ขุนช้างขุนแผน

ขุนช้างขุนแผน
ชื่ออื่นขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดพระวชิรญาณ
ประเภทนิทาน, ตำนาน, มหากาพย์
คำประพันธ์กลอนสุภาพ, กลอนแปด
ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปีที่แต่งไม่ทราบ
ลิขสิทธิ์กรมศิลปากร
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทย เค้าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าสืบต่อกันมา เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนมีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น รายละเอียดในการดำเนินเรื่องยังสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวสยามในครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่ง จนนักภาษาศาสตร์ นามวิลเลี่ยม เก็ดนี่ย์ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามักคิดบ่อย ๆ ว่า หากความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเกิดสูญหายไปหมด ทุกอย่างอาจจะถูกสร้างขึ้นมาได้ใหม่ จากข้อเขียนที่อัศจรรย์นี้"

เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ สันนิษฐานว่าเป็นการแต่งขึ้นร้องแบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) เพื่อความบันเทิง ในลักษณะเดียวกับมหากาพย์ของยุโรป อย่างเช่นของโฮเมอร์ โดยคงจะเริ่มแต่งตั้งแต่ราวอยุธยาตอนกลาง (ราว พ.ศ. 2143) และมีการเพิ่มเติม หรือตัดทอนเรื่อยมา จนมีรายละเอียดและความยาวอย่างที่สืบทอดกันอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่ได้ถูกบันทึกลงไว้เป็นกิจลักษณะ เนื่องจากบุคคลชั้นสูงสมัยนั้นเห็นว่าเป็นกลอนชาวบ้าน ที่มีเนื้อหาบางตอนหยาบโลน และไม่มีการใช้ฉันทลักษณ์อย่างวิจิตร ดังนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายในปี พ.ศ. 2310 จึงไม่มีต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนเหลืออยู่ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความนิยมสูงในหมู่ชาวไทย จึงมีผู้ที่จำเนื้อหาได้อยู่มาก และทำให้ถูกฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก

สำหรับเนื้อหาของขุนช้างขุนแผนในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีในรัชสมัยของพระองค์ ตลอดจนพระองค์เองร่วมกันแต่งและทรงพระราชนิพนธ์ขี้นเป็นวรรณคดีที่มีค่าทั้งในด้านความไพเราะและในลีลาการแต่ง ตลอดจนเค้าโครงเรื่อง ได้รับการยกย่องตามพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา และได้รับประทับราชลัญจกรรูปพระคเณศร์ไว้เป็นเครื่องหมายของการยกย่องนั้นด้วย

หนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านกันเล่น เพื่อได้รับรสวรรณคดีเป็นเครื่องบันเทิงใจเท่านั้น หากแต่บางตอนในวรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหลักฐานที่ให้ความรู้ในเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมกับที่มีคำกล่าวว่า วรรณคดีเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้น ๆ ให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้ทราบด้วย[1]

วรรณกรรมไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2553 โดยศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย และนายคริส เบเกอร์[2]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ขุนช้าง พลายแก้ว (ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ว่าขุนแผน) และนางพิมพิลาไลย (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวันทอง) เป็นเพื่อนสมัยเด็กด้วยกันอาศัยอยู่ในเมืองสุพรรณบุรี พลายแก้วรูปร่างหล่อและฉลาด แต่ยากจน เพราะพระพันวษาประหารชีวิตบิดาไปและได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมด

ครั้นเติบโตขึ้นเขาได้บวชเป็นสามเณรเพื่อรับการศึกษาตามวัย เรียนวิชาคาถาอาคมและด้านทหาร ขุนช้างรูปร่างขี้เหร่และโง่เขลา แต่ร่ำรวยและมีเส้นสายที่เชื่อมโยงกันอย่างดีในราชสำนักอยุธยาเพราะบิดาฝากฝังไว้ตั้งแต่เด็ก

ส่วนพิมพิลาไลยนั้น เป็นคนสวยของเมืองสุพรรณบุรี และได้พบพลายแก้วในวันสงกรานต์ พวกเขามีความสัมพันธ์กัน โดยเขาหนีสึกและออกจากวัดไปหาที่ไร่ฝ้ายทันที

