กาเอร์เอ็ล โกมูเตอร์ไลน์ | |
---|---|
![]() | |
ข้อมูลทั่วไป | |
เจ้าของ | บริษัท รถไฟอินโดนีเซีย จำกัด |
ที่ตั้ง | จาโบเดตาเบิก (จาการ์ตาและปริมณฑล) |
ประเภท | รถไฟฟ้าชานเมือง |
จำนวนสาย | 6 (ไม่เปิดใช้งาน 1 สาย) |
จำนวนสถานี | 80 (ไม่เปิดใช้งาน 6 สถานี) |
เว็บไซต์ | www |
การให้บริการ | |
เริ่มดำเนินงาน | 6 เมษายน ค.ศ. 1925 (ภายใต้การควบคุมของบริษัทอาณานิคมดัตช์) ค.ศ. 2000 (ภายใต้การควบคุมของบริษัท รถไฟอินโดนีเซีย จำกัด) 15 กันยายน ค.ศ. 2008 (ภายใต้การควบคุมของพีที เคซีเจ) |
ผู้ดำเนินงาน | บริษัท รถไฟชานเมืองอินโดนีเซีย จำกัด |
ความยาวขบวน | 4-10 คันต่อขบวน |
ระยะห่าง | 5-8 นาที |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
ระยะทาง | 293.4 กิโลเมตร (182 ไมล์) |
รางกว้าง | 1,067 mm (3 ft 6 in) |
การจ่ายไฟฟ้า | ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัว ไฟฟ้ากระแสตรง ความต่างศักย์ 1,500 โวลต์ |
ความเร็วเฉลี่ย | 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (25 ไมล์ต่อชั่วโมง) |
ความเร็วสูงสุด | 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (56 ไมล์ต่อชั่วโมง) |
กาเอร์เอ็ล โกมูเตอร์ไลน์ (อินโดนีเซีย: KRL Commuter Line) เป็นระบบรถไฟฟ้าชานเมืองในเขตกรุงจาการ์ตาและปริมณฑล ประเทศอินโดนีเซีย เดิมเรียกว่า กาเอร์เอ็ล จาโบเดตาเบิก (KRL Jabodetabek) ซึ่งย่อมาจากชื่อเต็มว่า เกอเรตา เร็ล ลิซตริก จาการ์ตา โบโกร์ เดปก ตาเงอรัง เบอกาซี (Kereta Rel Listrik Jakarta Bogor Depok Tangerang Bekasi) หมายถึง "รถไฟฟ้าจาการ์ตาและปริมณฑล"
กาเอร์เอ็ล โกมูเตอร์ไลน์ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองในจาการ์ตา, โบโกร์, เดปก, ตาเงอรัง, ตาเงอรังใต้ และเบอกาซี ระบบรถไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้ามือสองซึ่งเคยใช้งานในโตเกียวเมโทร, รถไฟใต้ดินโทเอ, รถไฟญี่ปุ่น และรถไฟโทกีว และอีกบางส่วน ผลิตขึ้นในประเทศเอง
กาเอร์เอ็ล โกมูเตอร์ไลน์ดำเนินการโดยบริษัท รถไฟชานเมืองอินโดนีเซีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท รถไฟอินโดนีเซีย จำกัด
ใน ค.ศ. 1923 ก่อนที่ประเทศอินโดนีเซียจะประกาศเอกราช บริษัท สตาตส์สโปร์เวเคิน (SS) ของจักรวรรดิดัตช์ ได้สร้างรถไฟฟ้าสายแรกจากตันจุงปรียก ไปยัง เมสเตอร์กอร์เนลิส (สถานีรถไฟจาตีเนอการาในปัจจุบัน) และได้เปิดใช้งานใน ค.ศ. 1925 โดยใช้รถจักรรุ่น 3000 ผลิตโดยเอสแอลเอ็ม-บีบีซี (บริษัทเครื่องจักรและรถจักรสวิส - บราวน์โบเวอรีแอนด์ซี), รถจักรไฟฟ้ารุ่น 3100 ผลิตโดยเออีจีเยอรมนี, รถจักรรุ่น 3200 ผลิตโดยบริษัทแวร์กสโปร์เนเธอร์แลนด์ และตู้โดยสาร ผลิตโดยเวสติงเฮาส์ และเจเนรัลอิเล็กทริก โครงการนี้ยังคงดำเนินการต่อไปใน ค.ศ. 1927 ในส่วนต่อขยายซึ่งให้บริการในเมืองปัตตาเวียและปริมณฑล
หลังจากประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1945 การดำเนินงานรถไฟได้ถ่ายโอนไปยังสำนักงานขนส่งทางรางอินโดนีเซีย (ปัจจุบันคือบริษัท รถไฟอินโดนีเซีย จำกัด) และใน ค.ศ. 1976 ได้ปลดประจำการรถจักรและรถโดยสาร และนำเข้ารถไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น การให้บริการแบบรถไฟฟ้าชานเมือง เริ่มใน ค.ศ. 2000 อยู่ในเขตพื้นที่ให้บริการรถไฟที่ 1 และเริ่มดำเนินการโดยบริษัท รถไฟชานเมืองอินโดนีเซีย จำกัด ตั้งแต่ ค.ศ. 2008
