![]() ขนมครกปรุงในกระทะหลุม | |
ประเภท | ของหวาน |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ประเทศไทย |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้อง | อาหารไทย |
จานอื่นที่คล้ายกัน | บั๊ญข็อต, โมก หลีน-มะย้า, ทาโกยากิ, เซอราบี |
ขนมครก เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งน้ำตาลและกะทิ แล้วเทลงบนเตาหลุม เวลาจะรับประทานต้องแคะออกมาเป็นแผ่นวงกลม แล้วมักวางประกบกันตอนรับประทาน เป็นขนมของไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ อาหารที่คล้ายกันนี้ยังพบในพม่า (เรียกว่า โมก หลีน-มะย้า แปลว่า ขนมผัว-เมีย), ลาว (เรียกว่า ขนมคก)[1], บังคลาเทศ, อินเดียใต้ (เรียกว่า ปัดดูหรือปานิยาราม) และอินโดนีเซีย (เรียกว่า เซอราบี)
มีหลักฐานว่าขนมครกเป็นที่นิยมแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา[2] เข้าใจว่าจะเป็นแบบง่าย ๆ ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหมือนอย่างปัจจุบัน กล่าวคือยังทำตามหลักขนมไทยโดยใช้ข้าวโม่ให้เป็นแป้ง แล้วนำไปผสมน้ำตาลกับมะพร้าว[3] มีหลักฐานการทำเตาขนมครกบริเวณชุมชนบ้านหม้อย่านทุ่งขวัญด้านตะวันตกของคลองสระบัวในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผา[4] ปรากฏใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ว่า :-
บ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่เล็ก และกระทะเตาขนมครก ขนมเบื้อง[5][6]
ขนมครกยังปรากฏในวรรณคดีไทย เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ:-[7]
๏ ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย | แผ่นผ้อยมันกะไรดังต้มกบ | |
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ | พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป |
ฝ่ายนางศรีมาลาชายตาดู | ทั้งข้าไทยิ้มอยู่ไม่นิ่งได้ | |
อีไหมร้องว้ายข้อยอายใจ | ลืมไปคิดว่าทำขนมครก | |
— ขุนช้างขุนแผน ตอนนางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์ |
ขนมครกปรากฏในโคลงล้านนา (คร่าวซอ) เรื่อง คร่าวดอยสุเทพและคร่าวซอถนนในเมืองเชียงใหม่ ต้นฉบับจากใบลานจารด้วยอักษรธรรมล้านนา ประพันธ์โดยพญาพรหมโวหารระหว่างปี พ.ศ. 2420–30 เพื่อทูลถวายพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าทิพเกสร เป็นโคลงบรรยายเหตุการณ์ที่พญาพรหมโวหารได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ปรากฏในคำประพันธ์บทที่ ๒๙ ฉบับปริวรรตโดย บุญทา ศรีพิมพ์ชัย ว่า:-[8]
๏ ไส้กรอกหมูหยอง | ห้องพะโลซ้อน | หลายเยืองตอน | ของไทย |
ของหวานอ่านนับ | เยื่องอันเย็นใจ | ทอดเลี้ยงภายใน | ประสุมเวียกสร้าง |
หนมโก๋ทองหยิบ | ฝอยทองเขาห้าง | การบัวบาน | หนมครก |
ส่วนเตากระทะที่ใช้ทำขนมครกเชื่อว่าเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[9] จากการติดต่อค้าขายกับชาวโปรตุเกส และริเริ่มการใช้ไข่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำขนมรวมทั้งยังคล้ายคลึงกับกระทะทำแพนเค้กพัฟสไตล์เดนมาร์ค (Aebelskiver)
ขนมครกแต่เดิมใช้ข้าวเจ้าแช่น้ำ โม่รวมกับหางกะทิ ข้าวสวย และมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย ผสมเกลือเล็กน้อยใช้เป็นตัวขนม ส่วนหน้าของขนมครกเป็นหัวกะทิ ขนมครกชาววังจะมีการดัดแปลงหน้าขนมครกให้แปลกไปอีก เช่น หน้ากุ้ง (แบบเดียวกับข้าวเหนียวหน้ากุ้ง) หน้าไข่ หน้าหมู (แบบเดียวกับไส้ปั้นสิบ) หน้าเผือก หน้าข้าวโพด หน้าต้นหอม
เป็นขนมเก่าแก่ของชาวมอญ ปัจจุบันเหลือที่ชุมชนมอญตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีเพียงแห่งเดียว ใช้ข้าวเหนียวดิบแช่น้ำจนชุ่มมาละเลงในเบ้าขนมครก ไส้เป็นมะพร้าวทึนทึกขูด น้ำตาลทรายและงาคั่ว เคล้าให้เข้ากัน
เป็นขนมครกที่เทแป้งลงในเบ้าให้ติด ๆ กัน และมีหน้าหยอด หลากหลาย เช่น เผือก มัน ฝอยทอง ฯลฯ เวลาสุกจะร่อนออกมา แล้วจึงตัดแบ่งออกรับประทาน[10] ขนมครกชาววังจะมีความพิเศษแตกต่างจากขนมครกชาวบ้าน คือ เน้นความสวยงาม ไม่มีขอบไหม้เกรียม และทำอย่างประณีต นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้วยังต้องงามตาแตกต่างจากขนมชาวบ้านทั่วไป โดยหลังจากตักขนมครกขึ้นจากเบ้าแล้วจะมีการตัดริมขอบที่ไหม้เกรียมด้วยกรรไกรทิ้งให้หมดให้เหลือเฉพาะส่วนนิ่ม ๆ[11][12]
ขนมครกที่ทำจากข้าวโม่ผสมแป้งแต่ไม่มีหน้าหยอด[13]: 11
เป็นขนมครกสมัยปัจจุบันที่มีการประยุกต์สูตรโดยการเพิ่มส่วนผสมลงในแป้ง เช่น