ส่วนขุนช้างพยายามขอนางพิมกับแม่ของนาง โดยใช้ความมั่งคั่งและสถานะของเขา แต่สุดท้ายพลายแก้วและนางพิมก็แต่งงานกัน ขุนช้างออกอุบายไปทูลให้พระพันวษาส่งพลายแก้วไปตีเมืองเชียงใหม่ช่วยเมืองเชียงทองแล้วก็อ้างว่าพลายแก้วเสียชีวิตแล้ว เมื่อพลายแก้วได้รับชัยชนะ ขุนช้างจึงวางแผนที่จะขับไล่เขาออกจากอยุธยาด้วยข้อหาที่ประมาทเลินเล่อในงานราชการ

พิมพิลาไลย (ปัจจุบันคือวันทอง) ได้ต่อต้านขุนช้างตลอดเวลา แต่เมื่อพลายแก้ว (ปัจจุบันคือขุนแผน) กลับจากการทำสงครามตีเชียงใหม่ก็ได้ภรรยาอีกคน ชื่อ " ลาวทอง " ก็กลับมีเรื่องอิจฉาริษยากับวันทองจนกระทั่งวันทองถูกแม่ฉุดให้ไปอยู่กับขุนช้าง จนเธอตกเป็นเมียของขุนช้างด้วยจำใจ

เมื่อลาวทองภรรยาคนที่สองของขุนแผน ถูกพระพันวษาทรงพาเข้าไปในวังให้มีตำแหน่งเป็น "ปักสะดึงกรึงไหม" ขุนแผนรู้สึกเสียใจที่จะละทิ้งวันทอง เขาบุกเข้าไปในบ้านของขุนช้างอีกในตอนดึกแล้วได้ลักพาวันทองหนี ในตอนแรกเธอไม่เต็มใจที่จะทิ้งชีวิตอันสุขสบายของเธอ แต่ความหลงใหลในตัวตนขุนแผนประกอบกับความรัก พวกเขาก็หนีไปด้วยกันและได้พักแรมในป่าอันงดงามที่เงียบสงัด

ฝ่ายขุนช้างโกรธจัดที่ขุนแผนพาเมียของตนหลบหนี เขาได้พยายามใส่ร้ายขุนแผน โดยทูลกับพระพันวษาว่าขุนแผนกำลังก่อกบฏ พระพันวษาส่งกองทัพไปตามจับขุนแผนฆ่าขุนเพชรขุนรามตาย มีการออกหมายจับไปทั่วเมือง จนเมื่อวันทองตั้งครรภ์ ขุนแผนจึงตัดสินใจออกจากป่าและบอกยอมแพ้ เตรียมพร้อมจะสู้คดีความ สุดท้ายข้อหากบฏนั้นก็ไม่เป็นความจริง ขุนแผนพ้นผิดและขุนช้างถูกปรับอย่างหนัก

ขุนแผนยังทูลขอต่อพระพันวษาโดยขอให้ปล่อยลาวทองให้เป็นอิสระ พระองค์ทรงกริ้ว เขาจึงถูกจำคุกอีกและถูกขังอยู่ในคุกประมาณสิบสองปี ขุนช้างได้ลักพาตัววันทองไปอยู่ด้วยกันที่สุพรรณบุรีอีกครั้ง วันทองให้กำเนิดลูกชายที่ชื่อ "พลายงาม" ลูกชายของเธอที่เกิดกับขุนแผน เมื่อพลายงามอายุแปดขวบ ขุนช้างพยายามจะฆ่า แต่พลายงามหนีมาได้ และมาอาศัยอยู่กับย่าทองประศรีที่กาญจนบุรี จนกระทั่งได้เรียนวิชาแบบที่ขุนแผนพ่อของตน

เมื่อพระพันวษาแห่งกรุงศรีอยุธยาและเจ้าเมืองเชียงใหม่ทะเลาะกันเรื่องลูกสาวของพระเจ้าล้านช้างแห่งเวียงจันทน์ พลายงามอาสานำกองทัพไปตีเชียงใหม่และประสบความสำเร็จในการขอให้ปล่อยขุนแผนพ่อของตนเป็นอิสระ ทั้งสองพ่อลูกจับพระเจ้าเชียงใหม่และกลับมาพร้อมกับเจ้าหญิงสร้อยทองแห่งเวียงจันทน์และเชลยมากมาย ขุนแผนได้รับสถานะเป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุรินทรฦาชัย" ส่วนพลายงามได้รับแต่งตั้งให้เป็น"จมื่นไวยวรนาถ" หรือพระไวย