การปรับระบบให้ทันสมัยเริ่มใน ค.ศ. 2011 โดยการยุบรวมจำนวนสายทั้งหมด 37 สาย ให้เหลือเพียง 6 สายหลัก ยกเลิกการให้บริการแบบรถด่วน และแบ่งชนิดรถเป็น 2 ประเภท คือ รถปรับอากาศ กับรถไม่ปรับอากาศ สำหรับรถไม่ปรับอากาศนั้น ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 ได้เปลี่ยนระบบบัตรมาเป็นระบบ คัมเม็ต (ระบบจำหน่ายบัตรไฟฟ้าชานเมือง) แทนที่ระบบตั๋วกระดาษ และเปลี่ยนระบบค่าโดยสารแบบเก่ามาเป็น ระบบจำหน่ายบัตรโดยสารแบบก้าวหน้า อีกทั้งยังมีการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า 80 สถานีให้ดียิ่งขึ้น สำหรับรถนั่งไม่ปรับอากาศนั้น ได้รับการดัดแปลงมาเป็นรถนั่งปรับอากาศหมดครบทุกคันแล้ว[1]
สถิติวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2015 มีรถไฟฟ้า 872 เที่ยวต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากเส้นทาง โบโกร์/เดปก และเส้นทาง เบอกาซี เป็นหลัก โดยทั้งสองสายนี้ มีจำนวนเที่ยวรถ 391 และ 153 เที่ยวต่อวัน มีความถี่ทุก ๆ 5 นาที และ 12 นาที ตามลำดับ[2]
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2015 ระบบรถไฟฟ้าสะสมผู้โดยสารได้มากถึง 850,000 คนต่อวัน[3] คาดว่าใน ค.ศ. 2019 จะสะสมผู้โดยสารได้มากถึง 1.2 ล้านคนต่อวัน[4]
หลังจากที่ปรับปรุงโครงข่ายใน ค.ศ. 2011 มีรถไฟฟ้าชานเมืองให้บริการในจาการ์ตาและปริมณฑลอยู่ 6 สาย และจะสร้างสายย่อยระหว่างสถานีจีตายัม ในเมืองเดปกกับสถานีนัมโบในเมืองจีบีนง
สีของสาย | สาย | สถานีต้นทาง/ปลายทาง | จำนวนสถานี | ระยะทาง | ปีที่เปิดให้บริการครบทั้งสาย |
---|---|---|---|---|---|
เหลือง | วงแหวนจาการ์ตา | จาตีเนอการา ไปยัง เดปก/โบโกร์ | 30 | 71.8 กิโลเมตร | ค.ศ. 1987 |
สายย่อยดูรี - นัมโบ | ดูรี ไปยัง นัมโบ | 20 | 50.8 กิโลเมตร | ค.ศ. 2015 | |
แดง | จาการ์ตา - โบโกร์ | จาการ์ตาโกตา ไปยัง เดปก/โบโกร์ | 25 | 54.6 กิโลเมตร | ค.ศ. 1930 |
เขียว | จาการ์ตา - ตาเงอรังใต้ | ตานะฮ์อาบัง ไปยัง เซอร์ปง/ปารุงปันจัง/มาจา | 19 | 55.7 กิโลเมตร | ค.ศ. 2013 |
น้ำเงิน | จาการ์ตา - เบอกาซี | จาการ์ตาโกตา ไปยัง เบอกาซี | 18 | 27.4 กิโลเมตร | ค.ศ. 1987 |
น้ำตาล | จาการ์ตา - ตาเงอรัง | ดูรี ไปยัง ตาเงอรัง | 9 | 18.9 กิโลเมตร | ค.ศ. 1997 |
ชมพู | สายตันจุงปรียก | จาการ์ตาโกตา ไปยัง ตันจุงปรียก | 4 | 7.9 กิโลเมตร | ค.ศ. 2015[5] |
สาย | รายชื่อสถานีรถไฟฟ้า |
---|---|
สายสีแดง | จาการ์ตาโกตา → จายาการ์ตา → มังกาเบอซาร์ → ซาวะฮ์เบอซาร์ → จูวันดา → กัมบีร์ → กนดังดียา → จีกีนี → มังกาไร → เตอเบิต → จาวัง → ดูเร็นกาลีบาตา → ปาซาร์มิงกูบารู → ปาซาร์มิงกู → ตันจุงบารัต → เล็นเต็งอากุง → มหาวิทยาลัยปันจาซีลา → มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย → ปนดกจีนา → เดปกบารู → เดปก → จีตายัม → โบจงเกอเด → จีเลอบุต → โบโกร์ |
