พระนางไอรีนแห่งมอนต์เฟอร์แรต เนื่องจากในปี พ.ศ. 1827 พระนางสร้างความแตกแยกในจักรวรรดิจากพระประสงค์ที่จะให้พระโอรสของตนสืบทอดราชสมบัติร่วมกับเจ้าชายมิคาเอล พระโอรสอันประสูติแด่การเสกสมรสครั้งแรก พระนางยังทรงขู่ด้วยว่าจะเสด็จออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองหลวง ไปตั้งราชสำนักของตน ณ เมืองรองของจักรวรรดิอย่างเทสซาโลนีกา[31]
ในสมัยปัจจุบัน การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ลดจำนวนลงจากสมัยก่อนมาก โดยเฉพาะในบรรดาราชวงศ์ของยุโรป เนื่องจากสมาชิกราชวงศ์ในยุโรปหันมาเสกสมรสกับสมาชิกตระกูลขุนนางท้องถิ่นมากขึ้น เช่นในกรณีของพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร, เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์, พระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม และเจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2 แห่งลิกเตนสไตน์ หรือเสกสมรสกับสมาชิกตระกูลขุนนางที่ถูกล้มเลิก เช่น พระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม, พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งกับสามัญชนธรรมดา เช่น พระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน, พระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์, แกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก, พระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 แห่งสเปน, พระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์, เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งโมนาโก
ในยุโรป มีเพียงพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน, พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายอาโลอิส เจ้าชายรัชทายาทแห่งลิกเตนสไตน์ เท่านั้นที่เสกสมรสกับสมาชิกราชวงศ์ต่างชาติ[n 8][36]
จึงกล่าวได้ว่าการเสกสมรสต่างราชวงศ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
และเนื่องจากการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์นี้ ทำให้พระประมุขยุโรปในปัจจุบัน 10 พระองค์มีบรรพบุรุษพระองค์เดียวกันคือโยฮัน วิลเลม ฟรีโซ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์[61]
พระนาม | ประเทศ | ชั้นพระญาติ | บรรพบุรุษร่วมพระองค์ล่าสุด | วันสวรรคตของบรรพบุรุษ | ลำดับรุ่นทายาทนับจาก โยฮัน วิลเลม ฟรีโซ |
---|---|---|---|---|---|
พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 | สหราชอาณาจักร | - | - | - | รุ่นที่ 9 |
พระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 | นอร์เวย์ | ชั้นที่ 2 | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 | รุ่นที่ 10 |
พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 | เดนมาร์ก | ชั้นที่ 3 | พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก | 29 มกราคม พ.ศ. 2449 | รุ่นที่ 10 |
พระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ | สวีเดน | ชั้นที่ 3 | พระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร | 22 มกราคม พ.ศ. 2444 | รุ่นที่ 10 |
พระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 | สเปน | ชั้นที่ 3 | พระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร | 22 มกราคม พ.ศ. 2444 | รุ่นที่ 11 |
พระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 | เบลเยียม | ชั้นที่ 3 | พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก | 29 มกราคม พ.ศ. 2449 | รุ่นที่ 10 |