ขุนช้างเมาแล้วอาละวาดในงานแต่งงานของพระไวยกับศรีมาลา และคดีความแบบเก่าก็กลับมาอีก พระไวยลักพาตัวแม่วันทองมาจากบ้านขุนช้าง ทำให้ขุนช้างทูลใส่ร้ายพระไวยต่อพระพันวษา จนถึงขั้นพิจารณาคดี พระพันวษาทรงเรียกร้องให้วันทองเลือกระหว่างขุนช้างกับขุนแผน เธอทำไม่ได้และไม่สามารถจะเลือกใครได้ พระพันวษาสั่งให้ประหารชีวิตเธอ พระไวยวิงวอนต่อพระพันวษาให้ทรงอภัยโทษแต่ก็ได้สำเร็จ แต่พระบัญชามาช้าไปเล็กน้อยและไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการประหารชีวิตวันทองได้

ต้นกำเนิดและคำว่า เสภา

[แก้]

ขุนช้างขุนแผน เป็น นิทานพื้นบ้านของไทยโบราณ มีต้นกำเนิดมาจากความบันเทิงพื้นบ้านประมาณปี ค.ศ. 1600 ซึ่งพัฒนาโดยนักเล่านิทาน สำหรับผู้ชมผู้ฟังในท้องถิ่น และส่งต่อเรื่องราวด้วยการบอกเล่าแบบปากต่อปาก

อนึ่งในศตวรรษที่ 18 การแสดงเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นรูปแบบความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสยาม นักเล่านิทานมักเล่าเรื่องด้วยการบรรยายอย่างมีสไตล์ โดยใช้ไม้เล็ก ๆ สองท่อน เรียกว่า กรับ เคาะให้เป็นจังหวะและเน้นอารมณ์ การขับแสดงนั้นมักใช้เวลาตลอดทั้งคืน

อนึ่ง การขับแสดงเรื่องของขุนช้างขุนแผนสร้างแนวใหม่ที่เรียกว่าเสภา และเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษมาแล้ว คำศัพท์นี้ใช้เฉพาะบางงานนี้เท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ค.ศ. 1851–1868) ข้อความจากพระราชพงศาวดารบางส่วนและงานอื่น ๆ อีกสองสามชิ้นก็ถูกนำมาเสนอในรูปแบบของเสภานี้ด้วยพระราชกรณียกิจ แต่ทั้งหมดก็หายไป เหลือเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ

อนึ่ง ที่มาของคำเสภานี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มีรูปแบบของดนตรีในชื่อเดียวกันนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช คิดว่า คำว่า เสภา นี้ หมายถึงคุกและเสภานี้พัฒนามาโดยนักโทษในเรือนจำ ส่วน สุจิตต์ วงษ์เทศ แย้งว่า เสภามีความเชื่อมโยงกับคำภาษาสันสกฤตว่า "เสวะ" ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวข้องดั้งเดิมกับพิธีกรรม ทางศาสนา

การพัฒนาเป็นงานวรรณกรรม

[แก้]

เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ตอนที่ดีเด่นจากเรื่องถูกเขียนลงเป็นแบบฉบับ ภายหลังการก่อตั้งกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2325 ราชสำนักใหม่ได้พยายามรวบรวมตำรับตำราทุกชนิดที่หลงเหลือจากการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อสิบห้าปีก่อนนั้น

อนึ่ง เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้จะถูกคัดลอกมาจากตำราก่อนหน้านี้ หรือดัดแปลงมาจากคำบอกเล่าโดยนักเล่านิทานคนนั้น แต่ต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น ไม่มีเลยในสมัยกรุงศรีอยุธยา

อนึ่ง เป็นเรื่องแปลกที่จะนำต้นฉบับตัวเขียนเหล่านี้มาใช้กับเครื่องวัดว่าบทกวีเหล่านั้นที่ได้รับความนิยม เป็นผลงานครั้งกรุงเก่า คำกลอนโดยเฉพาะเหล่านั้น ที่มีบรรทัดแปดพยางค์ที่เรียกว่ากลอนแปดนั้น เป็นวิธีการประพันธ์ที่นิยมในราชสำนักและในหมู่ขุนนาง ช่วงรัชกาลที่ 2 (ค.ศ. 1809–1824) เป็นส่วนใหญ่ และตัวบทเสภานั้นมีการชำระปรับปรุงโดยกวีร่วมสมัย ช่วงรัชกาลที่ 4 (ค.ศ. 1851–1868) เป็นส่วนมาก