สายสีน้ำเงิน | จาการ์ตาโกตา → จายาการ์ตา → มังกาเบอซาร์ → ซาวะฮ์เบอซาร์ → จูวันดา → กัมบีร์ → กนดังดียา → จีกีนี → มังกาไร → จาตีเนอการา → จีปีนัง → เกล็นเดร์ → บูวารัน → เกล็นเดร์บารู → จากุง → ราวาเบเบ็ก → กรันจี → เบอกาซี |
สายสีส้ม | จาตีเนอการา → ปนดกจาตี → กรามัต → กังเซินตียง → ปาซาร์เซอเน็น → เกอมาโยรัน → ราจาวาลี → กัมปุงบันดัน → อังเก → ดูรี → ตานะฮ์อาบัง → กาเร็ต → ซูดีร์มัน → มัมปัง → มังกาไร → เตอเบิต → จาวัง → ดูเร็นกาลีบาตา → ปาซาร์มิงกูบารู → ปาซาร์มิงกู → ตันจุงบารัต → เล็นเต็งอากุง → มหาวิทยาลัยปันจาซีลา → มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย → ปนดกจีนา → เดปกบารู → เดปก → จีตายัม → โบจงเกอเด → จีเลอบุต → โบโกร์ |
สายสีเขียว | ตานะฮ์อาบัง → ปัลเมระฮ์ → เกอบาโยรัน → ปนดกเบตุง → ปนดก-รันจี → จูรังมางู → ซูดีมารา → ราวาบุนตู → เซอร์ปง → จีเซาก์ → จีจายูร์ → ปารุงปันจัง → จีเลอจิต → ดารู → เต็นโจ → ตีการักซา → จีโกยา → มาจา → จีเตอรัซ → รังกัซบีตุง |
สายสีน้ำตาล | ดูรี → โกรกล → เปอซิง → ตามันโกตา → โบจงอินดะฮ์ → ราวาบูวายา → กาลีเดอเริซ → โปริซ → บาตูเจเปร์ → ตานะฮ์ติงกี → ตาเงอรัง |
สายสีชมพู | จาการ์ตาโกตา → กัมปุงบันดัน → อันจล → ตันจุงปรียก |
สายนัมโบ | จีตายัม → ปนดกราเจ็ก → จีบีนง → กูนุงปูตรี → นัมโบ |
ตารางด้านล่างนี้แสดงรายชื่อสถานีรถไฟที่มีความสำคัญ ในบางสถานีอาจมีรถไฟระหว่างเมืองให้บริการด้วย
สถานี | สาย | ปีที่เปิดใช้งาน | รถไฟระหว่างเมือง | ลักษณะ |
---|---|---|---|---|
จาการ์ตาโกตา | ค.ศ. 1926 | มีให้บริการ | สถานีปลายทางของรถไฟชานเมืองและรถไฟระหว่างเมือง | |
กัมบีร์ | ค.ศ. 1884 | มีให้บริการ | สถานีปลายทาง/สถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟระหว่างเมืองก | |
มังกาไร | ค.ศ. 1918 | มีให้บริการ | สถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าชานเมือง | |
จาตีเนอการา | ค.ศ. 1910 | มีให้บริการ | สถานีปลายทาง/สถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าชานเมือง | |
ตานะฮ์อาบัง | ค.ศ. 1910 | มีให้บริการ | สถานีปลายทาง/สถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าชานเมือง | |
ดูรี | ไม่ทราบปีที่เปิดใช้งาน | มีให้บริการ | สถานีปลายทาง/สถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าชานเมืองข | |
กัมปุงบันดัน | ไม่ทราบปีที่เปิดใช้งาน | ไม่มีให้บริการ | สถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าชานเมือง | |
ปาซาร์เซอเน็น | ค.ศ. 1925 | มีให้บริการ | สถานีปลายทางของรถไฟระหว่างเมือง/สถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าชานเมืองค | |
โบโกร์ | ค.ศ. 1881 | มีให้บริการ | สถานีปลายทางรถไฟฟ้าชานเมือง | |
เบอกาซี | ไม่ทราบปีที่เปิดใช้งาน | มีให้บริการ | สถานีปลายทางของรถไฟชานเมืองและรถไฟระหว่างเมือง (เฉพาะเวลากลางคืน) |
รูปียะฮ์ | |
---|---|
25 กิโลเมตรแรก | 2,000 |
ทุก ๆ 10 กิโลเมตรถัดไป | 1,000 |
ระบบฝากบัตร | 10,000 (คืนเงินได้) |
บัตรที่ใช้งานได้ | คอมเม็ต บีซีเอ แฟลซซ์ มันดีรี อี-มันนีย์ บีเอ็นไอ แทปแคช บริซซี |
