ขลู่

ขลู่
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Asterales
วงศ์: Asteraceae
สกุล: Pluchea
สปีชีส์: P.  indica
ชื่อทวินาม
Pluchea indica
(L.) Less.
ชื่อพ้อง

ขลู่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pluchea indica (L.) Less.) เป็นพืชที่พบมากในประเทศเขตร้อน เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย จีน และฟิลิปินส์ เป็นต้น ชอบขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะ ขยายพันธุ์โดยการปักชำ เป็นพืชที่ปลูกค่อนข้างง่าย ขึ้นได้ในดินแทบจะทุกชนิด ขลู่มีชื่อพื้นบ้านว่า หนาดวัว หนาดงิ้ว หนวดวัว หรือหนวดงิ้ว (อุดรธานี), ขลู คลู (ภาคใต้), เพี้ยฟาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

ขลู่เป็นพืชที่มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ขึ้นเป็นกอ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นสูงประมาณ 0.5–2.5 เมตร ใบมีลักษณะค่อนข้างเรียบรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1–5 เซนติเมตรและยาว 2.5–10 เซนติเมตร ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาว ๆ ปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ ใบมีกลิ่นหอมฉุน ช่อดอกงอกออกมาจากด้านบนและซอกของใบ กลีบดอกสีม่วง ส่วนของดอกสีม่วงหรือม่วงอ่อน ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกเป็นสันเหลี่ยม 10 สัน ระยางค์มีน้อย สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ลำต้นกลมสีน้ำตาลแดง หรือเขียว ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดปกคลุม เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก ๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม[1][2]

ขลู่เป็นพืชที่สามารถพบได้ตลอดปี สารเคมีที่พบในขลู่ ได้แก่ โซเดียม คลอไรด์[3] และโพแทสเซียม ขลู่เป็นพืชที่สามารถสะสมโครเมียมในชีวมวลได้ถึง 51.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม[4]

การใช้ประโยชน์

[แก้]

ขลู่เป็นพืชที่รับประทานได้ ใบนำไปลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงคั่ว[5] นอกจากนั้น ยังนำใบไปตากแห้ง ใช้ทำชา ดื่มแก้กระหายน้ำ ช่วยลดน้ำหนัก ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินกับน้ำแกง[6] ดอกนำไปยำกับเนื้อสัตว์ต่าง 

ฤทธิ์ทางยาของขลู่ ทั้งต้นใช้ต้มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ เบาหวาน, ต้มอาบ แก้ผื่นคันและโรคผิวหนัง, ใบและรากใช้แก้ไข้, พอกแก้แผลอักเสบ, ใบกับต้นอ่อนใช้รักษาอาการปวดตามข้อ[6] ใบช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยการคั้นน้ำจากใบสด, แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ, รากสด รับประทานเป็นยาฝาดสมาน, แก้บิด, ไข้หวัด

อ้างอิง

[แก้]
  1. "กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร, ขลู่". โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ.
  2. "ขลู่". ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
  3. อรสา สุริยาพันธ์. "บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน, ใบขลู่: คุณค่าทางโภชนาการ ฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษ". คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. Sampanpanish, Pantawat (2007). "Chromium removal by Phytoremediation and Biosorption". ScienceAsia. 33: 353–362. doi:10.2306/scienceasia1513-1874.2007.33.353.
  5. อรทัย เนียมสุวรรณ; นฤมล เส้งนนท์; กรกนก ยิ่งเจริญ; พัชรินทร์ สิงห์ดำ (กรกฎาคม–กันยายน 2012). "พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา" (PDF). วารสารวิทยาศาสตร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 981–991.
  6. 6.0 6.1 มัณฑนา นวลเจริญ (2009). พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี: สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. p. 19. ISBN 978-616-12-0030-5.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]