อนึ่ง กวีในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับมอบหมายให้เขียนไว้หลายตอน แต่งานเขียนเหล่านั้นกลับไม่มีรายชื่อกวีเลย แต่บางตอนอาจเป็นผลงานของ รัชกาลที่ 3 เมื่อยังทรงกรมเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และกวีอย่างสุนทรภู่

ต่อมาได้มีการรวบรวมบทอื่น ๆ อีกหลายตอน ซึ่งน่าจะเป็นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยครูแจ้งนักขับเสภาและนักเล่นเพลงปรบไก่ ไม่ค่อยมีใครรู้จักประวัติของเขานัก นอกจากเขาอ้างอิงชื่อตัวเองใว้ในบทกวีเท่านั้น

การพิมพ์

[แก้]

เริ่มตั้งแต่ ซามูเอล สมิธ อดีตมิชชันนารีพิมพ์หนังสือเสภาครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2415 โดยเป็นการใช้ต้นฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และอีกฉบับพิมพ์ในปี พ.ศ. 2432 โดยโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ของนายสิน หน้าวัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์ในชื่อปัจจุบัน เป็นผู้จัดพิมพ์จำหน่าย ห้าตอนที่แต่งโดยครูแจ้งนั้น จัดพิมพ์เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2433

อนึ่ง ส่วนฉบับมาตรฐานที่จัดพิมพ์แบบสมัยใหม่นั้นปรากฏพิมพ์เป็นสามเล่มในปี พ.ศ. 2460-2461 จัดพิมพ์โดยหอพระสมุดพระวชิรญาณ และชำระใหม่โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงรวบรวมมาจากต้นฉบับสมุดไทย ทั้งสี่ชุด และสมุดไทยเล่มปลีกอื่น ๆ อีกสองสามชุด เป็นต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้มาจากสมัยรัชกาลที่ 4 (ค.ศ.1851–1868) พระองค์ทรงเลือกสิ่งที่เชื่อว่าเป็นสำนวนที่ดีที่สุดของแต่ละตอน และทรงแต่งเพิ่มอีกบางตอน และทรงลบสำนวนที่ถือว่าลามกอนาจาร หยาบคาย ตลกโปกฮาก็ให้ตัดทิ้ง ท่านรู้สึกว่าไม่มีสาระในทางวรรณคดี

อนึ่ง ฉบับมาตรฐานนี้มีประมาณ 20,000 คำกลอน ทรงแบ่งออกเป็น 43 ตอน เรื่องตอนต้นจบลงในตอนที่ 36 แต่ทรงรวมอีกเจ็ดตอนไว้ด้วยเนื่องจากตอนต่าง ๆ เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยม นักกวีและนักเขียนได้แต่งตอนต่าง ๆ ให้มากขึ้นจนกระทั่งถึงชั้นลูกหลาน ที่ขยายเรื่องราวไปถึงสามชั่วอายุคนในสายเลือดของขุนแผน แต่พระองค์ก็ทรงเห็นว่าไม่มีสาระในทางวรรณคดี ที่จะเป็นเรื่องเล่าหรือเป็นบทกวีที่สมควรจะได้รับการตีพิมพ์ แต่เรื่องภาคปลายนี้ประมาณ 50 บท ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในโอกาศต่าง ๆ

ที่มาของเรื่อง

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ​ ทรงเชื่อว่าเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนนั้น มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดขึ้นราว ๆ ค.ศ. 1500 ในแผ่นดินรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลักฐานที่พระองค์ทรงอ้างอิงนั้นเชื่อกันว่าเป็นคำให้การของนักโทษชาวไทยในพม่าที่ถูกจับไปหลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า ที่ค้นพบและแปลแล้วตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2457 เป็นบันทึกที่เล่าถึงชื่อขุนแผนในการทำสงครามกับทางเชียงใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานชิ้นนี้เป็นแค่ประวัติศาสตร์บอกเล่าปากต่อปากเท่านั้น และถูกบังคับเค้นถามโดยพม่าเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับเรื่องขุนช้างขุนแผนที่พัฒนามาจากนิทานพื้นบ้านจากปากของชาวบ้านทั่วไป

อนึ่งการทำสงครามกับเชียงใหม่นั้นดูเหมือนจะเป็นการอ้างอิงมาจากเหตุการณ์ที่ปรากฏในพงศาวดารมากกว่า ที่เป็นเรื่องราวพิพาทระหว่างอยุธยากับล้านช้างในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1560