แกรนด์ดยุกอ็องรี | ลักเซมเบิร์ก | ชั้นที่ 3 | พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก | 29 มกราคม พ.ศ. 2449 | รุ่นที่ 10 |
พระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ | เนเธอร์แลนด์ | ชั้นที่ 5 | ดยุกฟรีดริชที่ 2 ออยเกินแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค | 25 ธันวาคม พ.ศ. 2340 | รุ่นที่ 10 |
เจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2 | ลิกเตนสไตน์ | ชั้นที่ 7 | โยฮัน วิลเลม ฟรีโซ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ | 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2254 | รุ่นที่ 10 |
เจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 | โมนาโก | ชั้นที่ 7 | โยฮัน วิลเลม ฟรีโซ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ | 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2254 | รุ่นที่ 11 |
ในประวัติศาสตร์ ปรากฏการเสกสมรสในหมู่พระญาติของราชวงศ์จักรีหลายครั้ง[62] แต่น้อยครั้งที่จะปรากฏการเสกสมรสระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับชาวต่างชาติ หรือแม้แต่กับเชื้อพระวงศ์ต่างชาติ เนื่องจากกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 หมวดที่ 11 ต้องห้ามมิให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่มีพระชายาเป็นชาวต่างประเทศได้สืบราชสันตติวงศ์[63]
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่ง (ตามแบบตะวันตก) กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นพระราชนัดดา (ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) และพระปนัดดา (ในกรณีของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งสองพระองค์[64] เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระภรรยาเจ้ากับสนมเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นส่วนหนึ่งทรงมีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาของพระองค์เอง เช่น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพระบิดาร่วมกันคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[65] นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเสกสมรสกับเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อีกด้วย
แบบแผนการเสกสมรสในประวัติศาสตร์จีนเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัยของแต่ละราชวงศ์ ในช่วงราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161 - 1147) พระจักรพรรดิทรงมักจะมอบพระธิดาให้ไปเสกสมรสกับผู้ปกครองอาณาจักรข่านอุยกูร์ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีพิเศษทางการค้าและการทหาร หลังจากที่อาณาจักรข่านสนับสนุนจีนในการปราบปรามกบฏอันลู่เชียน[66] ปรากฏเจ้าหญิงราชวงศ์ถังอย่างน้อย 3 พระองค์ที่ได้เสกสมรสกับพระเจ้าข่านในช่วง พ.ศ. 1301 ถึง พ.ศ. 1364 ก่อนที่สัมพันธไมตรีนี้จะถูกระงับลงชั่วคราวในปี พ.ศ. 1331 ซึ่งเชื่อกันว่ามีสาเหตุมากจากเสถียรภาพภายในจักรวรรดิจีนที่มั่นคงมาก จนส่งผลให้อาณาจักรข่านถูกลดบทบาทลง อย่างไรก็ตาม ด้วยภัยคุกคามจากทิเบตทางทิศตะวันตก จักรวรรดิจีนจึงต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับข่านอุยกูร์ขึ้นมาอีกครั้ง และจัดการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงไท้เห๋อกับข่านบิลเกอ[66]