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบัตรโดยสารและค่าธรรมเนียมครั้งใหญ่ โดยบัตรโดยสารที่กำหนดใช้ขึ้นมาใหม่คือ คัมเม็ต (คัมมิวเตอร์อิเล็กทรอนิกทิกเคตติง; อังกฤษ: Commuter Electronic Ticketing) บัตรมีสองประเภท คือ บัตรโดยสารเที่ยวเดียว สามารถรับบัตรนี้ได้ที่ช่องจำหน่ายบัตรโดยสาร และต้องคืนบัตรนี้ที่สถานีที่ลง กับบัตรโดยสารหลายเที่ยว มีราคาอยู่ที่ 50,000 รูปียะฮ์ (มียอดเงินภายในบัตรอยู่ 30,000 รูปียะฮ์[6] แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องบัตรสูญหายอยู่บ่อยครั้ง จนในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2013 จึงได้มีการใช้งานระบบฝากบัตรประจำวันเป็นครั้งแรก ซึ่งต้องเสียค่าทำบัตร 5,000 รูปียะฮ์ (รวมค่าโดยสารรถไฟฟ้าแล้ว) บัตรฝากมีอายุ 7 วัน นับจากวันที่เติมบัตร ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ได้มีการอนุญาตให้ใช้ บัตรบีซีเอ แฟลซซ์ ของทรานส์จาการ์ตา ขึ้นรถไฟฟ้าได้เป็นครั้งแรก[7] ต่อมาเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 ได้มีการอนุญาตให้ใช้บัตรบริซซี, มันดีรี อี-มันนีย์ และบีเอ็นไอ แทปแคช ซึ่งบัตรเหล่านี้สามารถใช้ได้ทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองและรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ ทรานส์จาการ์ตา[8]
ระบบค่าโดยสารแบบใหม่ เรียกว่า ค่าโดยสารแบบก้าวหน้า โดยค่าโดยสารจะแปรผันตามจำนวนสถานีที่ผ่านมา นั่งรถไฟฟ้าผ่านห้าสถานีแรก เสียค่าโดยสารรวม 3,000 รูปียะฮ์ และทุก ๆ สามสถานีถัดไป จะเสียค่าโดยสาร 1,000 รูปียะฮ์ แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 ค่าโดยสารได้ถูกปรับให้น้อยลง[9] ในช่วงสัปดาห์แรกที่มีการลดราคา ได้มีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 บริษัทจึงซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 10 คันในสายโบโกร์ และเพิ่มรถไฟฟ้าอีก 170 คันใน ค.ศ. 2014[10] หนึ่งปีหลังจากที่ระบบบัตรใหม่เริ่มใช้งาน มีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.6 และเป็นผู้โดยสารใช้บัตรประมาณร้อยละ 50[11] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 ระบบได้สะสมผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 600,000 เป็น 650,000 คนต่อวัน[12]
วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2015 ได้เปลี่ยนระบบค่าโดยสารมาแปรผันตามระยะทาง ในระยะทาง 25 กิโลเมตรแรก เสียค่าโดยสาร 2,000 รูปียะฮ์ และทุก ๆ 10 กิโลเมตรถัดไป เสียค่าโดยสาร 1,000 รูปียะฮ์[13]
รถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นรถนั่งปรับอากาศมือสองซึ่งเคยใช้งานในประเทศญี่ปุ่น และอีกส่วนน้อยเคยเป็นรถนั่งพัดลมโดยบริษัทผลิตรถไฟอินโดนีเซีย สำหรับรถนั่งพัดลมทุกคันได้ถูกดัดแปลงเป็นรถนั่งปรับอากาศหมดแล้ว ตามนโยบายที่ต้องการให้รถไฟฟ้าชานเมืองทุกขบวนเป็นขบวนรถปรับอากาศหมด รถไฟฟ้า 1 ขบวน จะมีตู้โดยสาร 8-10 คัน (ปัจจุบันกำลังพัฒนาให้ทุกขบวนมี 10 คัน) แต่ละคันจุผู้โดยสารได้ 80-110 คน
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะปลดประจำการรถไฟฟ้ากาเอร์เอ็ล เอโกโนมี และเก็บรักษาไว้ในฐานะรถไฟฟ้าคันแรกของอินโดนีเซียอีกด้วย