อีกทฤษฎีหนึ่ง คือเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นพัฒนามาเป็นเวลาหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษโดยนักเล่านิทานที่ซึมซับและแต่งเติมนิทานของท้องถิ่นและเรื่องจริงบางเรื่อง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าฉบับดั้งเดิมนั้นน่าจะสั้นกว่าและเรียบง่ายกว่ามาก เช่น ตอนพลายแก้วสู่ขอและแต่งงานกับนางพิม แต่แล้วก็ถูกเกณฑ์ไปสงคราม ขุนช้างมาสู่ขอจากแม่และเกลี้ยกล่อมนางพิม ฉุดกระชากนางพิม จนเป็นเมียขุนช้าง พลายแก้วกลับมาจากสงคราม ได้เป็นขุนแผน เกิดการทะเลาะวิวาทที่ตามมา จนวันทองถูกตัดสินประหารชีวิต จากนั้นเรื่องราวก็ถูกขยายออกไป เมื่อตอนนั้น ๆ ถูกแต่งขึ้นโดยใช้ตัวละครนำเหล่านี้และเพิ่มตัวละครใหม่ ๆ บางตอนเป็นที่รู้จักว่าเป็นการนำเหตุการณ์จริง ๆ จากพงศาวดารมาแต่งแทรกไว้ เช่นการมาถึงของราชทูตจากล้านช้าง และการรับของจากราชทูตที่มาจากทวายมายังกรุงเทพในปี พ.ศ. 2334 เป็นต้น

การดัดแปลงเป็นสื่อ

[แก้]

แม้กวีนิพนธ์นั้นจะกลายเป็นฉบับมาตรฐานของเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ตาม แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบอื่น ๆ มากมาย

ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการนำตอนต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นละคร นาฏศิลป์ ตลกและลิเก ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีการนำตอนต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นรูปแบบกวีนิพนธ์และการแสดงพื้นบ้านอย่างเพลง ฉุยฉาย เป็นต้น

มีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อยู่ 5 เวอร์ชัน ในปี พ.ศ. 2479 เป็นภาพยนตร์เงียบ ฉายในสองตอนโดย ผู้กำกับ บำรุง แนวพาณิชย์

ในปี พ.ศ. 2545 บริษัท ไฟว์สตาร์ จำกัด ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องขุนช้างขุนแผน ในชื่อ "ขุนแผน" กำกับโดย ธนิตย์ จิตนุกูล และนำแสดงโดย วัชระ ตังคะประเสริฐ บงกช คงมาลัย

ในปี พ.ศ. 2498 ทำเป็นละครโทรทัศน์แบบตอนเดียว

ในปี พ.ศ. 2513 เป็นละครที่เล่าถึงการล่วงละเมิดของขุนแผนในฐานะเจ้าเมืองกาญจนบุรีที่ขยายตอนออกไปกว่า 500 ตอน

ในปี พ.ศ. 2528 ช่อง 3 ออกอากาศเป็นฉบับต่อเนื่องในชื่อละครว่า "พิมพิลาไลย"

ในปี พ.ศ. 2541 ช่อง 5 ออกอากาศเป็นแบบละครในชื่อ "ขุนแผน"

ในปี พ.ศ. 2542 ช่อง 3 ออกอากาศเป็นแบบละครชื่อ "ขุนช้าง ขุนแผน" ผลิตโดย บริษัท ทีวีสแควร์ จำกัด นำแสดงโดย อติเทพ ชดช้อย, เฉลิมพล บุญรอด และ ธิญาดา พรรณบัว

ส่วนฉบับการ์ตูนนั้น วาดภาพโดย คุณสวัสดิ์ จักรภพ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2493

ในปี พ.ศ. 2548 ฉบับการ์ตูนที่เป็นเรื่องยาวที่สุดวาดภาพโดย สุกฤตย์ บุญทอง

ศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง เหม เวชกรก็ได้วาดภาพฉากจากเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วย

ในปี พ.ศ. 2558 ถูกดัดแปลงเป็นละครเวทีในชื่อ วันทอง เดอะมิวสิคัล แสดงโดย ณัฎฐพัชร์ วิภัทรเดชตระกูล จัดการแสดงที่ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก จังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. 2460 บริษัท BAT ได้ออกการ์ดบุหรี่จำนวน 100 ใบที่มีตัวละครจากเรื่องดังกล่าว