ส่วนพระจักรพรรดิของราชวงศ์ถัดมาอย่างราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 - 1822) มีแนวโน้มที่จะเสกสมรสกับสตรีจีนมากกว่าสตรีต่างชาติ แม้ว่าในช่วงราชวงศ์ถังพระจักรพรรดินิยมเสกสมรสกับสตรีสูงศักดิ์จากตระกูลขุนนาง แต่ในราชวงศ์ซ่งกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับยศฐาบรรดาศักดิ์ของสตรีที่จะมาเป็นพระมเหสีมากเท่าใดนัก[67] ประมาณกันว่ามีพระมเหสีราชวงศ์ซ่งจำนวนหนึ่งในสี่เท่านั้นที่มาจากตระกูลสูงศักดิ์ ส่วนจำนวนที่เหลือล้วนแล้วแต่มีพื้นเพต่ำต่อยมาก่อน ตัวอย่างเช่น จักรพรรดินีหลิว พระอัครมเหสีในจักรพรรดิซ่งเจินจง ที่เคยเป็นนักแสดงตามท้องถนนมาก่อน หรือพระมเหสีเหมียวในจักรพรรดิซ่งเหรินจง ผู้เป็นธิดาของพระนม (แม่นม) ของพระจักรพรรดิเอง[67]
ในช่วงราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2187 - 2455) พระจักรพรรดิทรงเลือกพระมเหสีจากหนึ่งในตระกูลของแปดกองธงเป็นหลัก (ระบบซึ่งแบ่งแยกตระกูลชาวแมนจูพื้นเมืองออกเป็นกลุ่มกอง)[68] เพื่อดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ในเชื้อสายชาวแมนจูของราชวงศ์ ซึ่งหลังจากที่จักรพรรดิคังซี (พ.ศ. 2205 - 2265) เสด็จสวรรคต จักรพรรดิและเจ้าชายในรุ่นต่อมาก็ทรงถูกห้ามไม่ให้เสกสมรสกับสตรีที่ไม่ใช่ชาวแมนจู[69] แต่ไม่ได้จำกัดการเสกสมรสของเจ้าหญิงตามกฏนี้แต่ประการใด แม้กระนั้นก็ตาม เจ้าหญิงหลายพระองค์ก็ทรงถูกจัดการเสกสมรสกับเจ้าชายมองโกลอยู่เสมอ ๆ ตามแบบขนบราชวงศ์ก่อนหน้า เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีทางการเมืองและการทหาร โดยเฉพาะในช่วงต้นของราชวงศ์ที่ปรากฏการเสกสมรสกับเจ้าชายมองโกลของพระธิดาในจักรพรรดิหนูเอ่อร์ฮาชื่อจำนวน 9 พระองค์ และพระธิดาในจักรพรรดิฉงเต๋อจำนวน 12 พระองค์[69]
ในสมัยอาณาจักรชิลลา มีขนบธรรมเนียมที่จำกัดการสืบราชสมบัติไว้สำหรับเชื้อพระวงศ์ในชั้น ซองกอล (กระดูกศักดิ์สิทธิ์) โดยเฉพาะ ดังนั้นเชื้อพระวงศ์ที่มีบรรดาศักดิ์ในชั้นนี้จึงต้องรักษาไว้ซึ่งบรรดาศักดิ์ของตนด้วยการเสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์หรือสมาชิกขุนนางในชั้นเดียวกัน เช่นเดียวกับวิถีปฏิบัติในทวีปยุโรปที่เชื้อพระวงศ์มักจะเสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเองเพื่อคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ในสายพระโลหิต[70]
ส่วนในญี่ปุ่น การเสกสมรสในหมู่เชื้อพระวงศ์ด้วยกันเองและกับเชื้อพระวงศ์ต่างชาติจากจักรวรรดิเกาหลีถือเป็นเรื่องปกติและไม่ได้สร้างความด่างพร้อยต่อสายพระโลหิตอันบริสุทธิ์แต่อย่างใด[71] ตามพงศาวดารโชะคุนิฮงงิ ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยพระราชโองการของพระจักรพรรดิจนสำเร็จครบถ้วนในปี พ.ศ. 1340 กล่าวว่าจักรพรรดิคัมมุที่ทรงปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 1324 ถึง พ.ศ. 1349 มีพระราชมารดาเป็นพระสนมชาวเกาหลีนามว่า พระนางนิอิงะซะแห่งทะกะโนะ ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ามูรยองแห่งแพ็กเจ หนึ่งในสามราชอาณาจักรเกาหลี[71]
ในยุคสมัยใหม่ ในปี พ.ศ. 2463 มกุฎราชกุมารอีอึนแห่งเกาหลี เสกสมรสกับเจ้าหญิงมะซะโกะแห่งนะชิโมะโตะ และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2474 เจ้าชายอีกอน พระราชนัดดาในจักรพรรดิโกจง เสกสมรสกับมะซึดะอิระ โยะซิโกะ พระญาติของเจ้าหญิงมะซะโกะ ซึ่งทางการญี่ปุ่นมองว่าการเสกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์ญี่ปุ่น-เกาหลีเช่นนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพในการปกครองอาณานิคมเกาหลีของญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นการรวมสายพระโลหิตของราชวงศ์ญี่ปุ่นเข้ากับราชวงศ์อีของเกาหลีอีกด้วย[71]
