คลองมหานาค เป็นคลองขุดสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่แยกมาจากคลองรอบกรุง ในอดีตใช้เป็นสถานที่สำหรับให้ชาวพระนครมาเล่นเพลงสักวากันในช่วงน้ำหลาก ต่อมาได้มีการขุดคลองเพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายคลองสายอื่นสำหรับขนส่งกำลังพลและเสบียงช่วงอานัมสยามยุทธ
คลองมหานาคเป็นคลองขุดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสองสายในปี พ.ศ. 2326[1] บ้างก็ว่าในปี 2328[2] ได้แก่คลองรอบกรุงที่สำหรับใช้เป็นแนวป้องกันของเมือง กับอีกคลองหนึ่งที่พระราชทานนามว่าคลองมหานาค ตามอย่างคลองมหานาควัดภูเขาทองในกรุงเก่า มีความเชื่อว่า คลองมหานาคอาจได้ชื่อมาจากพระมหานาค ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ริเริ่มขุดคลองแห่งนี้ขึ้นหลังจากสิ้นสุดสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้[3] สำหรับให้ชาวพระนครเล่นเพลงสักวาดั่งกรุงเก่า โดยขุดคลองแยกจากคลองรอบกรุงบริเวณป้อมมหากาฬ (ปัจจุบันคือเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ) ส่วนปลายคลองนั้นอยู่บริเวณวัดพระยายังต่อคลองบางกะปิ[1] การขุดคลองปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาดังนี้[4]
"แล้วเกณฑ์เลกลาวเขมรหัวเมืองให้ขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดเชิงเลนขึ้นมาถึงวัดสะแกไปถึงวัดบางลำภู ออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง และวัดสะแกนั้นพระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ [...] แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศ พระราชทานนามว่าคลองมหานาค ไว้เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครลงเรือไปประชุมกันเล่นเพลงเล่นสักวาเทศกาลน้ำเหมือนครั้งกรุงเก่า"
ซึ่งปัจจุบันลูกหลานของชาวเขมรและลาวที่ถูกเกณฑ์มาขุดคลองเหล่านี้ ก็ได้รับโปรดเกล้าให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณสองฝั่งคลองหนึ่งในนั้นคือชุมชนบ้านครัว ซึ่งเป็นมุสลิมเชื้อสายจามจากกัมพูชาที่ถูกกวาดต้อนมายกครัว จึงเรียกว่าบ้านครัว และยังมีลูกหลานตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน[5][6]
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแสนแสบต่อคลองมหานาคบริเวณวัดบรมนิวาสออกไปทางบางกะปิทะลุออกเมืองฉะเชิงเทราสำหรับขนส่งกำลังคนและเสบียงในช่วงอานัมสยามยุทธ[6] และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้ขุดมาบรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม[2] นอกจากนี้ยังมีคลองจุลนาคที่ขุดเชื่อมคลองมหานาคกับคลองเปรมประชากรด้วย ทำให้ผู้คนสัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวก
ปัจจุบันคลองมหานาคช่วงต่อกับคลองแสนแสบนั้นประสบปัญหาภาวะน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นแรงเนื่องจากขยะที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางจากชุมชนแออัดที่เรียงรายโดยรอบ[7]
จากการศึกษาของเอนก นาวิกมูลพบว่าคลองมหานาคเคยมีเกาะขนาดน้อยอยู่สามเกาะ มีปรากฏครั้งแรกในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีความว่า "[พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมี] พระโองการให้ขุดคลองรอบเกาะ ให้บ่ายเรือพระที่นั่งได้ เรียกว่าคลองมหานาค"[1] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า "คือมีเกาะในระหว่างโรงเรือกับวัดด้านหนึ่ง เกาะด้านตะวันออกที่เรียกว่าเกาะยายชีด้านหนึ่ง…"[1] ในอดีตเมื่อถึงงานประเพณีนมัสการภูเขาทอง ก็จะมีการจัดงานรื่นเริง เช่น การแข่งเรือ ร้องเพลงเรือ เล่นดอกสร้อยสักวา จุดดอกไม้ไฟทั้งบนบกและในน้ำ โดยมีเกาะยายชีเป็นศูนย์กลางผู้คนที่เข้ามาร่วมชมการละเล่น[8] และยังปรากฏใน นิราศบรมบรรพต ของพระพินิจหัตถการ (ชื่น สาริกบุตร) ว่า[1]
มีเกาะอยู่กลางน้ำถึงสามเกาะ | ก็ดูเหมาะความสนุกเปนสุขขา | |
ยังมิได้จัดทำปรำปรา | เดี๋ยวนี้มาจัดระเบียบจึงเรียบดี |
เอนกสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบภาพถ่ายเก่า พบว่าเกาะแห่งแรกอยู่บริเวณเชิงสะพานมหาดไทยอุทิศ เกาะแห่งที่สองอยู่ตรงข้ามตึกการบินไทย ส่วนเกาะอีกเกาะหนึ่งเรียกว่าเกาะยายชีอยู่บริเวณสะพานนริศดำรัส ส่วนเกาะทั้งสามหายไปในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เกาะหายไปได้อย่างไรไม่เป็นที่ปรากฏ[1]
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)