ในปี พ.ศ. 2475 ยังมีการดัดแปลงเขียนเป็นนิยายหลายเรื่อง เช่นผลงานของ มาลัย ชูพินิจ

ในปี พ.ศ. 2515 นิยายที่เขียนดัดแปลงเป็นร้อยแก้วด้วยภาษาสมัยใหม่ที่โด่งดังที่สุดเขียนโดย ป. อินทรปาลิต นักเขียนแนวระทึกขวัญ ขวัญใจมหาชน ปัจจุบันจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แสงดาว

ในปี พ.ศ. 2507 มีการเล่าเรื่องซ้ำอย่างน้อยเจ็ดเรื่องในสำนวนร้อยแก้วแบบสมัยใหม่ ครั้งแรกและสมบูรณ์ที่สุดคือเขียนโดย เปรมเสรี

ในปี พ.ศ. 2562 บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซีในเรื่อง ขุนแผนฟ้าฟื้น นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ, ฟิลลิปส์ ทินโรจน์ และ ยงวรี งามเกษม

ในปี พ.ศ. 2564 ช่อง One31 ได้ออกอากาศเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ดัดแปลงแบบสมสมัยในชื่อเรื่อง "วันทอง" นำแสดงโดย ดาวิกา โฮร์เน่ ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ และ ชาคริต แย้มนาม สามารถรับชมได้ทาง YouTube ของทางช่อง One31

ในปีพ.ศ.2564 ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นการ์ตูนออนไลน์ โดยสมมติให้สาวจากยุคปัจจุบัน ทะลุมิติไปอยู่ในร่างของนางพิมพิลาไลย หรือนางวันทอง ที่เป็นนางเอกของเรื่อง โดยใช้ชื่อว่า"วันทองไร้ใจ" ในเนื้อเรื่องได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี และแนวคิดของผู้คนในสมัยกรุงเก่าได้เป็นอย่างดีไม่แพ้ต้นฉบับ ผ่านภาพวาดที่สวยงาม และยังมีตัวละครเสริมที่ไม่มีในต้นฉบับอึกมากมายด้วย สามารถอ่านได้แล้วที่แอปพลิเคชั่น"line webtoon" และสามารถติดตามนักเขียนได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก"mululeee" และทวิตเตอร์ในชื่อเดียวกัน

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

อนึ่ง เรื่องขุนช้างขุนแผน ยังเป็นที่มาของคำพูดแบบสมัยใหม่ เช่นชื่อ ขุนแผน ที่มีความหมายแบบแสลงว่า "คาสโนว่า" นอกจากนี้ยังเป็นชื่อของเครื่องรางที่มีชื่อเสียงซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความสำเร็จในความรัก และเป็นคำแสลงสำหรับนักซิ่งมอเตอร์ไซค์อย่างคำว่า "ชอปเปอร์" เป็นต้น

ในจังหวัดสุพรรณบุรีและพิจิตรเมืองที่มีความโดดเด่นในเนื้อเรื่อง ยังมีชื่อถนนสายหลักที่ได้รับการตั้งชื่อตามตัวละครในเรื่องด้วย

ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง ปัจจุบันนี้ยังมีศาลเจ้าที่มีภาพของตัวละครปรากฏอยู่ สถานที่ดังกล่าว ได้แก่ เนินเขาชนไก่ในจังหวัดกาญจนบุรีเก่า มีภาพขุนแผนและขุนไกรผู้เป็นบิดา เมืองพิจิตรเก่าของนางศรีมาลาและบ้านถ้ำในจังหวัดกาญจนบุรีของนางบัวคลี่ เป็นต้น

ในพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีการสร้างบ้านทรงไทยแบบเก่าแล้วตั้งอยู่ในบริเวณคุกที่เชื่อกันว่าขุนแผนถูกจองจำ บ้านหลังนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คุ้มขุนแผน" และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัด บ้านที่คล้ายกันนี้ก็เพิ่งสร้างขึ้นที่วัดแคในจังหวัดสุพรรณบุรีเช่นกัน วัดนี้ยังมีต้นมะขามเก่าแก่ที่มีตำนานเล่าขานกันว่าเป็นที่เณรแก้วลองวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อได้

