ขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท
ขันทองพยาบาท
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Malpighiales
วงศ์: Euphorbiaceae
วงศ์ย่อย: Crotonoideae
เผ่า: Gelonieae
สกุล: Suregada
สปีชีส์: S.  multiflora
ชื่อทวินาม
Suregada multiflora
(A.Juss.) Baill.

ขันทองพยาบาท (ชื่อวิทยาศาสตร์: Suregada multiflora) เป็นชื่อของสมุนไพรในวงศ์ยางพารา ประเภทไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านกลม เปลือกเกลี้ยง สีเทา ใบเดี่ยวแข็งหนาดกทึบ เป็นดอกเล็ก ๆ เป็นช่อแผ่ออก ผลกลมเท่าลูกพุทรา มี 3 พู เมื่อผลแก่จะมีสีส้มและแตกออก สรรพคุณในการรักษา แก้ลมพิษ แก้โรคเรื้อน โรคผิวหนังทุกชนิด แก้ไข้ และแก้กามโรค

ขันทองพยาบาทมีชื่อสามัญอื่น ๆ ได้แก่ ขันทอง (พิษณุโลก) ดูกหิน (สระบุรี) ขนุนดง (หล่มสัก) กระดูก (ภาคใต้) ขุนทอง (ประจวบคีรีขันธ์) ดูกใส (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มะดูกเหลื่อม (ภาคเหนือ) มะดูกดง (ปราจีนบุรี) ข้าวตาก (กาญจนบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]
ใบและดอกของขันทองพยาบาท
  • ต้น – เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 7-13 เมตร กิ่งก้านกลมสีเทา เปลือกสีน้ำตาลแก่ ผิวบางเรียบ เนื้อไม้ข้างในมีสีขาว
  • ใบ – เป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 3–8 เซนติเมตร กว้าง 9–22 เซนติเมตร เนื้อใบหนาทึบ หลังใบลื่นเป็นมัน ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบเป็นติ่งยาว ขอบใบฟัน ก้านใบยาว 9–16 มิลลิเมตร
  • ดอก – เป็นช่อกระจายตรงซอกใบ ช่อละ 5–10 ดอก ยาวประมาณ 16–18 เซนติเมตร มีสีเขียวอมเหลืองอ่อนมีกลิ่นหอมใบประดับเป็นรูปหอกยาว 1 มิลลิเมตร ตรงปลายแหลม ก้านดอกย่อยยาว 1–1.5 มิลลิเมตร กลีบรองกลีบดอกมี5กลีบเรียงซ้อนกันอยู่คล้ายรูปหอกยาว 1 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง 6–7 มิลลิเมตร ยาว 3 มิลลิเมตร
  • ผล – ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีติ่งเล็ก ๆ ที่ยอด
  • เมล็ด – ค่อนข้างกลมมีสีน้ำตาลเข้ม มีเนื้อบาง ๆ สีขาวหุ้มเมล็ด

ถิ่นกำเนิด

[แก้]

เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบประเทศอินเดีย พม่า คาบสมุทรอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู

การกระจายพันธุ์

[แก้]

ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม ติดผลเดือนเมษายน–มิถุนายน

สรรพคุณ

[แก้]
  • ราก รสเมาเบื่อร้อน แก้ลม แก้ประดง แก้พิษในกระดูก แก้โรคผิวหนัง รักษาน้ำเหลืองเสีย
  • เปลือกต้น รสเมาเบื่อ แก้ลมเป็นพิษ แก้ประดง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด กลาก เกลื้อน โรคผิวหนังทุกชนิด แก้กามโรค แก้โรคตับพิการ ทำให้ฟันทน ถ่ายน้ำเหลือง
  • เนื้อไม้ รสเมาเบื่อ แก้ลมพิษ แก้ไข้ แก้กามโรค

อ้างอิง

[แก้]
  • วุฒิ วุฒิธรรมเวช, ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1 (21 สิงหาคม พ.ศ. 2540), หน้า 129.
  • adminHeab (ออนไลน์), ขันทองพยาบาท เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2558.
  • ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (ออนไลน์), ขันทองพยาบาท, สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2558.
  • นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, สมุนไพรไม้พื้นบ้าน, หน้า 415.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]