การเสกสมรสในหมู่เชื้อพระวงศ์เดียวกันก็ถือเป็นเรื่องปกติในแอฟริกากลางเช่นเดียวกัน[72] การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์สวาซิแลนด์ ราชวงศ์ชาวซูลู และราชวงศ์ชาวเทมบู ในแอฟริกาใต้ก็สามารถพบเห็นได้เป็นการทั่วไป[73] เช่น ในปี พ.ศ. 2520 เซนานี แมนเดลา เชื้อพระวงศ์เทมบูและลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา แต่งงานกับเจ้าชายทัมบูมูซี ดลามีนี พระอนุชาในพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งสวาซิแลนด์[74]
กรณีตัวอย่างในประวัติศาสตร์การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ในแอฟริกา เช่น
ในช่วงตั้งแต่การพิชิตอิสปาเนียของอุมัยยัด (Umayyad conquest of Hispania) จนถึงช่วงเรกองกิสตา การเสกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์สเปนและรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยัดถือเป็นเรื่องปกติ การเสกสมรสครั้งแรก ๆ เช่นระหว่างอับด์ อัล-อะซิส อิบน์ มูซา และเอกิโลนา ในช่วงเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่หวังจะช่วยให้การยึดครองคาบสมุทรไอบีเรียของฝ่ายมุสลิมมีความชอบธรรม[77] ส่วนการเสกสมรสในครั้งถัด ๆ มา มีจุดประสงค์ก็เพื่อตกลงในสนธิสัญญาการค้าระหว่างพระมหากษัตริย์ในศาสนาคริสต์และเคาะลีฟะฮ์มุสลิม[78] เช่น การเสกสมรสระหว่างพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งลีออนและคาสตีล กับเซอีดาแห่งเซวิลล์ โดยเชื่อกันว่าเชื้อพระวงศ์ยุโรปส่วนมากมีบรรพบุรุษที่สามารถสืบค้นย้อนไปถึงครอบครัวของศาสดามูฮัมหมัด แต่ข้อสันนิษฐานนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน[78]
ในจักรวรรดิออตโตมัน สุลต่านและเจ้าชายหลายพระองค์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 นิยมเสกสมรสดับสมาชิกราชวงศ์ปกครองของรัฐข้างเคียง[79]โดยไม่สนใจในข้อจำกัดด้านศาสนา สุลต่านออตโตมันเสกสมรสกับทั้งชาวคริสต์และมุสลิมด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองล้วน ๆ เนื่องจากออตโตมันรายล้อมไปด้วยรัฐข้างเคียงที่อาจเป็นศัตรูได้ในอนาคต เช่น ชาวคริสต์อย่างจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือเซอร์เบีย หรือมุสลิมด้วยกันเองอย่างราชรัฐเบย์ลิกในอานาโตเลีย (Anatolian beyliks) ต่าง ๆ อาทิเช่น ดูลกาดิช, จาร์เมียนิดส์, ซารุคานิดส์ และคารามานิดส์ ดังนั้นการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์จึงเป็นหนทางในสร้างสัมพันธไมตรีกับรัฐเหล่านี้[79] แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2047 การเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติดูเหมือนจะหยุดชะงักลง โดยปรากฏการเสกสมรสเช่นนี้ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 1978 ระหว่างสุลต่านมูรัดที่ 2 กับมารา บรานโควิช พระราชธิดาในพระเจ้าดูราด บรานโควิชแห่งเซอร์เบีย ซึ่ง ณ เวลานี้ จักรวรรดิออตโตมันได้สั่งสมฐานอำนาจมากพอที่จะผนวกรวมหรือปราบปรามบรรดารัฐคู่แข่งในอดีตได้สำเร็จ การเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติในฐานะเครื่องมือด้านนโยบายการต่างประเทศจึงหมดความสำคัญลง[79]
เนื่องจากหลักศาสนาอิสลาม kafa'a ไม่สนับสนุนการแต่งงานกับบุคคลจากต่างศาสนาหรือจากต่างฐานันดร[n 10] ดังนั้นผู้ปกครองของชาติมุสลิมในบริเวณใกล้เคียงจึงไม่ยอมมอบธิดาของตนให้เสกสมรสกับเจ้าชายออตโตมันไปจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันสั่งสมอำนาจจนทวีความสำคัญขึ้นมา และด้วยหลักศาสนานี้เองที่ทำให้เจ้าชายออตโตมันสามารถเสกสมรสกับสตรีชาวคริสต์ได้อย่างอิสระ ในขณะที่เจ้าหญิงมุสลิมกลับถูกกีดกันไม่ให้เสกสมรสกับเจ้าชายชาวคริสต์[81]