ที่วัดป่าเลไลยก์จังหวัดสุพรรณบุรีก็ได้สร้างแบบจำลองเรือนของขุนช้างขึ้น ให้ตรงกับที่พรรณาในเสภาให้มากที่สุด และมีงานการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องขุนช้างขุนแผนรอบ ๆ วิหารของหลวงพ่อโต โดย อาจารย์เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

งานวิจัย

[แก้]

งานวิจัยที่บอกเล่าเรื่องราวด้วยการเพิ่มคำอธิบายประกอบและคำอธิบายของคำเก่าๆและประเพณีที่ถูกลืม เช่น งานของ สุภร บุนนาค ที่จัดพิมพ์สองเล่มในปีพ.ศ. 2503 และตีพิมพ์ซ้ำอีกในงานฌาปนกิจศพในปีพ.ศ. 2518

งานวิจัยของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และ เปลื้อง ณ นคร (นามปากกาว่า นายตำรา ณ เมืองใต้) เขียนบทความชุดหนึ่งเผยแพร่ในนิตยสารวิทยาสาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 และรวมพิมพ์เป็นเล่มเป็นหนังสือแล้ว ในชื่อ "เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน"

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังเขียนบทความชุดหนึ่งลงพิมพ์ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐของตนเองแล้วรวบรวมเป็นหนังสือในปี พ.ศ. 2532

ในปี พ.ศ. 2545 สุจิตต์ วงษ์เทศได้ตีพิมพ์ผลงานที่เป็นคำกลอนของครูแจ้ง ซึ่งเคยลงพิมพ์เป็นบทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสำเนาต้นฉบับสองฉบับของบทที่ 17 ซึ่งสุจิตต์ได้รับจากหอสมุดแห่งชาติภายใต้ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ต้นฉบับเหล่านี้เผยให้เห็นสิ่งที่กรมพระยาดำรงทรงชำระและตัดทอนไป รวมพิมพ์เป็นชื่อว่า ขุนช้างขุนแผนแสนสนุก: เผยฉบับลับเฉพาะ ตีดาบ ซื้อม้า หากุมารทอง สำนวนครูแจ้ง พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียว ในปี พ.ศ. 2545

ชลธิรา สัตยาวัฒนา เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2513 โดยใช้แนวคิดจิตวิทยาของฟรอยด์ เพื่อวิเคราะห์ความก้าวร้าวในตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผนและตัวละครทั้งหมด วิทยานิพนธ์นี้โด่งดังมาก ทั้งในฐานะเป็นจุดสังเกตในการวิจารณ์วรรณกรรมไทยและเป็นบทความที่มีแนวคิดเกี่ยวกับสตรีนิยมไทยในยุคแรก ๆ

ตัวละคร

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จากคำนำของกรมศิลปากรที่สำนักพิมพ์บรรณาคารจัดพิมพ์ขึ้นจำหน่ายในการพิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2513
  2. "ขุนช้างขุนแผน" ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • Chris Baker, and Pasuk Phongpaichit,(eds). 2010. ใน The Tale of Khun Chang Khun Phaen: Siam's Great Folk Epic of Love and War. 2 vols, Chiang Mai: Silkworm Books.
  • ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ. 2513 ใน การประยุกต์ใช้ และการวิจารณ์วรรณกรรมตะวันตกสมัยใหม่กับวรรณคดีไทย). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ขุนวิจิตรมาตรา [นามปากกา กาญจนาคพันธ์] และ เปลื้อง ณ นคร [นามปากกา นายตำรา ณ เมืองใต้] ใน เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน.พ.ศ. 2545
  • สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บรรณาธิการ คำให้การชาวกรุงเก่า.พิมพ์ครั้งแรก.โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร.พ.ศ. 2457
  • ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช.ใน ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่.พ.ศ. 2532
  • เปรมเสรี ในขุนช้างขุนแผนสำนวนร้อยแก้ว.พ.ศ. 2507.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2545.ในขุนช้างขุนแผนแสนสนุก: เผยฉบับลับเฉพาะ ตีดาบ ซื้อม้า หากุมารทอง สำนวนครูแจ้ง.กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.
  • สุภร บุนนาค. ใน สมบัติกวี:ขุนช้างขุนแผน.กรุงเทพฯ.พ.ศ. 2518
  • ป.อินทรปาลิต, สำนักพิมพ์แสงดาว ใน ขุนช้างขุนแผน ฉบับ ป.อินทรปาลิต พิมพ์ครั้งที่:2, ปี พ.ศ. 2562