คลองพระยาบรรลือ[1] หรือเดิมเขียนว่า คลองพระยาบรรฦๅ[2][3]เป็นคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 5[4] (เมื่อ พ.ศ. 2435 - 2442)[5] ที่ยาวที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา[6] เป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครชัยศรี คลองนี้ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวา ในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปออกแม่น้ำนครชัยศรี ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี[7] มีระยะทาง 42 กิโลเมตร[8]
พระยาบรรฦๅสิงหนาท (เจ๊ก)[5][9] ซึ่งเป็นชาวญวน และเป็นผู้บังคับบัญชาทหารอาสาญวนในเมืองไทย เห็นว่าชาวญวนยากจนมาก ไม่มีที่ทำมาหากิน ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองพระยาบรรลือเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 โดยขุดตั้งแต่ตำบลคลองบางประกอกหลังเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า ไปออกกลางทุ่งเป็นระยะทาง 400 เส้น (16 กิโลเมตร) กว้าง 4 วา ลึก 4 ศอก พระยาบรรฦๅสิงหนาท (เจ๊ก) ได้รับกรรมสิทธิในที่ดิน 2 ฝั่งคลอง ฝั่งละ 25 เส้น ตลอด 2 ฝั่งคลอง แต่หลังจากขุดคลองไประยะหนึ่งเกิดปัญหาเรื่องคนอ้างในสิทธิของที่ดิน ปัญหานี้ส่งผลด้านการเงินต่อพระยาบรรฦๅสิงหนาท เพราะท่านไม่สามารถเอาที่นาซึ่งเจ้าของมีตราแดงตราจองซึ่งถูกต้องมาจำหน่ายได้ ทำให้ขาดทุน
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน พระยาบรรฦๅสิงหนาทได้ทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับ 3 คน คือ หลวงวาทิตบรเทศ ขุนราชปัญญา และนายร้อยตรีรื่น เมื่อ พ.ศ. 2441 มีการขอขุดคลองต่อจากเดิมอีก 400 เส้น เพื่อให้ทะลุแม่น้ำท่าจีน นอกจากนั้นยังขอขุดคลองแยกอีก 6 คลอง กว้าง 3 วา ลึก 3 ศอก ยาวคลองละ 200 เส้น แต่ขุดไปได้ 100 เส้น (1 กิโลเมตร) พระยาบรรฦๅสิงหนาทถึงแก่กรรมเสียก่อน[10] เมื่อ พ.ศ. 2442 พระยาบรรฦๅสิงหนาท (ปิด) ซึ่งเป็นบุตรชาย ได้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ แต่รัฐบาลไม่ยินยอมเพราะเห็นว่ารัฐบาลขุดได้เรียบร้อยกว่า ส่วนคลองแยกก็ไม่ได้รับการอนุญาตเช่นกัน เพราะบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามขอขุดไว้ก่อนแล้ว คลองสายนี้กรมคลองเป็นผู้ขุดในเวลาต่อมา[11]