ในยุคสมัยใหม่ ปรากฏการเสกสมรสระหว่างสมาชิกราชวงศ์ของรัฐอิสลาม เช่น จอร์แดน โมรอคโค ซาอุดิอาระเบีย และรัฐสมาชิกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังตัวอย่างได้แก่
ในช่วงเวลาหนึ่ง หลายราชวงศ์ถือปฏิบัติตามขนบการเสกสมรสต่างราชวงศ์อย่างเคร่งครัด เช่น ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ราชวงศ์ซิซิลี ราชวงศ์บูร์บงในสเปน และราชวงศ์โรมานอฟ ถึงกับตรากฎประจำราชวงศ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นระเบียบในการเสกสมรสกับต่างราชวงศ์[86] และให้ความสำคัญอย่างมากว่าเชื้อพระวงศ์จะต้องเสกสมรสกับบุคคลจากฐานันดรเดียวกัน (เช่น เชื้อพระวงศ์ต่างชาติ) ดังนั้นจึงมีการกีดกันแม้กระทั่งขุนนางคนโตที่สุดจากตระกูลศักดินาออกไป[87]
โดยทั่วไปแล้วการแต่งงานต่างฐานันดรคือการที่บุรุษจากตระกูลสูงแต่งงานกับสตรีจากฐานันดรที่ต่ำกว่า (เช่น ธิดาจากตระกูลขุนนางระดับล่างหรือตระกูลสามัญชน)[88] และตามปกติแล้ว บุตรที่เกิดจากการแต่งงานไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในการสืบราชสกุล บรรดาศักดิ์ ฐานันดร หรือมรดกที่ยกให้ แต่บุตรเหล่านี้ถือว่าเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเด็นอื่น ๆ และถูกใช้ห้ามปรามไม่ให้มีการพหุสมรส[89]
กรณีตัวอย่างของการเสกสมรสต่างฐานันดร เช่น
เมื่อกาลเวลาผ่านไป จำนวนยีนทั้งหมดในแหล่งหรือ ยีนพูล (Gene pool) ภายในราชวงศ์ปกครองมีจำนวนลดลง จากการเสกสมรสภายในเครือญาติเนื่องจากจำนวนคู่สมรสที่เหมาะสมมีจำนวนจำกัด (ก่อนที่สายสัมพันธ์ของราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรปจะข้องเกี่ยวเป็นเครือญาติกันทั้งหมด) ส่งผลให้เชื้อพระวงศ์หลายพระองค์สืบราชสันตติวงศ์มาจากบรรพบุรุษพระองค์เดียวกันผ่านสายราชวงศ์ต่าง ๆ เช่น เชื้อพระวงศ์ยุโรปหลายพระองค์ที่สืบราชสันตติวงศ์จากพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร หรือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก[94] รวมถึงราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ได้ชื่อว่านิยมการเสกสมรสในสายโลหิตเดียวกัน จนนำไปตั้งเป็นชื่อของความผิดปกติที่พบได้บ่อยภายในเครือญาติอย่างภาวะคางยื่น (Prognathism) ว่า ริมฝีปากฮับส์บูร์ก (Habsburg lip) แม้จะไม่มีหลักฐานทางพันธุกรรมมายืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็ตาม ราชวงศ์วงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ราชวงศ์บูร์บง ราชวงศ์บรากันซา และราชวงศ์วิตเตลส์บาค[n 11] ก็มักจะจัดการเสกสมรสในหมู่พระญาติชั้นที่หนึ่งบ่อยครัง หรือในหมู่พระญาติชั้นรองระหว่างพระปิตุลา (ลุง) กับพระภาคิไนย (หลานอา) เป็นครั้งคราว[95][96]
ตัวอย่างการเสกสมรสที่ผิดประเพณีและผลกระทบที่ตามมา เช่น
{{cite book}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help){{cite journal}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help){{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ |journal=
(help){{cite book}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help){{cite web}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help); |url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help){{cite book}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help){{cite book}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help){{cite book}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help){{cite book}}
: |access-date=
ต้องการ |url=
(help)