คณะตุลาการอาญาสูงสุดอิรัก

คณะตุลาการอาญาสูงสุดอิรัก (Supreme Iraqi Criminal Tribunal) หรือเดิมชื่อ คณะตุลาการพิเศษอิรัก (Iraqi Special Tribunal)[1] เป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายแห่งชาติอิรักเพื่อพิจารณาบุคคลหรือพลเมืองสัญชาติอิรักที่ถูกกล่าวหาว่า ก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมร้ายแรงอื่นระหว่าง ค.ศ. 1968 และ 2003 คณะตุลาการฯ จัดการพิจารณาซัดดัม ฮุสเซนและสมาชิกคนอื่นของรัฐบาลพรรคบาธ

คณะตุลาการฯ เดิมเรียกว่า "ศาล" และจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญเฉพาะที่ออกภายใต้คณะบริหารประเทศชั่วคราว และปัจจุบันได้รับการรับรองตามเขตอำนาจของรัฐบาลชั่วคราวอิรัก ใน ค.ศ. 2005 ศาลได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นคณะตุลาการ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า "การจัดตั้งศาลพิเศษหรือวิสามัญนั้นจะกระทำมิได้"[2] กฎหมายปกครองชั่วคราวซึ่งประกาศใช้โดยสภาปกครองอิรักก่อนการฟื้นฟูอธิปไตยได้วางข้อสงวนและรักษาให้ธรรมนูญคณะตุลาการพิเศษอิรักมีผลบังคับต่อไป

คณะตุลาการฯ รับผิดชอบต่อการพิจารณาซัดดัม ฮุสเซน, อาลี ฮัสซัน อัล-มาจิด, อดีตรองประธานาธิบดี ฏอฮา ยาซีน รอมาฎอน, อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฏอริก อะสีส และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นในรัฐบาลพรรคบาธที่ถูกล้ม

มันเป็นศาลเพียงแห่งเดียวที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีการใช้โทษประหารชีวิต


เขตอำนาจคณะตุลาการ

[แก้]

คณะตุลาการฯ มีเขตอำนาจเหนือบุคคลผู้มีสัญชาติหรือผู้อยู่อาศัยในอิรักที่ถูกกล่าวหาด้วยอาชญากรรมดังข้างล่างนี้[3][4]

  • การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
  • อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
  • อาชญากรรมสงคราม
  • การบงการตุลาการ
  • การผลาญทรัพยากรของชาติ
  • การใช้กำลังติดอาวุธต่อประเทศอาหรับ

อาชญากรรมเหล่านี้ต้องกระทำ

  • หลังรัฐประหารโดยอะหมัด ฮาซัน อัลบักร์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1968
  • ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งหลังการรุกรานอิรักอันทำให้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซนถึงคราวสิ้นสุด

สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา

[แก้]

สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาระบุไว้ในระเบียบของคณะตุลาการและรวมถึงการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ความเสมอภาคต่อหน้าคณะตุลาการ การพิจารณาสาธารณะโดยปราศจากความล่าช้าอันไม่สมควร การแต่งตั้งทนายความโดยเลือกเอง การเรียกพยานและสิทธิที่จะไม่ให้การ

โทษ

[แก้]

คณะตุลาการฯ ต้องกำหนดโทษตามกฎหมายอิรักที่มีอยู่เดิม ซึ่งรวมโทษประหารชีวิตด้วย สำหรับอาชญากรรม เช่น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติซึ่งไม่มีบทบัญญัติคล้ายกันในกฎหมายอิรัก ระเบียบว่า แผนกพิจารณาคดีควรรับน้ำหนักของการกระทำผิดและการตัดสินที่ออกโดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศไปพิจารณา

การพิจารณาซัดดัม ฮุสเซน

[แก้]

ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 คณะตุลาการฯ ได้พิจารณาแปดคนที่ถูกกล่าวหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการสังหารหมู่มุสลิมชีอะฮ์ 148 คนในดูเญล จำเลยมี

  • ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรัก
  • บาร์แซน อิบราฮิม อัล-ตีกริติ น้องร่วมมารดาของซัดดัมและอดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรอง
  • ทาฮา ยาสซิน รามาดัน อดีตรองประธานาธิบดี
  • อะวัด ฮาเหม็ด อัล-บันดาร์ อัล-ซาดุน อดีตหัวหน้าผู้พิพากษา

ในการฟ้องกล่าวหาซัดดัม ฮุสเซนแต่แรก เขายังถูกกล่าวหาว่า

  • สังหารบุคคลในศาสนาใน ค.ศ. 1974
  • เหตุโจมตีแก๊สพิษฮาลับจา
  • สังหารชาวเคิร์ดใน ค.ศ. 1983
  • สังหารสมาชิกพรรคการเมือง
  • โยกย้ายถิ่นฐานชาวเคิร์ดในกลางคริสต์ทศวรรษ 1980
  • ปราบปรามการลุกฮือของชาวเคิร์ดและชีอะฮ์ใน ค.ศ. 1991 และ
  • การรุกรานคูเวต

วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ซัดดัม ฮุสเซนถูกพบว่ามีความผิดจริงทุกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ดูเญล และถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เขาได้รับสิทธิอุทธรณ์อัตโนมัติ อย่างไรก็ดี การอุทธรณ์นั้นถูกปฏิเสธ และยืนโทษผิดจริงนั้น มีคำสั่งให้ประหารชีวิตเขาภายใน 30 วัน และเขาถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2006

ข้อโต้เถียง

[แก้]

กลุ่มกฎหมายอื่นและสหประชาชาติประท้วงว่า ซัดดัม ฮุสเซนควรถูกนำตัวขึ้นศาลสหประชาชาติ คล้ายกับศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดาในอารูชา ประเทศแทนซาเนีย หลายคนว่า ซัดดัมควรถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ บางคนวิจารณ์ว่า สหรัฐอเมริกามีบทบาทมากเกินไปในการก่อตั้ง จัดหารเงินทุนและการปฏิบัติการของคณะตุลาการฯ[5]

อย่างไรก็ดี หลักการทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อิงขีดความสามารถศาลระดับชาติภายในประเทศก่อนหันไปจัดตั้งศาลระหว่างประเทศอย่างวิสามัญ ชาวอิรักมองคณะตุลาการฯ ว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและอธิปไตยมากขึ้นเช่นกัน โดยมีมุมมองว่า พวกเขาสามารถปกครองและตัดสินตัวเองได้ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่า ซัดดัมควรถูกพิจารณานอกประเทศเพราะเป็นที่เชื่อกันว่า เขาจะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรมภายใต้ผู้พิพากษาไร้ประสบการณ์ที่เป็นศัตรูอันยาวนานของซัดดัมและรัฐบาลเขา หลังการริเริ่มโทษประหารชีวิตใหม่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2004 นายกรัฐมนตรีชั่วคราวอิรัก อิยาด อัลลาวี ให้การรับรองว่าเขาจะไม่แทรกแซงการพิจารณาและจะยอมรับคำตัดสินใด ๆ ของคณะตุลาการ แม้บางความเห็นของเขาทำให้ตีความผิด "ในกรณีการประหารชีวิต เป็นเรื่องของคณะตุลาการที่จะตัดสิน ตราบใดที่การตัดสินนั้นบรรลุโดยปราศจากอคติและยุติธรรม"[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Law of the Supreme Iraqi Criminal Tribunal" (PDF). Official Gazette of the Republic of Iraq. 2005-10-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-25. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13. Article 37, The Statute of the Iraqi Special Tribunal for Crimes Against Humanity, Law No. 1 of 2003, and the Rules of Procedure issued under Article 16 thereof shall be abolished with effect from the date of the coming into force of this Law
  2. Laughland , John A history of political trials: from Charles I to Saddam Hussein, p.242
  3. http://www.cpa-iraq.org/human_rights/Statute.htm
  4. "Law of the Supreme Iraqi Criminal Tribunal",International Center for Transitional Justice
  5. http://www.pbs.org/frontlineworld/stories/iraq501/defining_victors.html
  6. http://www.abcnews.go.com/wire/World/ap20040706_164.html

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]